xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ทำไม “นม” ต้องขึ้นราคา ไขปริศนาต้นทุนแพงเพราะ “ใคร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจาก “มิลค์บอร์ด”  อนุมัติปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมกิโลกรัมละ 2.50 บาท จากกิโลกรัมละ 20.25บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.75 บาท  “กระทรวงพาณิชย์”  ก็รับลูกปรับราคาผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับต้นทุน ผลิตภัณฑ์นม UHT ปรับขึ้นตามสัดส่วน อาทิ ขนาด 180 - 225 มิลลิลิตร ปรับราคาขึ้น 0.25 - 0.50 บาท หรือขวดลิตรปรับราคาขึ้น 1 - 2 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้ การปรับราคาดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามที่ว่า ทำไมต้องขึ้นราคา และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร

ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำนมดิบราคาตกต่ำส่งผลให้เกษตรกรฟาร์มโคนมขาดทุนถ้วนหน้า สะเทือนถึงภาคธุรกิจเกิดปัญหาเกิดการขาดแคลนนมสดพาสเจอร์ไรส์ ย้อนกลับไปช่วงกลางปี 2565 ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณี  “นมเมจิขาดตลาด” หาซื้อยากขึ้นถึงขั้นร้านบางแห่งปิดป้ายจำกัดจำนวนการซื้อ ทำให้สังคมจับจ้องว่าเป็นการส่งสัญญาณการปรับราคานมสดพาสเจอร์ไรหรือไม่?

 ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาราคาผลิตภัณฑ์นมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุนของน้ำนมดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นตามขั้นตอน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายมายังกรมการค้าภายใน ซึ่งกรมฯ จะใช้เวลาในการพิจารณาอนุมัติราคาภายใน 15 วันหลังจากที่ผู้ประกอบการยื่นขอปรับ

“การปรับขึ้นราคานมจะไม่เท่ากัน แตกต่างตามสัดส่วนของการใช้น้ำนมดิบของแต่ละผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ ทั้งนมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ และนมสเตอริไรซ์ โดยนมรสจืด จะปรับขึ้นราคามากที่สุด เพราะใช้น้ำนมดิบ 100% คาดว่า การปรับราคานมดิบครั้งนี้ อาจทำให้ต้องปรับขึ้นราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมเฉลี่ย 40-50 สตางค์ต่อกล่อง สำหรับขนาดมาตรฐานบรรจุ 225 มิลลิลิตร”รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าว

ขณะที่  นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม  อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่าได้ร่วมหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย สมาคมอุตสาหกรรมนมและอาหาร บริษัทผู้ผลิตและจำหน่าย องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ฝ่ายเลขานุการของ Milk Board กรณีบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายนมสดและผลิตภัณฑ์นม ขอให้กรมฯ พิจารณาปรับราคาจำหน่ายนมสดและผลิตภัณฑ์ตามมติ Milk Board และขอให้พิจารณาต้นทุนส่วนอื่นๆ ที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ อิงตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะลดภาระค่าครองชีพประชาชน กรมการค้าภายในยึดหลักการเดิมที่จะปรับเพิ่มขึ้นเฉพาะในส่วนของต้นทุนน้ำนมโคดิบที่สูงขึ้นตามมติ Milk Board ซึ่งจะพิจารณาตามสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในแต่ละผลิตภัณฑ์และตามขนาดบรรจุภัณฑ์เท่านั้น

สำหรับการขอปรับราคา บริษัทผู้ผลิตจะต้องแสดงหลักฐานการรับซื้อน้ำนมโคดิบว่าได้ซื้อในราคาที่สอดคล้องกับประกาศของ Milk Board ไม่ต่ำกว่า 22.75 บาทต่อกก. และต้องยื่นข้อมูลสัดส่วนการใช้น้ำนมโคดิบด้วย เนื่องจากนมสดและผลิตภัณฑ์นมแต่ละยี่ห้อแต่ละสูตร ก็อาจใช้น้ำนมโคดิบในสัดส่วนที่แตกต่างกัน การพิจารณาอนุญาตให้ก็จะพิจารณาให้ตามต้นทุนน้ำนมโคดิบที่สูงขึ้นจริงซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ต่อไป

 นายอาทิตย์ นุกูลกิจ  นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย กล่าวหลังจากกรมการค้าภายในได้เรียกผู้ประกอบการหารือในเรื่องการปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพาณิชย์ตามมติคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board) โดยผลสรุปในที่ประชุมได้มีมติให้ปรับเฉพาะราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ (น้ำนมดิบ) ที่เพิ่มในสัดส่วนกล่องละ 0.50 สตางค์ เพราะทางกรมฯ ก็เป็นห่วงผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่งก็เข้าใจเกษตรกรราคาน้ำนมดิบไม่เคยปรับขึ้นเลย

โดยมีการเปิดให้ผู้ประกอบการนมยื่นปรับขอขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้ผลิตจะต้องแสดงให้เห็นถึงข้อมูลสำคัญใช้ประกอบการขอขึ้นราคา ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับการรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในอัตราที่มีการปรับขึ้นใหม่แล้วที่ กก.ละ 22.75 บาท และข้อมูลเกี่ยวกับสูตรการผลิตที่มีสัดส่วนการใช้น้ำนมดิบในการผลิต ซึ่งยืนยันว่าราคาขายปลีกผลิตภัณฑ์นม แต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ จะปรับขึ้นไม่เท่ากัน เพราะแต่ละชนิดใช้น้ำนมดิบไม่เท่ากัน รวมถึงหากเป็นสต๊อกการผลิตเก่าที่เป็นต้นทุนเดิมก็จะต้องขายตามราคาเดิมต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาที่ผ่านมาการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบ ส่งผลให้ต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องกับต้นทุน โดยรัฐยึดหลักพิจารณาการขึ้นราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป แต่ก็ต้องดูแลให้ผู้เลี้ยงโคนม รวมถึง ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์นมอยู่ได้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น