การผูกขาดตลาดคือความชั่วร้ายไม่ต่างจากการก่อการร้าย ทำให้ราคาสินค้าแพงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะการแข่งขันที่อ่อนแอหรือไม่มีการแข่งขันด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างน้อย จะเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้ผูกขาดในตลาด อย่างที่เราเห็นอยู่ตำตากับราคาข้าวของหลายๆ รายการในตลาดของไทย ทั้งไข่ไก่, เนื้อสัตว์ ทั้งผักและผลไม้ รวมทั้งราคาพลังงานทุกชนิดตลอดจนค่าบริการโทรศัพท์มือถือและเคเบิลทีวีที่มีการปล่อยให้ผูกขาด จากผู้ผลิตและให้บริการ ที่ได้กำไรมหาศาล โดยไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วไปดูแลจัดการ เพราะเงินกำไรจากเลือดสดๆ รสหวานๆ ของคนจนเหล่านี้กลายเป็นอาหารโอชะของบรรดาเสนาบดีที่ควรจะทำหน้าที่ของตนในการเข้าไปตรวจสอบหรือขัดขวางการผูกขาด กลับไปรับเงินบำรุงที่เข้าพรรคหรือเข้าบัญชีตนในการใช้หาเสียงเลือกตั้งนั่นเอง
ราคาสินค้าและบริการที่สูงเกินจริง ทำให้คนจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากในชีวิตได้ และตกเป็นหนี้นอกระบบเสียอีก เพราะหาเลี้ยงตนเองไม่พอรับประทาน
การผูกขาดยังทำให้เจ้าของกิจการมีพลังต่อรองมหาศาลกับซัปพลายเออร์ และต่อพนักงานที่จะถูกกดค่าตอบแทนได้เสมอ ดังปรากฏอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ และเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่เกิดความเหลื่อมล้ำไม่มีสิ้นสุดในไทย
ที่สหรัฐฯ ก็ยังคงมีการผูกขาดอยู่บ้าง แต่ทั้ง สส., สว. หรือแม้แต่ที่ราชการกระทรวงยุติธรรม และโดยเฉพาะคือคณะกรรมการควบคุมการผูกขาด (Federal Trade Commission) ได้พยายามเข้าขวางการผูกขาดในทุกรูปแบบอย่างไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมแต่ประการใด
อุตสาหกรรมภาคผลิตในสหรัฐฯ ผ่านการทำลายการผูกขาดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตเหล็ก, น้ำมัน, ไฟฟ้า เป็นต้นมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น
อุตสาหกรรมภาคบริการและการเงิน ก็มีการทำลายการผูกขาดเสมอมา ยิ่งถ้าเกิดเหตุแบบแฮมเบอร์เกอร์ไครซิส (2008-2009) สภาฯ ก็จะผ่านกฎหมายที่ทำลายและป้องกันการผูกขาดอย่างพลิกโฉมทีเดียว
อาทิตย์นี้มีสองเหตุการณ์ที่กำลังสะท้อนถึงการป้องกันการผูกขาดในสหรัฐฯ ในสองธุรกิจคือ ธุรกิจร้านค้าปลีกตลาดสด ผัก ผลไม้ (Crocery) และธุรกิจสายการบินราคาประหยัด
ต้นปีนี้เป็นเป้าหมายที่ร้านค้าปลีกตลาดสดยักษ์ Kroger ที่มีขนาดใหญ่สุดของสหรัฐฯ โดยมีสาขามากเกือบ 3 พันสาขา ได้แสดงเจตจำนงที่เข้าซื้อสินค้า Albertsons ตั้งแต่เมื่อปลาย 2022 ว่า จะจ่ายเงินซื้อที่ 24,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 8 แสนล้านบาท) โดย Albertsons เป็นกลุ่มร้านค้าตลาดสดใหญ่อันดับสองในสหรัฐฯ เป็นเจ้าของยี่ห้อ Safeway และ Acme
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา อัยการรัฐวอชิงตันได้ยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อหยุดการควบรวมกิจการครั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า จะเป็นภัยต่อผู้ซื้อสินค้าและต่อพนักงานในร้านค้าปลีกของสองเจ้านี้
ไม่เพียงอัยการรัฐวอชิงตันที่รีบขับเคลื่อนยับยั้งการควบรวมกิจการนี้ ขณะที่ FTC (คณะกรรมการแห่งสมาพันธ์รัฐควบคุมการค้าให้เป็นธรรม) กำลังเข้าตรวจสอบว่าจะเกิดผลทำให้มีการผูกขาดตลาดหรือไม่ เพราะสหรัฐฯ ได้ผ่านกระบวนการทำลายการผูกขาดมาอย่างเข้มข้นตลอด 100 ปีที่ผ่านมา
แผนการที่ Kroger เสนอ (เมื่อกันยายน 2023) ต่อ FTC คือ จะต้องขายสาขา 413 แห่งออกให้บริษัท C & S Wholesale Grocers (กลุ่มค้าส่ง) รวมทั้งขายศูนย์กระจายสินค้าของตนอีก 8 แห่งให้ C & S โดยจะได้เงินจากการขายนี้ 1,900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งทาง FTC กำลังพิจารณาจำนวนสาขาและศูนย์กระจายสินค้าที่จะขายออก (เพื่อลดขนาดที่มีลักษณะผูกขาดสินค้า) แต่ยังไม่พอ…จะต้องขายสาขาออกไปอีก 237 แห่ง จึงจะลดขนาดที่อยู่ในข่ายผูกขาดตลาด
เรื่องนี้ไม่เพียงอัยการรัฐวอชิงตันที่เข้ามาขวางการควบรวมนี้ แต่ สส., สว.คนดังๆ ในสภาฯ ก็กำลังขับเคลื่อนเพื่อขวางวงการควบรวมนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดตลาด
ในสภาล่างก็นำโดย สส.สาวขวัญใจหนุ่มสาวชาวเดโมแครตจากรัฐนิวยอร์กคือ A.Q.C....ส่วนในสภาสูงก็นำโดย สว.ที่ต่อต้านการผูกขาดตลาดอย่างถึงพริกถึงขิง และเคยเป็นผู้สมัครเพื่อเป็นปธน.สหรัฐฯ มาแล้วคือ อลิซาเบธ วอเรนท์ และ เบอร์นี แซนเดอร์ส เป็นต้น
ทั้ง Kroger และ Albertsons จะต้องขายออกสาขาอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้าก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีอิทธิพลเหนือตลาด จนทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกับเจ้าใหญ่ๆ เช่น วอลมาร์ท, คอสโค และอเมซอน เป็นต้น
รวมทั้งการปลดพนักงานจำนวนมาก เป็นการลดขนาดพนักงานเพื่อลดต้นทุน ซึ่งจะเกิดเสมอในการควบรวมกิจการ นำสู่อำนาจต่อรองของสหภาพแรงงานของบริษัทใหม่หลังการควบรวม ที่จะมีขนาดเล็กลงอย่างน่าใจหายนั่นเอง
อีกด้านคือ สายการบินราคาประหยัด Jet Blue ที่แสดงความจำนงจะซื้อคู่แข่ง Spirit Airline ซึ่งผู้พิพากษาแห่งสหพันธรัฐได้พิพากษาห้ามการควบรวมกิจการครั้งนี้ โดยยกข้ออ้างว่า จะทำให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินจะพุ่งขึ้นทันที เพราะเกิดการแข่งขันที่ลดลงในอุตสาหกรรมการบิน จะเป็นภัยต่อประชาชนที่จะต้องซื้อตั๋วราคาประหยัด
การควบรวมครั้งนี้ถ้าเกิดขึ้นจะทำให้เกิดสายการบินขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ของประเทศทีเดียว ซึ่งทางสายการบิน Jet Blue มองว่า จะทำให้บริษัทเติบโตและแข่งขันได้ดียิ่งขึ้นกับเจ้าใหญ่ๆ เช่น Delta และ United
ผู้พิพากษาวิลเลียม ยังตัดสินว่า การทำให้สายการบิน Spirit ตกมาเป็นส่วนหนึ่งของ Jet Blue จะเป็นอันตรายต่อผู้เดินทางที่มีงบใช้จ่ายจำกัด ซึ่งต้องพึ่งการบินด้วย Spirit อย่างยิ่ง
รมต.ยุติธรรม (หายากยิ่งเช่นนี้ในประเทศไทย) Merrick Garland (อดีตผู้พิพากษาสหพันธรัฐ) ได้ออกแถลงการณ์ว่า คำตัดสินของผู้พิพากษาศาลครั้งนี้คือ ชัยชนะสำหรับผู้เดินทางจำนวนหลายล้านคน ซึ่งถ้าไม่ตัดสินเช่นนี้ พวกเขาจะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินแพงขึ้น และมีทางเลือกน้อยลงถ้ามีการควบรวมเกิดขึ้น และย้ำว่า กระทรวงยุติธรรมจะยืนหยัดเดินหน้าอย่างอาจหาญ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายในการทำลายการผูกขาดเพื่อผู้บริโภคอเมริกัน
แม้สหรัฐฯ จะเป็นประเทศขายอาวุธ ขายสงคราม และเป็นประเทศที่ยังเหยียดผิว แต่วิวัฒนาการของการทำลายการผูกขาดได้ดำเนินการมาตลอด 100 ปีนี้ และได้ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ระดับหนึ่งนั่นเอง
ได้แต่ถอนหายใจว่า สำหรับไทยเราให้ตายแล้วเกิดใหม่อีก 10 ชาติ ก็ยังคงมีการผูกขาดตลาดดำรงอยู่ในระดับสูงต่อไป