ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดคำถามถึงความเหลื่อมล้ำหลักประกันสุขภาพ ระหว่าง “ประกันสังคม” ที่จ่ายเงินทุกเดือน แต่สิทธิด้อยกว่า “30 บาทพลัส” ที่มีการยกระดับบริการต่อเนื่อง ล่าสุด ขยายสิทธิการรักษาพยาบาลครอบคลุมมากขึ้น เรียกว่าเป็นประเด็นร้อนของมนุษย์เงินเดือนจนเกิดเสียงเรียกร้องให้ “ทบทวนสิทธิประกันสังคม” ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับเพิ่มจ่ายเงินประกันสังคม จาก 750 บาท เป็น 875 - 1,150 บาทต่อเดือน และข่าวลือการล้มละลายกองทุนประกันสังในอีก 30 ปีข้างหน้า เพราะขาดสภาพคล่องเสี่ยง
กล่าวสำหรับ “ประกันสังคม” เป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นคงในชีวิตของแรงงานไทย เป็นสวัสดิการในรูปแบบสมทบจ่าย ลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ร่วมกันจ่ายเงินสมทบ จ่ายเงินสมทบเข้า “กองทุนประกันสังคม” เพื่อรับผิดชอบเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตรทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์ ชราภาพ และการว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาล และมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวผ่านที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ฉายภาพความเหลื่อมล้ำของระบบหลักประกันสุขภาพฯ ในปัจจุบัน ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องจ่ายเงินสมทบเรื่องสุขภาพและจ่ายเงินภาษี ดังนั้น จะต้องจ่ายเงิน 2 ระบบ จึงเป็นความเหลื่อมล้ำ
ขณะที่ น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนประกันสังคมไม่ได้มองภาพใหญ่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพที่จะต้องดูแลประชาชน แต่เลือกที่จะบริหารตามหลักเกณฑ์และงบประมาณในกองทุนที่ตนเองได้มาเพียงลำพัง
และที่เป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กรณีการยกระดับ “บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค” ภายใต้นโยบาย “30 บาทอัปเกรด” ของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นั่งแท่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางให้บริการรูปแบบใหม่ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” โดยนำร่องใน 4 จังหวัด ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ และนราธิวาส โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบางทุกระดับในจังหวัดนั้นๆ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์การเข้าถึงการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้ง ปรับขึ้นงบประมาณรายหัวเป็น 3,472.24 บาทต่อคน
ทำให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่จ่ายเงินสมทบทุกเดือนและใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษา ตั้งคำถามถึงสิทธิที่พวกเขาควรได้รับเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบทุกเดือนแต่การรักษาพยาบาลได้สิทธิน้อยกว่าบัตรทอง 30 บาทอย่างชัดเจน
ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาทั้งบริการการรักษาและสิทธิประโยชน์ สิทธิการรักษาครอบคลุมมีคุณภาพมีเหนือกว่า ขณะที่ระบบประกันสังคม ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน มีพัฒนาการอย่างเชื่องช้าในเรื่องของบริการด้านสุขภาพ
กล่าวสำหรับความแตกต่างระหว่าง “สิทธิบัตรทอง” และ “สิทธิประกันสังคม”
สำหรับ “สิทธิบัตรทอง” ไม่มีค่าใช้จ่าย เพียงลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำตัวแล้วใช้สิทธิได้ทันทีโดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว ใช้กับสถานพยาบาลประจำที่ลงทะเบียนไว้ หรือเจ็บป่วยต่างพื้นที่เข้าสถานพยาบาลปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกกฤติเข้าสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ใกล้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย/เบื้องต้น ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่สถานพยาบาลใด ก็เข้ารับบริการตามรายการนี้ได้ ดังนี้ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มโรค/อาการ ปรึกษาเภสัชกรและรับยาที่ร้านยากว่า 1,000 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ
กรณี เจ็บป่วยเล็กน้อย 32 กลุ่มโรค/อาการ รับบริการที่คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่นกว่า 600 แห่งที่เข้าร่วมได้ทั่วประเทศ, เจ็บป่วยเบื้องต้น 42 กลุ่มโรค/อาการ พบหมอออนไลน์ รอรับยาจัดส่งถึงบ้านได้ ในพื้นที่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร, การย้ายหรือเปลี่ยนสถานพยาบาลประจำตัวทำได้ 4 ครั้งต่อปีงบประมาณ ใช้สิทธิได้ทันทีเมื่อเปลี่ยนแล้ว ใช้ได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และไม่มีวงเงิน ครอบคลุมการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็น ครอบคลุมค่าอาหารและค่าห้องสามัญเมื่อต้องแอดมิทที่โรงพยาบาล ได้เพียงสิทธิรักษาฟรี (บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข) ไม่มีเงินชดเชยว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต เหมือนประกันสังคม
สำหรับ “สิทธิประกันสังคม” ผู้ประกันตน ต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน ตามเงื่อนไขจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ ใช้กับโรงพยาบาลที่เลือกสิทธิไว้ กรณีฉุกเฉินเข้าที่ไหนก่อนก็ได้โดยไม่ต้องสำรองจ่าย สามารถรย้ายสถานพยาบาลประจำตัวย้ายได้ปีละ 1 ครั้ง ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ไม่เกิน 900 บาท/ปี ค่าห้องและค่าอาหาร ไม่เกิน 700 บาท/วัน ได้รับเงินชดเชย กรณีว่างงาน เกษียณ เสียชีวิต
โดยบัตรทองหรือบัตร 30 บาทมีได้ทุกคน หากไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นของรัฐ (ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว เป็นต้น) ส่วนพนักงานบริษัทได้สิทธิประกันสังคมอัตโนมัติ
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากองทุนประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงาน มีผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 มีจำนวน 14 ล้านคนเศษ มี รพ. หลัก 260 แห่ง รพ.เครือข่ายอีก 2,220 แห่ง ส่วนสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่นอกเหนือจากบัตรทอง คือ กรณีเกิดอุบัติเหตุและทุพพลภาพทางร่างกายมากกว่า 50% จะได้รับค่าชดเชยเป็นอัตรา 50% ของรายได้ 3 เดือนสุดท้ายซึ่งจะเป็นการดูแลตลอดชีวิต กรณีการได้รับบาดเจ็บ 35-50% สามารถรับเงินชดเชยเป็นอัตราเดียวกันแต่ดูแล 180 เดือนหรือ 15 ปี และกรณีเสียชีวิตจากการทำงาน จะได้เงินชดเชยตามอัตราการส่งเงินสมทบ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ เปิดเผยถึงกรณีสังคมตั้งข้อสงสัยสิทธิ 30 บาท กับสิทธิประกันสังคม ที่มีความเหลื่อมล้ำในเรื่องการบริการทางการแพทย์ สำหรับหลักประกันสุขภาพสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยมีอยู่ 3 สิทธิคือ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งสิทธิ 30 บาท มีมาตั้งแต่ปี 2544 มีการพัฒนากันไปตามลำดับ อาจจะกล่าวได้ว่าสิทธิของ 30 บาทรักษาทุกโรคในบางด้านมีสิทธิที่ดีกว่าคนในระบบประกันสังคม
ประเด็นนี้รัฐบาลทราบดีและมีความแก้ปัญหาอยู่ โดยเป้าหมายสุดท้ายรัฐบาลต้องการให้ทั้ง 3 สิทธิ มีคุณภาพในการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานเหมือนกัน มีความสามารถในการรักษาพยาบาล ใช้ยาที่มีมาตรฐานเหมือนกัน มีระยะเวลาการเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม เกิดกระแสข่าวกองทุนประกันสังคส่อขาดสภาพคล่องเสี่ยงล้มละลายในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ยืนยันชัดเจนสถานะของกองทุนประกันสังคมมีเสถียรภาพมั่นคง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นประเด็นสืบเนื่องจากนักวิชาการจากหลายภาคส่วนแสดงความกังวลต่อสถานะกองทุนประกันสังคม ประเมินว่ากองทุนประกันสังคมจะขาดสภาพคล่อง และล้มละลายในอีก 30 ปี ข้างหน้า ด้วยเหตุโครงสร้างประชากรสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพมากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน รวมทั้ง รัฐบาลค้างจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท และนายจ้างหักเงินลูกจ้างแต่ไม่นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมต้องดำเนินการ 4 เรื่อง
1. ต้องปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณจ่ายเงินสมทบ เพราะเพดานค่าจ้างเฉลี่ย 15,000 บาท ซึ่งใช้มามากกว่า 30 ปีแล้ว ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะนี้ ผู้ประกันตน 37.5 % มีค่าจ้างเท่ากับหรือสูงกว่าเพดานค่าจ้างปัจจุบัน ขอเสนอให้ปรับเพดานค่าจ้างเป็น 17,500 - 20,000 และให้ปรับเพิ่มทุกปีตามการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่งการทำปรับเพดานค่าจ้างเฉลี่ยจะทำให้เงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเพิ่มประมาณ 5 - 6 %
2. การเพิ่มอายุผู้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญจากกองทุนชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี โดยทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างค่อยเป็นค่อยไป 3. ควรศึกษาถึงความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราจ่ายเงินสมทบทั้งส่วนของนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาลเพื่อให้รายรับเพียงพอต่อ รายจ่าย เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น
และ 4.ควรลดการแทรกแซงทางการเมือง ลดการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคล่องตัว ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเกิดการบริหารงานอย่างมืออาชีพ รวมทั้งควรศึกษาเพื่อแปรสภาพ สปส. ให้เป็นองค์กรอิสระของรัฐ
รายงานข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม สถานะการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ไตรมาสที่ 3 ณ 30 กันยายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2,335,183 ล้านบาท โดยกองทุนประกันสังคมมีผลประโยชน์จากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น จำนวน 43,714 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้จำนวน 30,369 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน จำนวน 13,345 ล้านบาท
สำหรับกองทุนประกันสังคม (Social Security Fund) มีการนำเงินกองทุนฯ ไปบริหารลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้งอกเงย โดยมีการลงทุนในหลักทรัพย์หลากหลาย ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,271,818 ล้านบาท และในปี 2566 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีเงินลงทุนสะสมอยู่ที่ 2,345,347 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.24 %
ทั้งนี้ มีการประเมินสถานะกองทุนประกันสังคม ปี 2570 คาดมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันพอร์ตประกันสังคมมีเงินลงทุน 2.3 ล้านล้านบาท ซึ่งจากการรวบรวมการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ พบว่า ในเดือนมกราคม 2567 มีการลงทุน 78 หลักทรัพย์ แบ่งเป็นลงทุนในหุ้น 43 หลักทรัพย์ และกองทุนรวมอสังหาฯ 35 หลักทรัพย์ ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 จำนวน 10 หลักทรัพย์ มีมูลค่า 2,974.32 ล้านบาท อาทิ
1. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เอราวัณ โฮเทล โกรท หรือ ERWPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 50,821,200 หุ้น หรือ 28.86% มูลค่า 393.86 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67 ที่ 7.75 บาท)
2. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แกรนด์ โฮสพีทาลิตี้ หรือ GAHREIT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 37,876,100 หุ้น หรือ 21.58% มูลค่า 284.07 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 7.50 บาท)
3. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เคพีเอ็น หรือ KPNPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 37,948,100 หุ้น หรือ 21.08% มูลค่า 141.93 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 3.74 บาท)
4. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ หรือ LHSC ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 53,387,700 หุ้น หรือ 10.94% มูลค่า 533.88 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 10.00 บาท)
5. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ไพร์มออฟฟิศ หรือ POPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 68,277,500 หุ้น หรือ 14.18% มูลค่า 443.80 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 6.50 บาท)
6. กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ หรือ SIRIP ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 46,820,800 หุ้น หรือ 27.54% มูลค่า 313.70 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 6.70 บาท)
7. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โรงแรมศรีพันวา หรือ SRIPANWA ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 63,129,815 หุ้น หรือ 22.62% มูลค่า 314.39 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 4.98 บาท)
8. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ หรือ TU-PF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 80,000,000 หุ้น หรือ 76.75% มูลค่า 48.80 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 0.61 บาท)
9. กองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เออร์บานา หรือ URBNPF ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 21,600,000 หุ้น หรือ 30.00% มูลค่า 34.99 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 1.62 บาท)
และ 10. ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดับบลิวเอชเอ บิสซิเนส คอมเพล็กซ์ หรือ WHABT ถือหุ้นใหญ่ลำดับ 1 จำนวน 55,017,500 หุ้น หรือ 27.24% มูลค่า 464.90 ล้านบาท (ราคาปิด ณ วันที่ 10 ม.ค.67ที่ 8.45 บาท)
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงเพื่อความยั่งยืนของกองทุนในระยะยาว และหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ธปท. รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน มูลค่า 1,326,502 ล้านบาท หรือคิดเป็น 56.81%, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือ มูลค่า 273,987 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.73%, ตราสารทุนไทย (หุ้นไทย) มูลค่า 233,017 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.98%, หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ มูลค่า 265,688 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.38%, หน่วยลงทุนอสังหา, โครงสร้างพื้นฐาน, ทองคำ มูลค่า 100,965 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.32%, หุ้นกู้เอกชนหรือ securitized debt ที่ได้รับอันดับความ น่าเชื่อถือ มูลค่า 76,659 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.28%, เงินฝาก มูลค่า 56,525 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.42%, พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลัง ไม่ค้ำประกัน มูลค่า 1,840 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.08%
นอกจากนี้ การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเป็นเรื่องใหญ่ที่สังคมกำลังจับตา กระทบผู้ประกันตน มาตรา 33 ต้องเตรียมจ่ายเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม ปี 2567 ซึ่งทางกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอร่างกฎหมายปรับขึ้นเพดานเงินสมทบประกันสังคมเป็นขั้นบันได
สำหรับเพดานเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มจาก 750 บาทต่อเดือน เป็น 875-1,150 บาทต่อเดือน แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 - 31 ธ.ค. 2569 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 875 บาทต่อเดือน ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2570 - 31 ธ.ค. 2572 เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2573 เป็นต้นไป เพดานเงินสมทบอยู่ที่ 1,150 บาทต่อเดือน
โดยการปรับเพดานเงินสมทบประกันสังคมในครั้งนี้ เป็นไปตาม พรบ.ประกันสังคมฉบับ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้ปรับเพดานเงินสมทบทุก ปี เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกันตนจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น เงินทดแทนการขาดรายได้ ค่ารักษาพยาบาล เป็นการกระจายรายได้จากผู้มีรายได้มากไปสู่ผู้มีรายได้น้อย เสริมสร้างความเชื่อมั่นภายระบบประกันสังคม
แต่อย่างไรก็ตาม นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข้อมูลว่าปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมยังคงจัดเก็บเงินสมทบ กองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 5 จากฐานคำนวณค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท โดยจะเป็นเงินไม่เกิน 750 บาท ไม่มีการปรับเป็น 875 บาท ต่อเดือน ตามแนวทางดังดังกล่าว
ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลทราบดีถึงความเหลื่อมล้ำสิทธิในหลักประกันสุขภาพ การทบทวนสิทธิประกันสังคมเป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณา