ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดปัญหาการขาดสภาพคล่องของบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ส่งผลให้บริษัทผิดนัดชำระหุ้นกู้ โดยบริษัทแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขอจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่มีอยู่ด้วยกัน 5 ชุด ในวันที่ 17 มกราคม 2567 เพื่อขอยืดการชำระหนี้เงินต้นออกไปอีก 2 ปี
เงื่อนไขผลตอบแทนสำหรับการเลื่อนนัดชำระหุ้นกู้ครั้งนี้ บริษัทขอเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.25% ต่อปี ในหนึ่งปีแรกที่ขยายเวลา และเพิ่มดอกเบี้ยของหุ้นกู้อีก 0.50% ต่อปี ในปีถัดไปโดยจะชําระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดเพียงครั้งเดียว ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ใหม่ตามที่ขยายออกไป
สำหรับหุ้นกู้ ITD ปัจจุบันมีจำนวน 5 รุ่น มูลค่ารวม 14,455 ล้านบาท แบ่งเป็น หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในปีนี้ 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น ITD242A ครบกำหนด 15 กุมภาพันธ์ 2567 มูลค่า 2,000 ล้านบาท รุ่น ITD242DA ครบกำหนด 4 ธันวาคม 2567 มูลค่า 2,455 ล้านบาท รุ่น ITD24DB ครบกำหนด 4 ธันวาคม 2567 มูลค่า 1,215 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 2 รุ่น ครบกำหนดในปี 2568 และ 2569 ตามลำดับ ได้แก่ รุ่น ITD254A ครบกำหนด 29 เมษายน 2568 มูลค่า 6,000 ล้านบาท รุ่น ITD266A ครบกำหนด 2 มิถุนายน 2568 มูลค่า 2,785 ล้านบาท
นายวรวุฒิ หิรัญยไพศาลสกุล เลขานุการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD แจ้งว่า บริษัทได้ดำรงอัตรา D/E Ratio ตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้มาโดยตลอด แต่หลังจากสิ้นงวดบัญชีไตรมาส2/2566 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเพิ่งฟื้น โครงการของบริษัทอยู่ในช่วงดำเนินการและอยู่ระหว่างส่งมอบให้ลูกค้าหน่วยงานภาครัฐ
อีกทั้งมีปัจจัยภายนอกหลายประการกระทบกับการประกอบธุรกิจของบริษัท เช่น สถานการณ์สงครามในต่างประเทศ ราคาวัสดุและน้ำมันที่สูงขึ้น การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ต้นทุนการทำงานของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลล่าช้า ส่งผลกระทบกับโครงการภาครัฐต่างๆ ชะลอตัวลงจากแผนงานเดิม ทำให้บริษัทซึ่งมีงานของภาครัฐเป็นจำนวนมากประสบปัญหาปริมาณงานลดลงไม่เป็นไปตามประมาณการ
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้ต่างๆ ของบริษัท ทั้งเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขอผ่อนผันการชำระหนี้และเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัทให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการงานต่างๆ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจของบริษัท ซึ่งการได้รับสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงินในครั้งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทผ่านพันปัญหาการขาดเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ก่อสร้างโครงการต่างๆ ไปได้อย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนเงินกู้จากสถาบันการเงินดังกล่าวมีเงื่อนไขสำคัญว่า บริษัทจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทร่วมด้วย จึงจำเป็นจะต้องจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในครั้งนี้
ขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศกำลังพิจารณาให้สินเชื่อใหม่แก่บริษัท ซึ่งจะมีผลกระทบกับหน้าที่ของบริษัทตามข้อกำหนดสิทธิในการดำรง D/E โดย D/E ตามงบการเงินรวมของบริษัท ณ ไตรมาส 3 ปี 66 เท่ากับ 2.893 หากบริษัทได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่จะทำให้ D/E สูงขึ้นเกินกว่า 3 เท่า จึงต้องขอผ่อนผันการดำรง (D/E) และขอผ่อนผันให้สามารถเจรจาหรือทำสัญญากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด
ราคาหุ้น ITD ทรุดลงทันทีที่เปิดการซื้อขายวันจันทร์ที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา ก่อนปิดที่ 85 สตางค์ ลดลง 12 สตางค์ หรือลดลง 12.37% ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ปรับตัวลงลึกสุด 14.10 จุด ก่อนมาปิดตลาดที่ 1,418.45 จุด ลดลง 9.51% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 42,143.31 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มแบงก์ ส่วนใหญ่นำดิ่ง
ขาดสภาพคล่อง ใส้เน่า ทริสลดอันดับเครดิต
ปัญหาสภาพคล่องของอิตาเลียนไทย โชยกลิ่นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยเมื่อกลางเดือนธันวาคมปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทริสเรทติ้ง ประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรของ ITD เป็นระดับ BB+ จากเดิมที่ระดับ BBB และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับBB จากเดิมที่ระดับ BBB ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตนั้นยังคง Negative หรือ “ลบ”
ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ให้ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 1 ขั้นเพื่อสะท้อนถึงการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชําระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทที่ระดับ 55.8% ซึ่งสูงเกินกว่าเกณฑ์ซึ่งกำหนดไว้ที่ 50% ตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ของทริสเรทติ้ง
การลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความกังวลของทริสเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจากการที่บริษัทมีผลการดําเนินงานค่อนข้างอ่อนแอและมีภาระหนี้สูง นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้ออํานวยในตลาดตราสารหนี้ยังทำให้บริษัทหลายๆ แห่งซึ่งรวมถึงบริษัทเองออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิมได้ยากขึ้น ส่วนแผนการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของบริษัทออกไป เช่น โรงงานปูนซีเมนต์และหุ้นที่ถือในเหมืองแร่โปแตช ซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการแต่ยังคงไม่มีความแน่นอน
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” บ่งบอกว่าอันดับเครดิตองค์กร และหุ้นกู้ของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงต่อไปได้อีกในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า หากสถานะสภาพคล่องของบริษัทไม่สามารถปรับตัวดีขึ้นจากระดับปัจจุบันได้
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะผู้นําของบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (Engineering and Construction - E&C) ภายในประเทศ ตลอดจนมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ (Backlog) จำนวนมากและหลากหลายของบริษัท ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนจากภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงจากการลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ โครงการที่ยังไม่สร้างรายได้และความต้องการเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก รวมถึงความอ่อนไหวต่อการแข่งขันที่รุนแรงของบริษัทและลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
สำหรับผลการดําเนินงานของบริษัทช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ของ ITD สอดคล้องกับประมาณการของทริสเรทติ้ง โดยบริษัทมีรายได้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จํานวน 5.26 หมื่นล้านบาท กําไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่าย (EBITDA) ยังเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ขณะที่อัตรากําไรขั้นต้นและอัตรา EBITDA Margin ของบริษัทฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8.9% และ 11.5% จากระดับ 4.6% และ 8.0% ในปี 2565 ตามลำดับ
ส่วนภาระดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2.2 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนและต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4.4 หมื่นล้านบาท อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ระดับ 78.9% ลดลงจากระดับ 79.7% ในปี 2565 อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ที่ 2.75 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดําเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 9.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 จากระดับ 5.1% ในปี 2565
แม้ว่าผลการดําเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น แต่บริษัทก็ยังคงมีข้อจํากัดภายใต้ข้อกําหนดทางการเงินเป็นอย่างมาก ซึ่งตามข้อกําหนดทางการเงินที่สำคัญของหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารนั้นระบุให้บริษัทต้องรักษาอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 2.89 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 2.97 เท่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2565
นอกจากนี้ บริษัทยังมีสภาพคล่องที่ตึงตัวอีกด้วย โดย ณ เดือนกันยายน 2566 แหล่งสภาพคล่องของบริษัทประกอบด้วยเงินสดในมือ 4.6 พันล้านบาท วงเงินสินเชื่อจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้ 8.2 พันล้านบาท และเงินทุนจากการดําเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาทต่อปี ขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกําหนดชําระในอีก 12 เดือนข้างหน้าทั้งสิ้น 2.64 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2พันล้านบาท เงินกู้จากธนาคาร 2.32 หมื่นล้านบาท และหนี้สินจากสัญญาเช่าและหนี้สินทางการเงิน อื่นๆ อีก 1.2 พันล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประจําปีคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท
ITD เป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ผลประกอบการตกต่ำติดต่อหลายปี โดยปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 1,104.45 ล้านบาท ปี 2564 ขาดทุน 155.42 ล้านบาท ปี 2565 ขาดทุน 4,758.85 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนแรกปี 2566 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 379.05 ล้านบาท โครงสร้างผู้ถือหุ้น ITD มีนายเปรมชัย กรรณสูต ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 11.90% มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 39,022 ราย ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 77.17% ของทุนจดทะเบียน
วิบากกรรม “เปรมชัย” ITD “ขาลง” โครงการรัฐล่าช้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการบริหารงานของ ITD ขึ้นอยู่กับ นายเปรมชัย กรรณสูต เป็นเสาหลัก ซึ่งนำพาธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสัญชาติไทยรายนี้ติดปีกโลดแล่นทั้งในและต่างประเทศ กระทั่งเกิดจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อนายเปรมชัย ถูกกล่าวหาใน “คดีฆ่าเสือดำ” แห่งทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาลทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจำคุกนายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ ITD แม้ว่าบริษัทจะมีคณะกรรมการบริหารมาก่อนหน้านี้แล้วหลายปี และนายเปรมชัย ได้วางตัว นายธรณิศ กรรณสูต เป็นผู้สืบทอดธุรกิจก็ตาม
ปัจจุบัน ITD เป็นคู่สัญญางานก่อสร้างของภาครัฐหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยระหว่างปี 2565-2566 ITD ได้รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้าลงนามในสัญญาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 9 โครงการ วงเงินรวมกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท ดังนี้
ปี 2565 รวม 8 โครงการ ประกอบด้วย 1.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัยงาว วงเงิน 26,560 ล้านบาท 2.สัญญาก่อสร้างทางยกระดับกับสำนักก่อสร้างสะพาน กรมทางหลวง เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้วช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว ตอน 7 วงเงิน 1,868 ล้านบาท
3.สัญญาก่อสร้างกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) จำนวน 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-เอ็นดับเบิ้ลยูอาร์ เอ็มอาร์ที วงเงิน 15,109 ล้านบาท, สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่ง และสถานียกระดับ ช่วงดาวคะนอง - ครุใน อาคารจอดรถไฟฟ้า (Stabling Yard) และอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) วงเงิน 13,094 ล้านบาท, สัญญาที่ 6 งานระบบรางช่วงเตาปูน-ครุใน วงเงิน 3,589 ล้านบาท
4.สัญญาก่อสร้างกับกรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 2 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทางขึ้น – ลง วงเงิน 1,059 ล้านบาท 5.สัญญาก่อสร้างกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารโรงพยาบาลราชทัณฑ์แห่งที่ 2 พร้อมสิ่งประกอบ 1 แห่ง วงเงิน 1,725 ล้านบาท 6.สัญญาก่อสร้างกับมูลนิธิรามาธิบดี เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการก่อสร้างศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา วงเงิน 1,520 ล้านบาท
7.สัญญาก่อสร้างกับ บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เพื่อดำเนินการงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการสมุทรปราการ 4.0 วงเงิน 1,390 ล้านบาท เช่น งานก่อสร้างถนนคอนกรีต , งานก่อสร้างสะพานคอนกรีต 8.สัญญาก่อสร้างกับการประปานครหลวง (กปน.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำ มหาสวัสดิ์ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง ในนามกิจการค้าร่วมไอทีเอ (ITA Consortium) วงเงิน 6,390 ล้านบาท
สำหรับปี 2566 มีเพียงโครงการเดียว คือสัญญาก่อสร้างกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธา สำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ในนามกิจการร่วมค้า ITD-CREC No.10 วงเงิน 9,348 ล้านบาท
ITD มีปัญหาการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ที่เมียนมา ซึ่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้วกว่า 8 พันล้านบาท โดยสร้างถนนจากชายแดนจังหวัดกาญจนบุรีไปถึงทวาย และการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่มีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ แต่ปัจจุบันโครงการได้หยุดชะงักเนื่องจากขาดแหล่งเงินทุนสนับสนุน และหาผู้ร่วมลงทุนไม่ได้
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ซึ่งลงทุนไปแล้วเกือบ 4 พันล้านบาท มีปัญหาการส่งมอบพื้นที่และรื้อย้ายสาธารณูปโภคล่าช้า การก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงาน และไม่มีผลตอบแทนกลับมา
เช่นเดียวกันกับโครงการเหมืองโปแตซที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการลงทุน และชาวบ้านที่หวั่นเกรงจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองยังคัดค้านโครงการอย่างต่อเนื่อง