xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุ้นระทึกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ครบดีลปี 67 เฉียดล้านล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  กรณี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) เลื่อนนัดชำระหุ้นกู้ ประเดิมปี 2567 ถือเป็น “ฝันร้าย” สำหรับนักลงทุนอยู่ไม่น้อย เพราะถือเป็น “บิ๊กคอร์ป” ระดับประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเผชิญกับชะตากรรมดังกล่าวได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสั่นสะเทือนสำหรับประชาชนที่ตัดสินใจนำเงินมาลงทุนในตลาดนี้อยู่ให้ต้องลุ้นระทึกว่า จะประสบปัญหาหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเมื่อรวบรวมตัวเลขมูลค่าหุ้นกู้ในช่วงที่ผ่านมาก็พบว่า มียอดที่ “มหาศาล” อยู่ไม่น้อย 

เอาแค่ที่ครบดีลในปี 2567 นี้ก็เฉียด “ล้านล้านบาท”  กันเลยทีเดียว

 นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามสถานการณ์หุ้นกู้ครบกำหนดที่อาจมีปัญหาเรื่องการชำระอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นมีเพียงบริษัทเดียวที่มีสัญญาณดังกล่าว ในส่วนบริษัทอื่นๆ ยังไม่มีสัญญาณ และภาครัฐพร้อมออกมาตรการมากำกับดูแลในเวลาที่เหมาะสม หากเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ แต่ขณะนี้ต้องปล่อยให้เป็นกลไกของตลาดทุนในการกำกับดูแล

ปีที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายแห่ง มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ เนื่องจากมีปัญหาฐานะทางการเงิน ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นที่ซื้อขายบนกระดาน เพราะนักลงทุนแห่เทขายหุ้นทิ้งจนราคาหุ้นดิ่งลง และอยู่ในสภาพตายซาก เช่น หุ้น บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN

 จากข้อมูลรายงานของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ( ThaiBMA ) ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 หุ้นกู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ ( Default Payment ) มีทั้งสิ้น 7 บริษัท วงเงินรวม 22,065 ล้านบาท ได้แก่ 1.หุ้นกู้ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) มี 5 ชุด มูลหนี้รวม 9,198.4 ล้านบาท 2.หุ้นกู้ บมจ.เจเคเอ็นโกลบอล กรุ๊ป (JKN ) มี 7 ชุด มูลหนี้รวม 3,212.15 ล้านบาท 3. หุ้นกู้ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น ( IFEC ) มี 1 ชุด มูลหนี้ 3,000 ล้านบาท 4.หุ้นกู้ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) มี 7 ชุด มูลหนี้รวม 2,334.2 ล้านบาท 5.หุ้นกู้ บมจ.เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป (ACAP) มี 7 ชุด มูลหนี้รวม 2,345.58 ล้านบาท 6.หุ้นกู้ บจก.เดซติเนชั่น รีสอร์ทส์ (DR) มี 2 ชุด มูลหนี้รวม 1,210 ล้านบาท และ 7.หุ้นกู้ บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) มี 1 ชุด มูลค่าหนี้รวม 765 ล้านบาท  

สำหรับการระดมทุนออกหุ้นกู้ระยะยาวในรอบ 10 เดือนปี 2566 ( ม.ค.- ต.ค. 2566 ) มีมูลค่า 885,213 ล้านบาท ลดลง 194,241 ล้านบาท หรือ -18% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีการออกหุ้นระยะยาว 1,079,454 ล้านบาท

ข้อมูลเว็บไซต์ThaiBMA ระบุอีกว่าปี 2567 มีหุ้นกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดทั้งสิ้น 890,908 ล้านบาท จำนวนนี้สัดส่วน 90% หรือประมาณ 791,322 ล้านบาท เป็นหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade ( เรตติ้งระดับBBB - จนถึง AAA ) และเป็นหุ้นกู้บริษัทที่มีเรตติ้ง ตั้งแต่ A- ขึ้นไปถึง 86 บริษัท วงเงินรวม 688,232 ล้านบาท ส่วนหุ้นกู้ที่เหลือกว่า 10% วงเงิน 99,586 ล้านบาท เป็นกลุ่มไฮยีลด์บอนด์ (High yield) เรตติ้งระดับ BB+ ลงมาจนถึงหุ้นกู้ที่ไม่ได้จัดอันดับเครดิต (Non Rating) จำนวนนี้เป็น Non Rating จำนวน 51,387 ล้านบาท

ทั้งนี้ หุ้นกู้ในกลุ่มไฮบอนด์ยีลด์ที่จะครบกำหนดในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โดยหุ้นกู้อสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดปี 2567 มีทั้งสิ้น 158,000 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นกลุ่มไฮบอนด์ยีลด์ราว 58,800 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนเกือบ 60% ของหุ้นกู้ไฮยีลด์ทั้งระบบ

รายงานจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุ เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 พบว่า มีอย่างน้อย 16 บริษัท เสนอขายหุ้นกู้รวมกัน 32 รุ่น อัตราผลตอบแทน 3.10- 7.50% ต่อปี ที่เปิดขายช่วงเดือนมกราคม 2567

 นายสรพล วีระเมธีกุล  ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า หลังจาก ITD ขอชะลอไถ่ถอนหุ้นกู้แล้ว ล่าสุด บริษัท สยามนุวัตร จำกัด ซึ่งเป็นอสังหาฯรายเล็กเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 23 มกราคม 2567 เพื่อขอเลื่อนไถ่ถอนหุ้นกู้ 3 รุ่นรวม 520 ล้านบาท ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทอสังหาฯ และไฟแนนซ์ ที่จะครบดีลหุ้นกู้ ซึ่งเป็นประเด็นกดดันตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น

ล่าสุด  นางสาวอริยา ติรณะประกิจ  รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา ณ สิ้นปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 39,412 ล้านบาท (ไม่รวมหุ้นกู้ที่อยู่ในการฟื้นฟูกิจการ มูลค่า 73,057 ล้านบาท) โดยแยกเป็นหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default) มูลค่ารวม 22,295 ล้านบาท จำนวน 7 บริษัท เฉพาะหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ในปีที่ผ่านมา มีจำนวน 5 บริษัท มูลค่าทั้งสิ้น 16,363 ล้านบาท ประกอบด้วย

บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) (Non-rated) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 2,334 ล้านบาท, บมจ.สตาร์ค คอร์เปเรชั่น (STARK) (BBB+) จำนวน 5 รุ่น มูลค่า 9,198 ล้านบาท, บมจ. ช ทวี (CHO) (Non-rated) จำนวน 4 รุ่น มูลค่า 409 ล้านบาท (ล่าสุด CHO เจรจาขอยืดหนี้หุ้นกู้ได้สำเร็จ), บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) (Non-rated) จำนวน 7 รุ่น มูลค่า 3,212 ล้านบาท, บริษัท เดสติเนชั่น รีสอร์ทส์ จำกัด (DR) (Non-rated) จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 1,210 ล้านบาท

“...ยอมรับว่าปีที่ผ่านมาเห็นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้มากพอสมควร หลังจากที่ไม่เห็นมาช่วง 2-3 ปี” นางสาวอริยา กล่าว

สำหรับในปี 2567 รองกรรมการผู้จัดการ ThaiBMA เผยว่า ขณะนี้มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้แล้วคือ บริษัท พี พี ฮอลิเดย์ จำกัด (PPH) (Non-rated) จำนวน 1 รุ่น มูลค่า 392 ล้านบาท สาเหตุจากผลกระทบสถานการณ์โควิดลากยาว ธุรกิจอาจยังไม่ได้ฟื้นตัวดีพอกับภาระหนี้ที่สะสม จึงมีปัญหาสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหา จะคิดเป็นสัดส่วนแค่ 0.8% ของมูลค่าคงค้างของหุ้นกู้ทั้งระบบ 4.75 ล้านล้านบาท แต่ส่งผลต่อเซนติเมนต์ของการลงทุนของตลาดหุ้นกู้ เพราะหลายบริษัท เช่น STARK ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ BBB+ และ JKN ที่งบการเงินมีกำไรแต่อยู่ๆ กลับมีปัญหา

ส่วนแนวทางที่สมาคมฯ จะทำในปี 2567 คือเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลการเงินของผู้ออกหุ้นกู้ จัดทำข้อกำหนดทางการเงินที่ผู้ออกหุ้นกู้ต้องปฏิบัติ และจะจัดทำสัญญามาตรฐานของผู้แทนผู้ถือหุ้นเพื่อเพิ่มหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้/นายทะเบียน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เลขาธิการ ก.ล.ต. และกรรมการและผู้จัดการ ตลท. มีการหารือกับสมาคมตราสารหนี้ไทยและสมาคมจัดการลงทุน (บลจ.) เพื่อหาแนวทางดูแลหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อสภาพคล่องและเกิดเบี้ยวหนี้จนกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนและเศรษฐกิจรวม โดยมีแนวทางตั้งกองทุนดูแลหุ้นกู้เฉพาะที่มีเครดิตเรตติ้ง และอีกแนวทางคือให้กองทุนดูแลทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี ในประเด็นดังกล่าว  นายสมจินต์ ศรไพศาล  กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่ว่าสมาคมไม่กังวลปัญหาของหุ้นกู้ เพราะสภาพของเศรษฐกิจปัจจุบันมีความท้าทายมาก แต่ตลาดทุนอยู่ในโหมดระมัดระวังมาก ขณะที่ตลาดตราสารหนี้เติบโตดีพอควร นักลงทุนแยกแยะได้ว่าการผิดนัดชำระหุ้นกู้เป็นเรื่องเฉพาะกิจการ

เช่นเดียวกัน  นางสาวอริยา ติรณะประกิจ  รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) กล่าวถึงกระแสเรื่องการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้ ว่า ยังไม่มีความจำเป็น

 ตอกย้ำอีกครั้งว่าการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนต้องพร้อมรับทั้งกำไรและขาดทุน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายกันเอาเอง  


กำลังโหลดความคิดเห็น