xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (15-2): มิเชล ฟูโกต์ – อำนาจเป็นความสัมพันธ์ มีการเปลี่ยนแปล และเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกันกับความรู้ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของอำนาจของฟูโกต์ที่ชี้ว่า อำนาจสร้างผลผลิตและกระจัดกระจายอยู่ทุกหนแห่ง สัปดาห์นี้จะนำเสนอประเด็นอำนาจเป็นความสัมพันธ์และมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ ซึ่งมีลักษณะเหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

แนวคิด “อำนาจคือความสัมพันธ์” มีนัยว่าอำนาจไม่ใช่สิ่งที่บุคคลคนหนึ่งกระทำต่ออีกคนหนึ่ง หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการทำความเข้าใจพลวัตของอำนาจ โดยเคลื่อนตัวออกจากมุมมองดั้งเดิมของอำนาจที่มองว่า อำนาจสามารถครอบครองได้โดยบุคคล (เช่น กษัตริย์เหนือราษฎรหรือนายจ้างเหนือลูกจ้าง) กลุ่ม หรือองค์กร (เช่น รัฐมีอำนาจเหนือประชาชน) ภายใต้มุมมองเชิงสัมพันธ์ อำนาจไม่ได้เป็นสิ่งที่สามารถครอบครอง แต่เป็นลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน อำนาจไม่ได้ “ถือ” โดยบุคคลหนึ่ง และ  “ขาด” โดยอีกคนหนึ่ง หากแต่เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ของพวกเขา

อำนาจเป็นสิ่งที่ถูกผลิตและผลิตซ้ำผ่านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ทุกความสัมพันธ์มีพลวัตของอำนาจ ซึ่งถูกขับเคลื่อนจากการเจรจาและเจรจาใหม่อย่างต่อเนื่องผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ ตัวอย่างเช่น ในที่ทำงาน อำนาจไม่ได้อยู่แค่ในมือของนายจ้างเท่านั้น แต่ยังดำรงอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพื่อนร่วมงาน พนักงานและลูกค้า และแม้กระทั่งในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับพื้นที่ทำงานทางกายภาพ

การมองอำนาจเป็นสัมพันธ์หมายถึงการตระหนักถึงธรรมชาติเชิงพลวัตของอำนาจ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่สถิตนิ่งเหมือนภูผาศิลา หากแต่สามารถเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลง ได้ขึ้นอยู่กับบริบทและการโต้ตอบอย่างต่อเนื่องระหว่างบุคคลและกลุ่ม ธรรมชาติที่มีความลื่นไหลนี้ช่วยให้เข้าใจวิธีการทำงานหรือกลยุทธ์ของอำนาจในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ในพลวัตของอำนาจเชิงสัมพันธ์ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีศักยภาพที่จะใช้อิทธิพลต่อกันได้ แม้ว่าอิทธิพลนี้อาจมีความไม่สมดุล แต่ผู้เข้าร่วมปฏิสัมพันธ์ทุกคนก็มีสิทธิเสรีภาพระดับหนึ่งในการใช้อำนาจด้วยกลยุทธ์ที่หลากหลาย สิ่งนี้แตกต่างกับตัวแบบอำนาจจากบนลงล่าง (top-down models of power ) อื่น ๆ ที่ผู้กระทำการเชิงอำนาจ (power agency) ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งทั้งหมดกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

ภายใต้มุมมองเชิงสัมพันธ์ พลวัตของอำนาจจะขึ้นอยู่กับบริบท (context-dependent power) บุคคลคนเดียวกันอาจมีอำนาจที่แตกต่างกันในสภาพแวดล้อมหรือความสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น บุคคลอาจมีอำนาจอย่างมากในบทบาททางวิชาชีพของตน แต่จะมีอำนาจน้อยกว่ามากในบริบทอื่น เช่น ภายในครอบครัวหรือองค์กรชุมชน มุมมองนี้ช่วยให้สามารถวิเคราะห์พลวัตของอำนาจในระดับจุลภาค (micro-power dynamics) ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังในความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งทำให้มองเห็นว่าอำนาจมีบทบาทในการกำหนดแม้กระทั่งปฏิสัมพันธ์ที่ธรรมดาที่สุด (เช่น ในสังคมไทย การที่ผู้มีอายุน้อยจะต้องยกมือไหว้ผู้มีอายุมากกว่าเป็นการแสดงออกของอำนาจแห่งความอาวุโสที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน) และบ่งชี้ว่าอำนาจไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยหรือปรากฎการณ์ในโครงสร้างทางการเมืองหรือเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่เท่านั้น

ธรรมชาติประการสุดท้ายของอำนาจในมุมมองของฟูโกต์คือ อำนาจเป็นประดุจสายน้ำแห่งการเปลี่ยนแปลง ลองจินตนาการถึงภาพแม่น้ำอันยิ่งใหญ่ที่ไหลอย่างไม่หยุดยั้ง น้ำของในแม่น้ำเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หมุนวน ปั่นป่วน และเปลี่ยนเส้นทางไปตลอดกาล แม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลานี้เป็นอุปมาที่ทรงพลังสำหรับการอธิบายอำนาจ ซึ่งเป็นพลังที่ไม่คงที่หรือมั่นคง แต่อยู่ในสถานะของการไหลและการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ธรรมชาติเช่นนี้ของอำนาจแตกต่างจากมุมมองดั้งเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่มักพรรณนาถึงอำนาจในฐานะสิ่งที่คงที่ ซึ่งถือครองโดยคนเพียงไม่กี่คน ลักษณะความมีชีวิตชีวา ลื่นไหล เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ตลอดเวลาของอำนาจถูกกำหนดโดยปัจจัยหลายประการทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ประการแรก กระบวนการระดับจุลภาคของอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นในปฏิสัมพันธ์และความสัมพันธ์ในแต่ละวันที่ละเอียดอ่อน ช่วงเวลาที่ดูเหมือนไม่มีนัยสำคัญเหล่านี้สะสมและมีส่วนทำให้เกิดโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่ขึ้นมา

ประการที่สอง ไม่มีสถาบันใดที่ยึดครองอำนาจได้อย่างนิรันดร์กาล เพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง ภาวะเศรษฐกิจ และการเคลื่อนไหวทางสังคมจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ และเกิดรูปแบบการจัดสรรอำนาจใหม่ขึ้นมา

ประการที่สาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงวิธีที่มนุษย์สื่อสาร โต้ตอบ และเข้าถึงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอำนาจ และมีอิทธิพลต่อความสมดุลของอำนาจในขอบเขตต่าง ๆ

ประการที่สี่ การเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง ซึ่งมักจะท้าทายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ด้วยการนำเสนอมุมมองและอุดมการณ์ใหม่ ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในจิตสำนึกของผู้คนในวงกว้าง และสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในโครงสร้างของการกระจายและการใช้อำนาจ

ประการที่ห้า เหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้เช่น วิกฤตการณ์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันอื่น ๆ สามารถทำลายโครงสร้างอำนาจเดิมที่มีอยู่ และสร้างโอกาสให้อำนาจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นแทน

เราสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของอำนาจได้จากการมองดูประวัติศาสตร์ของการรุ่งเรืองและการล่มสลายของจักรวรรดิต่าง ๆ ในโลก หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้สร้างความกระจ่างแก่เราว่า จักรวรรดิที่ทรงอำนาจเกิดขึ้น รุ่งเรือง และล่มสลายไปมากมายในทุกภูมิภาคของโลกใบนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติของอำนาจที่ไม่ยั่งยืน แปรปรวน และอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

  ขณะเดียวกันเราก็เห็นวิวัฒนาการของขบวนการทางสังคมต่าง ๆ เช่น ขบวนการสิทธิพลเมืองและขบวนการสิทธิ LGBTQ+ ที่ได้ท้าทายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจทางสังคม ขบวนการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดำเนินการร่วมกันของประชาชน เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจให้กลายเป็นโครงสร้างที่มีการกระจายอำนาจมากขึ้น

  เราเห็นผลกระทบของการปฏิวัติทางเทคโนโลยี ตั้งแต่การประดิษฐ์แท่นพิมพ์ในอดีตที่ทำลายโครงสร้างการผูกขาดความรู้ของศาสนจักร ไปจนถึงการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาสื่อสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารได้อย่างทั่วถึง ส่งผลให้รูปแบบและกลยุทธ์ใหม่ของการใช้อำนาจเกิดขึ้นอย่างมากมาย และนำไปสู่การสร้างดุลอำนาจใหม่

เมื่อตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของอำนาจอย่างต่อเนื่อง เราสามารถตั้งคำถามกับโครงสร้างอำนาจเดิม และท้าทายสภาพของระบบการกดขี่ที่เป็นอยู่ รวมทั้งพัฒนาความเข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าอำนาจดำเนินการอย่างไรในบริบทต่าง ๆอันเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสที่เอื้อต่อการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจให้มีการกระจายมากขึ้น หรือสร้างโครงสร้างอำนาจทางเลือกที่มีความยุติธรรมมากขึ้น

นอกเหนือจากลักษณะธรรมชาติของอำนาจที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ฟูโกต์ยังนำเสนอแนวคิดที่สำคัญอีกหลายอย่างเกี่ยวกับอำนาจ แนวคิดแรกคือ  ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้ (power and knowledge) ซึ่งเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก ฟูโกต์ ระบุว่าอำนาจและความรู้ไม่ได้แยกจากกัน อำนาจไม่ใช่แค่ความสามารถในการควบคุมผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสามารถในการกำหนดและสร้างความรู้ด้วย ในขณะเดียวกัน ความรู้เองก็เป็นรูปแบบหนึ่งของอำนาจที่กำหนดความเข้าใจของมนุษย์เกี่ยวกับโลกและสังคมด้วย

อำนาจก่อให้เกิดความรู้โดยผู้มีอำนาจกำหนดรูปแบบการผลิตและการเผยแพร่ความรู้ พวกเขากำหนดว่าความรู้ใดที่ถือว่าถูกต้องและต้องนำเสนออย่างไร ซึ่งมีอิทธิพลต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับโลกและตัวเราเอง ตัวอย่างเช่น สถาบันการศึกษาและสื่อมวลชนซึ่งมักจะดำเนินการภายในโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่ หล่อหลอมความรู้ที่นำเสนอแก่นักเรียนและประชาชน ซึ่งเป็นเสริมพลังและสร้างความเข้มแข็งแก่เรื่องเล่าและอุดมการณ์ที่ครอบงำสังคม

ขณะเดียวกัน ความรู้ยังทำให้โครงสร้างอำนาจมีความชอบธรรม ด้วยการควบคุมการผลิตและการเผยแพร่ความรู้ ผู้มีอำนาจสามารถกำหนด ควบคุม และบงการความคิดเห็นของประชาชน และทำให้ประชาชนยินยอมและยอมรับการกระทำของพวกเขาตัวอย่างเช่น รัฐบาลมักใช้รายงานทางวิทยาศาสตร์และสถิติเพื่อสนับสนุนนโยบายของตน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้กับการตัดสินใจของพวกเขา ดังนโยบายการทำให้ปัญหาสังคมกลายเป็นทางการแพทย์ ดังเห็นได้จาก ความเจ็บป่วยทางจิต ความยากจน และปัญหาสังคมบางประการมักถูกกำหนดและถือเป็นเรื่องทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการหันเหความสนใจไปจากการแก้ไขสาเหตุทางสังคมของปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่

ในอีกด้านหนึ่ง ความรู้สามารถเสริมสร้างพลังอำนาจแก่ประชาชนได้เช่นเดียวกัน การเข้าถึงความรู้ช่วยให้บุคคลและชุมชนสามารถท้าทายโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับชีวิตของตน ตัวอย่างเช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมภาคประชาชนมักใช้การวิจัยและข้อมูลเพื่อชี้ให้เห็นถึงความอยุติธรรมทางสังคมที่ดำรงอยู่ และสร้างการสนับสนุนเพื่อต่อสู้และแก้ไขความอยุติธรรมเหล่านั้น

 การเข้าใจความเชื่อมโยงของอำนาจกับความรู้ทำให้เราสามารถตรวจสอบความรู้ของตนเองอย่างมีวิจารณญาณด้วยการตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาและสมมติฐานเบื้องหลังความรู้ การตระหนักว่าความรู้ไม่เป็นกลาง แต่ถูกกำหนดโดยพลวัตของอำนาจทำให้เราสามารถระบุและท้าทายวิธีการที่อำนาจดำเนินการผ่านการผลิตและการเผยแพร่ความรู้ และสามารถสร้างภูมิทัศน์ความรู้ใหม่ที่ครอบคลุมและเท่าเทียมกันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นเรายังสามารถใช้ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพแก่การคิดเชิงวิพากษ์และสร้างสรรค์ให้กับตนเองและผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างพลังอำนาจในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวกได้มากยิ่งขึ้น (ยังมีต่อ)


กำลังโหลดความคิดเห็น