xs
xsm
sm
md
lg

การวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ (Comparative Analysis) ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับ: ตอนที่ ๑ ว่าด้วยเรื่องการตีความ “แหล่งกำเนิดมลพิษ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและยุทธศาสตร์การบริหาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


อาจกล่าวได้ว่าประเด็นร้อนทางการเมืองที่มีการกล่าวถึงกันมากที่สุดประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๗ คงหนีไม่พ้นการที่ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด จำนวน ๗ ร่างได้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกกันอย่างจริงจังในรัฐสภา ซึ่งแม้จะยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ภายในวันเดียวด้วยข้อจำกัดทางด้านเวลา แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฟากฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างพร้อมใจกันยื่นกฎหมายที่กระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงด้วยเหตุที่ว่าไม่มีใครบนโลกนี้สามารถดำรงชีพได้โดยปราศจากการสูดอากาศที่บริสุทธิ์ ในฐานะที่ผู้เขียนซึ่งเป็นนักวิจัยที่จับงานด้านอากาศมาตั้งแต่สมัยเรียน ปริญญาเอก รู้สึกตื่นเต้นกับปรากฏการณ์ที่ตัวแทนประชาชนซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันอย่างสุดขั้วแต่กลับมีมุมมองต่อสถาณการณ์ฝุ่นพิษอย่างเป็นเอกภาพและพร้อมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากปัญหามลพิษทางอากาศที่บั่นทอนสุขภาพประชาชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ประเทศมานานหลายปี

ด้วยเหตุที่ว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาด (ผู้เขียนขอใช้คำว่า ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเป็นชื่อเรียกโดยรวมของ กฎหมายอากาศสะอาดที่ถูกเสนอมาทั้งหมด ๗ ฉบับ) มีความซับซ้อนทั้งในด้านปริมาณและรายละเอียดซึ่งจำเป็นต้องเจาะลึกไปทีละประเด็น และเพื่อไม่ให้ผู้อ่านเกิดความสับสน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนคือชื่อเรียก ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเสนอมาทั้งหมด ๗ ฉบับมีชื่อที่แตกต่างกันดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เสนอโดย สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.)
ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณการ พ.ศ. ... เสนอโดย เครือข่ายอากาศสะอาด
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย
ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคเพื่อไทย
ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์
ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... เสนอโดย พรรคพลังประชารัฐ
ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. ... เสนอโดยพรรคก้าวไกล

หากพิจารณาจากเพียงแค่ชื่อร่าง พ.ร.บ. โดยยังไม่เจาะลึกในเนื้อหาและรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละมาตรา ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า สำนักงาน ป.ย.ป. และ พรรคพลังประชารัฐ ให้ความสำคัญกับการ “บริหารจัดการ” มาเป็นลำดับต้นซึ่งนั้นหมายความถึงการที่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงและมีเจ้าภาพที่ชัดเจน ในขณะที่พรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นไปยังเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยเหตุที่ว่าการสูดอากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้พึงได้รับ สอดรับกับการตีความของพรรคภูมิใจไทยที่ยึดเอาประชาชนเป็น “คำสำคัญ” ในชื่อร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน ประเด็นที่น่าสังเกตคือมีเพียง เครือข่ายอากาศสะอาด และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีการระบุประเด็นสุขภาพไว้อย่างชัดเจนในชื่อร่าง พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณการ พ.ศ. ...และร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ...ตามลำดับ สิ่งที่น่าสังเกตคือมีเพียงแต่พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่มีการหยิบประเด็น “การก่อมลพิษข้ามพรมแดน” เข้ามาเป็นส่วนสำคัญของชื่อร่าง พ.ร.บ. ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. ... สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของพรรคที่มีต่อปัญหามลพิษทางอากาศที่มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศ หากแต่การแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นพิษจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในระดับภูมิภาค (Regional Scale) เท่านั้นจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นเราจำเป็นต้องเข้าใจเหตุแห่งปัญหานั้นอย่างถ่องแท้เสียก่อน จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดแบบ “เกาถูกที่คัน” ในตอนนี้ผู้เขียนจึงขอเริ่มต้นจากการตีความ “แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ” ที่ได้ระบุไว้ในร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับไว้ดังนี้

ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ที่ สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นผู้จัดทำและนำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี หมวด ๓ มาตรา ๓๕ ระบุแหล่งกำเนิดของมลพิษอากาศไว้ดังนี้
(๑) แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาป่า
(๒) แหล่งกำเนิดมลพิษจากพื้นที่เกษตร
(๓) แหล่งเนิดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งไม่รวม (๑) และ (๒)
(๔) แหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ
(๕) แหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
(๖) แหล่งกำเนิดมลพิษจากการก่อสร้าง
(๗) แหล่งกำเนิดมลพิษจากสถานที่ประกอบกิจการ
(๘) แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย
(๙) แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอื่นๆ

ร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณการ พ.ศ.... นำเสนอโดย เครือข่ายอากาศสะอาด มาตรา ๓ ได้นิยาม “แหล่งกำเนิดหมอกควันพิษ” หมายความว่า การเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้ยานพาหนะในการคมนาคมขนส่ง การเผาพืชไร่ในการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม การเผาป่าไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ การเผาขยะในที่โล่งและไม่มีระบบควบคุม การก่อสร้างอาคารทุกชนิด การปลดปล่อยสารมลพิษจากที่อยู่อาศัย อาคาร หรือสำนักงาน การทำเหมืองแร่ หมอกควันพิษข้ามแดนจากต่างประเทศหรือแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษอื่นที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ.... นำเสนอโดยพรรคภูมิใจไทย ในส่วนที่ ๒ มาตรา ๔๑ ได้มีการระบุแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศไว้ดังนี้
(๑) แหล่งมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม
(๒) แหล่งมลพิษการเผาในที่โล่ง
(๓) แหล่งมลพิษการก่อสร้าง
(๔) แหล่งมลพิษจากยานพาหนะ
(๕) แหล่งมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย
(๖) แหล่งมลพิษทางอากาศอื่นๆ

ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ... นำเสนอโดยพรรคเพื่อไทย ได้มีการนิยามคำว่า “มลพิษ” หมายความว่า ของเสีย วัตุอันตราย และมลสารอื่นๆ รวมทั้งกาก ตะกอนหรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้นที่ถูกปล่อยทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษ หรือที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ซี่งก่อให้เกิดหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือภาวะที่เป็นพิษต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนได้ รวมถึง รังสี ความร้อน แสง เสียง กลิ่น ความสั่นสะเทือน หรือเหตุอื่นๆ ที่เกิดหรือถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดมลพิษด้วย และ “แหล่งกำเนิดมลพิษ” หมายความว่าชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม อาคาร สิ่งก่อสร้าง ยานพาหนะ สถานที่หรือสิ่งอื่นใด ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของสารมลพิษ โดยในส่วนที่ ๒ มาตรา ๔๓ ได้มีการเจาะลึกรายละเอียดของแหล่งกำเนิดไว้ดังนี้
(๑) แหล่งมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
(๒) แหล่งมลพิษจากการเผาในที่โล่ง
(๓) แหล่งมลพิษการก่อสร้าง
(๔) แหล่งมลพิษจากยานพาหนะ
(๕) แหล่งมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย
(๖) แหล่งมลพิษทางอากาศอื่นๆ

ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. .... นำเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ มาตรา ๔ ได้นิยาม “แหล่งกำเนิดหมอกควันพิษ” หมายความว่า การเดินเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม การใช้ยานพาหนะในการคมนาคมขนส่ง การเผาพืชไร่ในการเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม การเผาป่าไม่ว่าเพื่อวัตถุประสงค์ใดๆ การเผาขยะในที่โล่งและไม่มีระบบควบคุม การก่อสร้างอาคารทุกชนิด การปลดปล่อยสารมลพิษจากที่อยู่อาศัย อาคาร หรือสำนักงาน การทำเหมืองแร่ หมอกควันพิษข้ามแดนจากต่างประเทศหรือแหล่งกำเนิดหมอกควันพิษอื่นที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม

ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....นำเสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ หมวด ๓ มาตรา ๓๓ ระบุแหล่งกำเนิดของมลพิษอากาศไว้ดังนี้
(๑) แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาป่า
(๒) แหล่งกำเนิดมลพิษจากพื้นที่เกษตร
(๓) แหล่งเนิดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งไม่รวม (๑) และ (๒)
(๔) แหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ
(๕) แหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
(๖) แหล่งกำเนิดมลพิษจากการก่อสร้าง
(๗) แหล่งกำเนิดมลพิษจากสถานที่ประกอบกิจการ
(๘) แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย
(๙) แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศอื่นๆ

ร่าง พ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .…นำเสนอโดยพรรคก้าวไกล หมวด ๓ มาตรา ๔๔ ได้ระบุแหล่งกำเนิดของฝุ่นพิษไว้ดังนี้
(๑) แหล่งฝุ่นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
(๒) แหล่งฝุ่นพิษจากการเผาในที่โล่งแจ้ง
(๓) แหล่งฝุ่นพิษจากการก่อสร้าง
(๔) แหล่งฝุ่นพิษจากยานพาหนะ
(๕) แหล่งฝุ่นพิษจากการเกิดไฟป่า
(๖) แหล่งฝุ่นพิษจากการเกษตร
(๗) แหล่งฝุ่นพิษจากแหล่งอื่นๆ

เมื่อพิจารณาการตีความ “แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศ” ที่ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้งหมด ๗ ฉบับพบว่ามีทั้งความเหมือนและต่างดังนี้

ประการแรก มีเพียงร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกลเท่านั้นที่ตีโจทย์ปัญหามลพิษทางอากาศว่า “ฝุ่น” คือตัวการหลักซึ่งในความเป็นจริงนอกจาก “ฝุ่น” แล้วยังมี “ก๊าซ” ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพได้อย่างมหาศาล ตัวอย่างในอดีตที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในชั้นเรียนวิชามลพิษทางอากาศคือเหตุการณ์ที่ บริษัท ยูเนี่ยนคาร์ไบด์ ปล่อยก๊าซพิษ เมทิล ไอโซไซยาเนต (methyl isocyanate) จากโรงงานของตนในเมืองโบปาล ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๗ โดยมีการประมาณว่าชาวอินเดียกว่า ๒๐,๐๐๐ คนเสียชีวิตจากการสัมผัสกับก๊าซนี้ และมีผู้รอดชีวิตที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ คน [1-2] หรืออย่างเหตุการณ์ที่สมาชิกลัทธิ “โอมชินริเกียว” ได้ก่อเหตุวินาศกรรมในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ อย่างโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรมโดยได้ใช้ก๊าซ “ซาริน (Sarin)” ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ในสถานีรถไฟใต้ดินกรุงโตเกียว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ๑๒ คน และบาดเจ็บราวๆ ๕,๐๐๐ คน [3-4] ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าการที่ พรรคก้าวไกล เลือกที่จะให้ความสำคัญกับฝุ่นน่าจะด้วยเหตุที่ว่า ก๊าซ มีความไวต่อปฏิกิริยาทางเคมีทั้งในรูปแบบของ ปฏิกิริยาเอกพันธ์ (homogeneous reaction) หมายถึงปฏิกิริยาที่สารทุกตัวอยู่ในวัฏภาค เดียวกัน เช่น ก๊าซ กับ ก๊าซ ทำปฏิกิริยากันเอง หรือ ปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ (heterogeneous reaction) หมายถึงปฏิกิริยาที่สารตั้งต้นมีวัฏภาคต่างกัน เช่น ก๊าซ กับ อนุภาค หรือ ฝุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ระยะเวลาการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศ (atmospheric lifetime) ของ ก๊าซ นั้นสั้นกว่า ฝุ่น หลายเท่าเนื่องจากไวต่อการถูกทำลายด้วยแสง (photodegradation) และสามารถฟุ้งกระจายไปในชั้นบรรยากาศได้อย่างรวดเร็วตามระดับความเร็วลม [5-7] ด้วยเหตุผลดังกล่าวการที่พรรคก้าวไกลเลือกให้ความสำคัญกับฝุ่นมากกว่าก๊าซน่าจะมาจากการที่ฝุ่นสามารถก้าวข้ามพรมแดนได้ไกลกว่าก๊าซ สอดคล้องกับชื่อร่างพ.ร.บ.ฝุ่นพิษและการก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. .…

ประการที่สอง ไม่มี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับใดกล่าวถึงแหล่งกำเนิดทุติยภูมิ (secondary sources) ของฝุ่นพิษซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งในรูปแบบของ ปฏิกิริยาเอกพันธ์ หรือ ปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากปลายปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อผ่านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (oxidation reaction) สามารถทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้น (precursor) สำหรับการก่อตัวเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋ว [8-9]

ประการที่สาม ไม่มี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับใดกล่าวถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 จากต้นไม้หรือป่า งานวิจัยในอดีตที่ผ่านมาพบว่าค่าเฉลี่ยของ PM2.5 ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกระหว่างช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔-พ.ศ. ๒๕๖๑ มีค่าค่อนข้างสูงอยู่รอบบริเวณเส้นศูนย์สูตร [10 ] ดังที่ปรากฏอยู่ในรูปที่ ๑

รูปที่ ๑. แผนที่โลกการกระจายตัวของ PM2.5 ในชั้นบรรยากาศทั่วโลกระหว่างช่วงปี พ.ศ. ๒๕๕๔-พ.ศ. ๒๕๖๑
การที่ประเทศที่กำลังพัฒนาและไม่ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอุตสาหกรรมเป็นหลักอย่างกลุ่มประเทศในแอฟริกามีค่า PM2.5 ในชั้นบรรยากาศสูงกว่ากลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ เป็นการตอกย้ำว่าแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกิจกรรมมนุษย์เพียงอย่างเดียว สำหรับคำอธิบายที่ว่าเหตุใด PM2.5 ในชั้นบรรยากาศของประเทศเขตร้อนจึงมีค่าสูงกว่าประเทศที่อยู่ในเขตหนาว ซึ่งคำตอบน่าจะมาจาก “พันธุ์พืชในป่าเขตร้อน” เนื่องจากต้นไม้ในเขตร้อนมีศักยภาพในการปลดปล่อยสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจากพืช (Biogenic Volatile Organic Compound: BVOC) เช่น สารไอโซพรีน (isoprene) และ โมโนเทอพีน (monoterpene) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการก่อตัวเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กจิ๋วอย่างเช่น PM2.5 [11-12]

ประการที่สี่ ไม่มี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับใดอีกเช่นกันที่กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 จากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในภาคการเกษตร จากผลงานวิจัยในประเทศจีนพบว่าแม้ว่าทางภาครัฐจะมีการควบคุมการปลดปล่อยก๊าซน็อกซ์ (NOx) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) จากภาคคมนาคมขนส่งและภาคอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด แต่ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ซึ่งมีแอมโมเนียมซัลเฟต (NH42SO4) และแอมโมเนียมไนเตรต (NH4NO3) ก็ไม่ได้ลดลงมากอย่างที่ควรเป็น ด้วยเหตุที่ว่าแอมโมเนีย (NH3) จากภาคการเกษตรมีผลอย่างมากต่อการสร้างฝุ่นทุติยภูมิในชั้นบรรยากาศของประเทศจีน [13]

ประการที่ห้า ไม่มี พ.ร.บ. อากาศสะอาดฉบับใดให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศในอาคาร (indoor air pollution) อย่างเช่น ธูป เครื่องถ่ายเอกสาร บุหรี่ ซึ่งในบางกรณีสามารถส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยได้มากกว่ามลพิษทางอากาศที่อยู่นอกอาคารเสียด้วยซ้ำ

ในภาพรวมผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.บ. เกือบทุกฉบับ ให้ความสำคัญกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์เป็นหลักทั้งที่ในข้อเท็จจริง “ธรรมชาติ” เองก็มีส่วนสำคัญมิใช่น้อยต่อการปล่อยฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเหตุสุดวิสัยอื่นอย่างในกรณีการระเบิดของภูเขาไฟ เอย์ยาฟิยัตลาเยอคึตซ์ (Eyjafjallajökull) ในไอซ์แลนด์ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศรวมทั้งค่าทัศนวิสัยในการบินต่ำลงมากจนกระทั้งต้องยกเลิกเที่ยวบินในยุโรปเกือบทั้งหมด [14] สิ่งที่ยากต่อการปฏิเสธคือประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเช่นกัน หากภูเขาไฟที่อินโดเนเซียหรือฟิลิปปินส์เกิดการประทุขึ้น

“ในตอนต่อไปผู้เขียนจะมาวิเคราะห์ต่อในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่ามาตรฐานของสารพิษที่อยู่ใน PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพแต่กลับไม่ได้ถูกกล่าวถึงเท่าที่ควรใน พ.ร.บ. อากาศสะอาดทั้ง ๗ ฉบับ”

เอกสารอ้างอิง
[1] Dinham, B., & Sarangi, S. (2002). The Bhopal gas tragedy 1984 to? The evasion of corporate responsibility. Environment and Urbanization, 14(1), 89-99.
[2] Gupta, J. P. (2002). The Bhopal gas tragedy: could it have happened in a developed country?. Journal of Loss Prevention in the process Industries, 15(1), 1-4.
[3] Nagao, M., Takatori, T., Maeno, Y., Isobe, I., Koyama, H., & Tsuchimochi, T. (2003). Development of forensic diagnosis of acute sarin poisoning. Legal medicine, 5, S34-S40.
[4] Taneda, K., & MD. (2009). Tokyo: Terror in the Subway. In Medical Disaster Response (pp. 309-322). CRC Press.
[5] Lin, C. Y., Liu, S. C., Chou, C. C., Liu, T. H., Lee, C. T., Yuan, C. S., ... & Young, C. Y. (2004). Long-range transport of Asian dust and air pollutants to Taiwan. Terr. Atmos. Ocean. Sci, 15(5), 759-784.
[6] Wang, L., Liu, Z., Sun, Y., Ji, D., & Wang, Y. (2015). Long-range transport and regional sources of PM2. 5 in Beijing based on long-term observations from 2005 to 2010. Atmospheric Research, 157, 37-48.
[7] He, Z., Kim, Y. J., Ogunjobi, K. O., & Hong, C. S. (2003). Characteristics of PM2. 5 species and long-range transport of air masses at Taean background station, South Korea. Atmospheric Environment, 37(2), 219-230.
[8] Guerra, S. A., Olsen, S. R., & Anderson, J. J. (2014). Evaluation of the SO2 and NOx offset ratio method to account for secondary PM2.5 formation. Journal of the Air & Waste Management Association, 64(3), 265-271.
[9] Ye, Q., Yao, M., Wang, W., Li, Z., Li, C., Wang, S., ... & Zhao, Y. (2024). Multiphase interactions between sulfur dioxide and secondary organic aerosol from the photooxidation of toluene: Reactivity and sulfate formation. Science of The Total Environment, 912, 168736.
[10] Chu, X. D. (2020, April). Laws of environmental protection in Vietnam-situation and solutions. In Journal of Physics: Conference Series (Vol. 1515, No. 5, p. 052082). IOP Publishing.
[11] Li, X., Liu, Y., Li, D., Wang, G., Bai, Y., Diao, H., ... & Wang, L. (2017). Molecular composition of organic aerosol over an agricultural site in North China Plain: Contribution of biogenic sources to PM2.5. Atmospheric Environment, 164, 448-457.
[12] Rattanavaraha, W., Chu, K., Budisulistiorini, S. H., Riva, M., Lin, Y. H., Edgerton, E. S., ... & Surratt, J. D. (2016). Assessing the impact of anthropogenic pollution on isoprene-derived secondary organic aerosol formation in PM2.5 collected from the Birmingham, Alabama, ground site during the 2013 Southern Oxidant and Aerosol Study. Atmospheric chemistry and physics, 16(8), 4897-4914.
[13] Wu, Y., Gu, B., Erisman, J. W., Reis, S., Fang, Y., Lu, X., & Zhang, X. (2016). PM2.5 pollution is substantially affected by ammonia emissions in China. Environmental pollution, 218, 86-94.
[14] Sveinbjörnsson, M., Palsson, A., Arnarson, B., & Hauksdóttir, A. S. (2002). Short Term Effects of a Volcanic Eruption in Iceland on Air Traffic and Air Traffic Control. In AIAA Guidance, Navigation, and Control Conference and Exhibit (p. 4769).



กำลังโหลดความคิดเห็น