xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ไทยราชาทุเรียนโลก” ครองใจตลาดผู้บริโภคจีน จับตา “คู่แข่ง” รุกตลาดเบอร์ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา “ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก” โดยมีประเทศจีนครองสัดส่วนเป็นตลาดผู้บริโภคหลัก ที่ต้องจับตาคือการ “รุกตลาดจีน” ของประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น “เวียดนาม-มาเลเซีย-ฟิลิปฟินส์” อีกทั้ง “จีน” สามารถปลูกทุเรียนเองได้แล้ว ดังนั้น แนวโน้มการส่งออกทุเรียนพืชเศรษฐกิจเบอร์หนึ่ง นับเป็นประเด็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

ทุเรียนถือเป็นราชาผลไม้ไทยเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญมีการส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนมากเป็นอันดับ 1 ในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าแสนล้านบาท นับเป็นพืชเศรษฐกิจเบอร์หนึ่งที่ครองส่วนแบ่งในตลาดจีนกว่า 90 % เรียกว่าการบริโภคทุเรียนเกือบทั้งหมดในจีนพึ่งพาการนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่มาจากไทย

อย่างไรก็ดี จากเดิมประเทศไทยเรียกได้ว่าผูกขาดการส่งออกทุเรียนสดไปยังจีนแบบไม่เสียภาษี โดยมีเงื่อนไขว่าได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) เป็นการรับประกันว่ามีการปลูก เก็บเกี่ยว และขนส่งอย่างเหมาะสม แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ได้  “เปลี่ยนไป”  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อประเทศจีนเปิดกว้างการนำเข้าทุเรียนสดมากขึ้น ส่งผลให้ประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ต่างได้รับสิทธิ์ส่งออกทุเรียนสดส่งออกไปยังจีนเช่นเดียวกัน อีกทั้งจีนสามารถปลูกทุเรียนเอง น่าสนใจว่าปัจจัยเหล่านี้จะกระทบตลาดส่งออกทุเรียนของไทยอย่างไร

อ้างอิงรายงานภาพรวมการค้าทุเรียนโลกประจำาปี 2566 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ระบุว่าทุเรียนถือเป็นพืชมูลค่าสูงและมีการเพาะปลูกเป็นจำานวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวโน้มตลาดการส่งออกทุเรียนในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมามีการขยายตัวอย่างมาก โดยปริมาณการค้าทุเรียนทั่วโลก ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่าตัว ในช่วงระหว่างปี 2546 - 2565 โดยเพิ่มขึ้นจาก 80,000 ตัน ในปี 2564 เป็น 870,000 ตัน ในปี 2565

ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้การค้าทุเรียนปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ การเติบโตของรายได้ (Income Growth) การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของความชอบของผู้บริโภค (Consumer Preference) ในประเทศผู้นำเข้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้าสำคัญ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีการขนส่งห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) และระยะเวลาในการขนส่ง ซึ่งช่วยส่งเสริมให้การค้าทุเรียนขยายตัวเพิ่มขึ้น

 จากสถิติในช่วงปี 2563 - 2565 พบว่าไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนมากที่สุดของโลก คิดเป็น 94 % ตามด้วย เวียดนาม 3 % และมาเลเซีย 3 % ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด โดยปริมาณการผลิตทุเรียนของ 3 ประเทศดังกล่าวรวมกันได้ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ยังมีฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่เป็นประเทศผู้ผลิตทุเรียน แต่มีการส่งออกสู่ตลาดโลกน้อย 

รายงานของ FAO เปิดเผยว่า จีนเป็นประเทศที่นำเข้าทุเรียนมากที่สุดในโลก จากสถิติพบว่าในช่วงระหว่างปี 2563 -2565 นำเข้าทุเรียนเฉลี่ยปีละ 740,000 ตัน โดยคิดเป็นร้อยละ 95 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนของทั่วโลก ซึ่งทุเรียนที่จีนนำเข้าส่วนใหญ่เป็นทุเรียนจากไทย อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการจีนมีการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามมากขึ้นด้วย

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าสินค้านำเข้าเฉลี่ยต่อหน่วย Indicative Average Import Unit Value ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติชี้ว่าระหว่างปี 2564 - 2565 ราคาทุเรียนเฉลี่ยต่อปีสูงถึงประมาณ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งถือว่าสูงกว่าราคากล้วยและผลไม้เขตร้อนสำคัญชนิดอื่นหลายเท่าตัว

เพราะทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่อร่อย มีเอกลักษณ์โดดเด่น และเป็นสินค้าระดับสูง ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผู้บริโภคโดยเฉพาะในจีน ทุเรียนจากไทยได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากรสชาติที่หวานอร่อยและคุณภาพดีเลิศ รวมทั้งปัจจัยด้ารการขนส่งขยายตัวของการนำเข้าทุเรียนจากไทย เช่น การเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงระหว่างลาวและจีนในช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ระยะเวลาในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังจีนสั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่ขนส่งทางรถบรรทุกหรือทางเรือ ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายวันหรือนับสัปดาห์ ในปัจจุบันสามารถลดช่วงเวลาการขนส่งเหลือเพียง 15 ชั่วโมงเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาความสดใหม่ของสินค้าได้ดีกว่าเดิมน

หากมองในเรื่องอุปสรรคการค้าทุเรียน พิจารณาจากข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกระแสการค้ารายเดือน (Monthly Trade Flow) ชี้ให้เห็นว่าการนำเข้าทุเรียนของจีนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 60 ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ทุเรียนถือเป็นสินค้าที่แปลกใหม่และเป็นสินค้าตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Product) ในตลาดโลก ความเน่าเสียง่ายของทุเรียนสดทำให้การขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกลจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ประกอบกับในหลาย ๆ ครั้ง ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้

ทุเรียนในตลาดโลกส่วนใหญ่จึงเป็นทุเรียนแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ อาทิ ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนแห้ง ทุเรียนกวน และในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อุปสรรคสำคัญในการเติบโตของการส่งออกทุเรียนในตลาดโลก ได้แก่ การรับรู้และความเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคยังไม่แพร่หลายมากนัก และราคาต่อหน่วย (Unit Price) สูง

ทั้งนี้ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2564 - 2565 คิดเป็น 3,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทุเรียนเป็นสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่มีมูลค่าส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 รอจากสินค้ายางธรรมชาติและข้าว มูลค่าการส่งออกสะท้อนให้เห็นว่าทุเรียนเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ของไทย

นอกจากนี้ ในวงเวทีเสวนา เรื่อง “สถานการณ์การค้าทุเรียน ตลาดและความนิยมของทุเรียนไทยในจีน เปรียบเทียบคู่แข่งทางการค้า เวียดนาม มาเลเซีย” จัดโดยสมาคมทุเรียนไทย (Thai Durian Association) ฉายภาพสถานการณ์ส่งออกทุเรียนปี 2567ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2566 ที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดทุเรียนในตลาดจีนเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แม้ทุเรียนไทยยังครองเจ้าตลาดเพราะความเชื่อมั่นคุณภาพทุเรียนไทย แต่การรุกตลาดของเวียดนามซึ่งนับเป็นคู่แข่ง ส่งผลให้ระยะแรกมีผลกระทบราคาตัวสินค้า

 นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ประกอบการไทยต้องเตรียมรับมือในเรื่องต่างๆ อาทิ 1. การขยายระบบการขนส่งรองรับผลผลิต ยกตัวอย่างปี 2566 การขนส่งผลไม้ไปจีน ทุเรียน มังคุด ปริมาณ 900 ตู้ต่อวัน, ส่งทางบก 300 ตู้ต่อวัน หรือส่งทางเรือ 500 ตู้ต่อวัน ต้องไม่มีปัญหาติดกระจุกตัวที่ด่าน 2. การเชื่อมโยงข้อมูลผลผลิตทุเรียนอาเซียน เพื่อทำงานร่วมกัน 3. การควบคุมคุณภาพทุเรียน การเข้ามาลงทุนของคนจีนเพิ่มขึ้น 4. ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง 30-50บาทต่อกิโลกรัม ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้การผลิตมีประสิทธิภาพต้นทุนต่ำลง หรือมีส่วนต่างกลับมาพัฒนาการผลิตได้ และ 5. การเตรียมการรองรับอุตสาหกรรมทุเรียนแช่แข็ง ให้มีคุณภาพ มาตรฐานการผลิต




ทั้งนี้ ภาพรวมจีนนำเข้าผลไม้ คือ ทุเรียน เป็นอันดับ 1 ปี 2565 นำเข้าทุเรียนจากทุกประเทศ 824,460 ตัน มูลค่า 4,032 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) จีนนำเข้าทุเรียนจากทุกประเทศ 1,360,192 ตัน มูลค่า 6,381 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบปีก่อนมูลค่าเพิ่มขึ้น 27%

 นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุลฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว เปิดเผยว่าทางการจีนอนุญาตให้ 3 ประเทศนำทุเรียนผลสด ได้แก่ ไทย ปริมาณ 69.30% เวียดนาม 30.52% ฟิลิปปินส์ 0.19% ด้านทุเรียนแช่แข็ง ปัจจุบันจีนนำเข้าจากมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 24.01% ไทย 75.99% และส่วนทุเรียนอบแห้ง นำเข้าจากไทย 100% อนาคต สปป.ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย กำลังเจรจาขอนำเข้าทุเรียนผลสด และเวียดนามกำลังขออนุญาตนำเข้าทุเรียนแช่แข็ง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2565 ไทยมีคู่แข่งที่ต้องจับตา คือ เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ปี 2565 ทุเรียนไทยครองตลาดจีน 95% ปริมาณ 784,010 ตัน มูลค่า 3,844 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม 5% ปริมาณ 40,861 ตัน มูลค่า 188 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะเริ่มนำเข้าปลายปี

ต่อมา ปี 2566 (ม.ค - ต.ค.) ปริมาณทุเรียนไทยส่งออก 904,178 ตัน มูลค่า 4,422 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนลดเหลือ 66.47% และทุเรียนเวียดนาม ปริมาณ 452,688 ตัน เพิ่มขึ้น 31.2% มูลค่า 1,947 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ 3,326 ตัน คิดเป็นสัดส่วน 0.24% มูลค่า 12 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ อนาคตมาเลเซีย และอินโดนีเซียจะนำเข้าเพิ่มขึ้น

โดยปัจจุบันเวียดนาม มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 689,000 ไร่ ผลผลิตมากกว่า 863,000 ตัน สวนที่ขึ้นทะเบียน 422 แห่ง ล้งที่ขึ้นทะเบียน 153 แห่ง ฟิลิปปินส์ พื้นที่ปลูกทุเรียน 450,000 ไร่ ผลผลิตประมาณ 900,000 ตัน สวนที่ขึ้นทะเบียน 183 แห่ง ล้งที่ขึ้นทะเบียน 10 แห่ง มาเลเซีย พื้นที่ปลูกทุเรียน 533,000 ไร่ ผลผลิต 450,000 ตัน

ขณะที่ มาเลเซียจะได้รับอนุญาตส่งไปจีน เดือนพฤษภาคม 2567 ทั้งนี้ สถาบันวิจัยการเกษตรมาเลเซียอยู่ระหว่างศึกษาวิธีเก็บรักษายืดอายุทุเรียนสด 7-21 วัน และจะใช้สัญลักษณ์พิเศษเพื่อแยกแยะทุเรียนพันธุ์มูซังคิงของมาเลเซีย ออกจากทุเรียนไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้ เมื่อถึงห้วงทุเรียนไทยขาดช่วงจะมีทุเรียนเวียดนามมาทดแทน ถ้าทุเรียนไทยคุณภาพไม่ดี ทำให้ราคาปลายทางตก เป็นห่วงโซ่ทำให้ราคารับซื้อจากเกษตรกรต่ำลงไปด้วย สถกานณ์ที่กำลังเกิดขึ้นคือจีนนำเข้าทุเรียนจากหลายประเทศ ย่อมส่งผลราคาจะปรับลงตามหลักดีมานด์ซัพพลาย

บทวิเคราะห์เรื่อง  จับตาสถานการณ์ทุเรียนไทย...เมื่อคู่แข่งรุก บุกตลาดจีน  โดย  ณิชมล ปัญญาวชิโรกุล และกฤตยา ตรีวรรณไชย  เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากความต้องการบริโภคทุเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้นมาก โดยในปี 2565 มูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทำสถิติสูงสุดที่ 1.24 แสนล้านบาท ครองแชมป์ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยทุเรียนไทยเกือบทั้งหมดส่งออกไปตลาดจีนในรูปของทุเรียนผลสด เนื่องจากเดิมไทยเป็นประเทศเดียวที่จีนอนุญาตให้ส่งทุเรียนผลสดไปขายมานานหลายปี

ความนิยมบริโภคทุเรียนของจีนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาทุเรียนปรับตัวสูงขึ้น และเกษตรกรไทยหันมาปลูกทุเรียนมากขึ้น โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ราคาทุเรียนเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 33 บาท เป็น 111 บาท/กก.1/ และส่งผลให้พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

ทว่า สถานการณ์ทุเรียนโลกเปลี่ยนแปลงอย่างน่าจับตา ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถส่งทุเรียนผลสดไปจีนอีกต่อไป ตลาดผู้บริโภคหลักประเทศจีนเริ่มนำเข้าจากประเทศอื่นๆ จากเดิมที่บริโภคทุเรียนหมอนทองจากไทยเป็นหลัก แต่เมื่อไม่นานนี้ได้อนุญาตให้เวียดนามและฟิลิปปินส์ส่งทุเรียนผลสดมาขายในจีนเช่นกัน

โดยเวียดนามได้รับใบอนุญาตเป็นประเทศที่สองเมื่อ ก.ค. 2565 และได้ส่งทุเรียนหมอนทองเข้าไปขายในราคาใกล้เคียงกับไทย ทำให้ได้ส่วนแบ่งการตลาดไปกว่า 5% และ ฟิลิปปินส์ ได้รับใบอนุญาตล่าสุดเมื่อ ม.ค. 2566 และเริ่มส่งทุเรียนพื้นเมืองพันธุ์ปูยัตเข้าไปให้ชาวจีนได้ลองทาน


แนวโน้มการแข่งขันในตลาดทุเรียนโลกรุนแรงขึ้น ทั้งจากไทยที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 8% ต่อปี และประเทศคู่แข่งที่ขยายพื้นที่ปลูกเพื่อบุกตลาดส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดทุเรียนผลสดในจีนที่หลายประเทศเร่งพัฒนาคุณภาพทุเรียนและต่อคิวขอใบอนุญาตส่งออกทุเรียนสดจากจีนเช่นกัน

สำหรับผลผลิตทุเรียน 2566/67 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 15.3% โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก คาดว่าจะมีปริมาณรวมทั้งหมด 1.4 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมา 30,000 ตัน โดยผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนแทนยางพาราและผลไม้อื่นๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น 8.18% หรือทะลุ 1 ล้านไร่

ส่วนแนวทางในการยกระดับทุเรียนในอนาคตนั้น คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาจัดทำพระราชบัญญัติกองทุนทุเรียนไทย พ.ศ.. ขึ้นมา เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เพื่อแก้ปัญหาทุเรียนแบบครบวงจร โดยเฉพาะเรื่องการจัดให้มีกองทุนทุเรียนไทย เพื่อนำเงินกองทุนมาสงเคราะห์ช่วยเหลือชาวสวนทุเรียน เพื่อจัดสวัสดิการและศึกษา วิจัย พัฒนา การจัดระเบียบพื้นที่ปลูกทุเรียน จัดหาแหล่งน้ำ และปัจจัยการผลิตที่จำเป็น เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีการระบุว่าจะเก็บเงินเข้ากองทุน โดยหักจากรายได้จากการส่งออกทุเรียนปีละ 1,500,000 ตัน หรือ 1,500 ล้านกิโลกรัม แค่กิโลกรัมละ 25 สตางค์ ซึ่งจะทำให้มีเงินสมทบเข้ากองทุนทุเรียนไทยปีละประมาณ 375 ล้านบาท

 สุดท้ายแม้ทุเรียนไทยมีข้อได้เปรียบอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องปริมาณผลผลิตที่มีมาก และคุณภาพทุเรียนที่เป็นที่ยอมรับ แต่อย่าชะล่าใจ! ทุกฝ่ายต้องร่วมกันพัฒนาทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันตำแหน่งแชมป์ส่งออกทุเรียนอันดับ 1 ของโลก 



กำลังโหลดความคิดเห็น