xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อาชีพสุดปัง ธุรกิจดาวรุ่ง “ปีมังกร” “โชว์ห่วย” คืนชีพ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ส่องอาชีพและธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงปี 2567 ยังเกาะเทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เน้นความสะดวกสบาย สายสุขภาพ ความงาม เทคโนโลยี และสังคมสูงวัย แต่ที่สุดเซอร์ไพรส์คือ “ร้านโชว์ห่วย” ที่ว่าเป็นธุรกิจดาวร่วงหมดอนาคตกลับหวนคืนเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสองปีซ้อน 

ย่างขึ้นปีหน้าฟ้าใหม่ 2567 หลายสำนักต่างออกมาคาดการณ์แนวโน้มความปังของธุรกิจจะรุ่งหรือร่วง เริ่มจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กลุ่มธุรกิจนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจเพราะมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ล้านราย

 นายวีระพงศ์ มาลัย  ผอ.สสว. เผยว่ากลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องสองปีซ้อนต่อเนื่องจากปี 2566-2567 อันดับหนึ่งคือ  ธุรกิจขายของชำ หรือร้านโชห่วย ซึ่งเติบโต 940% จุดเด่นของร้านโชว์ห่วยคือสามารถซื้อสินค้าครั้งละน้อย ๆ มีความยืดหยุ่นในการชำระเงินและสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในชุมชน ตามติดมาเป็นอันดับสองคือ  ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน เติบโต 187% เป็นเทรนด์ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมหลังโควิด-19 เพื่อเยียวยาชีวิตและจิตใจได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ความเรียบง่ายอาหารจากธรรมชาติ บรรยากาศที่เงียบสงบ

สาม  ธุรกิจขายของในบ้านมือสอง และซ่อมเฟอร์นิเจอร์  เติบโตกว่า 263% เพราะกำลังซื้อลดลง ค่าซ่อมถูกกว่าซื้อใหม่ ผสานไปกับเทรนด์รักษ์โลก สี่ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ เช่น การตัดต่อ การจัดผังรายการ เติบโตขึ้น 199% จากการขยายแพลตฟอร์มไปสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น การเข้าสู่อาชีพ Youtuber และการสร้างกระแสในโลก Social ที่ง่ายขึ้น

และห้า ธุรกิจผับ บาร์ และร้านที่ขายแอลกอฮอล์เป็นหลัก  เติบโต 125% เนื่องจากหลังโควิด-19 ธุรกิจท่องเที่ยวขยายตัว นักท่องเที่ยวกลับมาใช้ชีวิตยามราตรีได้ตามปกติ ธุรกิจนี้สร้างอัตรากำไรสูง ผู้ประกอบการคืนทุนได้รวดเร็วจึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้

ส่วนกลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงในปี 2567 ที่เพิ่มขึ้นมาจำนวน 5 อันดับ แรกสุด คือ  ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ  มีอัตราการเติบโตสูงถึง 1,925% ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จากรูปแบบพฤติกรรมกลุ่มคนเมืองที่ต้องการใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่น หรือพักผ่อน พื้นที่ในที่พักมีจำกัด บริการนี้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญสามารถซักและอบเสร็จได้ในเวลาเพียง 20-40 นาที ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องซัก-อบที่มีราคาสูง คาดจะขยายตัวในเขตชุมชนจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่การแข่งขันเริ่มเข้มข้นขึ้น

อันดับสอง  ธุรกิจผลิตน้ำอัดแก๊สและโซดา มีอัตราการเติบโต 1,109% เป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มมีรสชาติและรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้นทั้งในรูปน้ำผลไม้ต่าง ๆ จากแต่ละท้องถิ่นที่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมดื่ม
ถัดมาคือ  ร้านตัดเย็บและซ่อมเครื่องแต่งกาย  เติบโต 667% เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างชะลอตัว หลังโควิดผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่าย จึงนำเสื้อผ้าเก่ามาแก้เพื่อใช้งานหรือหาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ราคาถูกแต่อาจต้องปรับแก้ทรงเนื่องจากไม่ได้ลองก่อนซื้อ

ตามมาด้วย กิจกรรมสันทนาการ เช่น  ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านเกม มีอัตราการเติบโต 349% เนื่องจากสามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมบันเทิง งานแสดงดนตรี หรือร้านเกม กลับมาเปิดได้ตามปกติจึงกลับมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ส่วนบริการเกี่ยวกับ งานศพครบวงจร  เติบโตขึ้น 285% ทั้งให้บริการขนย้าย ตกแต่งสถานที่ พิธีกรรม เป็นธุรกิจที่ตอบสนองคนเมือง ครอบครัวขนาดเล็ก ช่วยลดความยุ่งยากและเวลาในการจัดการ มีให้เลือกตามงบประมาณของลูกค้า อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

สุดท้าย  ธุรกิจร้านเสริมสวย เติบโต 193% เนื่องจากกิจกรรมบันเทิงและความงามยังคงได้รับความสนใจ รวมถึงราคาการให้บริการไม่สูงนักเพราะมีให้เลือกใช้บริการจำนวนมาก

ส่วนกลุ่มธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังสองปีซ้อนต่อเนื่องกันจากปี 2566-2567 คือ  ธุรกิจหอพักนักศึกษา  สถานศึกษามีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น ขณะที่ทางเลือกที่พักมีหลากหลายทั้งห้องเช่าแบบอพาร์ทเม้นท์และคอนโดมิเนียม

สำหรับธุรกิจที่เติบโตสูงในปี 2566 แต่ต้องเริ่มเฝ้าระวังในปี 2567 เพราะมีแนวโน้มชะลอตัวลง มี 3 กลุ่มหลัก คือ ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หดตัวมากถึง 82% จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สินค้ามือหนึ่งราคาถูกลง มีหลายระดับราคาให้เลือกตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลากหลาย เช่นเดียวกันกับ ธุรกิจขายงานฝีมือและของที่ระลึก  เช่น เครื่องเงิน เครื่องจักรสาน หดตัวถึง 75% เพราะมีสินค้าขายในออนไลน์มาตีตลาด

ขณะที่  ธุรกิจเกสต์เฮาส์ ที่เติบโตอย่างมากเมื่อปีก่อน ซึ่งเป็นผลหลังโควิดผ่อนคลายในช่วงแรกห้องพักแบบเกสต์เฮาท์เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว กลุ่มวัยรุ่นและพักในระยะยาว แต่หลังโควิด-19 ผ่านไป นักท่องเที่ยวนิยมพักระยะสั้น-กลาง และเที่ยวแบบครอบครัวจึงต้องการห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า

ทั้งนี้ ในระบบฐานข้อมูลของ สสว. ผู้ประกอบการ SME มีจำนวน 3.178 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.57 ของจำนวนวิสาหกิจรวมทั้งหมด มีการจ้างงานกว่า 12.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.86 ของการจ้างงานรวมทั้งประเทศ โดยในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2565 GDP SME มีมูลค่ารวม 4.54 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 5.1 คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 35.2 ของ GDP รวมของประเทศ

ตามมาดูธุรกิจดาวรุ่งทำกำไรดีจากการวิเคราะห์ของกระทรวงพาณิชย์  นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยว่าธุรกิจที่มาแรงโดดเด่นข้ามปีและคาดว่าจะมีผลกำไรต่อเนื่อง โดยวิเคราะห์จากคลังข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศของกรมฯ (DBD DataWarehouse+) โดยใช้หลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์ ดังนี้ จำนวนและอัตราการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ 50% ผลประกอบการ (กำไรและรายได้) 20% อัตราการเลิกของธุรกิจ 20% ปัจจัยภายนอก 10% ได้แก่ แนวโน้ม กระแสความนิยม พฤติกรรมของธุรกิจ นโยบายรัฐบาล และดัชนีทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ผลวิเคราะห์สามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามองและน่าสนใจในปี 2567 ออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ 9 ประเภทธุรกิจ ประกอบด้วย

 กลุ่มแรก กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร, ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ห้องชุด เกสต์เฮ้าส์, ธุรกิจจัดนำเที่ยว, ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา, ธุรกิจตัวแทนการเดินทาง ฯลฯ โดยปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 7,459 ราย เติบโตสูงขึ้น 48% จากปี 2565 ผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวมทั้งสิ้น 575,347 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้นถึง 64% จากปี 2564 กลุ่มธุรกิจนี้มีแนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2566 ประมาณ 27 ล้านคน และปี 2567 ประมาณ 30-35 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการขยายหรือเริ่มต้นธุรกิจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

ธุรกิจการจัดประชุม แสดงสินค้า คอนเสิร์ต เช่น ธุรกิจการจัดแสดงทางธุรกิจและสินค้า, ธุรกิจการจัดประชุม, ธุรกิจจัดงานเลี้ยง, ธุรกิจกิจกรรมด้านความบันเทิง ฯลฯ ซึ่งสามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลสอดรับกับความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีของศิลปินชาวต่างชาติที่ดึงดูผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมกิจกรรม และยังเกื้อหนุนการท่องเที่ยว โดยปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 1,138 ราย เติบโตสูงขึ้น 45% จากปี 2565 และมีผลประกอบการรอบปีบัญชี 2565 รวม 56,750 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 37% จากปี 2564

 กลุ่มที่สอง กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพ ประกอบด้วย ธุรกิจสุขภาพและความงาม เช่น ธุรกิจปลูกพืช เครื่องเทศ เครื่องหอมยารักษาโรค, ธุรกิจโรงพยาบาล คลินิกโรคเฉพาะทาง, ธุรกิจขายปลีก/ส่งเภสัชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ ฯลฯ โดยประเภทธุรกิจสุขภาพและความงาม รอบปีบัญชี 2565 สร้างรายได้ 1,184,181 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 97,052 ล้านบาท กำไรสุทธิ 91,959 ล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2564 มูลค่า 3,687 ล้านบาท ทั้งนี้ หลังโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคสนใจมาดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งให้สำคัญกับรูปลักษณ์ หนุนให้ธุรกิจกลุ่มนี้เติบโต

ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ เช่น ธุรกิจสถานที่ดูแลรักษาสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจบริการจัดหาที่พักให้, ธุรกิจสังคมสงเคราะห์โดยไม่มีที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ฯลฯ ตามแนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทั้งของไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ส่งผลให้ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่ในแต่ละปี ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุมีโอกาสทางการตลาด ประชากรผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ มีการจัดตั้งธุรกิจในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวนทั้งสิ้น 107 ราย เพิ่มขึ้น 11% จากปี 2565 ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ 721 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งสิ้นกว่า 4,250 ล้านบาท

 กลุ่มที่สาม กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องรูปแบบการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ มีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น ธุรกิจดูแลสัตว์เลี้ยง, ธุรกิจขายปลีกอาหารและอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง, ธุรกิจขายส่งอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 494 ราย เติบโตสูงขึ้น 32% จากปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 197,842 ล้านบาท รวมทั้งมีอัตราเติบโตของกำไรปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 3,152 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 13,304 ล้านบาท ในปี 2565

ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ด้วยสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์และรูปแบบกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมส่งผลให้มีธุรกิจหลายประเภท เช่น ธุรกิจรีไซเคิล, ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น โดยปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวมทั้งสิ้น 197 ราย เติบโตสูงขึ้น 12% จากปี 2565 รายได้ทางธุรกิจรอบปีบัญชี 2565 จำนวน 486,759 ล้านบาท มีอัตราเติบโตของผลกำไรปี 2565 กว่า 45% จาก 24,517 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 35,512 ล้านบาท ในปี 2565

สุดท้าย  กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริการดิจิทัลและซอฟต์แวร์  เป็นกลุ่มธุรกิจตอบโจทย์โลกปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลและนวัตกรรม ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจ ครอบคลุมทุกช่วงวัยของประชากรในสังคม มีมูลค่าทางการตลาดระดับสูง โดยมีประเภทธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ธุรกิจบริการ e-Commerce ได้แก่ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต และ ธุรกิจตลาดกลางในการซื้อขายออนไลน์ เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,800 ราย เติบโตสูงขึ้น 17% จากปี 2565 รายได้รอบปีบัญชี 2565 สูงถึง 194,837ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากปี 2564 จำนวน 38,192 ล้านบาท

ธุรกิจบริการชำระเงินแบบดิจิทัล ได้แก่ ธุรกิจการประมวลผลและการเรียกชำระเงินสำหรับธุรกรรมทางการเงิน เป็นธุรกิจให้บริการชำระเงินค่าสินค้าหรือบริการผ่านทางออนไลน์ ทำให้การชำระค่าสินค้าและบริการเป็นเรื่องง่ายและสะดวกรวดเร็ว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ การจัดตั้งธุรกิจปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวน 22 ราย สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 19,098 ล้านบาท เติบโตสูงขึ้น 37% เมื่อเทียบกับรอบปีบัญชี 2564 รวมทั้ง สร้างผลกำไรสูงมากกว่า 1.9 เท่า จาก 844 ล้านบาท ในปี 2564 เป็น 2,478 ล้านบาท ในปี 2565

ธุรกิจซอฟต์แวร์ เช่น ธุรกิจจัดทำโปรแกรมเว็บเพจ, ธุรกิจจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์, ธุรกิจให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์ ฯลฯ ในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) มีจำนวนการจัดตั้งธุรกิจรวม 1,104 ราย โดยธุรกิจกลุ่มนี้สร้างรายได้รอบปีบัญชี 2565 มูลค่า 160,201 ล้านบาท สูงขึ้นถึง 19,171 ล้านบาท หรือ 14% จากรอบปีบัญชี 2564

ทางด้านมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ระบุว่า สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้า ได้คาดการณ์ ธุรกิจดาวรุ่งและธุรกิจดาวร่วง ในปี 2567 โดยอ้างอิง สำรวจ และให้คะแนน ทางด้านยอดขาย ต้นทุน ส่วนต่างของยอดขายต่อต้นทุน ผลกระทบจากปัจจุบันเสี่ยงและภาวะการแข่งขัน ความต้องการความสอดคล้องกับกระแสนิยม พบว่า 10 ธุรกิจดาวรุ่ง ในปี 2567 มีดังนี้

อันดับ 1. กลุ่มธุรกิจ E-Commerce (ธุรกิจที่ทำการซื้อขายผ่านอิเล็กทรอสิกส์ ) ธุรกิจจัดทำคอนเทนต์ ธุรกิจ Youtuber การรีวิวสินค้า และInfluencer อันดับ 2. กลุ่มธุรกิจการแพทย์และความงาม, ธุรกิจโฆษณาและออนไลน์ ธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาร เช่น ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือ สัญญาณสื่อสารต่างๆ อันดับ 3. Social Media และ Online Entertainment, ธุรกิจด้านการเงินธนาคาร Fintech และการชำระเงินผ่านระบบเทคโนโลยี ธุรกิจ Cloud Service และ ธุรกิจบริการ Cyber Security อันดับ 4. งานคอนเสิร์ต มหกรรมจัดแสดงสินค้า ธุรกิจ Event, ธุรกิจความเชื่อ (สายมู หมอดู ฮวงจุ้ย), ธุรกิจอัญมนี เช่น ทอง

อันดับ 5. ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต, ธุรกิจ EV และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจ Soft Power ไทย เช่น ซีรีส์ ภาพยนตร์ อันดับ 6. ธุรกิจอาหารเสริม อาหารและเครื่องดื่ม(ที่ไม่มีแอลกอฮอล์) ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำตาล อันดับ 7. ธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ธุรกิจโลจิสติกส์ Delivery และคลังสินค้า, ธุรกิจเงินด่วน โรงรับจำนำ อันดับ 8. กลุ่มธุรกิจสัตว์เลี้ยง, ธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน ผับ บาร์ คาราโอเกะ อันดับ 9. ธุรกิจ E-Sport เกมส์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง, ธุรกิจตลาดเพื่อการท่องเที่ยว, ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ทัวร์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และอันดับ 10. ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง

 ส่วนธุรกิจที่เป็นดาวร่วง ในปี 2567 ได้แก่ อันดับ 1. โทรศัพท์พื้นฐาน, ร้านเช่าหนังสือ ซีดี หรือดีวีดี, สื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่มีแพลตฟอร์มออนไลน์ อันดับ 2. ผลิตซีดี ดีวีดี ที่จัดเก็บข้อมูลฮาร์ดไดรฟ์ หรือเมมโมรี่ การ์ด, บริการส่งหนังสือพิมพ์ อันดับ 3. ธุรกิจคนกลาง, เครื่องปั้นดินเผา และเซรามิก อันดับ 4. ผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อันดับ 5. ผลิตสารเคมี อันดับ 6. ร้านถ่ายภาพ อันดับ 7. ขายเครื่องเล่นเกม, แผ่นเกม, ตลับเกม, การทอผ้าจากธรรมชาติ อันดับ 8. ถ่ายเอกสาร อันดับ 9. เฟอร์นิเจอร์ไม้ และอันดับ 10.ร้านโชห่วย, ผลิตกระดาษ 

ขณะที่  ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล  ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์เทรนด์อาชีพมาแรงผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อ โดยให้น้ำหนักอันดับหนึ่งคือ  เอไอและเทคโนโลยี Chat GPT หรือแชตบอต  ทำให้แทบทุกสายอาชีพเกิดการเปลี่ยนแปลง เอไอเข้ามาแทนที่ และมีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เช่น โรบอตปรุงและเสิร์ฟอาหาร หรือเอไอไลฟ์สด


เทรนด์อาชีพที่สองเกี่ยวข้องกับความยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล โดยธุรกิจที่ปรึกษาทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรายงานการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การวิเคราะห์ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การปล่อยน้ำเสีย ปลูกป่า โซลาร์ฟาร์ม รีไซเคิล ตามหลัก 3R หรือ 4R และการจัดการของเสีย

อีกเทรนด์ที่มาแรงเป็นอันดับสาม คืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ทั้งบ้านพักผู้สูงอายุ การดูแลรักษา เนอสเซอรี่ บุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และแพทย์ดูแลผู้สูงอายุ หรืออาชีพรับจ้างพาไปโรงพยาบาล เป็นต้น เทรนด์อาชีพอันดับสี่ เกี่ยวข้องกับรถอีวี รถไฟฟ้า เช่น การตั้งสถานีชาร์จเจอร์ อู่ดูแลรถอีวี ส่วนอันดับห้าเทรนด์อาชีพเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ฟิตเนส พิลาทิส อาหารเสริมต่างๆ

สำหรับไซเบอร์ ซีคิวริตี้, ค้าขายออนไลน์ ธุรกิจ E-commerce, ธุรกิจด้านบันเทิง, การจัดอีเว้นท์, คอนเสิร์ต ออร์แกไนซ์ ที่ปรึกษาหรือโค้ชชิ่ง และธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง สัตวแพทย์ ฟาร์มสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ เป็นเทรนด์ธุรกิจที่กำลังมาแรงตามลำดับ

ทางด้าน  รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาอาวุโส บจก. บริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (IRC) วิเคราะห์ว่า ปี 2567 ธุรกิจไทยเสี่ยงปิดกิจการ ได้แก่ ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจรถยนต์มือสอง ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ใช้น้ำมัน (มอเตอร์ไซค์และรถยนต์) ธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและกล่องกระดาษ ธุรกิจอาหารแช่แข็งขายในตลาดสด ธุรกิจค้าปลีกห้องแถว ธุรกิจรับซื้อสินค้าเกษตร ธุรกิจการเกษตรแบบล้าสมัย และธุรกิจสิ่งทอที่ใช้เส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแต่ช้าส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในปีนี้และลากยาวไปถึงปีหน้า ซึ่งหลายสำนักต่างวิเคราะห์ว่า อัตราการเติบโตเศรษฐกิจปี 2567 ของประเทศไทย ยังไม่ค่อยสดใสนัก โดย นายปิติ ดิษยทัต  ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ว่า ธปท.ประเมินจีดีพีปี 2567 เติบโตที่ 3.2% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง

สำหรับศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินจีดีพีไทยขยายตัวที่ 3.1% หากมีมาตรการแจกดิจิทัลวอลเล็ตและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ จะขยายเพิ่มเป็น 3.6% ส่วนธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.1% จากปี 2566 อยู่ที่ 2.4% เช่นเดียวกันกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า จีดีพีปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 3.1% มาจากภาคการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภค ส่วน EIC ประเมินไว้ที่ 3% จากเดิมคาด 3.5%

ขณะที่ธนาคารโลก ออกรายงานติดตามเศรษฐกิจไทยประจำเดือนธันวาคม 2566 คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2567 ที่ 3.2% จากเดิม 3.5% โดยมีการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก หากรวมเงินดิจิทัลวอลเลต จะหนุนจีดีพีเพิ่มราว 1% กระจายไปใน 2 ปีข้างหน้า แต่จะส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของจีดีพี และหนี้สาธารณะอาจเพิ่มสูงขึ้นเป็น 65-66% ของจีดีพี

ทางด้านธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มในภูมิภาคเอเชียประจำเดือนธันวาคม 2023 (Asian Development Outlook 2023) โดยคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกปีนี้ ว่าจะเติบโต 4.9% จากเดิมคาดการณ์ไว้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่าจะโต 4.7% ส่วนแนวโน้มการคาดการณ์เศรษฐกิจของปี 2024 ยังคงอยู่ที่ 4.8%

ในส่วนของประเทศไทย ADB ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2023 ลงมาอยู่ที่ 2.5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ 3.5% เป็นผลจากการส่งออกที่หดตัว การใช้จ่ายภาครัฐลดต่ำลง และการลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเบาบาง ส่วนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2024 ปรับลดลงเช่นกันจากคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนกันยายนว่าจะเติบโต 3.7% ปรับลดลงเป็นโต 3.3% เป็นผลเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง

ทั้งสองสำนักต่างคาดการณ์อัตราการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมของไทยต่ำเป้าต่อเนื่องกันสองปีซ้อน ซ้ำเกิดวิกฤตทะเลแดงเดือด กบฏฮูตีขู่โจมตีเรือขนส่งสินค้า ดันราคาพลังงานพุ่ง ส่งออกสะเทือนกันทั้งโลก

 การตัดสินใจลงทุนหรือขยายการลงทุนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจดาวรุ่งหรือดาวร่วงยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง 



กำลังโหลดความคิดเห็น