ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไฟสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มนักรบปาเลสไตน์ฮามาสลุกลามขยายวงกว้าง เมื่อผู้นำกบฏฮูตีในเยเมนซึ่งยืนอยู่ข้างฮามาส ปฏิบัติการโจมตีเรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงเพื่อตอบโต้อิสราเอล ซ้ำยังขู่โจมตีเรือรบสหรัฐฯและพันธมิตรอีกด้วย
นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กบฏฮูตีปล่อยโดรนและยิงขีปนาวุธเข้าใส่เรือของนานาชาติที่ล่องผ่านทะเลแดง โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้อิสราเอล ที่จู่โจมเล่นงานนักรบฮามาสและเข่นฆ่าผู้คนในฉนวนกาซา ขณะที่สหรัฐฯ และพันธมิตรอีก 10 ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกนาโต ประกอบด้วย สหราชอาณาจักร บาห์เรน แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เซเชลส์ และสเปน รวมถึงสหรัฐฯ ไม่นิ่งเฉย พร้อมร่วมมือกันจัดตั้งกองกำลังนานาชาติที่ได้รับขนานนามว่า “ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความเจริญรุ่งเรือง (Operation Prosperity Guardian)” ลาดตระเวนร่วมกันในทะเลแดง และอ่าวเอเดนที่อยู่ติดกัน เพื่อป้องปรามและตอบโต้เหตุโจมตีใดๆ ในอนาคตโดยฝีมือของกบฏฮูตี
การโจมตีของกบฏฮูตี ก่อความปั่นป่วนแก่เส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญที่เชื่อมยุโรปและอเมริกาเหนือกับเอเชีย ผ่านคลองสุเอซ ส่งผลให้บริษัทเรือขนส่งสินค้าและเรือบรรทุกน้ำมันทยอยระงับการเดินเรือในทะเลแดงชั่วคราว โดย 7 ใน 10 บริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้แก่ เอ็มเอสซี (MSC) ของอิตาลี, เมอส์ก (Maersk) ของเดนมาร์ก, ฮาแพ็ก-ลอยด์(Hapag-Lloyd) ของเยอรมนี, ซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม(CMA CGM) ของฝรั่งเศส, หยางหมิง มารีน ทรานส์ปอร์ต, ฮุนได เมอร์แชนท์ มารีน และเอเวอร์กรีน ประกาศระงับการเดินเรือ ขณะที่ “บีพี” ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันระดับโลกรายล่าสุดจากอังกฤษ ประกาศระงับการเดินเรือผ่านทะเลแดง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ที่ผ่านมา
การเลี่ยงภัยคุกคามจากกบฏฮูตี ทำให้บริษัทขนส่งสินค้าพากันเปลี่ยนเส้นทางขนส่งสินค้า โดยล่าสุด เมอส์ก ประกาศจะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีในทะเลแดง ขณะนี้เรือขนส่ง 20 ลำ ของเมอส์กจอดเทียบท่าอยู่ทั้งสองฝั่งของคลองสุเอซ และจะเดินทางอ้อมทวีปแอฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป
รายงานของสื่อไทยหลายสำนักที่อ้างสื่อต่างประเทศ รายงานว่า เปาโล มอนโตรเน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายโลจิสติกส์การค้าทางทะเลระดับโลก บริษัทคูห์เนพลัสเนเกิล ระบุว่าขณะนี้มีเรือขนส่งสินค้าชนิดตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 57 ลำ เลี่ยงใช้เส้นทางเดินเรือในทะเลแดงและคลองสุเอซ และยอมเดินทางอ้อมระยะไกลผ่านเส้นทางทวีปแอฟริกาแทน
แอนโทเนลลา เตโอโดโร ที่ปรึกษาระดับอาวุโสของบริษัทเอ็มดีเอส ทรานส์โมดัล ประเมินมูลค่าคร่าว ๆ ของตู้คอนเทนเนอร์เหล่านี้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเท่ากับว่ามีสินค้าที่ถูกส่งโดยเลี่ยงใช้เส้นทางในทะเลแดง มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับการเปลี่ยนเส้นทางอ้อมไปยังแอฟริกาและแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งเป็นเส้นทางที่ไกลกว่า จะทำให้การเดินทางใช้เวลาประมาณ 19-31 วัน ขึ้นอยู่กับความเร็วของเรือพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นและเพิ่มระยะเวลาการขนส่ง
ทะเลแดง ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าหลักที่เชื่อมระหว่างยุโรปกับเอเชีย โดยพื้นที่ทางตอนเหนือของทะเลแดงคือ คลองสุเอซ ส่วนด้านใต้คือ ช่องแคบบับ อัล-มันเดบ ซึ่งเป็นจุดออกไปสู่อ่าวเอเดน ทะเลอาหรับ และมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลราว 12% ของโลก และมีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าราว 30% ของทั้งโลก คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี มีเรือขนส่งสินค้าทุกประเภทตั้งแต่สินค้ายุทธศาสตร์อย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และของใช้ในชีวิตประจำวัน
คลองสุเอช มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 120 ไมล์ หรือประมาณ 192 กิโลเมตร กว้าง 300-350 เมตร เป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลที่ย่นระยะเวลาเร็วที่สุดระหว่างยุโรปและเอเชีย จากเดิมที่การเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าจากทวีปยุโรปสู่ทวีปเอเชียต้องเดินทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางใต้สุดของทวีปแอฟริกาเพื่อไปยังช่องแคบมะละกาในทวีปเอเชีย คลองสุเอซทำให้ลดระยะทางการเดินเรือจาก 20,900 กิโลเมตร เหลือ เพียง 12,000 กิโลเมตร
เรือพาณิชย์ที่ขนส่งสินค้าระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ในแต่ละวันจะมีเรือประมาณ 50 ลำแล่นผ่านคลองสุเอซ เพื่อข้ามมายังน่านน้ำทะเลแดงและออกไปยังอ่าวเอเดนและมหาสมุทรอินเดีย ผ่านช่องแคบบับ อัล-มันเดบ ใกล้กับเยเมน โดยเรือแต่ละลำขนส่งสินค้ามูลค่ารวมๆ กว่า 3,000-9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 100,000-315,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้ว คลองสุเอช ยังเป็น 1 ใน 7 จุดทางภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการค้าน้ำมันโลก โดยสำนักงานข้อมูลพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่า เฉพาะช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีเรือบรรทุกน้ำมันที่เดินเรือผ่านคลองสุเอซมากถึง 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 9% ของอุปสงค์น้ำมันทั่วโลก
จอห์น สตอว์เพิร์ต ผู้จัดการอาวุโสของอินเตอร์แนชันนัล แชมเบอร์ ออฟ ชิปปิ้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวแทนของเรือเดินสินค้าทางทะเล 80% ของโลก กล่าวว่า โดยปกติแล้วประมาณ 40% ของการค้าระหว่างเอเชีย-ยุโรปจะเป็นการขนส่งทางทะเล ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจตามมา
สภาหอการค้าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ (International Chamber of Shipping- ICS) ซึ่งเป็นตัวแทนของกองเรือพาณิชย์ราว 80% ของโลก เผยว่า พลังงานของยุโรปจำนวนมหาศาลซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงดีเซล อีกทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำมันปาล์มและธัญพืช จะต้องผ่านเส้นทางทะเลแดงทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ การที่เรือสินค้าที่แล่นผ่านทะเลแดงถูกโจมตีจึงทำให้การค้าทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
ไมเคิล อัลด์เวลล์ รองประธานบริหารบริษัทคูห์เนพลัสเนเกิล ซึ่งเป็นบริษัทโลจิสติกส์ทางทะเล กล่าวว่า เรือบรรทุกตู้สินค้าที่ใช้เส้นทางทะเลแดงนั้น มีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 3 ของการขนส่งทางเรือทั่วโลก ประมาณการว่าเรือบรรทุกสินค้าที่แล่นผ่านคลองสุเอซในทะเลแดงมีประมาณ 19,000 ลำต่อปี หากสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลแดงยืดเยื้อออกไป ก็จะสร้างความเสียหายต่อการค้าโลกและจะยิ่งทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานเลวร้ายลงไปอีก
มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส เตือนว่า หากวิกฤตการณ์ในทะเลแดงยืดเยื้อ ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ให้บริการขนส่งตู้สินค้าเท่านั้น แต่ยังทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ฟิโอนา ซินคอตตา นักวิเคราะห์จากบริษัทซิตี้ อินเดกซ์ ชี้ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยาวนานเท่าใด และแม้ว่าสหรัฐฯจะเปิดปฏิบัติการ Operation Prosperity Guardian หรือ ปฏิบัติการผู้พิทักษ์ความรุ่งเรือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแต่บริษัทเดินเรือส่วนใหญ่ก็ยังคงวิตกกังวล
นายโอซามา ราบี ประธานองค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ เผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน ของปีนี้ เรือบรรทุกสินค้าจำนวน 55 ลำ ได้เลี่ยงไปใช้เส้นทางแหลมกู๊ดโฮปซึ่งเชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย แทนการใช้เส้นทางคลองสุเอซ และนับตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน จนถึงขณะนี้ มีเรือเพียง 2,128 ลำเท่านั้นที่สัญจรผ่านเส้นทางคลองสุเอซ
อียิปต์จำเป็นต้องพึ่งพาค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากเรือที่สัญจรผ่านคลองสุเอซ เนื่องจากค่าธรรมเนียมเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้สกุลเงินต่างประเทศสำหรับอียิปต์ ในขณะที่อียิปต์กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี โดยในปีงบประมาณ 2565-2566 นั้น รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมเดินเรือของอียิปต์สูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้านั้นซึ่งอยู่ที่ระดับ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อียิปต์ประกาศแผนปรับขึ้นค่าผ่านทางสำหรับเรือที่แล่นผ่านคลองสุเอซเพิ่ม 5-15% โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2567 แต่สถานการณ์เวลานี้คงเป็นเรื่องยากที่ลูกค้าจะกลับมาใช้บริการ
การโจมตีของกบฏฮูตี ยังทำให้ค่าประกันเรือ ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนการเดินเรือปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
เดวิส ออสเลอร์ เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัยลิสต์ อินเทลลิเจนส์ วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมทางทะเลทั่วโลกว่า ต้นทุนประกันภัยของเรือพาณิชย์ในทะเลแดงปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ประมาณหลักแสนดอลลาร์ หรือราวๆ 3,500,000 บาทต่อเที่ยว หากเป็นเรือของอิสราเอลค่าประกันเรืออาจพุ่งไปเกินร้อยละ 250 จากเดิม ขณะที่บริษัทประกันบางแห่งเลือกที่จะปฏิเสธการคุ้มครองแล้ว
ค่าประกันภัยความเสี่ยงในการเดินเรือที่แพงขึ้นจากความเสี่ยงในพื้นที่ และต้นทุนการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นที่อ้อมกว่า ซึ่งในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2523 ก่อนที่กลุ่มกบฏฮูตีจะประกาศมุ่งโจมตีเรือเดินทะเลนั้น ค่าพรีเมียมอยู่ที่ประมาณ 0.07% ของมูลค่าเรือต่อเที่ยว แต่หลังจากที่เกิดกรณีการโจมตี ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 0.5-0.7% ไปแล้ว
ขณะที่เฟรทอส ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการขนส่งสินค้าระดับโลกวิเคราะห์ว่า อัตราค่าระวางจากท่าเรือของจีนไปยังอิสราเอลปรับตัวขึ้นแตะกว่า 2,300 ดอลลาร์ สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ในวันที่ 12 ธันวาคม 2023 จากประมาณ 1,975 ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2023
คาร์สเตน เบรซกี หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์ประจำ ING ธนาคารของเยอรมนี ให้ความเห็นว่า การปิดกั้นคลองสุเอซและการเดินเรือในทะเลแดง จะส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งระดับโลกและทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ความขัดแย้งดำเนินไป ถ้าความขัดแย้งยุติลงเร็ว ผู้บริโภคอาจไม่ได้รับผลจากการที่ราคาพลังงานสูงขึ้น แต่ถ้าความขัดแย้งยังคงอยู่ต่อไป ราคาของสินค้าต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้นและทำให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปี 2024 สูงกว่าที่หลายฝ่ายเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
ขณะที่ แจน ฮอฟฟ์มันน์ หัวหน้าสาขาโลจิสติกส์การค้าขององค์การการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (UNCTAD) ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลแดงและคลองสุเอซ จะส่งผลทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับราคาสินค้าที่สูงขึ้น
สำหรับไทยไม่เพียงมีตัวประกันที่ถูกฮามาสจับกุมรอการปล่อยตัวอีก 8 คน เท่านั้น แต่ปฏิบัติการของกบฏฮูตี ยังเพิ่มความเสี่ยงทำให้ต้นทุนนำเข้าพลังงานปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งสินค้าและค่าประกันภัยที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันการส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอีกด้วย