ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นิติวิทยาศาสตร์ไขปริศนามหากาพย์ “คดีฆาตกรรมน้องชมพู่” หลักฐาน “เส้นผม” มัดตัว “ลุงพล” หรือ “นายไชย์พล วิภา” หลังสังคมไทยรอคำตอบมานาน 3 ปี เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก “ลุงพล” เป็นเวลา 20 ปี แม้ “ไม่ได้ลงมือฆ่า” แต่ “ประมาท” ทำให้หลานสาวถึงแก่ความตาย โดยความผิดแรกคือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปีและความผิดที่สองคือพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเสียจากบิดามารดาโดยปราศจากเหตุอันสมควร จำคุก 10 ปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคดีฆาตกรรมน้องชมพู่เด็กหญิงวัย 3 ขวบที่หายตัวไปก่อนจะพบว่าเสียชีวิตอย่างเป็น “ปริศนา” บริเวณ ภูเหล็กไฟ บ้านกกกอก จ.มุกดาหาร โดยมี “นายไชย์พล วิภา” หรือ “ลุงพล” ผู้มีศักดิ์เป็นลุงเขยของน้องชมพู่ เกี่ยวพันกับคดีในฐานะ “ผู้ต้องหา” เป็นเรื่องราวที่สร้าง “ปรากฏการณ์แห่งความพิสดาร” ในหลากหลายมิติ
เป็น “อภิมหาดรามา” ผู้ให้กำเนิดบรรดา “ยูทูบเบอร์” ที่เกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะสร้างกระแสให้กระจายกว้างขวางแล้วยังสร้างรายได้ให้บรรดาผู้อยากทำมาหากินในแวดวงนี้อย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย
เฉกเช่นเดียวกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนที่ทำให้ “ผู้ต้องหา” กลายเป็น “บุคคลมีชื่อเสียง” ให้พื้นที่สื่อและผลักดันจนมีแฟนคลับสนับสนุนจำนวนมาก และนำมาซึ่งเงินทองกองโต เกิดกระแส “ลุงพลฟีเวอร์” อย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ศาลจะมีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า “ผิด” แต่ก็ยังมี FC ที่ยังคงเชื่อในตัว “ลุงพล” เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี ปมประเด็นที่จำต้องติดตามกันต่อไปก็คือ การต่อสู้ของ “ลุงพล” เนื่องจากเป็นเพียงคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งภายหลังได้รับประกันตัวออกไปเจ้าตัวก็ยังยืนยันในความบริสุทธิ์ พร้อมสบช่องสู้คดีเนื่องด้วย “มีความเห็นแย้ง” ที่อาจทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญได้
ย้อนคดีฆาตกรรมปริศนา
จาก “ผู้ต้องหา” สู่ “เซเลบฯ”
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 น้องชมพู่หายตัวไปอย่างปริศนาจากบ้านของตัวเอง เพื่อนบ้านกว่า 200 ชีวิต ออกตามหา 2 วัน 3 คืนไม่เจอ กระทั่งวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ถึงพบศพในสภาพเปลือยกายในป่าภูเหล็กไฟ ห่างจากบ้านถึง 2 กิโลเมตร
คดีดังกล่าว มีจุดน่าสงสัยหลายประเด็น เช่น ในวันเกิดเหตุ “ น.ส. สาวิตรี วงศ์ศรีชา” แม่ของน้องชมพู่แม่ฝาก “น้องชมพู่” ไว้กับพี่สาวอายุ 13 ปี ที่ชื่อ “น้องสะดิ้ง” ซึ่งเด็กหญิงอ้างว่าตนเผลอหลับไป 10 นาที ช่วงนั้นเองที่ชมพู่หายไป ต่อมาตำรวจสืบค้นภายหลังพบว่า น้องสะดิ้งไม่ได้หลับตาม แต่เล่นแอป TikTok อยู่ หรือแม้แต่พ่อกับแม่ของน้องชมพู่ ก็ถูกเคลือบแคลงสงสัยว่าฆ่าลูกตัวเองหรือไม่?
ต่อมา พนักงานสอบสวนเรียกสอบผู้สงสัยในหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงคิวของ “ลุงพล” ซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่มากที่สุด โดยคุณแม่ของชมพู่มีพี่สาวแท้ๆ ชื่อ “ป้าแต๋น” หรือ “นางสมพร หลาบโพธิ์” และสามีของเธอชื่อ “ลุงพล” หรือ “นายไชย์พล วิภา” โดยลุงพลมีความสนิทสนมกับน้องชมพู่มาก ช่วง 1 ปีที่ผ่านมาที่น้องเตรียมจะเข้าโรงเรียนอนุบาล มีความด้วยความสนิทกันมาก จนลุงพลถึงขั้นออกปากพูดขึ้นว่าถ้าอนาคตพ่อแม่ไม่เลี้ยงน้องชมพู่จะขอรับเอาไว้เป็นลูกเอง
“ลุงพล” ตกเป็น “ผู้ต้องสงสัยหลัก” ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจรวบรวมพยายามหลักฐาน รอผลการชันสูตรศพอย่างละเอียดก่อนเพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง และค่อยๆ เริ่มสืบสวนไปทีละประเด็น โดยการชันสูตรศพ ผ่า 2 รอบ ครั้งที่ 1 ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในจังหวัดอุบลราชธานี และครั้งที่ 2 ผ่าที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ในกรุงเทพฯ
ในห้วงเวลานั้น แม้ “ลุงพล” ตกอยู่ในความเครียดอย่างหนัก ถูกคนในชุมชนตั้งข้อสงสัย รวมถึงญาติพี่น้องของฝั่งแม่น้องชมพู่เพ่งเล็งไปที่ตัวเขาเกือบ ระยะเวลา 2 เดือนที่ลุงพลถูกสงสัย แต่ลุงพลกับป้าแต๋นก็พยายามใช้ชีวิตอย่างปกติ ถูกเรียกตัวสอบสวนหลายหน ก็ให้ความร่วมมือทุกครั้ง
กระทั่ง วันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนคดีได้แถลงความคืบหน้า ประะเด็นผลชันสูตรศพอย่างละเอียด ระบุว่า ไม่พบร่องรอยข่มขืน ฆาตกรรม และทำร้ายร่างกาย กระเพาะไม่มีอาหารหลงเหลืออยู่ มีเพียงของเหลวเหลืออยู่ 10 มิลลิลิตร ขณะที่สมองและปอดไม่พบความผิดปกติที่เกิดจากการถูกทำร้าย กะโหลกศีรษะไม่พบการแตกร้าว คอไม่หัก ไม่มีรอยฟกช้ำ อวัยวะเพศไม่มีการถูกล่วงละเมิด เยื่อพรหมจรรย์อยู่ครบสมบูรณ์ สาเหตุที่น้องชมพู่เสียชีวิตคือ “ขาดอาหารและน้ำ” จนเสียชีวิต ไม่มีการทำร้ายใดๆ เกิดขึ้น
ดังนั้น จึงตัดประเด็นเรื่องการฆาตกรรมออกไปได้ เท่ากับว่าการเสียชีวิตของน้องชมพู่ จึงมีความเป็นไปได้เหลือเพียงสองทาง คือ 1. มีคนพาน้องชมพู่ แล้วเอามาปล่อยไว้กลางป่า ก่อนจะเสียชีวิตด้วยการขาดอาหารและน้ำ 2. น้องวิ่งเล่นพร้อมด้วยสุนัขตัวโปรด (ปลาส้ม) เข้ามาในป่าเอง ก่อนจะพลัดหลง แล้วสุดท้ายเสียชีวิตเองโดยไม่มีใครทำร้าย
แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อกังขาอีกว่าเด็กวัยเพียง 3 ขวบจะวิ่งขึ้นเขาที่อยู่ห่างจากบ้าน 2 กิโลเมตร โดยไม่มีใครพบเห็น ดูผิดปกติเกินไป นั่นทำให้ตำรวจต้องสอบปากคำชาวบ้านหลายหมู่บ้าน รวมแล้วมากกว่า 1,000 ปาก มีการตรวจ DNA คนเกี่ยวข้องราว 100 ราย แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่น้องชมพู่หายไปเลย
ห้วงเวลานั้นยังไม่เจอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่า “ลุงพล” เกี่ยวพันกับการเสียชีวิตของหลานสาว บวกกับการนำเสนอข่าวต่อเนื่องเป็นซีรี่ย์ชีวิตของผู้ต้องหา ทำให้เกิดปรากฎการณ์ #Saveลุงพล ดันความนิยมรวดเร็ว มีฐานแฟนคลับทั้งในไทยและต่างประเทศ ลุงพลเปิด YouTube แชนเนลของตัวเองในชื่อ “ลุงพลป้าแต๋น แฟมิลี่” ในวันที่ 16 สิงหาคม 2563 ซึ่งในแชนเนลจะลงคลิปง่ายๆ เล่าวิถีชีวิตของตัวเอง
จากนั้นก็ส่งผลทำให้สปอตไลต์สาดแสงมายังบ้านกกกอก สื่อทุกสำนักทั้งให้พื้นที่กับ “ลุงพล” จนกลายเป็น “เซเลบฯ” ได้รับความสนใจในสังคมมีแฟนคลับมากมายที่คอยให้กำลังใจตามติดทุกการเคลื่อนไหว แม้แต่คลิปวิดีโอลุงพลกินข้าวไข่ดาวกับแจ่วบอง ที่ถ่ายโดย “ป้าแต๋น” ผู้เป็นภรรยา ก็มีชาวเน็ตแห่คลิกชมนับล้านวิว
ยิ่งสร้างความงุนงงไปอีก เมื่อ “ลุงพล “ได้รับโอกาสทำงานในวงการบันเทิง โดย “อุ๊บ-วิริยะ พงษ์อาจหาญ” นักปั้นและผู้จัดการดาราชื่อดัง เล็งสร้าง “บ้านกกกอก เดอะ ซีรีส์” ที่มีการทาบทามลุงพลมาร่วมแสดง แม้ภายหลังมีอันต้องได้พับโครงการ มีแผนร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอให้ค่าตัวหลักแสน นอกจากนี้ ลุงพล ได้ร่วมแสดงมิวสิกวิดีโอเพลง “เต่างอย” ของ จินตหรา พูนลาภ ฟาดค่าตัวไปเป็นแสนอีกต่างหาก
ปรากฎการณ์ “ลุงพล” เป็นผลมาจากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ให้พื้นที่สื่อ “ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม” จนกลายเป็น “คนมีชื่อเสียง” มีเงินทองกองโต มีแฟนคลับให้กำลังใจ โดยไม่ยี่หระข้อเท็จจริงปริศนาการตายของเด็กหญิงวัย 3 ขวบ ที่มี “ลุงพล” เป็น “ตัวละครสำคัญ” ในฐานะ “ผู้ต้องหา”
ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด วิเคราะห์ว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากสื่อหลักอย่างโทรทัศน์เกาะกระแสนี้ไม่เว้นวัน ขุดทุกแง่มุมมานำเสนอแม้จะไม่เกี่ยวข้องกับคดี จนไม่ต่างจากละครเรื่องหนึ่ง เป็นผลมาจากรูปแบบการทำงานของสื่อ โดยเฉพาะโทรทัศน์จะต้องหาเรื่องเล่าที่เป็นซีรีส์ไม่ใช่รายงานแค่วันสองวันจบ ซึ่งกรณี “น้องชมพู่ – ลุงพล” กลายเป็นคล้ายๆ ซีรีส์บนทีวี ซึ่งรายการลักษณะนี้ดันมีหลายช่อง ต่างคนก็ต่างแข่งกัน ก็ไปขุดหาและรายงาน ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ลุงพลเหมือนกลายเป็นดาราที่มาออนแอร์ทุกวัน กลายเป็น “พระเอก” ครองทุกพื้นที่สื่อ โดยกระแสของลุงพลจะอยู่ได้นานตราบเท่าที่คนยังให้ความสนใจ
ขณะที่ลุงพลอยู่ในกระแสข่าวต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสืบสวนคดีปริศนาฆากรรมต่อไป ทว่า ลุงพล กลับก่อคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงภูพาน ตามด้วยเหตุการณ์ทำร้ายนักข่าวช่องอมรินทร์ 34 แต่ยอดผู้ติดตามในแชนเนลของลุงพลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
1 ปีหลังจากนั้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ความว่า “คดีน้องชมพู่ยังไม่จบ แต่เรามีคำตอบให้แน่นอน ช้าเร็วอยู่ที่เรา และผมเชื่อว่ามีคำตอบที่สังคมพอใจแน่ เอาอย่างนี้แล้วกัน” โดยมีรายงานว่าตำรวจค้นพบเส้นขนจำนวน “3 เส้น” อยู่ในจุดที่เกิดเหตุ โดยหลังจากตรวจ DNA แล้ว สามารถชี้ชัดได้ว่าใครที่อยู่ใกล้ชิดกับน้องชมพู่ในวันนั้น
กระทั่ง 1 มิถุนายน 2564 ตำรวจออกหมายจับ “ลุงพล” หรือ “นายไชย์พล วิภา” มีความเกี่ยวพันกับคดีนี้จริง โดยแจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่ 1. พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา โดยปราศจากเหตุอันควร 2. ทอดทิ้งเด็กอายุไม่เกินเก้าปี เพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตน โดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแล เป็นเหตุให้เด็กถึงแก่ความตาย 3. กระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
อย่างไรก็ตาม ข้อหาทั้งหมดไม่มีข้อไหนที่บ่งบอกว่า “ลุงพล” กระทำการฆาตกรรม แต่เป็นการบ่งชี้ว่าลุงพลคือผู้ต้องสงสัยที่อาจนำตัวน้องชมพู่ไปปล่อยในป่า จนส่งผลให้เด็กหญิงเสียชีวิตในเวลาต่อมา หมายความว่าแม้ไม่ได้ฆาตกรรมโดยตรง แต่เป็นการส่งผลให้เด็กถึงแก่ชีวิตทางอ้อม
“ลุงพล” สู้ไม่ถอย
สบช่องสู้คดีจากความเห็นต่าง
ในที่สุดความชัดเจนแห่งคดีก็เกิดขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาในคดีพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “นายไชย์พล วิภา” หรือ “ลุงพล” และ “น.ส.สมพร หลาบโพธิ์” หรือ “ป้าแต๋น” สองสามีภรรยา เป็นจำเลยที่ 1-2 กรณีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่”
โดยฟ้อง นายไชย์พล จำเลยที่ 1 ในฐานความผิดฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา, พรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควร, ทอดทิ้งเด็กอายุยังไม่เกิน 9 ปีไว้ ณ ที่ใดเพื่อให้เด็กนั้นพ้นไปเสียจากตนโดยประการที่ทำให้เด็กนั้นปราศจากผู้ดูแลเป็นเหตุให้ผู้ถูกทอดทิ้งถึงแก่ความตาย, ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ส่วน น.ส.สมพร จำเลยที่ 2 ตามความผิดฐาน "ร่วมกันกระทำการใดๆ แก่ศพ หรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพ หรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ ศาลพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 และ 317 วรรคแรก ฐานกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 10 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาปราศจากเหตุอันควร จำคุก 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ยกฟ้อง
สำหรับหลักฐานเด็ดที่ศาลหยิบยกขึ้นมาในการตัดสินคดีครั้งนี้คือ เส้นผมของน้องชมพู่ โดยบริเวณที่พบศพน้องชมพู่อยู่บนเขาภูเหล็กไฟ ห่างจากจุดที่มีคนพบเห็นน้องชมพู่ ครั้งสุดท้ายประมาณ 1.5 กิโลเมตร และเป็นทางลาดชันประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีการตรวจพบเส้นผมน้องชมพู่หลายเส้น ที่มีลักษณะถูกตัดด้วยของแข็งมีคม จึงเชื่อว่าน้องชมพู่ ที่มีอายุเพียง 3 ปีเศษ ไม่สามารถเดินขึ้นไปถึงบริเวณที่พบศพและใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมของตนเองได้ แต่ต้องมีคนร้ายพาไป
ภายหลังตำรวจตั้งข้อสงสัยว่า ลุงพลเป็นคนร้าย จึงเข้าตรวจค้นรถยนต์ของลุงพล ก่อนพบเส้นผม 16 เส้น และวัตถุพยานอื่น โดยผลการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ ประกอบกับคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญปรากฏว่า เส้นผม 1 เส้น ที่ตกอยู่ในรถยนต์ของลุงพล มีองศาของรอยตัด หน้าตัดและพื้นผิวด้านข้างตรงกันกับเส้นผมน้องชมพู่ 2 เส้น ซึ่งตรวจเก็บได้จากบริเวณที่พบศพน้องชมพู่เส้นผมทั้ง 3 เส้น โดยถูกตัดในคราวเดียวกัน ด้วยวัตถุของแข็งมีคมชนิดเดียวกัน เชื่อว่า ลุงพลเป็นผู้ใช้ของแข็งมีคมตัดเส้นผมน้องชมพู่ แต่ด้วยเหตุที่เส้นผมมีขนาดเล็กมาก ลุงพลจึงไม่สังเกตว่ามีเส้นผมเส้นหนึ่งตกอยู่ในรถยนต์ของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ภายหลังศาลจังหวัดมุกดาหารอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทางทนายความของลุงพลยื่นขอประกันตัวในวงเงิน 500,000 บาท ซึ่งศาลก็อนุญาตให้ประกันตัว เพราะพิเคราะห์แล้วเห็นว่านายไชย์พลมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
อนึ่ง คดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกตาหาร ตรวจสำนวนและทำความเห็นแย้งว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 เห็นควรพิพากษายกฟ้อง จึงให้รวมไว้ในสำนวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1 )
“วันนี้น้อมรับในคำตัดสินของศาลชั้นต้น ต่อไปต้องเป็นหน้าที่ของทนายให้อธิบายให้สื่อมวลชนได้รับทราบ และขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีและ FC ทั่วโลก" นายไชย์พล วิภา กล่าวภายหลังศาลมีคำพิพากษา
ประเด็นที่ต้องจับตาก็คือ การยืนยันในความบริสุทธิ์ของ “ลุงพล” พร้อมประกาศเดินหน้าต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
ทีมทนายความของลุงพล นำโดย “นายสุรชัย ชินชัย” เปิดเผยว่า ต่อจากนี้คณะทนายความจะเขียนคำอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านให้เห็นเป็นเหตุเป็นผล ให้เห็นว่าพยานที่กล่าวมามีข้อพิรุธสงสัยมีน้ำหนักรับฟังไม่ได้ เป็นหน้าที่ของคณะทนายความที่จะทำคำอุทธรณ์ยื่นต่อศาลภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันนี้ โดยสำนวนทั้งหมดมีอยู่ 4 กองใหญ่ๆ และเอกสารประกอบสำนวนหลายแฟ้มก็จะใช้เฉพาะที่อยู่ในสำนวนนั้นมาเขียนตอบโต้มาเขียนข้อกฎหมายข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลสูงพิจารณาพิพากษาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อต่อสู้สำคัญอยู่ตรงที่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 เห็นแย้งกับเจ้าของสำนวนที่ตัดสินดังกล่าว โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดตามที่กล่าวหา ควรได้รับการยกฟ้อ
“ส่วนนี้เป็นประโยชน์อย่างมากในการทำสำนวนยื่นต่อศาลอุทธรณ์ ซึ่งต้องดูรายละเอียดอีกครั้งว่ามีส่วนใดเพิ่มเติมจากที่ทำสำนวนโต้แย้งไปหรือไม่ หากยกตัวอย่างง่ายๆ ขอเปรียบเหมือนการชกมวยที่เค้าให้ชกกันสามยก ยกแรกลุงพลแพ้แต่ไม่ได้แพ้น็อกแต่แพ้คะแนน ถ้าแพ้ลุงพลต้องโดนลงโทษประหารชีวิต” ทนายความลุงพลให้ความเห็นต่อรูปคดีเกิดขึ้นและแนวทางการต่อสู้คดี
ด้าน “นายสรวิศ ลิมปรังษี” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า การที่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมุกดาหาร ที่ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่าควรยกฟ้อง (เห็นแย้ง) เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์มีข้อสงสัยนั้น คำเห็นแย้งก็จะอยู่ในสำนวนท้ายคำพิพากษา เมื่อเวลาคดีขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ องค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะเห็นทั้งตัวคำพิพากษาของศาลจังหวัดมุกดาหาร (ศาลชั้นต้น) และความเห็นแย้ง ซึ่งทางองค์คณะศาลอุทธรณ์ก็จะนำข้อมูลทั้งหมดในสำนวนทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นรวมทั้งความเห็นแย้งต่างๆ ที่คู่ความอุทธรณ์ขึ้นมาประกอบในการพิจารณาทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์
“แต่คำเห็นแย้งดังกล่าวคงไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์โดยตรง เพราะตัวความเห็นหลักยังเป็นความเห็นขององค์คณะผู้พิพากษาศาลจังหวัดมุกดาหาร เพราะองค์คณะผู้พิพากษาเป็นคนสืบพยานเป็นผู้ที่เห็นข้อเท็จจริงในตอนที่พยานมาเบิกความ เห็นข้อเท็จจริงพยานหลักฐานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งน้ำหนักความเห็นแย้งจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับมุมมองขององค์คณะผู้พิพากษาชั้นอุทธรณ์ หากยังเห็นคล้อยไปตามเสียงข้างมากขององค์คณะผู้พิพากษาก็เป็นดุลยพินิจของศาลในชั้นอุทธรณ์ ที่จะต้องวิเคราะห์วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงจากคำเบิกความที่รับฟังมา ทั้งพยานเบิกความมา จากพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ต่างๆมาประกอบกัน และเห็นว่าตัวข้อเท็จจริงพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์กับคำเบิกความมีสอดคล้องกันเพียงพอ เชื่อมั่นได้ว่าจำเลยน่าจะเป็นคนที่กระทำความผิด”โฆษกศาลยุติธรรมกล่าว
ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด แสดงความคิดเห็นว่า การที่ศาลตัดสินเช่นนี้แสดงว่าพฤติการณ์ต่างๆ ในเหตุการณ์มีความชัดเจน ซึ่งคดีอาจไม่จำเป็นจะต้องมีประจักษ์พยานเสมอไป แต่มีพยานแวดล้อมและนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายเหตุการณ์ได้ ซึ่งมีความสมเหตุสมผล ทำให้ศาลลงโทษได้
ถามว่า “ลุงพล” มีโอกาสต่อสู้จนหลุดคดีในชั้น “ศาลอุทธรณ์” หรือ “ศาลฎีกา” ได้หรือไม่? มองในอัยการอาวุโสประเมินแล้ว “ยาก” เพราะพิจารณาจากการอ่านคำพิพากษาซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน เชื่อว่าคำพิพากษาฉบับเต็มมีความละเอียดรอบคอบครบทุกมิติแล้ว นอกจากนี้ เป็นคดีที่สังคมให้ความสนใจมาก ศาลจะวินิจฉัยละเอียดมากกว่าปกติ
กระนั้นก็ดี ยังคงต้องติดตามบทสรุปสุดท้ายของ มหากาพย์ “คดีฆาตกรรมน้องชมพู่” ที่มีตัวละครหลัก อย่าง “ลุงพล” หรือ “นายไชย์พล วิภา” ตกเป็น “ผู้ต้องหา” แต่เกิดความวิปริตแปรปรวนในสังคมไทย เพราะการเสนอข่าวของสื่อมวลชนนำสู่ปรากฎการณ์ “ลุงพลฟีเวอร์” จาก “ผู้ต้องหา” สู่ “คนดัง” มีเงินทองกองโต มีแฟนคลับสนับสนุน จนกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในกว้าง
แต่เชื่อว่า อย่างน้อยๆ คำพิพากษาใน “ศาลชั้นตั้น” ได้ทำให้สังคมได้ตาสว่างขึ้น และเป็นบทเรียนสำคัญในสังคมที่ต้องทบทวน “การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน” และ “พฤติกรรมการบริโภคข่าวของคนไทย” ที่สร้างปรากฎการณ์ “ลุงพลฟีเวอร์” ในห้วงเวลาที่ผ่านมา