xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน เส้นทางการโจมตีศรีวิชัยของกองทัพเรือโจฬะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

หลังจากที่พระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ได้โจมตีเคดาห์แล้วจับมหาราชาสงครามวิชโยตุงคะวรมันที่ประทับอยู่ที่นั่นขังเอาไว้ และทหารทมิฬโจฬะก็ได้ปล้นสะดมเมืองต่างๆ ทั้งพระราชวังและวัดวาอารามของสมาพันธรัฐศรีวิชัยและจารึกธิรุกกะไดยูร์ (พ.ศ.1570) ที่เทวาลัยพฤหัตเทศวรที่เมืองธันจาวูร์ได้บันทึกการโจมตีเมืองต่างๆของสมาพันธรัฐศรีวิชัยเอาไว้ดังนี้

“ผู้ซึ่งส่งกองเรือท่ามกลางเกลียวคลื่นได้จับพระเจ้าสงครามวิชโยตุงคะวรมันราชาแห่งคฑาราม (เคดาห์) พร้อมกับช้างหลายเชือกในกองทัพอันเกรียงไกรของพระองค์ได้ขนสมบัติเป็นหีบๆที่พระองค์สะสมเอาไว้ด้วยเสียงกึกก้องและเอาอัญมณีวิทยธาราที่ประดับที่ประตูแห่งสงครามของศรีวิชัยยัม (ศรีวิชัย) อันงดงามเอาไปด้วย เมืองปันไนที่มีน้ำอยู่ที่ปากแม่น้ำสำหรับชะล้างเมืองเก่ามไลยูร์ที่มีภูเขากั้น เมืองมายิรุดิงกัมที่ล้อมรอบด้วยน้ำลึกเหมือนคูเมือง เมืองอีลังกาโสกะที่น่าเกรงขามในการต่อสู้ที่ดุเดือด เมืองมาปผลัม มีน้ำลึกป้องกัน เมืองเมวิลิงบังกัมมีกำแพงกั้นอย่างดีเมืองวัลไลปันดูรูมีวัลไลปันดูรู? เมืองตะไลตักโกลัมยกย่องโดยผู้ยิ่งใหญ่ในวิทยาการ เมืองมาดามาลิงกัมที่แข็งแกร่งและต่อสู้ดุเดือด เมืองอีลามูริดเดศัมที่ดุเดือดท่ามกลางสงคราม เมืองมานักกะวรัมที่มีสวนดอกไม้ทำน้ำผึ้งและคฑารัมที่แข็งแกร่งป้องกันด้วยทะเลลึก”

จารึกนี้ระบุว่ากองทัพเรือโจมตีเมืองต่างๆดังนี้
1. ศรีวิชัยยัม (ศรีวิชัย) เป็นเมืองแรกและเอาอัญมณีวิทยธารา อาจหมายถึงจุดแรกที่กองเรือโจฬะเข้าโจมตี เซเดส์สันนิษฐานว่าหมายถึงสมาพันธรัฐศรีวิชัย อาจจะเป็นที่จารึกการิมุนอยู่เพราะเป็นด่านตรวจเรือของศรีวิขัยในช่องแคบมะละกา นาควารีหรือที่ใดที่หนึ่งทางทิศเหนือของช่องแคบมะละกาจึงไม่ใช่ปาเล็มบังหรือไชยา
2. เมืองปันไนเมืองนี้คือปาไนหรือปาเน อยู่ฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตราตอนเหนือตรงปากแม่น้ำปาไนและบารุมุน
3. เมืองเก่ามไลยูร์ที่มีภูเขา น่าจะเป็นเมืองมลายูในจังหวัดจัมบิบนแม่น้ำบาตังฮารี แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านบอกว่าอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรมลายู
4. เมืองมายิรุดิงกัมที่ล้อมรอบด้วยน้ำลึกนักประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่นมาจุมดาร์บอกว่าน่าจะเป็น รื่อ-หลัว-ถิง (เชราติงหรือเจอร์เตห์) ในบันทึกของจ้าวรู่กัว ใกล้กับกัวลาเบรังแต่ วี. เวนกัยยานักอ่านจารึกชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นไชยา แต่เวนกัยยาไม่เคยมาประเทศไทยจึงไม่รู้สภาพภูมิศาสตร์ มายิรุดิงกัมไม่ใช่ไชยาเพราะไชยาตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทยซึ่งไม่มีทะเลลึกล้อมรอบ มายิรุดิงกัมอาจเป็นมะริดทางตอนใต้ของเมียนมาร์ก็เป็นได้เพราะอยู่ชายฝั่งอันดามันที่มีทะเลลึกล้อมรอบหรืออาจจะเป็นสทิงพระแถวทะเลสาบสงขลาที่มีน้ำลึกเหมือนกัน
5. เมืองอีลังกาโสกะคือลังกาสุกะ

6. เมืองอีลามูริดเดศัมคือลามูรี (อาเจะห์)
7. เมืองมาปผลัม ซึ่ง วี. เวนกัยยา ระบุว่าเป็นเมืองปัพผาลัมในคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา น่าจะอยู่แถวเมืองสะเทิมทางตอนใต้ของเมียนมาร์แต่จากพงศาวดารพุกามน่าจะอยู่ทางทิศใต้ของเมืองสะเทิม แต่มาจุมดาร์เชื่อว่า มาปผลัม คือปาหัง
8. เมืองเมวิลิงบังกัมคือปาเล็มบัง
9. เมืองวัลไลปันดูรูยังไม่มีผู้ใดทราบที่ตั้งแต่อาจเป็นอ่าวอารุบนเกาะสุมาตราหรือป๊า-ทา (ปวด-ดบ) ในบันทึกของจ้าวรู่กัว ที่อาจจะเป็นสุไหงปะกาในมาเลเซียหรือปัน-ปันที่อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานีแถวอ่าวบ้านดอนในประเทศไทย เพราะมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุทมิฬอยู่
10. เมืองตะไลตักโกลัม คือเมืองตักโกละซึ่งปัจจุบันคือ อ.ตะกั่วป่าจังหวัดพังงา เพราะมีการค้นพบเทวรูปโบราณมากมายและมีการพบศิลาจารึกภาษาทมิฬที่วัดเขาพระนารายณ์ไม่ระบุศักราชแต่น่าจะประมาณ พ.ศ.1568-1587 พูดถึงการสร้างสระน้ำแล้วให้กองทหารที่มานิการามดูแลแต่ศาสตราจารย์นีละกัณฐะ ศาสตรี (Nilakantha Sastri) เสนอว่ามานิการามเป็นกลุ่มการค้าของอินเดีย

11. เมืองมัทธมาลิงกัมคือเมืองตามพรลิงค์มีจารึกหลักที่ 29 เป็นภาษาสันสกฤตและทมิฬเป็นหลักฐานใหม่กว่าที่ตะกั่วป่า
12. เมืองมานักกะวรัม นี้ วี. เวนกัยยาและมาจุมดาร์ระบุว่าเป็นเกาะนิโคบาร์หรือนาควารี
13. เมืองคฑารัมเป็นเมืองเดียวกับที่เรียกใน กลิงคัตตุภารณี คือเคดาห์ ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียกว่า คฑาหะ และเกียต-ต้า (羯茶เจี้ย-ฉา) ในบันทึกอี้จิงหรือกา-หล่า (迦罗เจี้ย-หลัว) ในพงศาวดารจีน มีภาพวาดเขียนโดยจิตรกรชาวไทยกล่าวถึงการรุกรานของโจฬะและจันฑิบูกิตบาตูปาฮัทที่บูชาพระศิวะเป็นหลักฐาน

รูป 1.เทวาลัยพฤตเทศวรที่ธันจาวูร์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บจารึกต่างๆที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรโจฬะกับสมาพันธรัฐศรีวิชัย แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Brihadisvara_Temple_Thanjavur#/media/File:Side_profile,_Brihadeeswara.jpg
เพราะว่าจารึกโจฬะไม่เคยอ้างว่าโจมตีเมืองบารุสในปีพ.ศ.1568 กองทัพเรือโจฬะน่าจะแล่นตรงเข้าช่องแคบมะละกา เมื่อมหาราชาสงครามวิชโยตุงคะวรมันถูกจับไปอินเดียและเมืองต่างๆถูกโจมตีและปล้นสะดมสมาพันธรัฐศรีวิชัยและราชวงศ์ไศเลนทร์จึงระส่ำระสายขาดผู้นำ เมื่อกองเรือโจฬะแล่นเข้าอ่าวไทยจะต้องแล่นทวนลมทำให้อ่อนกำลังลง จึงสันนิษฐานว่าชาวศรีวิชัยจากเมืองต่างๆทางแหลมมลายูตอนใต้และเกาะสุมาตราได้หลบหนีพวกทมิฬโจฬะขึ้นมาอยู่ที่ไชยา จ.ปัตตานี (ลังกาสุกะ) และอ.สทิงพระ จ.สงขลา (รักตมฤติกา) ในไทย กัมพูชาและเกาะชวา เพราะจารึกธิรุกกะไดยูร์ ที่ระบุว่าได้โจมตีเมืองมายิรุดิงกัมที่ล้อมรอบด้วยน้ำลึกไม่น่าจะใช่ไชยา ถ้าไชยาไม่ได้อยู่ในรายชื่อเมืองศรีวิชัยที่ถูกโจฬะโจมตี เป็นไปได้ว่าไชยาไม่ขึ้นกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยแต่ขึ้นกับจักรวรรดิเขมรในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เนื่องจากพระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 และพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เป็นพันธมิตรกันโจฬะจึงไม่โจมตีไชยา เนื่องจากเป็นเมืองชายขอบไชยาอาจจะขึ้นกับศรีวิชัยบ้างหรือเขมรบ้างแล้วแต่ใครจะเข้มแข็งกว่ากัน

กองทัพเรือโจฬะอาจจะไม่ชนะทุกเมืองเพราะปัจจุบันยังหาร่องรอยของทมิฬโจฬะไม่พบที่อ.ยะรัง จ.ปัตตานีซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะได้ กษัตริย์ในยุคต่อมาในมลายู เช่นราชาแห่งเปรักตั้งชื่อว่าราชาจูลัน ที่เพี้ยนมาจากคำว่าโจฬะ มิคซิคเชื่อว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยสิ้นสุดลงเมื่อโจฬะเข้าโจมตีทั้ง 13 เมือง แต่หลักฐานจากจีนยืนยันว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยยังคงอยู่จากการที่ยังเรียกสัม-พุท-เชย (三佛齐ซัน-โฝ-ฉี) และจารึกโจฬะที่อินเดียหลังปีพ.ศ.1568 อย่างจารึกเลย์เดนแผ่นเล็กยังพูดถึงมหาราชาแห่งเคดาห์ที่ขอร้องให้ช่วยดูแลวัดพุทธศาสนาที่ราชวงศ์ไศเลนทร์สร้างเอาไว้ที่นาคปฏินัม

การโจมตีสมาพันธรัฐศรีวิชัยของพระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ถือว่าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกของทวีปเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อาณาจักรในอินเดียส่งกองทัพเรือออกไปโจมตีภูมิภาคอื่น ซึ่งตามปกติแล้วอาณาจักรในอินเดียมีความสัมพันธ์อันดีกับอาณาจักรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งศาสตราจารย์นีละกัณฐะ ศาสตรี สันนิษฐานว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยขัดขวางการค้าระหว่างอาณาจักรโจฬะกับอาณาจักรทางตะวันออกโดยเฉพาะ จีน หรืออาจต้องการแค่แสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ก็เป็นได้ ในยุคนั้นสมาพันธรัฐศรีวิชัยควบคุมเส้นทางการเดินเรือสำคัญถึง 2 จุดคือช่องแคบมะละกาและช่องแคบซุนดา โดยมีเคดาห์บนฝั่งแหลมมลายูและปันไนบนฝั่งเกาะสุมาตราคุมช่องแคบมะละกาฝั่งเหนือและปาเล็มบังและจัมบิคุมช่องแคบมะละกาฝั่งใต้และช่องแคบซุนดาจึงสามารถผูกขาดการค้าทางทะเลได้ เรือลำไหนไม่จอดแวะมีสิทธิถูกปล้น

อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรกัมพูชามีปัญหากับเมืองตามพรลิงค์จึงขอให้พระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ซึ่งเป็นอาณาจักรฮินดูนับถือนิกายไศวะช่วยเหลือจึงทำให้มีความขัดแย้งกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยซึ่งนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ทฤษฎีนี้เป็นไปไม่ได้เพราะพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 นับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน แม้ว่าจะนับถือคนละศาสนาแต่โจฬะและกัมพูชามีความสัมพันธ์อันดีต่อกันดูจากจารึกแผ่นทองแดงการันได (พ.ศ.1563) ของพระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 กล่าวว่าพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ส่งราชรถเป็นบรรณาการให้พระเจ้าราเชนทราโจฬะที่ 1 ในปีพ.ศ.1563 แต่ช่วงนั้นกัมพูชามีกษัตริย์หลายองค์แย่งอำนาจกันอาจจะเป็นองค์อื่นแต่ผลของสงครามทำให้อำนาจการผูกขาดทางการค้าในช่องแคบมะละกาของสมาพันธรัฐศรีวิชัยหมดไป คำว่า “โจฬะ” เพี้ยนเป็นคำว่า “จูลัน” ที่กษัตริย์ในเปรักหลายพระองค์นำไปใช้เป็นชื่อ จากพงศาวดารมลายู (Sejarah Melayu) พระเจ้าราเชนทราโจฬะกลายเป็นกษัตริย์แห่งลามูรีทางเหนือของเกาะสุมาตรา

รูป 2. เรือรบจำลองโจฬะ แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Ship_compartment

รูป 3.เปรียบเทียบยุทธวิธีของโจฬะตามสมมติฐานเก่า (รูปซ้ายมือ) และใหม่ (รูปขวามือ)
อรุณาชาลัม มูญอซและวิชัยและสังกีตา สักหุจาเชื่อว่ากองเรือโจฬะแล่นผ่านชายฝั่งทางใต้ของเกาะสุมาตราและผ่านช่องแคบซุนดาเข้าโจมตีเมืองปาเล็มบังเป็นจุดแรกตามรูปซ้ายมือ แต่สมมติฐานนี้เป็นไปได้สำหรับยุทธนาวีสมัยใหม่เท่านั้น สมมติฐานนี้เรียงลำดับเมืองตามจารึกธิรุกระไดยูร์ ก่อนยุคเรือกลไฟเรือรบต้องอาศัยลมดังนั้นรูปทางขวามือจึงเป็นไปได้มากกว่าที่โจฬะจะเริ่มโจมตีชายฝั่งตะวันตกของแหลมมลายูและชายฝั่งเหนือของสุมาตราในเวลาเดียวกัน หลังจากปีพ.ศ.1503 ศรีวิชัยขาดเอกภาพจึงแพ้โจฬะอย่างง่ายดาย แผนที่ด้านขวามือมีความเป็นไปได้มากกว่าด้านซ้ายมือเพราะเรือรบสมัยโบราณใช้ลมในการขับเคลื่อนส่วนด้านซ้ายมือต้องเป็นเรือรบสมัยปัจจุบันเท่านั้นจึงจะทำได้

เอกสารอ้างอิง
ศ.มจ.สุภัทรดิศ.ดิศกุล พ.ศ.2535. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.
Arunachalam, B. 2004. Chola Navigation Package. Mumbai: Maritime History Society.
Karashima Noburu 辛岛昇, and Y. Subbarayalu. 2009. "Appendix I: Ancient and Medieval Tamil and Sanskrit Inscriptions Relating to Southeast Asia and China." In Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflection on Chola Naval Expeditions to Southeast Asia, by Hermann Kulke, K. Kesavapany and Vijay Sakhuja, 271-291. Singapore: ISEAS.
Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient, BEFEO 102: 45-95.
Miksic, John Norman 2010. The A-Z of Ancient Southeast Asia. Lanham, Maryland: Scarecrow Press.
Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.
Sakhuja, Vijay, and Sangeeta Sakhuja. 2009. "Rajendra Chola I's Naval Expedition to Southeast Asia: A Nautical Perspective." In Nagapattinam to Suvarnadwipa: Reflection on Chola Naval Expeditions to Southeast Asia, by Hermann Kulke, K. Kesavapany and Vijay Sakhuja, 76-90. Singapore: ISEAS.



กำลังโหลดความคิดเห็น