ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เรียกว่าเป็นเป็นอีกจังหวะนรกของ “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เลยก็ว่าได้ หลัง “กรมราชทัณฑ์” ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 โดยประกาศเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 และมีผลเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.66
สาระสำคัญของระเบียบฉบับดังกล่าวคือการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการกำหนดสถานที่คุมขังอื่นที่มิใช่เรือนจำ โดยเปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัยหรือสถานพยาบาลได้ โดยถือเป็นระยะเวลาจำคุก หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ระเบียบคุมขังนอกคุก”
อ่านแค่ชื่อระเบียบ ไม่ต้องนึกอื่นไกล หน้าของ “นายใหญ่ชั้น 14” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลอยขึ้นมาทันที
เป็น “ทักษิณ” ผู้ที่เดินทางกลับไทยเมื่อ 22 ส.ค.66 ก่อนเข้าสู่กระบวนการมอบตัวรับโทษในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร แต่ยังไม่ทันได้ค้างคืนในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
แน่นอนว่า “ทักษิณ” ในฐานะผู้ต้องโทษจำคุก ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับอานิสงส์จากระเบียบราชทัณฑ์ฉบับนี้ หากแต่ความเป็นจริง “ทักษิณ” ได้ใช้สิทธิ์ล่วงหน้าก่อนระเบียบจะออกเสียอีก เพราะนับถึงขณะนี้ เจ้าตัวก็ออกมานอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ เกินกว่า 110 วัน เข้าให้แล้ว และยังไม่มีทีท่าจะถูกส่งกลับเข้าเรือนจำ
ไม่แปลกที่พอระเบียบออกมา จะมีคำถามดังๆ จาก “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปถึง “เศรษฐา” และรัฐบาลว่า “ปล่อยให้กรมราชทัณฑ์ลักไก่ออกระเบียบให้นักโทษไปติดคุกที่บ้านเพื่อรองรับนักโทษชั้นพิเศษได้อย่างไร“ และ “มีนายกฯ ไว้ดูแลประชาชน หรือนักโทษเทวดา”
ขณะที่ “นายกฯเศรษฐา” ก็ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด กล่าวตอบเพียงว่า “ไม่ทราบเรื่องเลย เป็นหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับผม” หลังถูกถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่ “ทักษิณ” ผู้เป็นศาสดาของพรรคเพื่อไทยหรือไม่
มองอย่างเป็นธรรมกับรัฐบาล ต้องบอกว่า คำถามของ “จุรินทร์” เป็นคำถามในลักษณะตีกินไม่น้อย เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ เมื่อระเบียบฉบับนี้ออกมา หน้าของ “ทักษิณ” ก็ลอยมาแต่ไกล หากแต่ “จุรินทร์” อาจจะหลงลืมว่า แท้จริงแล้ว “ระเบียบคุมขังนอกคุก” นั้นมีการดำเนินการมาเป็นขั้นเป็นตอนตั้งแต่ “รัฐบาลชุดที่แล้ว”
รัฐบาลชุดที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีรองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชื่อ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
โดยเป็นการดำเนินการโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม สังกัด “พรรคพลังประชารัฐ” ที่วันนี้มาเป็นรองนายกฯ และ สส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคเพื่อไทย
ดังนั้น รัฐบาลชุดที่ผ่านมาจึงต้องรับรู้และไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้
กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560
“สมศักดิ์” ที่ไม่ยอมตอบคำถามโดยตรงว่า “ทักษิณ” ได้ประโยชน์จากระเบียบนี้หรือไม่ ระบุว่า สมัยเป็น รมว.ยุติธรรม ต้องออกอนุบัญญัติในทุกมาตราให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เพื่อประโยชน์ของการบริหารจัดการ แต่ไม่ได้ลงในรายละเอียดผู้ที่จะพิจารณาว่า ใครเข้าเงื่อนไขของระเบียบดังกล่าวหรือไม่ อยู่ที่กระทรวงยุติธรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
โดยก่อนหน้านี้ “สมศักดิ์” รวมไปถึงกรมราชทัณฑ์ก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อมีการประกาศระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.66 ซึ่งเป็นช่วงที่ “ทักษิณ” กำลังประกาศจะเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับโทษในคดีที่ตัดสินเป็นที่สุดแล้ว
รวมทั้งครั้งที่ “สมศักดิ์” ในฐานะ รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น ลงนามในกฎกระทรวงยุติธรรมปี 2563 ที่มีเนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวถึงการใช้สถานคุมขังอื่นนอกเหนือจากเรือนจำ ซึ่งเจ้าตัวเคยชี้แจงว่า เป็นไปตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เช่นกัน โดยกฎหมายฉบับนี้เริ่มยกร่างตั้งแต่ปี 2558 มีเป้าหมายเพื่อปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ด้วยการยกเลิกกฎหมายราชทัณฑ์ฉบับเดิมที่ใช้มา 80 ปี
ขณะที่ “เสี่ยวี” พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม จากพรรคประชาชาติ ก็ปฏิเสธจะตอบคำถามว่า “ทักษิณ” เข้าเงื่อนไขตามระเบียบกรมราชทัณฑ์หรือไม่ แต่อธิบายที่มาที่ไปว่า คณะกรรมการราชทัณฑ์ได้ประชุมไว้หลายเดือนแล้ว โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมคอยดูแล
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า รมว.ยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ระเบียบคุมขังนอกคุก” ทั้ง 2 คน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้สังกัด “พรรคเพื่อไทย” หากแต่เป็นที่รับรู้ว่ามีสายสัมพันธ์ระดับใดกับนายใหญ่คนเสื้อแดง
เข้าใจได้ว่า ระเบียบที่ออกมานั้นเป็นการนำอนุบัญญัติของพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาออกเป็นระเบียบที่เป็นเสมือน “กฎหมายลูก” หากไม่มีการออกระเบียบเพื่อล้อกับกฎหมายก็จะทำให้ไม่มีหลักเกณฑ์สำหรับปฏิบัติงาน รวมไปถึงอาจถูกร้องว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ออกกฎหมายลูกตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
จึงต้องไปเจาะในรายละเอียดระเบียบว่า จงใจ “เอื้อประโยชน์” แก่ ”ทักษิณ” หรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่มากกว่า
โดยระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีเนื้อหา 6 หมวด รวม 20 ข้อ สรุปโดยสังเขปได้ว่า
-ผู้กำกับสถานที่คุมขัง หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำที่ทำหน้าที่กำกับสถานที่คุมขัง
-ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง หมายความว่า 1.ข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแล และรับผิดชอบผู้ต้องขัง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขัง หรือ 2.เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง ซึ่งได้ให้ความยินยอมและยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่รวมถึงคำแนะนำของเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้
-คณะทำงาน หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง 9 คน มีรองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขัง เสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ในการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก โดยคณะทำงาน 1 คน มี 1 เสียง
-อธิบดี หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็น “ผู้รักษาการตามระเบียบนี้” และมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมถึงออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม
-สถานที่คุมขัง สามารถทำได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์และในสถานที่คุมขัง ดังต่อไปนี้ 1.การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง โดยคุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มิใช่เรือนจำ, 2.การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย โดยคุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษา วัด มัสยิดที่ทำการเอกชน มูลนิธิ สถานสงเคราะห์, 3.การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง โดยคุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน และ 4.การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
-สถานที่คุมขังต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
1.กรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร, 2.กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สามารถระบุตำแหน่งของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวว่าอยู่ตำแหน่งใดของอสังหาริมทรัพย์ และอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้นต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และ 3.สามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (กำไลอีเอ็ม) ได้
-คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1.เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์, 2.ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่า ควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล โดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ และ 3.มีคุณสมบัติเฉพาะ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์
-อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบ 3 ข้อ แต่ถ้าติด 2 เงื่อนไข ก็จะหมดสิทธิได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังนอกเรือนจำ คือ 1.มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่าปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้องถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะในคดีนี้หรือคดีอื่น และ 2. อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย
-การพิจารณาให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ต้องมีเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบกัน
1.ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่, 2.พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ, 3.ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ, 4.ความเสี่ยงในการหลบหนี,
5.ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน, 6.ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง, 7.ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง และ 8.ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องยึดตามเอกสารที่เรือนจำเสนอ
ย้ำอีกครั้งว่า ต้องมองอย่างเป็นธรรมว่า เนื้อหาในระเบียบก็เป็นเนื้อหาที่อาจจะไม่ได้จำเพาะเจาะจงไปที่ “ทักษิณ” แต่ถือว่า “ทักษิณ” ก็เข้าข่ายได้รับการพิจารณาตามระเบียบคุมขังนอกคุกนี้
หากแต่มาถึงวันนี้ต้องถามว่า จำเป็นหรือไม่สำหรับ “ทักษิณ” ที่เข้ารับโทษ และนอนอยู่บนชั้น 14 รพ.ตำรวจ มาเกินกว่า 110 วันแล้ว
ก็ต้องตอบแทน “ทักษิณ” ได้เลยว่า ไม่จำเป็น เพราะเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน หรือในวันที่ 20 ธ.ค.66 ที่มีการวิเคราะห์กันว่า “ทักษิณ” จะมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ขอ “พักโทษ” ได้ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ. 2563
โดยประกาศดังกล่าวกำหนด “เงื่อนไข” ว่าต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาด และต้องมีผู้อุปการะคุณและยินดีอุปการะคุณ
ว่ากันว่า “ทักษิณ” เตรียมที่จะยื่นขอพักโทษตามประกาศนี้มากกว่าการขอเข้ารับการพิจารณาคุมขังนอกคุก ด้วยการพักโทษดูจะมีเงื่อนไขพันธนาการน้อยกว่า
อย่างไรก็ดี แม้ว่าประกาศหรือระเบียบเกี่ยวกับผู้ต้องขังที่ออกโดยกระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ จะ “ดูเหมือน” ไม่ได้เจาะจงเอื้อประโยชน์ “ทักษิณ” อย่างที่ “ผู้เกี่ยวข้อง” พยายามชี้แจงก็ตาม
แต่ต้องยอมรัยว่า แทบทุกประกาศ หรือระเบียบเกี่ยวกับผู้ต้องขังของ กระทรวงยุติธรรม และกรมราชทัณฑ์ ล้วนแล้วแต่ “เป็นประโยชน์” แก่ตัว “ทักษิณ”
ซึ่งคนระดับ “ทักษิณ” คิดจะทำอะไรแล้วคงไม่ได้มีแผนเอ เพียงแผนเดียว แต่ต้องมีแผนบี แผนซี หรือแผนดี เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ด้วย
ต้องไม่ลืมว่า “ทักษิณ” ย้ำแล้วย้ำอีกถึงการกลับประเทศแบบเท่ๆ ซึ่งในความหมายก็คือการไม่ต้องติดคุกนั่นเอง
การเดินทางกลับประเทศเมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ของ “ทักษิณ” เพื่อเข้ากระบวนการยุติธรรมนั้นอาจมองได้ว่าเป็น “แผนเอ” ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าประสงค์ เข้ารับโทษแบบมีเงื่อนไข ไม่ต้องนอนในเรือนจำแม้แต่คืนเดียว และได้ออกมานอนอยู่ที่ รพ.ตำรวจ อย่างที่ทราบ
ดังนั้น ประกาศ หรือระเบียบเกี่ยวกับผู้ต้องขังของกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ ที่วางไว้เป็นแผนบี-ซี-ดี จึงไม่จำเป็นต้องหยิบมาใช้ ขณะเดียวกันกระบวนการในหน่วยงานราชการก็เดินหน้าไปแล้ว ก็ต้องประกาศออกมาตามขั้นตอน
ต้องถามผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะ “รัฐบาลที่ผ่านมา” ว่า ลึกๆ แล้วมีแผนบี-ซี-ดี อย่างที่ว่าไว้หรือไม่ เพราะประชาชนเชื่อว่า แผนนั้นมีอยู่จริง และมีการเตรียมการไว้ เพียงแต่จะได้ใช้หรือไม่ หรือใช้เมื่อไหร่...ก็เท่านั้น
กระนั้นก็ดี สิ่งที่ควรตั้งคำถามกับการที่ “ทักษิณ” ผู้ซึ่งไม่ต้องนอนในคุกแม้แต่คืนเดียว และปล่อยให้เขาเป็น “เทวดาชั้น 14” อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ โดยไม่แคร์ความรู้สึกคนทั้งประเทศก็คือ “ราคา” ที่ประเทศนี้ต้องจ่ายให้กับเขา
เพราะการที่ “ทักษิณ” หนีโทษจำคุกไปต่างประเทศนานนับ 15 ปี แต่ยังได้รับการปฏิบัติเยี่ยง “เทวดา” ขนาดนี้ ย่อมสร้างความเสียหายให้แก่กระบวนการยุติธรรมไม่มากก็น้อย หรือถึงขั้นล่มสลายไปแล้วก็เป็นได้
กลายเป็นราคาที่คนไทยต้องจ่ายให้กับคนที่ชื่อ “ทักษิณ”
และเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า คุกมีไว้ขังคนจน เท่านั้น
ที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ที่ทำให้บรรดา “นักโทษระดับ VIP” ไม่ว่าจะเป็น “นักโทษที่เป็นนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย” ใช้เป็น “โมเดล” หรือ “คัมภีร์ติดคุกอย่างไรให้ไม่ต้องรับโทษอยู่ในคุก”
ขณะที่ตัว “ทักษิณ” เอง สุดท้ายแล้วก็ต้องแบกรับผลกรรมจากการไม่ยอมนอนคุก ทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ดังจะเห็นได้จาก “คะแนนนิยม” ของเขาที่ทรุดต่ำลงและลามไปถึงตัว “อุ๊งอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” ผู้เป็นลูกสาวที่แต่งตัวรอขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปแบบเต็มๆ