ป้อมพระสุเมรุ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เข้าสู่ยุคผลัดใบโดยแท้ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ ที่เพิ่งได้ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน มานั่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 9 พร้อมทั้งยึดตำแหน่งในกรรมการบริหารพรรคแบบเบ็ดเสร็จ
เป็นการประกาศชัยชนะของขั้วอำนาจใหม่อย่าง “ก๊วนเสี่ยต่อ” ที่มีเหนือขั้วอำนาจเก่า หรือ ”ก๊วนนายหัว” ที่นำโดย ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ที่ถือเป็นผู้ทรงอิทธิพลใน “ค่ายสะตอ” มาอย่างยาวนาน
เอาเข้าจริงการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้า “เฉลิมชัย” ก็ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายอะไร เพราะหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า อิทธิพลของ ”เฉลิมชัย” แผ่ไปทั่วพรรคประชาธิตย์อยู่แล้วในฐานะเลขาธิการพรรค ที่เจ้าตัวได้รับตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการเลือกตั้งปี 2562
จึงไม่แปลกที่ สส.ปัจจุบัน 21 จาก 25 คน จะถือเป็นคนในอาณัติของ “เฉลิมชัย” ยังผลให้เสียงสนับสนุนให้เป็นหัวหน้าพรรคล้นหลาม จากข้อบังคับพรรคที่ให้น้ำหนักคะแนน สส.ที่ 70% ขณะที่องค์ประชุมที่เหลือนับแค่ 30%
ติดก็แค่ “คำพูดเป็นนายตัวเอง” จากที่ “เฉลิมชัย” ได้ประกาศว่า จะวางมือทางการเมือง หากในการเลือกตั้ง 2566 นำพาพรรคคว้าที่นั่ง สส.น้อยกว่าเลือกตั้งงวดก่อนที่ได้ 52 ที่นั่ง ซึ่งก็เป็นที่ทราบดีว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.มาแค่ 25 ที่นั่ง
“เสี่ยต่อ” ที่ไม่ได้ลงสมัครทั้ง สส.เขต และ สส.บัญชีรายชื่อ และทำทีเหมือนจะหันหลังให้การเมือง ติดก็แต่ยังมีตำแหน่งเป็นรักษาการเลขาธิการพรรค และรักษาการหัวหน้าพรรคในเวลาต่อมา ที่ต้องทำหน้าที่จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน
ทว่า แคนดิเดตหัวหน้าพรรค ที่ “เฉลิมชัย” ให้การสนับสนุน ทั้ง “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง หรือ “พ่อเลี้ยงตุ้ม” นราพัฒน์ แก้วทอง ดูเหมือนจะยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี ทำให้ “หัวหน้าก๊วน” ต้องโดนลงมาเล่นด้วยตัวเอง ด้วยการให้ 22 สส.ในก๊วน ก่อหวอดรวมตัวกันเรียกร้องให้ “เฉลิมชัย”กลับคำพูดและมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ใครก็ดูออกมาที่ 21 สส.ออกมติเรียกร้องไปถึง “เฉลิมชัย” เป็นแค่ละครฉากหนึ่ง เพราะรู้ดีว่าทั้งหมดก็เด็กในบ้าน “เสี่ยต่อ” ทั้งนั้น
เมื่อ “เฉลิมชัย” รับลูกตามที่เตี๊ยมกันไว้ ก็ไม่พ้นเสียงเหน็บแนม “กลืนน้ำลาย-ตระบัดสัตย์” หากแต่ก็ไม่สามารถขวางทาง “หัวหน้าต่อ” ได้ กระทั่งเบอร์ใหญ่อย่าง “อภิสิทธิ์” ออกตัวประกาศท้า “เฉลิมชัย” ไปเคลียร์ใจกันสองต่อสองกลางฟลอร์ประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.66 ก็ยังต้องเป็นฝ่ายโบกมือลาไปเอง โดยถอนตัวจากที่ได้รับการเสนอชื่อจาก “นายชวน” ให้แข่งเป็นหัวหน้าพรรค รวมไปถึงลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคด้วย
ศึกการชิงอำนาจใน “ค่ายสะตอ” ครั้งนี้นอกเหนือเป็นการประกาศศักดาของ “ก๊วนเฉลิมชัย” ที่มีเหนือ “ก๊วนนายหัว” แล้ว ยังเป็นการจัดหมวดแบ่งขั้วให้เห็นชัดๆว่า ใครเลือกถือหางฝ่ายไหน ดังปรากฎในรายชื่อกรรมการบริหารพรรค ที่ไม่มีขั้วอื่นในพรรคเข้าไปมีส่วนร่วมเลย
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “หัวหน้าเฉลิมชัย” ประกอบด้วยรองหัวหน้าพรรค 13 คน ได้แก่ สมบัติ ยะสินธุ์ รองหัวหน้าพรรค ภาคเหนือ, ไชยยศ จิระเมธากร รองหัวหน้าพรรค ภาคอีสาน, ประมวล พงษ์ถาวราเดช รองหัวหน้าพรรค ภาคกลาง, ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค ภาค กทม., นริศ ขำนุรักษ์, จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร, พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่, นราพัฒน์ แก้วทอง, ธารา ปิตุเตชะ, น.ต.สุธรรม ระหงษ์, มนตรี ปาน้อยนนท์ และ อภิชาต ศักดิเศรษฐ์
โดยมี “นายกฯชาย-เดชอิศม์” เป็นเลขาธิการพรรค มีรองเลขาธิการพรรค 6 คน คือ สุพัชรี ธรรมเพชร, จักพันธ์ ปิยพรไพบูลย์, สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ, ชนินทร์ รุ่งแสง, สมยศ พลายด้วง และ กันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ เจิมมาศ จึงเลิศศิริ เป็นเหรัญญิกพรรค, วิรัช ร่มเย็น เป็นนายทะเบียนพรรค, ราเมศ รัตนะเชวง เป็นโฆษกพรรค
กรรมการบริหารพรรค ประกอบด้วย ประกอบ รัตนพันธ์, เมฆินทร์ เอี่ยมสอาด, สงกรานต์ จิตสุทธิภากร, สมชาติ ประดิษฐพร, ยูนัยดี วาบา, พลอยทะเล ลักษมีแสงจันทร์, ปุณณ์สิริ บุญยเกียรติ, เจนจิรา รัตนเพียร และมี รัชฎาภรณ์ แก้วสนิท เป็นกรรมการบริหารสำรอง
ส่วนพวกที่ถือหาง “ชวน-อภิสิทธิ์” ไม่เพียงไม่ได้รับโอกาส หลายรายยังได้ลาออกจากพรรคตาม “อภิสิทธิ์” ไป อาทิ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย, สาธิต ปิตุเตชะ, อรอนงค์ กาญจณชูศักดิ์, พนิต วิกิตเศรษฐ์, อัญชลี วานิช เทพบุตร และ วิทเยนทร์ มุตตามระ เป็นต้น
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าสู่ภาวะ “เลือดสีฟ้าไหลออก” เพราะทุกคนที่ตัดสินใจลาออกต่างปวารณาตัวว่า ยังคงมี “เลือดสีฟ้า” สีประจำพรรค แต่รับไม่ได้กับหัวหน้าพรรคที่ไม่รักษาสัจจะ และการเลือกกรรมการบริหารพรรคในลักษณะกินรวบ
แม้การภาวะเลือดไหลครั้งนี้จะไม่ได้ใหญ่โตเหมือนตำนาน “กลุ่ม 10 มกรา” เมื่อราว 35 ปีก่อน เพราะขนาดพรรคประชาธิปัตย์วันนี้เล็กลงจากในอดีต อีกทั้งก็มีภาวะเลือดไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนและหลังเลือกตั้งปี 2562 ที่บรรดาขุนพลมีชื่อตัดสินใจลาออกจากพรรคไปเพื่อไปร่วมงานพรรคคอื่น
หรืออีกหลายคนก็จากไปหลังการเลือกหัวหน้าพรรค ที่วันนั้นได้ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้าพรรค ไม่ว่าจะเป็น กรณ์ จาติกวณิช, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หรือ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
การที่มีคนลาดออกตาม “อภิสิทธิ์” ในครั้งนี้ อาจดีกับ “ก๊วนเสี่ยต่อ” ที่จะบริหารพรรคได้อย่างมีเอกภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ
หากแต่ก็ยังคงมีขั้วตรงข้าม ”หัวหน้าต่อ“ ที่ยังไม่ได้ลาออก ทั้ง 3 ผู้อาวุโส 3 อดีตหัวหน้าพรรค ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ล้วนแล้วแต่ยังกินตำแหน่ง สส.บัญชีรายชื่ออยู่ หากลาออกจากพรรคก็เท่ากับตำแหน่ง สส.ก็จะหลุดไปด้วย
หรือ “นายหัวเพชร” สรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา บุตรชาย นิพนธ์ บุญญามณี ที่แม้จะเป็น สส.สมัยแรก แต่ก็มีจุดยืนชัดเจนว่าไม่ยอมรับทีมงานชุด “เฉลิมชัย-เดชอิศม์” แต่ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจ เพราะก็มีตำแหน่ง สส.ค้ำคออยู่ สำคัญที่เป็น สส.เขต หากทะเล่อทะลบ่าลาออกจากพรรค ทำให้ตำแหน่ง สส.หลุดไปด้วย อาจต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งซ่อม
อีกรายที่ยังไม่ลาออกจากพรรค แม้จะเป็นผู้หนึ่งที่ช้ำหนักจากศึกชิงอำนาจใน “ค่ายสะตอ” หนนี้ รายของ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่ประกาศลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย และเมื่อครั้งเปิดตัวก็ดูภาษีดี ขายความเป็นคนรุ่นใหม่ และความเป็นหญิงแกร่ง ตามเทรนด์การเมืองไทยที่ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น
หากจำกันได้ เคยมีการโยนชื่อ “มาดามเดียร์” กับการเป็นหัวห้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาหยั่งกระแสตั้งแต่ที่ “จุรินทร์” ลาออกจากหัวหน้าพรรคมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ครั้งนั้นเจ้าตัวก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่า ยังไม่สนใจลงแข่ง
กระทั่ง การประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตยล่มไป 2 ครั้ง และยังไม่มีตัวเลือกที่โดดเด่นในการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำให้ “วทันยา” เปลี่ยนใจ และประกาศขอลงร่วมวงชิงชัยเก้าอี้หัวหน้าค่ายสะตอด้วย
พลันที่เปิดตัว ดูเหมือน “มาดามเดียร์” จะมีภาษีไม่น้อย ท่ามกลางกระแสข่าวว่าได้รับการสนับสนุนจาก “นายหัวชวน” รวมทั้งได้มีการนัดพบเพื่อพูดคุยนอกรอบกับ ”เฉลิมชัย“ แล้วด้วย นัยว่า สามารถชู ”วทันยา” เป็นตัวเลือกในการยุติความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วในพรรค รวมทั้งกอบกู้พรรคที่อยู่ในภาวะวิกฤต
ทว่า เมื่อ “เฉลิมชัย” ตัดสินใจลงมาเล่นด้วยตัวเอง ตัว “มาดามเดียร์” จะยืนกรานจะสู้ต่อ แต่ก็รู้ดีว่าสู้ยาก ไม่ต่างจาก “อภิสิทธิ์” ที่ปิดห้องหว่านล้อมให้ “เฉลิมชัย” ยอมงดเว้นระเบียบการประชุมพรรคเรื่องน้ำหนักในการลงมติ 70:30 เพื่อให้วัดกันแบบแฟร์ๆ เมื่ออีกฝ่ายไม่รับลูก “อภิสิทธิ์” จำต้องถอนตัว และลาออกจากสมาชิกพรรคไป เพราะรู้ดีว่าสู้ไม่ได้ทุกประตู
แต่รายของ “วทันยา” ดูจะช้ำหนักกว่า เพราะแพ้ฟาล์วตั้งแต่ต้น เนื่องจากเธอติดเงื่อนไขเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ถึง 5 ปี ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหารพรรคได้ หากจะลงเสนอตัวเป็นหัวหน้าพรรคก็ต้องให้มีเสียงสมาชิก 3 ใน 4 ของที่ประชุมให้การรับรอง
ว่ากัน “มาดามเดียร์” ไปขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่และสมาชิกระดับหัวหน้าภาคต่างๆ รวมไปถึง “เฉลิมชัย” ช่วยในเรื่องเสียงสมาชิก 3 ใน 4 ของที่ประชุม และก็มีการรับปากเป็นหมั่นเป็นเหมาะกันแล้ว
ปรากฎพอถึงวันประชุมใหญ่ เสียงรับรองชื่อ “วทันยา” กลับไม่ถึง 3 ใน 4 จึงขาดคุณสมบัติไปโดยปริยาย พร้อมกับมี “ไลน์หลุด” ว่ามีใบสั่งให้องค์ประชุมไม่ให้รับรองตัวเธอด้วย
เอาว่า “มาดามเดียร์” ถูกตัดตอนตั้งแต่ยังไม่ได้ลงแข่งด้วยซ้ำ ทั้งที่แม้จะลงแข่ง และมีคู่แข่งชื่อ “เฉลิมชัย” ก็แทบไม่มีโอกาสชนะอยู่แล้วก็ตาม
ตรงนี้ว่า น่าสนใจว่า เหตุใด “มาดามเดียร์” ที่ดูจะช้ำหนักจากการถูกกระทำในครั้งนี้จึงยังไม่ตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแค่ประกาศไม่ร่วมงานกับกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และขอดูท่าทีก่อนตัดสินใจอีกครั้ง
เรื่องนี้คงต้องปูมหลัง “มาดามเดียร์” ว่า เธอเข้าร่วมงานกับ “ค่ายสะตอ” ไม่ได้มีแบ็กแค่ความเป็นสื่อใหญ่ ในฐานะภรรยาของ “เสี่ยฉาย” ฉาย บุนนาค แห่งบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ที่เป็นบริษัทแม่ของ “เนชั่น” เท่านั้น
เบื้องหลัง “มาดามเดียร์” ยังมี “ทุนใหญ่” ที่เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจคนสำคัญของ “เสี่ยฉาย” ให้การสนับสนุนด้วย
เป็น “ทุนใหญ่” ที่ในยุทธการเมืองรู้จักกันดี เพราะให้การสนับสนุนหลายพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย-ประชาชาติ หรือก่อนหน้านั้นก็มีข่าวว่าเป็นทุนให้กับ “ค่ายสมคิด” พรรคสร้างอนาคตไทย หรือ “ค่ายยงยุทธ” พรรคเพื่อชาติ และ ”ค่ายคุณปลื้ม“ พรรคพลังบูรพา
เป็น ”ทุนใหญ่” ที่วันนี้นับหัวรัฐมนตรีใน “ครม.เศรษฐา” ก็เชื่อมโยงได้ถึง 4 รัฐมนตรี ทั้งกระทรวงยุติธรรม, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และบางส่วนของกระทรวงคมนาคม
เป็น “ทุนใหญ่” ที่ยังมีมหากาพย์พิพาทกับรัฐระดับแสนล้านบาท ที่หวังต่อเชื่อมฝ่ายการเมืองเพื่อเคลียร์คัทให้ลุล่วงในรัฐบาลสมัยนี้
หากแต่ 100 วันของรัฐบาลใหม่ไปแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่า เรื่องที่ค้างคาอยู่จะได้รับการเคลียร์ให้ ทั้งที่ก็อัดฉีดสนับสนุนทุนเลือกตั้งไปไม่น้อย
เมื่อสบช่องในวันที่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านยังไร้หัว ก็หวังสนับสนุนให้ “มาดามเดียร์” เสียบยอด หวังใช้ฝ่ายค้านมืออาชีพเป็น “หมาก” ในการกดดันรัฐบาลอีกทางหนึ่งหรือไม่
เชื่อแน่ว่า เบื้องลึกเบื้องหลัง “มาดามเดียร์” ตรงนี้คงไม่รอดหูตา “ก๊วนเฉลิมชัย” ที่รู้ว่ากำลังมี “เจ้าสัวใหญ่” ต้องการเข้ามายึดพรรค จึงสกัดไว้ก่อน
อีกทั้งยังมองเป็นโอกาสด้วยซ้ำที่มี “เจ้าสัวใหญ่” อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่วันนี้อยู่ในภาวะวิกฤต ต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ลำพัง “เสี่ยต่อ” คงแบกค่าเลี้ยงดูไม่ไหว
เมื่อเห็นมี ”นายทุน” ให้ความสนใจ ก็เลยทำให้ “เสี่ยต่อ” ชิงที่จะยึดพรรคประชาธิปัตย์ไว้อย่างเบ็ดเสร็จก่อนก็เป็นได้ เพื่อดึงราคาไปในตัว หาก ”เจ้าสัวใหญ่“ ยังมีใจก็พร้อมเปิดโต๊ะเจรจาต้าอวยกันแบบมีกิจลักษณะ มิใช่อยู่ๆ จะส่งคนในยึดพรรคเหมือนที่วางเกมเอาไว้
ตรงนี้ก็น่าจะเป็นเหตุที่ ”มาดามเดียร์” ยังไม่ด่วนตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะรู้ว่า ไม่นานจากนี้ “เจ้าสัวใหญ่” คงมีการเปิดโต๊ะพูดคุยกับ “หัวหน้าต่อ”
หากดีลลงตัว ก็เชื่อว่าจะมีที่ท่าให้ “มาดามเดียร์” ได้ยืนใน “ค่ายสะตอ” แบบสมศักดิ์ศรีอย่างแน่นอน
เพราะลึกๆ แล้ว “หัวหน้าต่อ” ไม่ได้หวังแค่ “นายทุน” มาช่วยบรรเทาภาระในพรรคเท่านั้น ยังหวังหา “ข้อต่อ” เชื่อมไปถึงรัฐบาล เผื่อจับผลัดจับผลูได้เข้าไปเป็น “พรรคอะไหล่” ด้วย.