xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

โปรลด “ค่าไฟ” ไม่ยั่งยืน คิดใหม่ทำใหม่ บูมพลังงานสะอาด เร่งเจรจาเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือนมกราคม - เมษายน 2567 จะอยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วยหรือไม่ยังต้องลุ้น ขึ้นอยู่กับว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท. จะยอมยืดหนี้ค่าเชื้อเพลิงออกไปอีกหรือไม่ กลายเป็นปัญหางูกินหางสะสางไม่ออกจากวังวนเดิม ๆ


ตัวเลขค่าไฟฟ้างวดใหม่นี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คิดสะระตะและเคาะออกมาแล้วว่า จะอยู่ที่ 4.68 บาทต่อหน่วย ทำให้มีเสียงร้องระงมจากทุกสารทิศ เพราะงวดปัจจุบันซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2566 นี้ รัฐบาลเจรจาต้าอวยกับกฟผ. และ ปตท. ขอยืดหนี้จนได้ตัวเลขที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ก็อย่างว่า “โปรไฟไหม้” ที่ใช้แก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแบบซื้อเวลาทำได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น พอหมดโปรโมชั่นต้องกลับมาจ่ายตามต้นทุนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าจริงก็เห็นแล้วว่าค่าไฟพุ่งสูงขึ้น ไม่นับว่ายิ่งยืดหนี้ก็ยิ่งเสียดอกเบี้ยยืดยาวไปอีก

แต่ถ้าจะเอาตามที่ กกพ.มีมติ รัฐบาลก็คงเสียคะแนนนิยม  นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงตั้งเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ว่าให้ตรึงค่าไฟฟ้างวดแรกปี 2567 ไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย เฉพาะกลุ่มเปราะบาง จำนวน 17.7 ล้านราย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน หรือคิดเป็น 75% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ โดยใช้งบกลางปี 2567 กว่า 2,000 ล้านบาท แต่ที่ประชุม ครม. ยังไม่เคาะตามที่เสนอ

การพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้างวดใหม่ จึงถูกโยนเข้าสู่ที่ประชุม  คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2566 ซึ่งมี  นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ซึ่งมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาอัตราค่าไฟฟ้างวดใหม่ กลุ่มเปราะบาง อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ส่วนกลุ่มที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 300 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป กำหนดไว้ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. เห็นพ้องด้วย โดยกระทรวงพลังงาน จะใช้แนวทางสนับสนุน เช่น ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และกำหนดราคาขายก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท. ทำให้ราคาค่าก๊าซฯลดลง รวมถึงขอยืดหนี้ กฟผ. ออกไปอีกหนึ่งงวด ซึ่งกระทรวงพลังงาน กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วย กฟผ.บริหารจัดการหนี้ที่แบกรับภาระค่าต้นทุนเชื้อเพลิงไว้ ปัจจุบันอยู่ที่ 95,777 ล้านบาท

การประชุม กพช. ในวันดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 11.30 น. ใช้เวลาเพียง 30 นาที ก็เลิกประชุม ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงาน แจ้งยกเลิกการแถลงข่าวโดยให้เหตุผลว่าหลายวาระยังหาข้อสรุปไม่ได้และเตรียมส่งเรื่องให้ ครม. พิจารณาใหม่อีกครั้งในวันที่ 19 ธันวาคม 2566

 นั่นหมายความว่าการเจรจาต้าอ่วยกับ กฟผ. และ ปตท. เพื่อขอยืดหนี้ กดค่าไฟให้ต่ำลง ไม่ได้รับการตอบรับ 
ต้องไม่ลืมว่าค่าไฟฟ้างวดปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้น กฟผ. และ ปตท. ยอมยืดหนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง งวดนี้ดูทรง กฟผ.และ ปตท. คงยืนกรานให้รัฐบาลเคาะอัตราค่าไฟฟ้างวดใหม่ตามมติของ กกพ. ซึ่งหากเป็นไปตามนั้นจะกระทบต้นทุนการผลิตและประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า 
 
 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าการปรับขึ้นค่าไฟในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 เป็น 4.68 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน เดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ซึ่งอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยนั้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นถึง 17% ส่งผลกระทบกับ 45 อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ ไอที และอื่น ๆ รวมถึงกระทบกับราคาสินค้าที่อาจปรับราคาขึ้น 5-10% 
 
ประธาน ส.อ.ท. ยังห่วงว่าเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง การขึ้นค่าไฟฟ้าจะยิ่งซ้ำเติมประชาชน รัฐบาลควรทบทวนค่าไฟฟ้างวดใหม่ให้รอบคอบอีกครั้ง โดยขอให้ตรึงไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยไปก่อน จนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ และกำหนดค่าไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนญี่ปุ่นและไต้หวันที่แสดงความกังวลถึงค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย ส.อ.ท. มองว่า ราคาค่าไฟที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซียนั้น ควรอยู่ระหว่าง 2.70-3.30 บาทต่อหน่วย

นอกจากนั้น ส.อ.ท. ยังขอให้เร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน ภายใน 2 เดือนนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมดูแลโครงสร้างค่าไฟฟ้า 
 
สอดรับกับความเห็นของ  นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต  รองประธาน ส.อ.ท. ที่มองว่าการยืดหนี้ กฟผ. หรือการอุ้มค่าไฟให้กับกลุ่มเปราะบางเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น การแก้ปัญหาระยะยาวคือการปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และแสวงหาแหล่งพลังงานราคาถูก โดยเร่งเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claims Area -OCA)

ขณะเดียวกัน ต้องเร่งรัดการผลิตก๊าซธรรมชาติในแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมถึง 2 เดือน โดยปัจจุบันผลิตได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ล่าช้าจากเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่าในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 จะมีกำลังผลิตที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนค่าไฟที่เพิ่มขึ้น เพราะต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงเข้ามาทดแทนส่วนที่ขาดหายไป จึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยเข้าไปช่วยดูสัญญาดังกล่าว รวมถึงเจรจาค่าเสียโอกาสเพื่อหาทางออกร่วมกัน

 สาวต้นเหตุทำไมค่าไฟฟ้าแพง

ด้วยความคิดเก่าทำเก่า และการกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศที่ผ่านมา ตกอยู่ภายใต้การชี้นำของกลุ่มทุน ทำให้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก วกไปวนมา นับเนื่องจากการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในสัดส่วน 60-70% มาเป็นเวลายาวนาน ก่อนหน้ามีก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทยเป็นแหล่งซัปพลายหลักก็พอไหว ครั้นความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น มีการนำเข้าก๊าซฯจากต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง และรักษาปริมาณสำรองของก๊าซฯในอ่าวไทยไม่ให้หมดเร็ว ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อราคาก๊าซฯ ที่นำเข้ามาสูงกว่าก๊าซฯ จากอ่าวไทยมาก ก็มีการคิดสูตรนำราคาก๊าซมารวมกันเป็นราคา Pool ทำให้ต้นทุนค่าก๊าซฯสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นตาม

อย่างปี 2565 ประเทศไทยจัดหาก๊าซธรรมชาติ ประมาณ 4,274 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดย 62% มาจากแหล่งผลิตในอ่าวไทยเป็นหลัก และบนบกอีกเล็กน้อย, 22% นำเข้าทางเรือจากต่างประเทศ ในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ Liquefied Natural Gas (LNG) และอีก 16% นำเข้าทางท่อจากประเทศเมียนมา โดยก๊าซธรรมชาติจะซื้อขายกันที่ค่าความร้อนเรียกว่าบีทียู ซึ่งในปี 2565 แหล่งผลิตในอ่าวไทยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 209 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ LNG นำเข้ามีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 790 บาทต่อล้านบีทียู เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งและแปรสภาพ บวกกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคา LNG ในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

สัดส่วนก๊าซธรรมชาติที่จัดหา 59% ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า, 19% ใช้เป็นเชื้อเพลิงการผลิตในภาคอุตสาหกรรม, 19% เข้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติได้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอีก 3% ใช้เป็นเชื้อเพลิงในภาคการขนส่ง (NGV) โดยก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยถูกจัดสรรให้กับทุกกลุ่มในราคาเดียวกัน แต่สำหรับกลุ่มที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา และ LNG มาผสมด้วยทำให้ต้องคำนวณราคารวมกัน เรียกว่า ราคา Pool ซึ่งเฉลี่ยตกอยู่ที่ประมาณ 444 บาทต่อล้านบีทียู ดังนั้น เมื่อราคา LNG สูงขึ้น จึงส่งผลต่อต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง และทำให้ค่าไฟฟ้าของคนไทยแพงขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง

มีคำยืนยันจาก นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ “ไทยพับลิก้า” ก่อนหน้านี้ เปรียบเทียบข้อมูลการใช้ก๊าซธรรมชาติ 2 ปี ทำให้รู้แล้วว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น เพราะก๊าซ LNG ที่นำมาใช้ทดแทนก๊าซในอ่าวไทยมีราคาแพงกว่า เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซ LNG ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปกติ แต่แม้จะไม่เกิดสงคราม ต้นทุนพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าก็ต้องปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว เพราะก๊าซอ่าวไทยราคาถูกกำลังจะหมดลง ต้องไปนำก๊าซ LNG ราคาแพงมาปั่นไฟแทน ตรงนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟแพง

เลขาธิการ กกพ. คาดว่า ก๊าซฯ อ่าวไทยมีปริมาณลดลง อีกประมาณ 10 ปี คงใกล้หมด จากเดิมที่เคยพึ่งพาก๊าซจากอ่าวไทยมาใช้ผลิตไฟฟ้า 60% ก็จะเปลี่ยนมาเป็นก๊าซ LNG แทน ระหว่างนี้เราก็จะต้องลงทุนสร้างสถานี LNG เพื่อขยายถังกักเก็บก๊าซ LNG เพิ่มเติม ยกเว้นจะค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ อย่างในเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หากพบแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ที่มีปริมาณมากเทียบเท่าอ่าวไทย ถังบรรจุก๊าซ LNG ที่ลงทุนก่อสร้าง และสัญญา LNG ที่สั่งซื้อไปแล้วจะทำอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการกันต่อไปในอนาคต

สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ Gas Plan 2018 โดยทบทวนแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2558 - 2579 (Gas Plan 2015) ได้ประมาณการความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.7 ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 4,676 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2561 เป็น 5,348 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในปี 2580 โดยเป็นความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 67 การใช้ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 21 การใช้ในโรงแยกก๊าซร้อยละ 11 และการใช้ในภาคขนส่ง ร้อยละ 1

 ราคานำเข้าก๊าซ LNG แพงขึ้น เป็นสาเหตุหนึ่ง ส่วนอีกสาเหตุสำคัญที่ ดร.ศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แถลงก่อนหน้านี้คือการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยมีบริษัท ปตท.สผ.อีดี เป็นผู้รับสัญญา ไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ตามกำหนด 

การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ มีการลดระดับการผลิตมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ที่บริษัทเชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานเดิมซึ่งผลิตอยู่ที่ระดับ 1,200-1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มีการลดการผลิตเรื่อยมาจนถึงระดับ 375 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากผู้รับสัมปทานรายเดิมแพ้ประมูล จึงหยุดลงทุนการเจาะหลุมผลิตเพื่อรักษาระดับการผลิตเอาไว้ ในขณะที่ผู้รับสัญญาสัมปทานใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต คือ ปตท.สผ.อีดี ไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อลงทุนเจาะหลุมผลิตล่วงหน้าได้ตามแผนที่วางไว้

หลังการเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทานภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ในวันที่ 24 เมษายน 2565 การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ลดลงจาก 375 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทำให้ ปตท.สผ.อีดี เร่งลงทุนติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตแล้ว 218 หลุม เพิ่มการผลิตก๊าซฯ มาอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ก่อนที่งานติดตั้งแท่นจะล่าช้าออกไปเพราะปัญหาเครนของเรือที่ใช้ติดตั้งแท่นหลุมผลิตได้รับความเสียหาย ทำให้เป้าหมายการผลิตก๊าซฯ เป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ไม่เป็นไปตามแผน และยังไม่มีกำหนดชัดเจนว่าจะสามารถถผลิตก๊าซฯ ให้ได้ปริมาณถึง 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เมื่อไหร่

ปตท.สผ.อีดี มีปริมาณการผลิตก๊าซฯ ตามสัญญาที่ตกลงไว้กับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าในวันที่ 1 เมษายน 2567 จะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซจากแหล่ง G1/61 ให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยจะต้องยืนระดับการผลิตในระดับดังกล่าวให้ต่อเนื่อง 90 วัน หากไม่สามารถดำเนินการได้จะต้องถูกปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ จากผู้รับสัมปทานเดิมคือ บริษัทเชฟรอนฯ ซึ่งสามารถในการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณได้ประมาณ 1,200-1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่ ปตท.สผ.อีดี ผู้รับสัญญารายใหม่จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในระบบแบ่งปันผลผลิต สามารถผลิตก๊าซได้วันละ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในดือนกรกฎาคม 2566 และตามสัญญาต้องเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในวันที่ 1 เดือนธันวาคม 2566 นั่นเท่ากับว่าปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณหายไปจากระบบกว่าครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 600-700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปริมาณที่เคยผลิตได้ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีเข้ามาทดแทนก๊าซฯ จากอ่าวไทยที่หายไป

ต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ผลิตไฟฟ้าแพงขึ้นจากเหตุผลทั้งหลายทั้งปวงข้างต้น ทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระเอาไว้บางส่วน ซึ่งค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที ที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง เพราะนโยบายรัฐบาลขอให้ กฟผ. ช่วยแบกภาระส่วนต่างเอาไว้ก่อนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ. ต้องแบกรับแทนประชาชน นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2566 รวม 138,485 ล้านบาท ซึ่ง กกพ. มีมติกำหนดให้ทยอยจ่ายคืนเป็นงวด ๆ คาดว่าจะครบกำหนดชำระประมาณเดือนสิงหาคม 2568 แต่อาจยืดถึงสิ้นปี 2568 หากรัฐบาลมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยขอให้ กฟผ. และ ปตท. ช่วยยืดหนี้ต่อไปอีก

 Green energy ทางออกที่ยั่งยืน 

การหาทางออกจากปัญหาค่าไฟฟ้าแพง นอกจากต้องปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯใหม่ การเร่งเจรจาเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพื่อหาแหล่งก๊าซฯใหม่ในราคาถูกตามข้อเรียกร้องของ ส.อ.ท. แล้ว การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เป็นอีกหนทางหนึ่ง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่อง “Clean Energy for Thailand Economy through Sustainability” ในงานสัมมนา Sustainability Forum 2024 ระหว่างวันที่ 13-14 ธ.ค.2566 ที่ศูนย์การประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ประเทศไทยมีเป้าหมายในการเพิ่มพลังงานสะอาด (Green energy) และพลังงานทดแทน (Renewable Energy) จาก 28% ในปัจจุบันเป็น 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างกระบวนการปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan 2018 Revision 1 (PDP 2018 Revision 1) ให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก และเป้าหมาย Carbon Neutrality การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 เพื่อดึงดูดการลงทุน ซึ่งขณะนี้บริษัทขนาดใหญ่ต้องการใช้พลังงานสะอาดในการผลิตเพื่อบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนของแต่ละบริษัท

“...พลังงานสะอาด ... เป็นทิศทางที่เราจะเดินไปข้างหน้า โดยจุดแข็งของประเทศไทยคือมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีทรัพยากร มีสายส่งที่พร้อมในประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี  รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุม ครม. เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญของพลังงานสะอาด เช่น สนับสนุนผู้ผลิตรถไฟฟ้าย้ายฐานเข้ามายังไทย ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องพลังงานทดแทน ลดกติกาที่จะเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมให้ประชาชนหันไปใช้พลังงานทดแทน เช่น ปรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือ Solar Rooftop เป็นต้น

การหันมาหาพลังงานสะอาดของรัฐบาลมีแรงหนุนจากสถาบันวิจัยชั้นนำของประเทศ โดย นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีมนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พร้อมด้วย  ดร.สิริภา จุลกาญจน์  สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นว่า การจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามมติ กกพ. หรือการที่รัฐบาลจะพยายามตรึงค่าไฟฟ้าให้ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย สะท้อนให้เห็นว่าการปรับลดราคาค่าไฟ โดยขาดการปรับโครงสร้างการผลิตและการลงทุนสำหรับแหล่งพลังงานชนิดใหม่ ๆ สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนในอนาคต

นายชาคร ระบุว่า หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญที่จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าต่ำลง คือการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีภายในประเทศในการผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้น เช่น แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยแต่มีราคาผันผวน การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ายังสอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดอีกด้วย

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว สามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Finance เพื่อใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับบริบทการใช้งานในประเทศ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นการลงทุนในเทคโนโลยีมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก 
 
ระยะที่ 2 ช่วงที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนามากขึ้น การระดมทุนจากภาคเอกชนในรูปของกองทุนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น และภาครัฐสนับสนุนการลงทุนบางส่วน และระยะที่ 3 ช่วงเทคโนโลยีพัฒนาเต็มที่ ภาคเอกชนมีบทบาทหลัก ภาครัฐให้การสนับสนุนในรูปแบบปล่อยเงินกู้ รับประกันโครงการ ช่วยเหลือภาคเอกชนเข้าถึงตลาดทุน เช่น ออกพันธบัตรสีเขียว หรือพันธบัตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Bond)

ด้าน ดร.สิริภา เปิดเผยว่า รายงานการศึกษาเรื่อง Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailand ภายใต้โครงการ CASE ว่า มีการประเมินเครื่องมือทางการเงินที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชนได้ 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการเงินให้เปล่า เหมาะสำหรับช่วงวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการสนับสนุนต่อหน่วยผลผลิตและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เหมาะสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีระยะที่สอง 

มาตรการกลไกราคาคาร์บอนและตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) เหมาะกับเทคโนโลยีที่พัฒนาเต็มที่แพร่หลายในเชิงพาณิชย์ นอกจากนั้นยังมีมาตรการจูงใจด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีตั้งแต่ระยะที่ 1 - 3

การศึกษาดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นว่า เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐเพียงร้อยละ 2.2 ของการลงทุนทั้งหมด อีกกว่าร้อยละ 97 มาจากภาคเอกชน เครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด ทั้งเรื่องการสนับสนุนการปรับโครงสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกัน ยังเป็นหนทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องวางแผนและใช้เครื่องมืออย่างเป็นระบบ เช่น แผน PDP แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อให้ไทยมีค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมพร้อมบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในอีก 30 ปีข้างหน้า

 แม้การหันมาพึ่งพา Green energy เป็นทางออกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในอนาคต แต่หนทางที่บรรลุเป้าหมายนั้นดูเหมือนจะยาวไกลมากหากกลุ่มทุนพลังงานยังมีบทบาทชี้นำและกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศเฉกเช่นในเวลานี้ ขณะที่การเจรจาเพื่อแสวงหาแหล่งก๊าซฯใหม่ในเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชา ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า 


กำลังโหลดความคิดเห็น