ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) กำลังส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 8 - 10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก ล่าสุด สหภาพยุโรป (อียู) ออกกฎห้ามทำลายเสื้อผ้าและรองเท้าที่ขายไม่ออก เพื่อลดขยะจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ภาคธุรกิจปรับทิศทางอุตสาหกรรมเปลี่ยนสู่ด้านความยั่งยืน (Sustainability)
สำหรับ Fast Fashion หรือ แฟชั่นหมุนเร็ว เป็นอุตสหกรรมสินค้าแฟชั่นที่มาไวไปไว เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องประดับ ฯลฯ มุ่งเน้นไปที่การผลิตในปริมาณมากและขายในราคาถูก ขณะที่ผู้ซื้อมีความต้องการซื้อมากๆ แต่ใส่ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง เมื่อแฟชั่นเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กลายเป็นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามมา ซึ่งปริมาณการผลิตเสื้อผ้าบนโลกเพิ่มขึ้นหลายเป็นเท่าตัวต่อเนื่อง เพราะกระแสความนิยมของ Fast Fashion ส่งผลให้เสื้อผ้าเก่าถูกทิ้งกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว และกำลังเป็นปัญหาใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อมโลก
จากรายงาน After the Binge the Hangover. Insights into the Minds of Clothing Consumers กล่าวว่า การตลาดแบบ Over Demand ทำให้การบริโภค “สินค้าแฟชั่น” ทั่วโลกนั้นล้นเกิน (Overconsumption) จนกลายเป็นปรากฎการณ์ เพราะพฤติกรรมของคนทั้งในทวีปยุโรปและเอเชียต่างชอปปิงสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า กระเป๋าและเครื่องประดับต่างๆ เยอะจนเกินไปและผู้คนกว่าครึ่งหนึ่งซื้อสิ่งของเหล่านี้เกินกว่าความจำเป็น นอกจากนั้นคนรุ่นใหม่ยังนิยมซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์ที่ยิ่งทำให้การซื้อง่ายขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว
และไม่เพียงปัญหาขยะสิ่งทอ Fast Fashion ย้อนกลับไปที่กระบวนการผลิตก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามข้อมูลระบุว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 8 – 10% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก พร้อมสารเคมีมากมาย โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าใช้พลังงานมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือ
ผลกระทบจากอุตสาหกรรม Fast Fashion ได้สร้างขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละปี เป็นประเด็นใหญ่ที่ทั่วโลกตื่นตัวมีการรณรงค์ผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเมื่อนต้นเดือน ส.ค. 2566 มีรายงานคณะผู้เจรจาของรัฐสภายุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union : EU) บรรลุข้อตกลงอนุมัติใช้กฎการห้ามทำลายเสื้อผ้าและรองเท้าที่ขายไม่ออก
โดยกฎดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดขยะจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ซึ่งมุ่งเป้าปราบปรามผลกระทบจาก fast fashion หรือเครื่องแต่งกายราคาถูกที่มีวงจรการใช้งานสั้น และสร้างขยะสิ่งทอจำนวนมาก รวมทั้งจะสร้างบรรทัดฐานแก่บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีอายุการใช้งานนานขึ้น นำกลับไปใช้ซ้ำได้บ่อยขึ้น รวมทั้ง ง่ายต่อการซ่อมแซมและรีไซเคิล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ อาทิ เชื้อเพลิง น้ำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี รัฐสภายุโรปมีความพยายามจัดการสถานการณ์ fast fashion เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสูงสุดเป็นอันดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ที่อยู่อาศัย และการขนส่ง
สำหรับข้อตกลงอนุมัติใช้กฎการห้ามทำลายเสื้อผ้าและรองเท้าที่ขายไม่ออก จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ใน 2 ปีข้างหน้า และบังคับใช้กับธุรกิจขนาดกลางในอีก 6 ปี แต่มีข้อยกเว้น ไม่บังคับกับบริษัทขนาดเล็ก
นอกจากนี้ ร่างกฎระเบียบใหม่ของ (อียู) เสนอว่าประเทศสมาชิกจะต้องแยก “ขยะสิ่งทอ” ออกจากขยะประเภทอื่นๆ ภายในเดือน ม.ค. 2568 และเสนอกฎให้บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าจ่ายเงินช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายสำหรับงานเกี่ยวกับการคัดแยกเสื้อผ้าใช้เเล้ว เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการเอาวัตถุดิบไปรีไซเคิล
สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจากกระแสฟาสต์แฟชั่นเช่นเดียวกัน บทความเรื่อง “จบยุค Fast Fashion สู่เทรนด์ยั่งยืนที่ผู้ผลิตต้องตามให้ทัน” เผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ bangkokbanksme.com ระบุว่า 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ทำรายได้อันดับต้นๆ ของประเทศ
ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับวงการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคือ การจบลงของเสื้อผ้าประเภท Fast Fashion และมุ่งสู่มิติด้านความยั่งยืน หรือ Sustainability มากขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเน้นคุณค่าการใช้งาน อาทิ กระแสการใช้เสื้อผ้ามือสอง กระแสของเสื้อผ้าที่มีกรรมวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการตั้งแต่ผลิต ทำเส้นใย ถักทอ ฟอกย้อม แรงงานตัดเย็บ และการขนส่ง ซึ่งจะเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะในต่างประเทศให้ความสำคัญมากขึ้น
กลับมามองที่ภาคธุรกิจ ต้องปรับเทรนด์สู่ความยั่งยืนเป็นโจทย์ที่ผู้ผลิตเสื้อผ้ายุคนี้ต้องตามให้ทัน ซึ่งกลุ่มแฟชั่นได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ถูกมองว่ามีกระบวนการผลิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ผู้บริโภคและทุกภาคส่วนใน Supply Chain ตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการปรับเข้าสู่การเป็น Sustainable
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่แหล่งอุปทานนำเข้าสำคัญในกลุ่มสินค้าแฟชั่น ซึ่งปัจจุบันฐานการผลิตส่วนใหญ่มาจาก เวียดนาม กัมพูชา บังลาเทศ จีน อินเดีย และเม็กซิโก ที่โรงงานผลิตในลักษณะ Mass Production และไม่ใช่ Sustainable Fashion ประเทศไทยสามารถใช้โอกาสการเติบโตของ Sustainable Fashion สร้างตัวเองเป็นแหล่งอุปทานที่เป็น Niche market ของสินค้ากลุ่มนี้ได้ โดยการผลักดันนักออกแบบและผู้ผลิตสินค้า Sustainable Fashion และผู้ผลิตรายย่อยอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ผ่าน Social Media หรือ Virtual Fashion Show ในการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในตลาดโลก
และแม้ว่าผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าแฟชั่นโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม จะสูญเสียตลาดให้กับประเทศคู่แข่งที่มีต้นทุนค่าแรงงานการผลิตต่ำกว่า แต่หากมองในมุมของการส่งออก สินค้า วัตถุดิบในการผลิตสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่นยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมของไทย ยังถือว่ามีโอกาสในการขยายตลาดค่อนข้างมากในอนาคต
นอกจากไทยจะสามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ จำพวกขยะพลาสติกที่จะนำมาใช้แปรรูปได้จำนวนมากในระดับราคาถูกแล้ว ไทยยังมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการแปรรูปขยะรีไซเคิลที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้ น่าจะเหมาะกับการทำตลาดกลุ่มผู้ประกอบการสินค้าแฟชั่นรวดเร็ว ที่มักจะเน้นเลือกใช้วัตถุดิบการผลิตสินค้าที่มีราคาต่ำ ซึ่งผู้ประกอบการในตลาดมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคตด้วย
รวมถึงส่งเสริมช่องทางการขายผ่านตลาดออนไลน์โดยตรงสู่ผู้บริโภคในต่างประเทศ การสนับสนุนการสร้างนักออกแบบและผู้ผลิตรายใหม่ที่เน้นการผลิต Sustainable Fashion ทั้งแบบภายใต้แบรนด์ตนเองและที่รับจ้างผลิตให้แก่แบรนด์ต่างๆ ในตลาดสหรัฐฯ และตลาดโลก
สำหรับความพร้อมของประเทศไทยที่จะเข้าสู่ตลาดสินค้า Sustainable Fashion สำหรับแบรนด์ไทยที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ แบรนด์ Renim Project, แบรนด์ Repleat, แบรนด์ Rubber Killer, แบรนด์ SackItem และแบรนด์ Dry Clean Only ทั้งมีกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยหลายรายในระดับภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบธรรมชาติที่น่าสนใจอีกมาก
การคุมเข้มอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นที่ดันปริมาณขยะสิ่งทอล้นโลก ส่งผลกระทบเชิงบวกในมิติด้านสิ่งแวดล้อม คงต้องตามกันว่าอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร