xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๖๒)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร


รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ทั้งรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดตั้งต้นให้เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความแตกต่างจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตยของตัวเองมาก่อน ส่วนเบลเยี่ยมนั้นก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคยเป็นอิสระและไม่เคยมีสถาบันกษัตริย์ของตัวเองมาก่อน โดยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาโดยตลอด
 
แม้ว่า เนเธอร์แลนด์จะเคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตย แต่ก็ดำรงอยู่มาจนถึง ค.ศ. 1579 หลังจากนั้นจนถึงค.ศ. 1806 เนเธอร์แลนด์ปกครองภายใต้ระบอบสาธารณรัฐ และแม้ว่าในปี ค.ศ. 1806 จะกลับมาเป็นราชาธิปไตย แต่ก็อยู่ภายใต้กษัตริย์ที่มาจากฝรั่งเศส ต่อมาเนเธอร์แลนด์ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียน จนกระทั่งฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงครามต่อ “สหพันธมิตรครั้งที่หก” (the Sixth Coalition War) ในปี ค.ศ. 1813 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์

เมื่อเนเธอร์แลนด์ต้องปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บรรดาชนชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยอัญเชิญ  วิลเลม เฟรดริค (Willem Frederik) ให้ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ (sovereign prince) และจะต้องสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้น และร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 กิสเบิร์ต คาเรล ฟาน โฮเคนดอร์ป (Gijsbert Karel van Hogendorp) ผู้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้สถาปนารื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์เนเธอร์แลนด์กลับคืนมาอย่างที่เคยดำรงอยู่มาก่อน ค.ศ. 1572 และให้เนเธอร์แลนด์เป็นรัฐเดี่ยว (unitary state) ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยฟาน โฮเคนดอร์ปต้องการตามตัวอย่างการปกครองของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1519-1556)

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นบนหลักการแบ่งแยกอำนาจและตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ โดยกำหนดให้น้ำหนักอยู่ที่ฝ่ายบริหาร ดังที่รัฐธรรมนูญฉบับร่างได้กำหนดให้ประมุขของรัฐมีอำนาจดังต่อไปนี้


ส่วนหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานปรากฎในมาตรา 101 เช่น บุคคลต้องได้รับความยุติธรรมตามกฎหมาย ถ้าผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐในเงื่อนไขที่ไม่ปกติ บุคคลผู้ออกคำสั่งจับกุมนั้นจะต้องรายงานต่อผู้พิพากษาในพื้นที่นั้นโดยทันที และจากนั้น บุคคลที่ถูกจับกุมจะต้องแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่ภายในสามวัน การตัดสินทางอาญาต่อผู้ถูกกล่าวหา จะกระทำได้ต่อเมื่อการกระทำผิดเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน และไม่ให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้กระทำผิด และการพิจารณาตัดสินคดีจะต้องกระทำอย่างเปิดเผย อีกทั้งยังกำหนดให้ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและความเชื่อ

 กล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ของเนเธอร์แลนด์ที่นำประเทศเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ได้กำหนดให้ประมุขของรัฐมีพระราชอำนาจอย่างกว้างขวางและให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อประมุขของรัฐ และรัฐสภามีอำนาจจำกัด และที่น่าสังเกตคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีคำนำหรือที่เรียกในรัฐธรรมนูญไทยว่า ศุภมัสดุ 

หากพิจารณาจากจุดยืนของนักวิชาการไทยจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน อาจจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ไม่เป็น  “ประชาธิปไตย”  แต่ต้องระลึกว่า นี่คือรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรก และต้องการให้ประมุขของรัฐ (sovereign prince) มีอำนาจมากกว่าประมุขของรัฐ (stadtholder) ในครั้งที่เนเธอร์แลนด์ยังเป็นสาธารณรัฐ เพื่อให้ประมุขของรัฐมีอำนาจในการตัดสินและแก้ไขความขัดแย้งระหว่างมณฑลต่างๆได้


 แต่ Wim J.M. Voemans ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายปกครองและกฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันกฎหมายปกครอง แห่งมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden) เนเธอร์แลนด์ เห็นว่า ถ้าพิจารณาจากบริบทยุโรปขณะนั้น ถือได้ว่า รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 เป็นผลผลิตของคลื่นลูกแรกของเสรีนิยมในโลกตะวันตก


กำลังโหลดความคิดเห็น