กระบวนการยุติธรรมประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการ และศาล แต่ละหน่วยงานมีหน้าที่เกี่ยวกับความยุติธรรมดังต่อไปนี้
1. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิด และสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานเพื่อส่งต่อให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาล
2. อัยการมีหน้าที่ในการพิจารณาพยานหลักฐานที่ตำรวจส่งมา และสั่งฟ้องต่อศาล ถ้าเห็นว่าพยานหลักฐานพอฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ถ้าเห็นว่าหลักฐานไม่พอฟ้องและจะสั่งให้ตำรวจสอบสวนหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ได้
3. ศาลมีหน้าที่พิจารณาคำพิพากษาตัดสินลงโทษหรือยกฟ้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานจากหน้าที่ และความรับผิดชอบของทั้ง 3 หน่วยงานแล้วจะเห็นตำรวจมีความสำคัญที่สุดในการจะทำกระบวนการยุติธรรม มีความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้
1.เจ้าหน้าที่ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ถ้าตำรวจไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากได้รับผลประโยชน์ตอบแทน การละเว้นปล่อยให้มีการกระทำผิดกฎหมายเช่น ในกรณีบ่อนเถื่อน สถานบันเทิงเปิดเกินเวลา และรถบรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกิน เป็นต้น
2. เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่สอบสวนผู้กระทำผิดเพื่อหาพยานหลักฐานในการปรักปรำผู้กระทำผิด เพื่อทำการสอบสวนส่งฟ้องต่ออัยการ ถ้าตำรวจทำสำนวนอ่อนจะด้วยศักยภาพไม่เพียงพอหรือจะด้วยได้รับผลประโยชน์ตอบแทน การทำเช่นนั้นก็จะทำให้อัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องได้ และถ้าอัยการเป็นพวกเดียวกันกับตำรวจ การสั่งไม่ฟ้องเกิดได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในคดีมีอิทธิพลทางด้านการเงิน หรืออิทธิพลจากอำนาจรัฐเข้าแทรกแซง
ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญสูงสุดในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม และในการทำให้กระบวนการยุติธรรมมีความยุติธรรมต่อผู้คนในสังคมโดยเสมอภาคกัน
ส่วนอัยการมีความสำคัญรองลงมาจากตำรวจ เพราะมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการสั่งฟ้องและสั่งไม่ฟ้อง รวมไปถึงการสั่งให้หาหลักฐานเพิ่มเติม
ส่วนตุลาการมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการพิจารณาพิพากษาตัดสินลงโทษหรือยกฟ้องขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่อัยการส่งมา
ดังนั้น เมื่อดูจากหน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมแล้ว เห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความสำคัญที่สุดในฐานะเป็นขั้นต้นของกระบวนการยุติธรรม
ดังนั้น ถ้าจะให้ผู้คนในสังคมอยู่เย็นเป็นสุข และได้รับความเป็นธรรมโดยเสมอภาคกัน ทั้งในฐานะโจทก์หรือจำเลยจะต้องทำการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใน 2 ขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ในขั้นตอนให้การศึกษาทั้งในระดับประถมจากโรงเรียนนายสิบ และสัญญาบัตรจากโรงเรียนนายร้อย จะต้องเน้นการปลูกฝังคุณธรรม และจริยธรรมควบคู่ไปกับวิชาแขนงต่างๆ ที่ตำรวจจำเป็นต้องรู้เพื่อให้ผู้ที่จบออกมาเป็นตำรวจที่ดีมีคุณธรรม และมีศักยภาพทางด้านวิชาการพร้อมที่จะทำงานรับใช้ประชาชน
2. ในการปกครองสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องเน้นระบบคุณธรรม และระบบอุปถัมภ์คู่กันไป โดยเฉพาะในการโยกย้าย แต่งตั้ง และจะต้องยกเลิกวัฒนธรรมองค์กรที่ลูกน้องต้องจัดงานเลี้ยงต้อนรับนายที่จะตรวจพื้นที่ ซึ่งทำให้ลูกน้องต้องแบกรับค่าใช้จ่าย และเป็นเหตุให้ต้องไปพึ่งทางการเงินจากผู้ที่มีอิทธิพลทางด้านการเงิน จนกลายเป็นหนี้บุญคุณ ดังจะเห็นได้จากกรณีของกำนันนกเป็นตัวอย่าง
นอกจากเลิกวัฒนธรรมการเลี้ยงรับนายแล้ว จะต้องป้องกันมิให้มีการวิ่งเต้นจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับตำรวจที่ดี แต่ไม่มีเงินวิ่งเต้น และเป็นบ่อเกิดของการเก็บส่วยเพื่อเป็นทุนในการวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง ทั้งจะเป็นเหตุให้ตำรวจดีท้อถอย หมดกำลังใจด้วย
ถ้าไม่มีการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้กระทำผิดกฎหมายโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเกี่ยวข้องเช่น กำนันนก และเสี่ยแป้ง คงจะเกิดขึ้นเป็นรายต่อๆ ไปแน่นอน