ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ณ นาทีนี้ คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภารกิจหลักของ “หัวหน้าอิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร” หลังได้รับการสถาปนาเป็น “หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” ก็คือการเดินหน้าขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างเต็มกำลัง จนกล่าวได้ว่าเป็น “วาระของอิ๊งค์” เพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ทั้งในฐานะหัวหน้าพรรค และกรุยทางไปสู่ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง” คนต่อไป ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า จะใช้วงเงิน 5,000 กว่าล้านเพื่อพัฒนาโครงการซอฟต์ของไทย ซึ่งก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อยถึงการใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่อ “ปั้นเธอ” เป็นกรณีพิเศษ
ประเด็นการผลักดันเรื่องนี้กลับกลายเป็นข้อถกเถียงของสังคมอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่นิยามของคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” คืออะไร ไปจนถึง “ตัวอย่าง” ที่ “หัวหน้าอิ๊งค์” หยิบยกมานำเสนอต่อสังคม ยกตัวอย่างเช่น การที่เธอมองว่า “หมูกระทะ” สามารถผลักดันให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้ หรืออย่างในงาน “Thailand2024Beyond Red Ocean” “หัวหน้าอิ๊งค์” ก็ได้ชู 2 แบรนด์สินค้าอย่าง รองเท้า “นันยาง” กับน้ำเต้าหู้ “โทฟุซัง” และหนังไทยเรื่อง “สัปเหร่อ” ว่านี่คือตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถผลักดันไทยไปเวทีโลกได้
ฟังความดูแล้ว ก็ไม่ค่อยแน่ใจว่า นิยามของคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ที่ “หัวหน้าอิ๊งค์” และ “พรรคเพื่อไทย” สื่อสารออกมาเป็นไปตามแนวความคิดของ “Joseph Nye” ที่กำหนดแหล่งที่มาหลักๆ ของซอฟต์พาวเวอร์เอาไว้ 3 แหล่ง ได้แก่ ค่านิยมทางการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายต่างประเทศ หรือสรุปสั้นๆ ง่ายๆ แบบได้ใจความว่า ซอฟต์พาวเวอร์เป็นความสามารถของประเทศหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมประเทศอื่น เพื่อให้ได้รับผลลัพธ์ตามที่ประเทศเราต้องการในมิติของการเมืองระหว่างประเทศ
ยิ่งเมื่อไปดูนโยบายของพรรคเพื่อไทยเรื่อง “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” โดยประกาศว่าจะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง ก็ชวนให้คิดว่าพรรคเพื่อไทยเข้าใจหรือไม่ว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร เหมือนกับว่า พรรคเพื่อไทยเข้าใจเพียงว่า การผลักดันให้แต่ละครอบครัวมีงานทำมีรายได้นั่นคือ ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่การทำให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
ที่สำคัญคือ หลังทำคลอดแผนและตัวเลขงบประมาณออกมา ก็เกิดคำถามตามมามากมายว่า “มากเกินไปมั้ย” ทำให้ “นายกฯ นิด - เศรษฐา ทวีสิน” ที่ต้องรับเผือกร้อน ก็จำต้องตอบแบบนักการเมืองว่า จะต้องพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการใช้งบประมาณอีกครั้ง
ขณะที่ “หัวหน้าอิ๊งค์” ก็ยกแม่น้ำทั้งห้ามาอธิบายในระหว่างเดินทางไปจัดสัมมนาของพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ว่า สำหรับงบประมาณ 5,100 ล้านบาท ที่ใช้ใน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เป็นงบที่อยู่ในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นตัวเลขที่รัฐบาลคิดขึ้นมา แต่เป็นงบประมาณที่มาจากผู้รู้จริงในแต่ละสาขา นั่นคือภาคเอกชน และรัฐบาลเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น
ทำไปทำมา ถึงตรงนี้ สังคมเริ่มจะพอมองเห็น “ฉากทัศน์” ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทยแล้วว่า น่าจะเป็นยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ “คนของนายใหญ่” ใช้ในการสร้างภาพ-สร้างผลงานให้ “แพทองธาร ชินวัตร” ด้วยต้องยอมรับว่า นอกเหนือจากความเป็น “ลูกสาวทักษิณ” แล้ว “อุ๊งอิ๊งค์” ก็มิได้เคยผ่านประสบการณ์ในการบริหารงานหรือทำโครงการใดให้ประสบความสำเร็จเป็นที่แน่ชัด
ถ้าจะกล่าวว่า ซอฟต์พาวเวอร์เสมือนเป็น “บันไดแห่งความฝัน” ที่จะส่งเสริมให้เธอมีพร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” คนต่อไปของครอบครัวชินวัตร ก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก เพราะสถานะของ “แพทองธาร” ตอนนี้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจาก “นายกรัฐมนตรีคนที่ 2” หรืออย่างน้อยก็ต้อง “รองนายกรัฐมนตรี” ที่กำกับดูแล 3 กระทรวงสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว นั่นก็คือ “กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงวัฒนธรรม”
กระนั้นก็ดี ความพยายามในการขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ไม่รู้ว่า จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนและคุ้มค่ากับงบประมาณที่ประเทศต้องเสียไปหรือไม่ ก็ต้องมาเผชิญและผจญกับปัญหาสำคัญที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งทำให้ “ภาพลักษณ์ของประเทศป่นปี้” จนยากที่จะแก้ไขกลับคืนมา เมื่อต้องเจอกับบรรดา “BAD INFLUENCER” ที่ขยันสร้าง “คอนเทนต์” ด้านลบ แถมยังมี “ข้าราชการไทย(บางคน)” ที่มี “หัว” เอาไว้เป็นที่ตั้งของ “หู” ยินยอมที่จะไปเป็น “เครื่องมือ” จะด้วยความเต็มใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์
โดยเฉพาะในช่วงนี้ มีถึง 3 เหตุการณ์ที่กระทบกับความน่าเชื่อถือของประเทศเป็นอย่างมาก ชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
เหตุการณ์แรกที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างร้อนแรงก็คือ ทางเพจ “ลุยจีน” ได้นำคลิปของนักท่องเที่ยวจีนรายหนึ่งจากใน Douyin แพลตฟอร์มโซเชียลของจีน ที่นำเสื้อที่มีลักษณะคล้ายเครื่องแบบของตำรวจไทยมาใส่ ซึ่งมีทั้งชื่อและเครื่องหมายยศ พร้อมระบุข้อความว่า... “นักท่องเที่ยวจีนโชว์เท่ใส่ชุดตำรวจไทยถ่ายคลิป Soft Power ไทยสำหรับ นทท.จีน = ชุดตำรวจไทย 5555...”
และคนถ่ายคลิปทำ “คอนเทนต์” ดังกล่าวก็เป็น INFLUENCER ชาวจีนที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคนเลยทีเดียว
หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความเหมาะสม เหตุใดตำรวจไทยจึงให้ผู้อื่นใส่ชุดของตนเองได้ พร้อมทั้งแท็กเรื่องราวไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบดูแลกรณีดังกล่าวที่เกิดขึ้นอีกด้วย กระทั่งต่อมาความจริงก็ปรากฏว่า ชายหัวเกรียนในคลิปหนุ่มจีน เป็นตำรวจจริง
ทั้งนี้ นายตำรวจที่ปรากฏในคลิปดังกล่าว ยอมรับว่า เหตุการณ์นี้เกิดช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีนักท่องเที่ยวชายชาวจีน 2 คนมายิงปืนที่สนามด้านหลังกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด พอยิงเสร็จราว 17.00 น. สนามยิงปืนปิด ทั้ง 2 คน ไม่มีรถกลับออกมา อาจจะต้องเดินไกลกว่า 1 กิโลเมตร จึงตัดสินใจให้ขึ้นรถส่วนตัวติดออกมา เรียกแท็กซี่ด้านหน้าสโมสรตำรวจ แต่ปรากฎว่า ในรถมีเสื้อเครื่องแบบของเขาแขวนอยู่ แล้วนักท่องเที่ยวจีนก็หยิบมาใส่เอง อ้างว่าอยากถ่ายเป็นที่ระลึก และเขาก็ไม่รู้ว่า นักท่องเที่ยวคนนี้ไปโพสต์อะไร ทำไมถึงเกิดความเข้าใจผิดกันได้ ยืนยันไม่ได้มีเจตนาไม่ดี หรือไปรับเงินอะไร แค่เป็นเซอร์วิสมายด์
กระนั้นก็ดี กองบัญชาการศึกษาได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยหากการกระทำของข้าราชการตำรวจนายดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา หรือทางวินัยสถานใด จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย พร้อมได้กำชับให้ข้าราชการตำรวจในสังกัด ระมัดระวังและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของข้าราชการตำรวจ มิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก
แม้จะมีความพยายามในการอธิบายว่าเป็นแค่ “เซอร์วิสมายด์” แต่ก็ดูเหมือนจะไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ แถมยังมองว่าเป็นการแก้ตัวแบบที่หลายคนมองว่า “น้ำขุ่นๆ” อีกต่างหาก โดยข้อท้วงติงอันเป็นคำถามสำคัญก็คือ หากชาวบ้านหรือประชาชนเดินไปเจอตำรวจ จะขอลองใส่เสื้อบ้างได้หรือไม่ เพราะขนาดเสียเงินไปซื้อชุดไปใส่เองก็ยังเจอข้อหาแต่งตัวคล้ายตำรวจได้
ขณะเดียวกัน ถ้าหากไปย้อนดูคลิปก็จะพบข้อความว่า “มีบริการ VIP จากตำรวจ” ซึ่งทำให้สะท้อนความจริงไปในทิศทางตรงกันข้าม และทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจที่แย่อยู่แล้วกับเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล ทุนจีนสีเทาหรือเว็บพนันออนไลน์ แย่หนักลงไปกว่าเก่าอีก
ยัง....ยังไม่ได้หมดเพียงเท่านั้น เพราะไม่ได้มีแค่ “ตำรวจ” หากยังปรากฏคลิป “ทหาร” แต่งเครื่องแบบ “สห.” หรือ “สารวัตรทหาร” เต็มยศรับนักท่องเที่ยวจีนตามมาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีการเผยแพร่ทาง “tiktok” จนเกิดคำถามตามมาว่า “หรือนี่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่แท้จริง”
ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฏในคลิปจะเห็นว่ามีสารวัตรทหารจำนวน 6 นาย ยืนต้อนรับตรงทางลงรถ พร้อมกับผู้หญิงสวมชุดไทย 4 คนมายืนรอมอบพวงมาลัย ประหนึ่งแขก VVIP ซึ่งคลิปดังกล่าวถูกถ่ายที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในพัทยา จ.ชลบุรี และมีข้อความภาษาจีน แปลเป็นไทยมีใจความว่า “เป็นการเช่าเหมาเที่ยวในประเทศไทย พร้อมไกด์นำเที่ยวส่วนตัวแบบกำหนดเอง ทัวร์พัทยาแบบวันเดย์ทริป รับ-ส่งถึงสนามบินในกรุงเทพฯ”
แน่นอน งานนี้ย่อมร้อนถึง “บิ๊กทิน-นายสุทิน คลังแสง” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็ได้สั่งการให้ได้ตรวจสอบ โดยในเบื้องต้นได้รับแจ้งว่าเป็นคลิปวิดีโอเมื่อปี 2564 ซึ่งจะไปด้วยเหตุใดนั้นอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่คลิปดังกล่าวเป็นคลิปเก่า ไม่ทราบว่าใครนำออกมาเผยแพร่
“เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริงๆ และไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม ผิดระเบียบของทางการ ก็สามารถที่จะเอาผิดย้อนหลังได้ โดยต้องตรวจสอบให้ละเอียดและให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย”บิ๊กทินว่าไว้อย่างนั้น
แต่ที่ต้องถือว่าสั่นสะเทือนและกระทบหนักที่สุดก็คือเหตุการณ์ที่ 3 เมื่อ “เพจลุยจีน” โพสต์แฉพฤติกรรม ของ TikToker “สาวจีน” ซึ่งทำคลิปในระหว่างการเดินเที่ยวใน “ซอยนานา” โดยโพสต์คลิปสดๆ ร้อนเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2566 พร้อมสรุปในทำนองกล่าวหาประเทศไทยอย่างรุนแรงว่า “ฉันว่าที่นี่ผู้หญิงตัวคนเดียวห้ามมาเลยค่ะ เพราะอันตรายมากๆ เพราะคุณไม่รู้เลยว่าคุณเดินๆไปจะเจอกับคนอะไรแบบไหน” อีกทั้งมีการซูมกล้องไปที่ชาวต่างชาติซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่หลายคน พร้อมเสียงประกอบในคลิปเพื่อสื่อให้เข้าใจว่า กลุ่มคนที่แอบบันทึกภาพเหล่านั้นอาจประสงค์ไม่ดีกับเธอ
เรียกว่า ตั้งใจทำ “คอนเทนต์” ที่มีเป้าหมายเพื่อ “ดิสเครดิตประเทศไทย” กันเลยทีเดียว
“เพจลุยจีน” ตั้งคำถามว่า “เธอทำคอนเทนต์แบบนี้ต้องการสื่ออะไร??? อยากแสดงบทบาทเตือนเพื่อนหญิงแบบนี้เหรอครับว่าอย่ามาเลยซอยนานาอันตรายมากกกก แบบนี้??? เตือนด้วยความหวังดี…กับนำเสนอเรื่องให้มัน Over สร้างความหวาดกลัวกันแน่ ถามจริงๆ??? ความแย่อีกอย่างของคลิปที่เธอทำคือ มีการซูมกล้องไปที่ชาวต่างชาติไม่รู้อิโหน่อิเหน่จำนวนหลายคน พร้อมซาวด์ประกอบ สื่อให้คนเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นอาจประสงค์ไม่ดีกับเธอ คือจริงๆ เขาอาจจะพักโรงแรมแถวนั้น มาเดินเล่น มากินข้าว นั่งบาร์ปกติเปล่า? อีกทั้งน้ำเสียงที่ใช้ เพลงประกอบที่เหมือนรายการแนว ‘ค้นหาความจริง’ ‘นาทีวิกฤต’ ก็ทำให้คนที่ไม่รู้เข้าใจผิดได้ว่าซอยนานาโคตรน่ากลัวโคตรไม่ปลอดภัยทั้งที่มุมที่เธอต้องการขยี้มีอยู่เรื่องเดียวคือ #สาวไซด์ไลน์ ซึ่งเธอเอง ไปในสถานที่แบบนั้น เวลาแบบนั้น แต่งตัวแบบนั้น แสดงพฤติการณ์แบบนั้นเอง…สั้นๆ คือ เธอเอาตัวเธอไปอยู่ตรงนั้นเอง”
“แล้วพอโดนคนที่เข้าใจผิดคิดว่าเธอ ‘อาจจะ’ เป็นสาวไซด์ไลน์มาทัก เธอดันมาตีโพยตีพายว่าโหย เห็นมั้ย ซอยนี้โคตรอันตรายเลย ผู้หญิงห้ามมาเดินเลยนะ บลาๆๆ ทั้งที่ในซอยนั้น คนที่ทำธุรกิจเปิดร้านเปิดที่พักเปิดโรงแรมอย่างสุจริตก็เยอะแยะ เพื่อนคนจีนที่เค้าส่งคลิปนี้มาให้แอดเค้าก็ไม่พอใจเพราะพวกเขาก็ไปทานอาหารที่ร้านอาหารในซอยนั้นบ่อยๆ ผู้คนในซอยเอาจริงๆก็ friendly ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย ทำไมต้องมาทำคลิปใส่ร้ายกันให้เสียๆ หายๆ แล้วยังสวมหน้ากากผู้ผดุงความยุติธรรมให้ตัวเองแบบหน้าไม่อายแบบนี้ ซึ่งคอนเทนต์นี้เพิ่งโพสต์เมื่อวาน 5 ธค. ตอนเย็นๆ ตอนนี้ยอดแชร์ใน Douyin 1 หมื่นกว่าแชร์ ยอดแชร์ใน Wechat VDO เป็น 4,000 กว่าครั้ง ประเมินขั้นต่ำคนจีนเห็นคลิปนี้เกิน 2 ล้านครั้งแล้ว”
ความจริงกรณี “BAD INFLUENCER” ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยและการท่องเที่ยวไทย ปรากฏให้เห็นมาเป็นระยะๆ ดังจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาโซเชียลทุกแพลตฟอร์มในจีน มีคอนเทนต์และทำคลิปในทำนอง “อย่ามาไทย” เพราะ “ไม่ปลอดภัย” ออกมาเป็นจำนวนมาก และด้วยความที่หวังยอดไลค์ ยอดแชร์ จึงใส่สีใส่ไข่ เกินความจริง ทำให้ชาวจีนมองประเทศไทยเป็นดินแดนที่อันตราย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยน้อยลง
ดังนั้น ก่อนที่จะเดินหน้าขับเคลื่อน SOFT POWER ช่วยเร่งจัดการกับ BAD INFLUENCER ที่มีอยู่เกลื่อนกลาดให้บรรเทาเบาบางลงไปเสียก่อนจะเป็นการดีมาก เพราะไม่ใช่นั้นแล้ว ต่อให้ใช้งบสร้างสารพัด SOFT POWER แต่ตราบใดยังมี BAD INFLUENCER คอยทำลายภาพลักษณ์อยู่อย่างนี้ คงไม่สามารถทำให้เป้าหมายในการสร้างผลงานของทั้ง “รัฐบาลเพื่อไทย” และ “หัวหน้าอิ๊งค์” บรรลุได้อย่างแน่นอน.