xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การศึกษา “ตก” ข้าวก็ “ไม่ติดอันดับ” ประเทศไทยมีใครให้มากกว่านี้อีกมั้ย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หดหู่จนไม่รู้จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดใดๆ ได้ สำหรับผลลัพธ์ที่สะท้อนความย่ำแย่ของประเทศซึ่งออกมาไล่เลี่ยกันถึง 2 เรื่อง แถมยังเป็น 2 เรื่องที่ถือเป็น “ฐาน” หรือ “กระดูกสันหลัง” ในการพัฒนาชาติ

 เรื่องแรกคือ ข้าว
เรื่องที่สองคือ การศึกษา 


กล่าวสำหรับเรื่องการศึกษานั้น เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา  “สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท”.) ได้รายงานผล  “การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022”  ของ  “องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD”  ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ถือว่าเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับในประเทศไทย สสวท.ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ (National Center) ดำเนินการจัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียน ในทุกสังกัดการศึกษา รวม 8,495 คน มีการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารโรงเรียนผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ด้วย

ผลการประเมิน PISA 2022 ในระดับนานาชาติ พบว่านักเรียนจากสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านสูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้ สำหรับประเทศที่มีคะแนนสูงสุดห้าอันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ เป็นด้านที่เน้นในรอบการประเมินนี้เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนประเทศสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน เมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ

ผลการประเมินด้านคณิตศาสตร์ใน 5 อันดับแรกนั้น สิงคโปร์อันดับหนึ่ง 575 คะแนน ตามด้วยมาเก๊า ไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ประเทศไทยได้ 394 คะแนน อันดับที่ 58 ด้านการอ่าน สิงคโปร์อันดับหนึ่ง 543 คะแนน รองลงมา ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ไทยอยู่ในอันดับ 64 คะแนน 379 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ สิงคโปร์อันดับหนึ่ง ได้ 561 คะแนน ตามมาด้วยญี่ปุ่น มาเก๊า ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ไทยอันดับ 58 ได้ 409 คะแนน

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้สองเส้นก็คือ ผลการประเมินของประเทศไทยเมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งสามด้านลดลง โดยด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 25 คะแนน ส่วนด้านวิทยาศาสตร์และการอ่าน มีคะแนนเฉลี่ยลดลง 17 คะแนน และ 14 คะแนน ตามลำดับ

 ทั้งนี้ ผลการประเมินของประเทศไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่าคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ถือว่าไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ตามสังกัดการศึกษาและกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่ากลุ่มโรงเรียนเน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุดห้าอันดับแรก ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้งสามด้านต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD 

 “นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล”  รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.ชี้แจงว่า สาเหตุคะแนน PISA ต่ำลง ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำมีอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงเทคโนโลยีอาจยังไม่ทั่วถึงเหมือนประเทศอื่นๆ ยอมรับว่าทุกอย่างเป็นปัญหา สะท้อนผลการศึกษาของประเทศ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้ตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องนี้อย่างเข้มข้น กำชับว่าการสอบครั้งต่อไปปี 2025 ผลประเมินต้องอยู่ในลำดับดีขึ้น

ขณะที่  “รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล”  ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) บอกว่า คะแนนการสอบของนักเรียนทั่วโลกในภาพรวมมีคะแนนที่ต่ำลง แต่มีสิงคโปร์ที่มีได้คะแนนดีมาตลอด เหตุผลที่คะแนนการสอบต่ำลง เนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ทำให้ภาพรวมของคะแนนโดยรวมน้อยลงในรอบ 22 ปี มีการสอบมาแล้วทั้งหมด 8 ครั้ง ซึ่งอันดับคะแนนของเด็กไทย ด้านคณิตศาสตร์อยู่ที่ 50 กว่า จาก 81 ประเทศ แต่น่าสนใจว่ามีบางประเทศที่มีการสอบที่ผิดสังเกต

สำหรับเด็กไทย คะแนนด้านการอ่านค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จากการประเมินอาจมาจากเด็กไทยไม่ชอบการอ่านโจทย์ที่ยาวๆ ข้อสอบเป็นภาษาไทย แต่จะให้ผู้เข้าสอบอ่านทั้งในกระดาษข้อสอบและในคอมพิวเตอร์ เฉลี่ยมากสุดมีความยาว 3 หน้า A4 ซึ่งความยากของข้อสอบคือ เด็กต้องมีการวิเคราะห์ถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล

ขณะที่เรื่อง “ข้าว”  ก็ย่ำแย่ไม่ต่างกัน โดยในการประชุมข้าวโลก (2023 International IWRC) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดโดยนิตยสาร the rice trader ได้จัดการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก The World’s Best Rice 2023 ผลปรากฏว่า  “ข้าวสายพันธุ์ ST25” ของ “เวียดนาม”  ได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลกประจำปี 2566 โดยไร้เงาข้าวไทย
 
ทั้งนี้ หากย้อนหลังดูผลการประกวดข้าวก่อนหน้านี้ ก็จะพบสถิติที่น่าสนใจสำหรับประเทศที่ได้แชมป์ The World’s Best Rice กล่าวคือ ในปี 2022- ผกาลำดวน กัมพูชา ปี 2021- หอมมะลิไทย ปี 2020-หอมมะลิไทย ปี 2019- เวียดนาม ST24 ปี 2018-อังกอร์ มะลิ กัมพูชา ปี 2017- หอมมะลิไทย ปี 2016- หอมมะลิไทย ปี 2015- ยูเอส คัลโรส สหรัฐ ปี 2014-หอมมะลิไทย อังกอร์ มะลิ กัมพูชา ปี 2013-อังกอร์ มะลิ กัมพูชา ยูเอส คัลโรส สหรัฐ ปี 2012 -อังกอร์ มะลิ กัมพูชา ปี 2011- Pow son เมียนมา ปี 2010 -หอมมะลิไทย ปี 2009 -หอมมะลิไทย 

“ที่ผ่านมา 14 ปี ไทยส่งประกวดมาตลอด แต่ปีก่อนเราเห็นถึงบางประการที่ไม่เป็นกลาง ปีนี้หารือในสมาคมแล้วเห็นว่า จะไม่ส่ง และมองว่าผลตัดสินออกมาในแง่ไม่ดีขึ้น ก็จะกลายเป็นประเด็น ทั้งๆ ที่ข้าวไทย ได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และ ส่งมอบได้ตรงเวลา ดูได้จากการส่งออก ที่ยังได้เป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 7-8 ล้านตันต่อปี”

นั่นคือสิ่งที่  “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์”  นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย อธิบายให้เหตุผล

อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2565 ที่ไทยเสียแชมป์ให้กับ “ข้าวผกาลำดวน” จากกัมพูชา ก็จะเห็นสัญญาณไม่ดีที่เกิดขึ้นกับข้าวไทยเช่นกัน โดยครั้งนั้น “ชูเกียรติ” บอกว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นเชฟชาวอเมริกัน ระบุว่าข้าวหอมมะลิไทยแพ้ข้าวกัมพูชาเพียงนิดเดียวตรงที่กลิ่นหอมน้อยกว่า โดยตัวคุณภาพข้าว และรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน แต่จะแพ้ตอนที่กำลังหุง ข้าวหอมมะลิของกัมพูชาจะมีกลิ่นมากกว่า ขณะที่กลิ่นของข้าวหอมไทยออกมาน้อย โดยปีนี้ไทยได้คัดเลือกข้าวที่ดีที่สุด ในนามสมาคมส่งไปประกวดแค่ 1 ตัวอย่างจากข้าวที่ส่งประกวดทั้งหมด 20 ตัวอย่าง มีทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา พม่า ลาว อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐฯ จีน โดยข้าวไทยแพ้กัมพูชาไปแค่ 1 คะแนน ส่วนอันดับ 3 เป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับ 4 ข้าวหอมมะลิจาก .สปป.ลาว

“แปลกมากว่าทำไมข้าวหอมมะลิของไทยไม่ค่อยหอม ซึ่งก็ยอมรับว่าข้าวไทยไม่ค่อยหอมจริง เพราะจากการไปสำรวจข้าวที่จังหวัดอุบลราชธานี ทดลองเอาข้าวหอมมะลิใหม่มาลองหุง ก็ไม่มีกลิ่นหอมเท่าไร ยิ่งตอนหุงไม่มีกลิ่นเลย หลายคนก็พูดว่าปีนี้ข้าวไม่ค่อยหอม อาจจะน้ำเยอะไป ฝนตก กลิ่นหอมหายหมด แต่ปีหน้าสมาคมฯ ตั้งใจจะส่งข้าวเข้าไปประกวดเพื่อทวงแชมป์คืน”

นายชูเกียรติยังบอกด้วยว่า นายชูเกียรติกล่าวว่า การเสียแชมป์ข้าวโลกครั้งนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าไทยจะต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง เช่น จะทำอย่างไรให้มีกลิ่นหอม มีรสชาติดีกว่าเดิม เพราะเข้าใจว่าข้าวของกัมพูชาจะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาก แต่ข้าวไทยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลหันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยให้มากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลทุกชุดจะเน้นดูแลแค่เรื่องราคา เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการจำนำข้าว ใช้เงินไปนับแสนล้านบาท แต่ไม่ส่งผลดีระยะยาวต่อสายพันธุ์ข้าวเลย

“คงต้องจับตามองว่าไทยจะพัฒนาอย่างไร เพราะตอนนี้ข้าวหอมกัมพูชาถูกกว่าไทยมาก ทำให้การแข่งขันตลาดข้าวหอมน่าจะรุนแรง ไทยอาจต้องลดราคาลงแข่ง เพราะปัจจุบันข้าวผกาลำดวน 720 เหรียญสหรัฐต่อตัน ผลผลิตไม่น่าเกิน 1.5 ล้านตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนในอนาคตข้าวหอมมะลิของเพื่อนบ้าน จะพัฒนามาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยได้ทั้งหมด อย่าง สปป.ลาว ปีนี้ส่งแข่งและได้ถึงที่ 4 ซึ่งเตือนว่าไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง ให้มีพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลต้นทุนผลิตให้ลดลง และผลผลิตต่อไร่ต้องมีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย เช่น สายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ที่เวียดนามกำลังครองตลาดเอเชียอยู่ เพราะตอนนี้ชาวเอเชียชอบข้าวขาวพื้นนุ่มมากทั้งในจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สมาคมพยายามผลักดันให้รัฐมาสนใจ แต่รัฐบาลจะสนใจแต่เรื่องราคาเป็นหลัก”นายชูเกียรติกล่าว

 วันนี้ เรื่องข้าว กระทรวงที่ต้องรับผิดชอบตรงๆ อย่างไม่มีบิดพลิ้วคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมี “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” จาก “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นรัฐมนตรีว่าการ และรวมถึง “กระทรวงพาณิชย์” ที่มี “เสี่ยอ้วน-ภูมิธรรม เวชชยชัย” จาก “พรรคเพื่อไทย” เป็นรัฐมนตรีว่าการ

ขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ในความดูแลของ “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” จาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่นั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการ และระดับอุดมศึกษาที่มี “ศุภมาส อิศรภักดี” จาก “พรรคภูมิใจไทย” เช่นกัน

ดังนั้น คงต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือกันว่า รัฐบาลและบรรดารัฐมนตรีทั้งหลายจะสามารถคลี่คลายปัญหาทั้งสองเรื่องให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่ อย่างไร 


กำลังโหลดความคิดเห็น