xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“คุกคามทางเพศ” สั่นสะเทือนทุกวงการ สะท้อนวิธีคิดแบบ “ชายเป็นใหญ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีการกระทำคุกคามทางเพศของคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ถูกตีแผ่ออกมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนค่านิยม  “ชายเป็นใหญ่" ที่แฝงอยู่ในสังคมมาทุกยุคสมัยแฝงอยู่ในทุกวงการ การเมือง, วิชาการ, ศิลปะ ฯลฯ มีเหยื่อออกมาแฉจนเป็นข่าวฉาวสั่นสะเทือนการรับรู้ของสังคมอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าการร้องเรียนพฤติกรรม  “คุกคามทางเพศ” กำลังเป็นปรากฎการณ์สังคมตื่นตัว Call out ยุติคุกคามทางเพศ

กรณี ล่าสุด 2 คนดังในแวดวงสังคม “ป๋องแป๋ง - อาจวรงค์ จันทมาศ” ไอดอลสายวิทย์ฯ ที่ถูกแฉใช้คำพูดคุกคามจิตใจผู้อื่น กระทั่งถูกกดดันจากสังคมจนต้องออกมาโพสต์ยอมรับพร้อมขอโทษเหยื่อแล้ว แต่ยืนยัน ไม่เคยล่วงละเมิดทางเพศ และ  “ตั้ม - วิศุทธิ์ พรนิมิตร” นักวาดการ์ตูนชื่อดัง ที่ถูกหญิงสาวออกแฉพฤติกรรมคุกคามทางเพศทั้งคำพูดและการกระทำ กระทั่งได้ออกมาแสดงความขอโทษในท้ายที่สุด ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงานอย่างเลี่ยงไม่ได้

บทความเรื่อง  “ความยินยอมพร้อมใจกับพฤติกรรมคุกคามทางเพศฯ” โดย  รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์  นักวิชาการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ theprachakorn.com ระบุกรณีการถูกร้องเรียนเรื่องการมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ กำลังเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ผู้หญิงมักเลือกที่จะเงียบ หรือมักวางเฉยกับเรื่องนี้ และที่หนักยิ่งกว่านั้นคือ มีบางคนไปตำหนิผู้หญิงที่ถูกคุกคามทางเพศ แทนที่จะตำหนิผู้กระทำ และที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น หากเกิดในองค์กรมักไม่มีการตั้งคำถามด้านศีลธรรมจรรยาบรรณใดๆ

ลักษณะพฤติกรรมคุกคามทางเพศ หมายรวมถึงการแสดงความคิดเห็น คำพูด การกระทำ หรือรวมทุกอย่างที่กล่าวมา ที่มีลักษณะจงใจสื่อนัยไปในเรื่องทางเพศหรือเพศสัมพันธ์ โดยผู้ถูกกระทำไม่พึงประสงค์ ไม่อยากได้ยิน ไม่อยากเห็น ไม่ต้องการ ยกตัวอย่างเช่น พฤติกรรมพูดจาแทะโลม ถึงเนื้อถึงตัว จับต้องร่างกาย มีกิริยาแบบ “หมาหยอกไก่” หรืออาจถึงขั้นเอ่ยปากชักชวนให้มีเพศสัมพันธ์

“ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทยเปรียบเหมือนโรคเรื้อรัง สามารถพบเจอได้ในทุกวงการ ทุกสายอาชีพ ที่น่าตกใจก็คือแม้ปัญหานี้จะเกิดบ่อยครั้ง แต่มักถูกทำให้เป็นปัญหาส่วนตัว มักถูกมองข้าม มองเป็นปัญหาเล็กน้อย สะท้อนว่า สังคมไทยยังไม่มีความเท่าเทียมทางเพศที่แท้จริง”

ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ต้องเข้าใจว่าบุคคลต้องให้ความยินยอมโดยที่มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ มีเสรีภาพ ปราศจากการถูกกดดัน หรือบังคับด้วยเงื่อนไขใด และแม้ให้ความยินยอมแล้วก็สามารถเพิกถอนความยินยอมได้ หากรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่สบายใจ ฉะนั้น ก่อนถูกเนื้อต้องตัวใคร หรือชวนใครมีเพศสัมพันธ์ ต้องรู้ก่อนว่าบุคคลนั้นยินดีหรือยินยอมพร้อมใจหรือไม่

“ที่สำคัญ เพศชายไม่ควรด่วนสรุปตีความเข้าข้างตัวเองว่า ถ้าเงียบแปลว่า โอเค เพราะในความเงียบของฝ่ายหญิง ยังมักมีเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจระหว่างเพศชาย-เพศหญิง ระหว่างผู้บังคับบัญชา-ลูกน้อง หรือระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ เป็นต้น

งานวิจัยเรื่อง  “ความรุนแรงทางเพศ : บทสะท้อนความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ” โดย  ดร.สุขุมา อรุณจิต  สะท้อนสาเหตุมาจากสังคมไทยมีลักษณะสังคมแบบชายเป็นใหญ่ โครงสร้างทางสังคมที่สร้างความไม่เสมอภาคระหว่างเพศอธิบายด้วย 3 ประเด็น ประเด็นแรกคือ มาตรฐานเชิงซ้อนในวัฒนธรรมทางเพศ ประเด็นที่สองคือ สัมพันธภาพเชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศ และประเด็นที่สามคือ กระบวนการขัดเกลาทางเพศ ในระบบสังคม ค่านิยม ความเชื่ออ วัฒนธรรม บรรทัดฐานบางอย่างได้บ่มเพาะปัญหาความรุนแรงทางเพศ การนิ่งเงียบเพิกเฉยกับสถานการณ์ความรุนแรงทางเพศเท่ากับเป็นการปิดโอกาสในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ และเป็นการเปิดโอกาสให้ ผู้กระทำผิดได้กระทำความรุนแรงทางเพศในลักษณะที่ผิดซ้ำาซ้อนได้ง่าย

ในสังคมไทยผู้หญิงจึงมักเผชิญความรุนแรงเชิงโครงสร้างเพียงฝ่ายเดียว ความรุนแรงทางเพศจึงเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของสังคมคือ ความไม่เสมอภาคระหว่าง ผู้ชายและผู้หญิงในโครงสร้างทางสังคม ส่วนข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาความรุนแรงทางเพศให้ตรงจุดนั่นคือ การแก้ที่โครงสร้างทางสังคมด้วยการปรับเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรมบางอย่างที่หนุนเสริมให้เกิดปัญหาความรุนแรงทางเพศ ซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม

ทั้งนี้ ข้อมูลจากนิธิหญิงชายก้าวไกล เผยแผยสถิติข่าวปี 2564 พบข่าวความรุนแรงทางเพศถึง 98 ข่าว แบ่งเป็นข่าวข่มขืน 38.8 % ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว 30.6 % ข่าวอนาจาร 11.2 % ข่าวการคุกคามทางเพศทางออนไลน์, พูดจาแทะโลม 11.2 % ข่าวความรุนแรงทางเพศกรณีชายกระทำต่อชาย 5.1 % ข่าวพรากผู้เยาว์ 3.1 %

สำหรับผู้กระทำคือ คนรู้จักคุ้นเคย เช่น ครู เพื่อนบ้าน อดีตแฟน เพื่อนในวงเหล้า เป็นต้น 46.4 % คนในครอบครัว เช่น พ่อเลี้ยง, พ่อกระทำลูก, ลุง เป็นต้น 30.9 % บุคคลแปลกหน้า 20.6 % และถูกกระทำจากคนรู้จักผ่านโซเชียล 2.1 % สำหรับผู้ถูกกระทำมีทั้งหมด 132 ราย อายุ 11-15 ปี 50.5 % อายุ 16-20 ปี 16.5 % อายุ 21-25 ปี 11.4 % อายุ 6-10 ปี 9.3 %

ทั้งนี้ ผู้ถูกกระทำอายุน้อยที่สุด เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ ถูกพ่อข่มขืน อายุมากสุดคือ 83 ปี ถูกชายแปลกหน้าข่มขืน ที่สำคัญคือพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ก่อเหตุถึง 38.3 % ยาเสพติด 19.2 % อ้างความต้องการทางเพศ 10.6 % และพื้นที่ที่เกิดเหตุมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ 13.5 % ชลบุรีและนครราชสีมา 7.2 % เชียงใหม่ 6.2 % สมุทรปราการ 5.2 %

 ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท  ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา เปิดเผยว่าคนที่ถูกกระทำส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน ซึ่งถูกกระทำจากคนรู้จักคุ้นเคย คนในครอบครัว สะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำอย่างชัดเจน ภายใต้โครงสร้างสังคมแบบชายเป็นใหญ่

ประเด็นที่ต้องพิจารณาปัญหาการคุกคามทางเพศ รวมถึงการมุ่งโทษเหยื่อที่เป็นผู้หญิงว่าเป็นคนเข้าหาผู้ชาย  ดร.ชเนตตี ทินนาม  อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาการคุกคามทางเพศมุ่งโทษเหยื่อที่เป็นผู้หญิงว่าเป็นคนเข้าหาผู้ชายก่อน หรือเคยมีเพศสัมพันธ์กันมาก่อน ส่วนสำคัญมาจากสังคมไทยที่ไม่เข้าใจ หรือละเลย คำว่า ยินยอม (Consent) แม้กระทั่งในละครไทยก็ยังมองว่าการใส่ฉากขอความยินยอมก่อนมีเพศสัมพันธ์กันก่อนจะทำให้เสียอรรถรส ผู้ชายที่โตมากับละครเหล่านี้จึงไม่ได้ถูกปลูกฝังวัฒนธรรมการถามความยินยอม ขณะที่เพศหญิงก็ไม่กล้าที่จะปฏิเสธแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลานั้น เป็นความซับซ้อนที่อธิบายได้ 3 ประเด็น

1. การสื่อสารเรื่องเพศในสังคมทั่วโลกถูกผูกขาดโดยผู้ชายเป็นผู้เริ่มต้นก่อนเสมอ ส่วนหน้าที่ในการปฏิเสธตกเป็นของผู้หญิง ในสถานการณ์ที่ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ยินยอม หากผู้หญิงไม่มีความพยายามหรือกล้าหาญพอที่จะหยุดผู้หญิงคนนั้นจะรู้สึกผิดมาก โทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ตัวเองถูกข่มขืนหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมจะผลักภาระว่าเพราะเธอไม่ยอมพูด โดยที่ผู้ชายไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับการกระทำนั้นเลย

2. การคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะพร้อมใจหรือถูกบังคับ ในสถานการณ์เวลานั้นจะเกิดขึ้นเร็วมาก บางทีผู้หญิงอาจจะอยู่ในสถานการณ์กลัวสุดขีดหรือไม่มีสติ จนไม่มีโอกาสที่จะพูดได้ว่าเราไม่ยินยอม เมื่อเกิดเหตุแล้วสังคมที่ไม่เข้าใจเรื่องของการยินยอมก็จะมองว่าทำไม่ผู้หญิงไม่ร้อง ไม่ตะโกนขอความช่วยเหลือ เพื่อปกป้องตัวเอง

3. วัฒนธรรมที่บอกว่า หญิงที่ดีต้องปฏิเสธพอเป็นธรรมเนียม สะท้อนให้เห็นว่าสังคมมองผู้หญิงที่ปฏิเสธว่าแค่แกล้งทำ นั่นหมายถึงการปฏิเสธ หรือไม่ยินยอม ที่จะมีเพศสัมพันธ์ของผู้หญิงนั้นไม่มีอยู่จริง หรือ ผู้หญิงชอบที่จะถูกข่มขืน สิ่งนี้เกิดขึ้นจริงจากประสบการณ์ที่ได้พูดคุยกับอาชญากรคดีข่มขืน สิ่งนี้เป็นมายาคติที่รุนแรงมาก ถ้าไม่ออกมาพูดหรือกระตุกเตือนในแต่ละครั้งจะทำให้วัฒนธรรมเหล่านี้ยังคงอยู่

 น่าติดตามว่าปรากฎการณ์สังคมตื่นตัว Call out ให้เกิดการยุติคุกคามทางเพศ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยหรือไม่? อย่างไร? 


กำลังโหลดความคิดเห็น