xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดบทเรียน “หมอกฤต - สู้ดิวะ” กระทุ้งแก้ฝุ่นมรณะ “PM2.5” มหันตภัย “ฝุ่นพิษอุตสาหกรรม”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล หรือ “หมอกฤต”  อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจสู้ดิวะ ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งปอดท่ามกลางความอาลัยของครอบครัวและผู้คนในสังคมที่ติดตามให้กำลังใจ ขณะเดียวกันก็จุดกระแสและเป็นแรงผลักดันครั้งสำคัญให้การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย

ทั้งนี้  “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ “หมอกฤต” และให้คำมั่น “จะสู้ให้เต็มที่” เพื่อให้คนไทยได้สูดอากาศบริสุทธิ์ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน
“... “ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้ทำให้ผมตระหนักถึงปัญหา pm 2.5 ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย คนไทยได้รับผลกระทบจากปัญหา pm 2.5 ไม่ใช่แค่มลพิษ แต่คือปัญหาสุขภาพที่พรากชีวิตคนที่เรารักไปก่อนเวลาอันสมควร ดังนั้น ผมจะสู้ให้เต็มที่ ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพราะอากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณหมอกฤตไทอีกครั้งครับ” นายเศรษฐา โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ผ่านแอปพลิเคชั่น X (ทวิตเตอร์) @Thavisin

ขณะที่โพสต์ก่อนหน้าของหมอกฤต เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่แบ่งปันเรื่องราวการป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย โดยแจ้งว่า ... คงอยู่ได้อีกไม่นาน และโพสต์ก่อนหน้าก็ได้สะท้อนความห่วงใยต่อปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า “... ห่วงเด็ก ๆ ไม่ควรต้องซื้ออากาศหายใจ…” ก่อนที่คุณหมอจากไปด้วยวัยเพียง 29 ปี หลังจากรู้ตัวว่าป่วยได้เพียงปีเศษ

เรื่องที่น่าสะท้อนใจอย่างยิ่งคือ หมอกฤต เป็นหมอหนุ่มที่ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี โดยสาเหตุซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่คร่าชีวิตของหมอกฤตคือฝุ่น PM2.5

หากย้อนดูโพสต์ก่อนหน้าที่ หมอกฤต เล่าผ่านเพจสู้ดิวะ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ขณะรอรับการฉายแสงนั้น บ่งบอกว่าประเทศไทยมีปัญหาการจัดการฝุ่น PM 2.5 อย่างน่าเศร้าใจ

หมอกฤต เล่าว่า หมอเป็นนักกีฬาบาสเกตบอลที่ชอบออกกำลังกายมาก และความฝันยิ่งใหญ่ของวัยรุ่นธรรมดาคนหนึ่งที่อยากได้แชมป์บาสเกตบอลจึงไปฝึกซ้อมแม้ในวันที่ค่าฝุ่นแย่มากๆ โดยมองว่างร่างกายน่าจะฟิต ออกกำลังกายได้ฝึกปอด ฝึกหัวใจ สูดฝุ่นหน่อยก็หักล้างกันไปไม่เป็นไรหรอกคนอื่นก็สูดดม แต่แล้วหมอก็เป็นมะเร็งปอด จากนั้นหมอก็ทำทุกวิถีทางเพื่อต่อสู้กับโรคทั้งติดเครื่องฟอกอากาศ ทำห้องความดันบวกเพื่อให้อากาศสะอาดจริง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ประชาชนหลายอาชีพไม่ได้มีเงินพอที่จะติดตั้งเครื่องมือที่เพิ่มคุณภาพอากาศที่พวกเขาต้องหายใจเข้าไปทุกวัน คำถามคือ มันเป็นความรับผิดชอบของประชาชนจริงหรือ มันน่าเศร้ามากเมื่อมองว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นตั้งแต่พื้นฐานของเรื่องอากาศหายใจที่แสนจะสำคัญต่อชีวิตคน เราต้องเป็นประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ต้องซื้ออากาศหายใจจริง ๆ เหรอ?

หมอกฤต ยังตั้งคำถามเชิงโครงสร้างต่อ “การจัดลำดับและให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศที่ประชาชนอย่างเราหายใจกันอยู่ทุกวันนี้” โดยต้องแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้ตรงจุดก่อน ต้องจัดลำดับความสำคัญหรือให้น้ำหนักกับการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดของ PM2.5 อย่างจริงจังมากพอ ต้องมีหน่วยงานขึ้นมาเพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ คนเก่ง ๆ ในประเทศเรามีเยอะแยะ งบประมาณเราก็มี นักการเมืองก็มี นักวิชาการก็มี

ขณะที่ประเทศไทยติดอันดับมีปัญหาฝุ่นในระดับโลกติดต่อมาหลายปีแต่ทำไมยังไม่เห็นความชัดเจนในการหาต้นตอของปัญหาเฉพาะแต่ละพื้นที่ มันไม่ใช่แค่การเผาป่า ปัญหารถติด มันมีหลายสาเหตุที่ทำให้มีปัญหาฝุ่น แต่ประเทศไทยกลับไม่มีงานศึกษาที่ชัดเจนและลงลึกถึงสาเหตุและแหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 ดังนั้นต้องมีการวิเคราะห์และแก้ที่รากฐานของปัญหาอย่างแท้จริงถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

“ผมน่ะคงอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ แต่เด็กน้อยแสนน่ารักที่ทักทายผมในลิฟท์หลังจากที่ผมไปฉายแสงมาเมื่อวาน ผมแค่คิดว่าเด็กเหล่านั้นไม่ควรต้องมารับความเสี่ยงกับโรคร้ายหรือภาวะเจ็บป่วยเหมือนกับผม เขาควรจะได้มีสิทธิพื้นฐานของมนุษยชาติ คือการได้มีอากาศสะอาดหายใจ ได้เล่นบาสกับเพื่อนกลางแจ้ง โดยที่ไม่ต้องใส่หน้ากาก เขาไม่ควรต้องมาซื้ออากาศหายใจครับ ผมเพียงหวังให้เขาจะได้อยู่ในประเทศที่อากาศสะอาด และมีชีวิตที่สดใสร่าเริงไปได้นานที่สุดครับ” หมอกฤต โพสต์เรียกร้อง

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงที่ก่อโรคเรื้อรัง คร่าชีวิตคนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามรายงานจากเว็บไซต์ State of Global Air ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ระบุว่า การสัมผัสฝุ่น PM2.5 ในระยะยาว เสี่ยงก่อให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายหลายโรค ทั้งโรคหัวใจ และมะเร็งปอด เป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกในปี 2562 มากกว่า 4 ล้านราย เพิ่มขึ้นมากกว่าสิบปีที่แล้วประมาณ 23% โดยฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงลำดับที่ 6 ในปัจจัยเสี่ยง 69 ปัจจัยที่มีศักยภาพทำให้เกิดโรคเรื้อรังอันตรายของคนทั่วโลก รองจากความดันเลือด การสูบบุหรี่ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และปัจจัยอื่นๆ โดยเมื่อเทียบกับปัจจัยเสี่ยงจากสภาพสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ฝุ่น PM2.5 ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุดที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ

 ปัจจุบันทวีปเอเชีย และแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยงสัมผัสฝุ่น PM2.5 สูงสุดในโลก โดยสองประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการสูดดมฝุ่น PM2.5 มากที่สุดในปี 2562 คือ จีนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 1.42 ล้านราย และอินเดีย 980,000 ราย 
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และภูมิภาคโอเชียเนีย (กลุ่มประเทศ และหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก) มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากปัจจัยเสี่ยงสูดดมฝุ่น PM2.5 เป็นระยะเวลานานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา ส่วนในภูมิภาคทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกา แอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง มีผู้เสียชีวิตจากการปัจจัยเสี่ยงฝุ่น PM2.5 สูงขึ้นระดับปานกลาง สวนทางกับประเทศร่ำรวย มีรายได้สูง รวมทั้งยุโรปตอนกลาง ยุโรปตะวันออก และเอเชียกลาง มีอัตราเสียชีวิตจากปัจจัยฝุ่น PM2.5 ลดลงระดับปานกลาง

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทย เป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไขไม่ได้  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ หรือ Health Data Center (HDC) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 พบว่า เฉพาะปีนี้ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศ รวมกว่า 9 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพประชาชนชัดเจน สสส.จึงขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ

ล่าสุด สสส. เป็นแม่งาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดประชุมระดับชาติเรื่องมลพิษอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชนและประชาสังคม” ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 ที่จังหวัดเชียงใหม่
 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์  รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนที่ 4 วุฒิสภา กล่าวปาฐกถพิเศษในงานดังกล่าวมีประเด็นน่าสนใจตรงที่ว่า จากข้อมูลดาวเทียมทำให้ทราบถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ปลูกแล้วนำกลับเข้ามายังไทยตามช่องทางชายแดน โดยพื้นที่ปลูกข้าวโพดในเมียนมาร์ 3.7 ล้านไร่ ลาว 1.25 ล้านไร่ และกัมพูชา 1.12 ล้านไร่ ส่วนในไทยมีพื้นที่ปลูก 6.95 ล้านไร่

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า 53 บริษัทที่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาในประเทศไทย ไม่ใช่ทำไม่ถูก แต่ควรจะมีการสื่อสารเพื่อขอความร่วมมือ ยกตัวอย่าง บริษัทหนึ่งซึ่งครองส่วนแบ่งอยู่ประมาณ 40 % ของเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทย ที่ทำระบบลูกไร่โดยบังคับจะต้องไม่มีการเผา ถ้ามีการเผาจะเตือน 1 ครั้งและถ้ายังเผาต่อจะไม่รับซื้อ ดังนั้น กรมศุลกากร กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ ควรเชิญ53 บริษัทเข้ามาคุยเพื่อเริ่มระบบเหล่านี้ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นข้ามพรมแดน

นอกจากนั้น ข้อมูลจากดาวเทียม ทำให้เห็นปัญหาของแต่ละฟื้นที่ แต่ละช่วงเวลา กรณีการเผา 65 % เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าทั้งป่าอนุรักษ์หรือป่าอื่นๆ ภาคเกษตร 32 % และอื่นๆ 3 % เมื่อแยกสัดส่วนการเกิดพื้นที่เผาไหม้รายภาค พบว่า ภาคเหนือเผามากที่สุด 68% เป็นภาคเหนือตอนบน 44% ส่วนใหญ่เป็นเผาป่า ภาคเหนือตอนล่าง 24% ส่วนใหญ่เป็นเผานาข้าว เผาตอซัง เพื่อเร่งเพาะปลูกฤดูนาปรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21% เป็นการเผาข้าว และอ้อย ภาคกลาง 3% เป็นเผานาข้าว ภาคตะวันตก 6% และภาคตะวันออก 2% เป็นเผาป่า

ข้อมูลดาวเทียมย้อนหลังตั้งแต่ปี 2543-2563 ในรอบ 20 ปี ทำให้รู้ว่าป่าและภาคเกษตรกรรมเป็นสิ่งที่ต้องเร่งจัดการ ข้อมูลที่แสดงให้เห็นพื้นที่ป่าเกิดไฟไหม้ซ้ำซากเกิน 5 ครั้งต่อปีหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปดำเนินการป้องกันในพื้นที่เหล่านี้เป็นพิเศษ

ทางด้าน  เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง  ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในวงเสวนาเรื่อง “PM 2.5 ในฝุ่นอุตสาหกรรมกับต้นเหตุที่ถูกมองข้าม” เผยแพร่ผ่านเพจ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ว่า ไฟป่าและการเผาของภาคการเกษตรถูกมองเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ขณะที่ภาคส่วนอุตสาหกรรมกลับถูกละเลยไม่กล่าวถึง เมื่อต้นเหตุที่ถูกเพ่งเล็งเป็นเช่นนั้น เกษตรกรและชาวบ้านชายขอบจึงตกเป็นจำเลยของเรื่องนี้ ซึ่งในความเป็นจริงมิได้เป็นเช่นนั้น และแท้จริงแล้วปัญหา PM2.5 ก็เป็นเพียงเสี้ยวเดียวของปัญหามลพิษอากาศ

ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนโรงงานที่ก่อมลพิษอากาศเป็นจำนวนมากกว่า 66,000 โรง ตามกฎหมายกำหนดประเภทโรงงานที่เข้าข่ายต้องควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย ในความเป็นจริงจำนวนโรงงานที่ก่อมลพิษทางอากาศอาจมีมากกว่านี้ แต่ไม่อาจทราบแน่ชัด เนื่องจากภาพรวมประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องข้อมูล ยิ่งข้อมูลมลพิษยิ่งขาดแคลน ขณะที่กฎหมายเรื่องระบบการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR ของประเทศไทยก็ยังไม่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นกลไกสำคัญซึ่งได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่าจะช่วยลดมลพิษอย่างได้ผล

ทางด้าน  รศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เห็นพ้องว่าภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างหายไปจากสมการ ทั้ง ๆ ที่ฝุ่นจากแหล่งกำเนิดอุตสาหกรรมมีมลพิษสูงและเป็นอันตรายยิ่งกว่าฝุ่นจากการเผาชีวมวลอย่างไฟป่าและการเผาของภาคเกษตร อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบแนวโน้มว่าฝุ่นจากการเผาชีวมวลจะมีองค์ประกอบอันตรายขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมลพิษจากแหล่งต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้หายไปไหน เมื่อเกิดขึ้นและแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมแล้วมีการสะสมเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งพืชดูดซับไปเก็บไว้ เมื่อพืชถูกเผา จึงเกิดฝุ่นที่อันตรายขึ้นเพราะมีองค์ประกอบของสารพิษแฝงอยู่มาก

ข้อเท็จจริงนี้มีบทพิสูจน์แล้วจากกรณีมลพิษจากเหมืองถ่านหินที่ อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีการเผาทางการเกษตรเป็นปกติอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดการทำเหมืองถ่านหิน ซึ่งมีการเผาไหม้ตัวเองตามธรรมชาติ ความซับซ้อนของการปลดปล่อยมลพิษจึงเกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว

รศ.ดร. ธนพล พูดถึงสารปรอทในฐานะที่เป็น  “มลพิษข้ามพรมแดนในระดับโลกที่แท้จริง” หรือ true global pollutant  จากข้อมูลระดับโลกบ่งบอกว่า แหล่งกำเนิดสำคัญมาจากการทำเหมือง โดยเฉพาะเหมืองทอง รองลงมาคือการเผาถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีข้อมูลเปรียบเทียบที่บ่งชี้ชัดเจนว่า แม้แหล่งปลดปล่อยปรอทของโลกจะมีไม่กี่แห่ง แต่การแพร่กระจายกลับพบทั่วโลก ซึ่งสารปรอทมีผลกระทบสำคัญต่อไอคิวของมนุษย์

บทสรุปที่ รศ.ดร. ธนพล ฝากไว้คือมลพิษนั้นในความเป็นจริงไม่เคยหายไปไหน เมื่อปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมแล้วจะวนเวียนก่อปัญหาและส่งกระทบได้โดยไม่มีขอบเขตพรมแดนของประเทศ

 นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่าจากการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 10 ปี การแก้ไขปัญหาต้องวิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ที่สำคัญภาครัฐต้องการภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมาร่วมมือเป็นภาคีเครือข่ายช่วยเหลือกัน

สำหรับปี 2567 ทส. ตั้งเป้าลดการเผาในพื้นที่เผาซ้ำซากให้ลดลง 50% ใน 10 ป่าอนุรักษ์ และ 10 ป่าสงวน, ให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนให้ได้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจตอบแทนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ร้อยละ 200, ให้คาร์บอนเครดิต, ให้เอกชนร่วมยกระดับสินค้าที่ไม่เผา, ยกระดับเจรจาให้เข้มข้นระดับภูมิภาคทั้งอาเซียน ทวิภาคี และการใช้เงื่อนไขทางการค้า โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ประเทศไทยปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม.

ในเชิงนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง โดยมีสาระสำคัญกำหนดกลไกการบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนหรือ บอร์ดฝุ่นชาติ ควบคู่ไปด้วยระหว่างรอกฎหมายผ่านขั้นตอนการพิจารณาและบังคับใช้

 นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี คาดว่า ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... น่าจะผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ไม่เกินไตรมาส 4 ปี 2567 โดยมาตรการทางภาษีที่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด PPP ใครสร้างมลพิษมากโดนเก็บมาก และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้เชิญรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคลัง มาหารือเพื่อหามาตรการเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านจากที่ผ่านมาไม่มีการเก็บภาษี

 นายสนธิ คชวัฒน์  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ตั้งข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับ ครม. เห็นชอบว่า จากการพิจารณาเบื้องต้นควรจะต้องมีการปรับปรุงอีกมาก โดยมีข้อสังเกตดังนี้

 ประการแรก  มีคณะกรรมการมากเกินไปหรือเปล่า ทั้งคณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ซึ่งมี รมว.ทส.เป็นประธาน โดยมีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนเชิงวิชาการ คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และคณะกรรมการอากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะ เป็นต้น โดยมีหน้าที่และอำนาจในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ รวมทั้งมีการแต่งตั้งพนักงานอากาศสะอาดเป็นเจ้าหน้าดำเนินการตามกฎหมายอีกด้วย หากพิจารณาในกฎหมายดังกล่าวของต่างประเทศส่วนใหญ่จะจัดการได้เบ็ดเสร็จในชุดเดียว

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมมลพิษ รวมทั้งพนักงานควบคุมมลพิษ ซึ่งได้จัดทำแผนวาระแห่งชาติแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่จนถึงบัดนี้ยังจัดการทำตามแผนไม่ครบเลย ถ้าหากมีกรรมการชุดใหม่มาเพิ่มเติมอีก หน่วยงานและประชาชนคงปฏิบัติไม่ถูก

 ประการที่สอง มีการกำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ โดยกำหนดการประกาศเขตพื้นที่ในกรณีที่มีสถานการณ์พิเศษเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งก็คงไม่ต่างกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมนั่นเอง คำถามคือ จะซ้ำซ้อนไหม

 ประการที่สาม  พ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่น 2.5 เป็นการเฉพาะ ที่จริงแล้วมลพิษทางอากาศที่ต้องดูแลมีตั้งแต่ SO2, NO2, CO, O3, HC (VOCs), PM10, PM2.5, TSP ซึ่งมีมาตรฐานควบคุมทั้งในบรรยากาศและแหล่งกำเนิดประเภทต่าง ๆ และยังมีปัญหาอยู่ในหลายพื้นที่

 ประการที่สี่  พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยกร่างคล้าย พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่แบบเดียวกัน หน่วยงานไหนจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลจะมอบหมายกรมควบคุมมลพิษ หรือจะตั้งกรมใหม่มาดูแล

 ประการที่ห้า ที่จริงประชาชนต้องการกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งจะออกมาเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวง ไม่จำเป็นต้องเป็น พ.ร.บ. ก็ได้ แต่ต้องป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้ได้ผลโดยเร็ว ไม่ต้องประชุมกันมากมายแต่ขอให้ลงมือทำอย่างจริงจังรวมทั้งบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ประชาชนยังต้องการกฎหมายทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมล พิษ (PRTR) เพื่อกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษเปิดเผยข้อมูลสารเคมีและมลพิษให้สาธารณชนทราบด้วย

 ประการสุดท้าย  หากอ้างว่ากำลังจะทำให้มี Clean Air Act เหมือน US.EPA ในอนาคตอาจต้องมี Clan water Act, Solid Waste Disposal Act, Toxic Substance Control Act เพราะสห รัฐอเมริกามีหมดแต่ประเทศไทยใช้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดหลักการการจัดการควบคุมมลพิษทั้งหมด เพียงแต่ต้องออกกฎหมายลูกเพิ่มเติม หรือแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมเพื่อจัดการอากาศสะอาดจะง่ายกว่าหรือเปล่า

 ผศ.พญ.วรวรรณ ศิริชนะ  หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ และเสียชีวิต มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสรับฝุ่น PM 2.5 ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า ทุกปีทั่วโลกมีคน 7 ล้านคน ตายก่อนวัยอันควรจากมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไปและในครัวเรือน โดยพบว่ามาจากโรคปอดอักเสบ 21% , โรคหลอดเลือดสมอง 20% โรคหัวใจและหลอดเลือด 34% , โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง 19% และโรคมะเร็งปอด 7%

 การตายของ “หมอกฤต” และสถิติตัวเลขอัตราการเจ็บป่วย เสียชีวิต จากการสัมผัสรับฝุ่น PM2.5 ทั้งระดับโลกและในประเทศไทย บ่งบอกชัดเจนว่าต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงให้ได้ และเชียร์นายกรัฐมนตรี สู้เต็มที่ เพื่ออากาศสะอาดของทุกคน 



กำลังโหลดความคิดเห็น