xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๖๑)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 เอบิงกา
คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ทั้งรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดตั้งต้นให้เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความแตกต่างจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตยของตัวเองมาก่อน ส่วนเบลเยี่ยมนั้นก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคยเป็นอิสระและไม่เคยมีสถาบันกษัตริย์ของตัวเองมาก่อน โดยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาโดยตลอด

ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองที่น่าสนใจมาก เพราะก่อนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1814 เนเธอร์แลนด์ผ่านการปกครองแบบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐและสาธารณรัฐ และกลับมาเป็นเป็นราชาธิปไตย แต่ปกครองโดยกษัตริย์ฝรั่งเศส และจากราชอาณาจักรได้กลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียน ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นราชอาณาจักรและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังจากที่นโปเลียนแพ้ “สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก” (the Sixth Coalition War) ในปี ค.ศ. 1813

สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในหลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์
เมื่อเนเธอร์แลนด์ต้องปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บรรดาชนชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยจะต้องสรรหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐและการสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้น และเตรียมร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

รัฐบาลรักษาการได้อัญเชิญวิลเลม เฟรดริค (Willem Frederik) ให้ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ
 ทำไมต้องเป็น วิลเลม เฟรดริค (Willem Frederik) ?
เพราะวิลเลม เฟรดริค มีสถานะสำคัญสองสถานะ สถานะแรก คือ เขาเป็นบุตร (หรือจะเรียกโอรสก็ได้) ของวิลเลียมที่ห้า (William V) ผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ (stadtholder) ในครั้งที่เนเธอร์แลนด์ยังเป็นสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ ซึ่งในการดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐภายใต้การปกครองระบอบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ วิลเลียมที่ห้ามิได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในฐานะที่เป็นกษัตริย์

สถานะที่สอง คือ จากการที่วิลเลียมที่ห้าผู้เป็นบิดาของวิลเลม เฟรดริค สืบเชื้อสายมาจากตระกูลอภิชนเก่าแก่ของยุโรป นั่นคือ ตระกูลแนสซอ (Nassau) ที่ย้อนไปได้ถึงต้นศตวรรษที่สิบเอ็ด และผู้สืบเชื้อสายของตระกูลแนสซอได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เยอรมัน ดังนั้น วิลเลม เฟรดริค จึงเป็นผู้มีเชื้อสายเจ้านั่นเอง แต่สถาบันกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ได้หมดไปหลังจากเนเธอร์แลนด์ได้เข้าสู่การปกครองระบอบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐตั้งแต่ศตวรรษที่สิบหก

ดังนั้น วิลเลม เฟรดริค จึงเป็นทั้งผู้สืบสายจากประมุขของรัฐ (stadtholder) และสืบสายจากตระกูลอภิชนเก่าแก่ที่มีผู้ที่เป็นกษัตริย์มาก่อน 

และด้วยเหตุนี้ ในตอนที่รัฐบาลรักษาการได้อัญเชิญให้วิลเลม เฟรดริคขึ้นเป็นประมุขของรัฐ เพื่อเตรียมตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบการปกครองพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาปฏิเสธที่จะรับเป็นกษัตริย์ แต่ยอมรับที่จะเป็น sovereign prince ซึ่งสถานะของ sovereign prince ยังไม่ได้เป็นกษัตริย์ โดยเขาได้วางเงื่อนไขว่า จะยอมรับเป็นกษัตริย์ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ก็ต่อเมื่อสิทธิ์ของประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญที่ทรงภูมิปัญญา (a wise constitution)

อย่างที่ผู้เขียนได้เคยกล่าวไปแล้วว่า หลังจากได้รับแต่งตั้งเป็น sovereign prince ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1813 วิลเลม เฟรดริคได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมีจำนวนทั้งสิ้น 13 คน (ไม่รวมเลขานุการคณะกรรมการ) โดยมี นายกิสเบิร์ต คาเรล ฟาน โฮเคนดอร์ป (Gijsbert Karel van Hogendorp)  เป็นประธานรายนามของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีดังนี้

1.เอบิงกาแห่งฮูมัลดา (Aebinga van Humalda, I.), 2. เอลวา ฟาน วาร์เดนเบิร์ก นีไรจ์เนน (Aylva van Waardenburg and Neerijnen, HW baron van), 3. ดุยน์ ฟาน มาสดัม (Duyn van Maasdam, AFJA Count van der), 4. เอ้าท์ (Elout, C.Th.), 5. เฮิร์ดท์ ทอท เอเวอร์สเบิร์ก (Heerdt tot Eversberg, Th.C. count of), 6. อิมฮอฟ (Imhoff, GW baron van), 7. แลมป์ซิน (Lampsins, AJC baron), 8. ลินเดน ฟาน บลิตเตอร์สไวค์ (Lynden van Blitterswijk, WCH van), 9. มาเนน (Maanen , CF van), 10. เรเปลแลร์ ฟาน ดริล (Repelaer van Driel, O.), 11.โรเอล (Röell, WF baron), 12. ทุยล์ ฟาน เซอรูสเคอร์เคน ฟาน ซุยเลน (Tuyll van Serooskerken van Zuylen, WR baron van) และ เมเทเลอแคมป์ (R. Metelerkamp) เป็นเลขาธิการ
2.ผู้เขียนได้กล่าวถึงประวัติภูมิหลังของ กิสเบิร์ต คาเรล ฟาน โฮเคนดอร์ป (Gijsbert Karel van Hogendorp ไปแล้วว่า ในช่วงที่เกิดความแตกแยกขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มปิตุภูมิที่ต่อต้านรัฐบาลของวิลเลียมที่ห้า กับ กลุ่ม “the Orangists”  ที่สนับสนุนวิลเลียมที่ห้า ผู้มีเชื้อสายราชวงศ์โอรันจ์ (Orange) ฟาน โฮเคนดอร์ปอยู่ในกลุ่ม “the Orangists” ส่วนกรรมการคนอื่นทั้ง 12 คนรวมทั้งเลขาธิการ มีภูมิหลังดังต่อไปนี้
 เอบิงกาแห่งฮูมัลดา  สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเก่าแก่ ที่คนในตระกูลได้เข้ารับราชการเป็นจำนวนมาก เขาจัดอยู่ในกลุ่ม “the Orangists” และในช่วงที่ฝ่ายปิตุภูมิได้ชัยชนะและเนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นสาธารณรัฐ ทำให้เขาต้องลี้ภัยไปต่างแดนในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1795-1806

 เอลวา ฟาน วาร์เดนเบิร์ก นีไรจ์เนน  เป็นอภิชนที่แม้ไม่ได้ออกตัวแรงในฐานะสมาชิกกลุ่มของ “the Orangists” อย่างฟาน โฮเคนดอร์ปและเอบิงกา แต่เขาก็มีใจโน้มเอียงไปทางกลุ่ม “the Orangists” และด้วยการที่เขาเป็นคนที่ไม่ออกตัวแรง ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งในระบบต่อไปได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ หรือถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียน เขาจะมีตำแหน่งแห่งที่ในระบบการบริหารงานและในสภาของรัฐอยู่เสมอ

 ดุยน์ ฟาน มาสดัม เป็นนายทหารที่โดดเด่นและเป็นนายทหารคนสนิทของวิลเลม เฟรดริค และได้เข้าร่วมก่อตั้งรัฐบาลรักษาการกับฟาน โฮเคนดอร์ป หลังจากที่เนเธอร์แลนด์พ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส

 เอ้าท์  เป็นนักการเมืองที่โดดเด่นและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในช่วงที่เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐและเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส เขาได้รับมอบหมายให้ตรากฎหมายอาญาขึ้นในช่วงที่เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส

 เฮิร์ดท์ ทอท เอเวอร์สเบิร์ก  เป็นนายทหาร ผู้บังคับการกองร้อยอารักขาวิลเลม เฟรเดริค และดำรงตำแหน่งในรัฐสภาทั้งก่อนและหลัง ค.ศ. 1795

 อิมฮอฟ  อภิชนผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระบบราชการเป็นเวลายาวนาน เป็นตัวแทนในรัฐสภาในช่วงที่เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ และดำรงตำแหน่งในระบบราชการในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งเป็นสมาชิกของรัฐสภาภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส และยังเป็นตัวแทนของเนเธอร์แลนด์ในการประชุมสภาที่ปารีสในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส

แลมป์ซิน มาจากตระกูลเก่าแก่ที่เคยเป็นเจ้าผู้ปกครองเมือง ในช่วงที่เนเธอร์แลนด์อยู่ภายใต้นโปเลียน เขาได้เป็นไปผู้ถวายการดูแลกษัตริย์แห่งปรัสเซีย

 ลินเดน ฟาน บลิตเตอร์สไวค์  อภิชนที่อยู่ในกลุ่ม “the Orangists” และดำรงตำแหน่งสำคัญในซีแลนด์ (Zeeland) ในช่วงสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ และเมื่อเนเธอร์แลนด์เข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐภายใต้อิทธิพลการปฏิวัติของฝรั่งเศส เขาได้ติดตามวิลเลียมที่ห้าไปอาศัยอยู่ที่เยอรมนี
 มาเนน  จัดเป็นประเภทเทคโนแครตสายอนุรักษ์นิยม เริ่มต้นงานในระบบบริหารงานของรัฐในช่วงสาธารณรัฐ และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและตำรวจในช่วงที่อยู่ภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส
 เรเปลแลร์ ฟาน ดริล มาจากตระกูลที่โด่นเด่น และเป็นพวก “the Orangists” และถูกจับข้อหากบฏเมื่อเนเธอร์แลนด์เข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐภายใต้อิทธิพลการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1795 ในตอนแรก เขาถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาถูกให้จำคุกแทน หลังจากที่เปลี่ยนจากสาธารณรัฐเป็นราชอาณาจักรภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส เขาได้กลับมามีตำแหน่งในรัฐบาลอีกครั้ง แต่ในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ถูกผนวกเข้าอยู่ภายใต้จัรกวรรดินโปเลียน เขาไม่มีตำแหน่งใดๆ

 โรเอล  สังกัดกลุ่ม “the Orangists” และเป็นผู้รับใช้กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ซื่อสัตย์ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ

 ทุยล์ ฟาน เซอรูสเคอร์เคน ฟาน ซุยเลน  เป็นผู้นำของตัวแทนจากอูเทรคต์ (Utrecht) ในช่วงที่เป็นสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ

 เมเทเลอแคมป์ ผู้ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการ หลัง ค.ศ. 1795 ในช่วงสาธารณรัฐ เขาหมดโอกาสทางการเมือง ต่อมา หลังจากที่เปลี่ยนจากสาธารณรัฐไปสู่ราชอาณาจักรภายใต้กษัตริย์ฝรั่งเศส เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการ และจากการที่เขามีสายสัมพันธ์กับ ฟาน โฮเคนดอร์ป ทำให้เขาได้เป็นเลขาธิการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
จากข้างต้น จากเอกสารทางการกล่าวว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 14 คน (รวมเลขาธิการ) ประกอบไปด้วยอดีตตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆ และพวก “the Orangists” เจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองจากช่วงที่เนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐภายใต้ฝรั่งเศส .

ส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า ในบรรดากรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 14 คน (รวมเลขาธิการ) เป็นพวก “the Orangists” 9 คน และใน 9 คนนี้ มีที่เป็น “the Orangists” เต็มตัว 4 คน ที่เหลืออีก 5 คนนั้น เป็นพวกนิยมฝรั่งเศสเต็มตัว 2 คน เป็นพวกที่ไม่ยอมรับจักรวรรดินโปเลียน 1 คน เป็นเทคโนแครตสายอนุรักษ์ 1 คน ไม่สังกัดฝ่าย 1 คน


กำลังโหลดความคิดเห็น