ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทยจนมีสมญาว่า “แมลงสาบ” ที่ฆ่าไม่ตาย จะเดินทางมาถึงจุดนี้
เป็นจุดที่ไม่สามารถหา “หัว” ที่เหมาะในการนำพาพรรคฝ่าวิกฤต ในช่วงที่ต้องถือว่าพรรคประชาธิปัตย์ตกต่ำที่สุดอีกครั้งหนึ่ง ที่ต้องกลายมาเป็นพรรคขนาด “กลางค่อนเล็ก” มี สส.ในสภาผู้แทนราษฎร เพียง 25 คน แบ่งเป็น 22 สส.เขต และ 3 สส.บัญชีรายชื่อ
เฉพาะในส่วนคะแนน “บัตรพรรค” หรือคะแนนป๊อปปูล่าร์โหวตจากทั่วประเทศเพียงแค่ 925,349 คะแนน ทำให้พรรคที่เคยอยู่หัวแถวกลายเป็นพรรค “ต่ำล้าน” อย่างไม่น่าเชื่อ
ซ้ำร้ายยังมีรอยร้าวความแตกแยกในพรรคให้เห็นอย่างชัดเจนอีกด้วย
ความไม่สมัครสมานสามัคคคีกันนี้เองที่ทำให้วันนี้ “ค่ายสะตอ” ติดอยู่ในห้วงสุญญากาศ ยังไม่สามารถเปิดประชุมพรรคเพื่อลงมติเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้ ทั้งที่ “เสี่ยอู๊ด” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าได้ประกาศลาออกตั้งแต่ยังไม่ทันรู้ผลการเบือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 อย่างเป็นทางการเลยด้วยซ้ำ เพื่อเปิดทางให้เลือกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
แต่ความพยายามจัดการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่อย่างน้อยๆ 2 ครั้ง ก็มีเหตุ “ผิดธรรมชาติ” ทำให้องค์ประชุมล่มทั้ง 2 ครั้ง ไม่สามารถเปิดการประชุมเพื่อดำเนินวาระการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ได้
เนื่องจากมีการ “เล่นเกม” กันภายในพรรคของ 2 ขั้วอำนาจใหม่-เก่า สบช่องจากข้อบังคับพรรคที่ได้กำหนดเกณฑ์การเลือกหัวหน้าพรรคคิดเป็นอัตราส่วน 70% ต่อ 30% โดยให้น้ำหนักกับ สส. 25 คน คิดเป็น 70% และอีก 30% ให้เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคทั่วประเทศ
โดยขั้วใหม่นำโดย “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการพรรค ที่วันนี้กุมเสียง สส.ปัจจุบัน แทบจะเบ็ดเสร็จ ขณะที่ขั้วเก่าก็ยังคอนโทรลโดย “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค
แน่นอนว่า เกณฑ์ 70-30 ที่ให้น้ำหนัก “สส.ปัจจุบัน” มากกว่า ก็ทำให้มีฝ่ายที่ได้เปรียบ-เสียเปรียบ จริงๆก็มีความพยายามในการเสนอให้งดเว้นข้อบังคับการประชุมที่เกี่ยวกับ น้ำหนัการลงคะแนนที่ว่าเหมือนกัน แต่ฝ่ายที่ได้เปรียบก็ไม่รับลูก
เผอิญว่า ฝ่ายที่เสียเปรียบดันมีอิทธิพลกับ “โหวตเตอร์” ที่เป็นอดีตกรรมการบริหารพรรค-ตัวแทนสาขาพรรค-สมาชิกพรรค ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ขององค์ประชุม ก็เลยส่งสัญญาณให้ “โดดร่ม” ไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อให้องค์ประชุมล่มกันดื้อๆ
ต้นเหตุจริงๆที่ทำให้มีการเล่นเกมล้มโต๊ะ จนไม่กล้านัดประชุมใหม่เป็นครั้งที่ 3 ก็เพราะยังไม่มี “ว่าที่หัวหน้า” ที่ทำให้เกิดความยอมรับได้ทั้ง 2 ขั้วอำนาจใหม่-เก่า
ด้วยต้องยอมรับว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ตกอยู่ในภาวะ “เลือดไหลออก” อย่างหนัก ขุนศึกน้อยใหญ่ต่างเลือกที่จะอำลาพรรค จนทำให้ “ค่ายแมลงสาบ” อยู่สภาพขาดแคลน “ขุนศึก” อย่างหนัก ทำให้ไม่มีแทบจะไม่มีแคนดิเดตที่จะกันขึ้นมาเป็น “แม่ทัพคนใหม่” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 9
ก่อนหน้านี้ก็มีการโยนหินถามทางมาหลายรายชื่อ ทั้งคนเก่าแก่ที่จะมาขัดตาทัพ ไม่ว่าจะเป็น “นายหัวชวน” ชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค ที่ก็ถูกพูดถึงขั้นว่า “สิ้นความขลัง เหลือแต่ชื่อ” ขนาดพื้นที่ จ.ตรัง บ้านเกิดนายหัว ที่เลือกตั้ง 2562 ถูกเจาะไข่แดงไปได้ 1 เขต มาหนนี้โดนเพิ่มไปอีกเขต เหลือที่เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ เพียง 2 จาก 4 เขต แถมคะแนนบัญชีรายชื่อทั้งจังหวัดยังได้มาเพียง 4 หมื่นคะแนนเศษเท่านั้น
เป็นสัญญาณที่ชี้ว่าหมดยุค “นายหัวเมืองตรัง” โดยแท้ แถมคีย์เวิร์ด “การเมืองสุจริต” ที่เป็นจุดขายของ “ชวน” มาตลอด ก็พูดได้ไม่เต็มปาก เพราะ “ค่ายสะตอ” ยุคใหม่ปรับสไตล์เป็น “สายเปย์” ไม่น้อยหน้าพรรคอื่นเหมือนกัน ชื่อของ “นายหัวชวน” จึงไม่ใช่สำหรับใครหลายคน
อีกราย “จารย์มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคอีกคน ที่ยังพอมีเสียงเชียร์อยู่บ้าง โดยเฉพาะ “ติ่งค่ายสีฟ้า” นอกพรรค แต่ก็ดูเหมือนเจ้าตัวจะ “ฉลาดพอ” ที่จะไม่เอาชื่อมาทิ้งกับสภาพพรรคยามนี้ อีกทั้งยังไม่มีสัญญาณว่า ในพรรคจะสนับสนุนด้วย
หรือคนใหม่ๆ ทั้ง “พี่เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ที่เดิมมีการวางตัวไว้เป็นทายาทหัวหน้าพรรคเช่นกัน หากประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) แต่เมื่อเสียหลักแบบแพ้ขาดลอย จึงต้องใช้เวลาสะสมแต้มอีกพักใหญ่ หรือ “เสี่ยบิล” อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ อดีตรองเลขาธิการพรรค ที่เป็นเด็กในคาถาของ “นายหัวชวน” ก็ขาดแรงสนับสนุนจากคนภายในพรรค
ขณะที่ “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ก็เคยมีข่าวว่าจะเสนอตัว แม้จะพรรษาน้อยเพิ่งเป็น สส.สมัยเดียว แต่ก็โดดเด่นตามคอนเซปต์ “ใจถึง พึ่งได้” ใช้เวลาไม่นานในการสร้างชื่อ รวมแกนหลักคนสำคัญของ “ทีมเสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ที่ทำงานกันแบบมองตารู้ใจ แต่ก็ติดที่ภาพลักษณ์ส่วนตัวที่ไม่เหมือนนามสกุล
รวมไปถึง “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร และผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 11 ก็เคยถูกพูดถึงว่าเป็นทางเลือกใหม่ๆให้กับพรรค เหมาะกับเทรนด์การเมืองปัจจุบันที่โหยหาคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังมี “สื่อใหญ่” ในมือเป็นอาวุธสำคัญ รวมทั้งมีส่วนในการสนับสนุนการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา “ไม่น้อย”
ทว่า ก่อนหน้านี้ ติดตรงที่ “มาดามเดียร์” เพิ่งเข้าเป็นสมาชิกพรรคไม่ถึง 1 ปี ซึ่งต้องใช้เสียงข้างมากในที่ประชุมพรรคยกเว้นข้อบังคับพรรคที่กำหนดว่า สมาชิกผู้มีคุณสมบัติที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคจะต้อง “เป็นสมาชิกติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง”
ทำให้ครั้งนั้นมีข่าวว่า “มาดามเดียร์” ถอดใจไปแล้ว เพราะติดเรื่องข้อบังคับพรรค
กระทั่งมีการประกาศตัวของ “เสี่ยตุ้ม” นราพัฒน์ แก้วทอง อดีต สส. 4 สมัย และรองหัวหน้าพรรคภาคเหนือ ทายาท “ไพฑูรย์ แก้วทอง” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และอดีต สส.พิจิตร พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย โดยมีข่าวว่า “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” และ “นายกชาย-เดชอิศม์” เป็นผู้ส่งเข้าประกวด ด้วยหวังว่า “พ่อไพฑูรย์” จะสามารถต่อสายกับ “ก๊วนคนเก่าแก่” ให้หันมาสนับสนุนลูกชายคนโตของตัวเอง
ทว่า ก็ไม่ได้รับการตอบรับจาก “ก๊วนคนเก่าแก่” ทำท่าว่าหากมีการนัดประชุมใหญ่อีกครั้งก็คงไม่พ้นองค์ประชุมล่มอีก จึงต้องทอดเวลามาเรื่อย เพื่อหาตัวเลือกที่เหมาะสม
ในขณะที่ขั้วใหม่-ขั้วเก่าในพรรคประชาธิปัตย์ยังงัดข้อกันไม่เลิก จู่ๆ “มาดามเดียร์” ก็ประกาศเสนอชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่อย่างเป็นทางการ โดยมีการตั้งโต๊ะแถลงข่าวแสดงความพร้อมกับสื่อมวลชนไปเมื่อวันที่ 29 พฤศจิการยน 2566 ที่ผ่านมา
สอดรับกับการนัดประชุทมใหญ่พรรประชาธิปัตย์อีกครั้งในวันที่ 9 ธันวาคม 2566
ซึ่งการประกาศตัวของ “วทันยา” รอบนี้ก็ไม่ได้สร้างความประหลาดใจมากมาย เพราะชื่อของเธอก็อยู่โผแคนดิเดตเดิมอยู่แล้ว แต่ติดที่ข้อบังคับเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบตามกำหนดเท่านั้น
การที่ “มาดามเดียร์” โดดออกมาประกาศตัวลงชิง ทั้งที่ยังติดเรื่องคุณสมบัติอยู่ ก็คล้ายกับมีส่งสัญญาณว่า ได้มีการ “เคลียร์” กันไว้แล้ว ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เธอได้เข้าไปพูดคุยกับทั้ง “นายหัวชวน” และ “เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย” ก่อนที่จะนัดหมายประกาศตัว
ทั้งนี้ “มาดามเดียร์” แสดงความเชื่อมั่นว่า ในวันที่ 9 ธันวาคม 256 นี้ พรรคประชาธิปัตย์จะได้หัวหน้าพรรค ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามจัดประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคถึง 2 ครั้ง แต่ขณะนี้มีการเพิ่มองค์ประชุมสำรองเพิ่มเติมแล้ว จากการสมัครของสมาชิกทั่วประเทศ ดังนั้นปัญหาขององค์ประชุมไม่ครบในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคครั้งที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว อีกทั้งผู้ใหญ่หลายคนในพรรคมีความเห็นตรงกันว่า พรรคไม่มีผู้บริหารหรือหัวหน้าพรรค ทำให้เกิดสุญญากาศในการทำหน้าที่ โดยเฉพาะบทบาทฝ่ายค้าน ซึ่งปีหน้าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลด้วย
“ทุกคนในพรรคจึงมีความเห็นว่า เราควรจะมีข้อยุติเรื่องหัวหน้าพรรค เพื่อขับเคลื่อนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านต่อไปได้ จึงเชื่อได้ว่าวันที่ 9 นี้จะได้ทั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค” ผู้เสนอตัวชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนล่าสุด ว่าไว้
ขณะเดียวกันทาง “เสี่ยตุ้ม-นราพัฒน์” เองก็ยังไม่ได้ถอนตัว ทำให้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2566 จะเป็นการชิงชัยกันระหว่าง “นราพัฒน์-วทันยา” โดยมีชื่อของ “อภิสิทธิ์” ที่สามารถเสนอชื่อได้ในที่ประชุมรอสอดแทรกอยู่
อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวหนาหูว่า “มาดามเดียร์” ได้รับคำมั่นหมายจาก “นายหัวชวน” แล้วว่า จะให้การสนับสนุน ซึ่งก็สอดรับกับจังหวะบังเอิญที่ “นายหัวชวน” เดินทางเข้าพรรคก่อนที่ “มาดามเดียร์” จะแถลงข่าว และมีการพูดจาให้กำลังใจตามที่เป็นข่าว
เช่นเดียวกับ “ก๊วนเสี่ยต่อ” ที่ได้รับสภาพแล้วว่า คงผลักดัน “เสี่ยตุ้ม-นราพัฒน์” ไม่ถึงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ก็มีแนวโน้มกันมาสนับสนุน “มาดามเดียร์”เช่นกัน
โดยมีข่าวว่า “เสี่ยต่อ” จะส่ง “เสี่ยแทน” ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรค ที่ถือเป็นมือไม้ของ “เสี่ยต่อ” ให้มาเป็นเลขาธิการพรรคให้กับ “มาดามเดียร์” ด้วย
“นาทีนี้” จึงน่าเชื่อเหลือเกินว่า ”มาดามเดียร์“ มีโอกาสสูงที่จะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หากไม่มีรายการ ”หักหลัง” กันเกิดขึ้น
เพราะต้องไม่ลืมว่า หากองค์ประชุมครบสามารถเปิดประชุมเพื่อเข้าสู่วาระการเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ได้ อำนาจต่อรองจะตกมาอยู่กับฝั่ง “ก๊วนเสี่ยต่อ” ที่ถือเสียง สส.ส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอัตราส่วน 70% ในการลงมติไว้ในมือ
การที่ “นราพัฒน์” ที่มีร่องรอยของ “เสี่ยต่อ” ยังไม่ถอนตัว ราวกับวางไว้เผื่อเหลือเผื่อขาดหาก “ดีล” ไม่ลงตัว ก็สร้างความหวาดระแวงกันได้ไม่มากก็น้อย
แต่หากเป็นไปตามดีล แล้วพรรคประชาธิปัตย์มี “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ก็จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้หญิงคนแรกของที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเก่าแก่แห่งนี้ และก็จะถือเป็นหัวหน้าพรรคที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 39 ปีเท่านั้นด้วย
สำหรับ “วทันยา” เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ครั้งเข้าทำหน้าที่ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งกีฬาฟุตบอลในซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย ซึ่งพาทีมคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ เป็นที่มาของสมญา “มาดามเดียร์” ก่อนจะยุติบทบาทจากการทำหน้าที่ผู้จัดการในปี 2560
ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 ได้เบนเข็มเขช้าสู่การเมือง โดยลงสมัครเป็น สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และได้เข้าไปทำหน้าที่ สส. ซึ่งก็มีบทบาทโดดเด่นไม่น้อย โดยได้ตั้ง “กลุ่มดาวฤกษ์” ร่วมกับ สส.กทม. อีก 6 คน และสร้างชื่อในการโหวตสวนมติพรรค งดออกเสียงรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยหลายครั้ง
ก่อนที่ในเดือน ส.ค.65 “วทันยา” จะ ลาออกจาก สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และมาเปิดตัวกับพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนถัดมา ลงสมัคร สส.แบบบัญชีรายชื่อในลำดับที่ 11 แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ “มาดามเดียร์” ยังเป็นที่รู้จักในแวดวงสื่อมวลชน โดยเป็นผู้บริหารสื่อในเครือสปริงนิวส์-ฐานเศรษฐกิจ รวมถึง “เนชั่น” ที่สามีของเธอ ฉาย บุนนาค เป็นประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) อยู่
การที่ “มาดามเดียร์” เข้ามาร่วมงาน รวมถึงมีโอกาสเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่เพียงแต่มีอาวุธในฐานะ “สื่อใหญ่” เท่านั้น ยังมีกลิ่นอายความเป็น “กลุ่มทุน” ผ่าน “เสี่ยฉาย” ผู้เป็นสามีด้วย
ด้วยในวงการรู้กันดีว่า “เสี่ยฉาย” เป็นขาใหญ่ในตลาดทุน-ตลาดหุ้น แล้วยังมีธุรกิจร่วมกับ “กลุ่มทุนใหญ่” ด้วย
ก่อนหน้านี้ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS ที่เป็นบริษัทแม่ของ “เนชั่น” ก็ได้ เปิดตัวของบริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด หรือ Liberator ที่เป็นโบรกเกอร์ ตัวกลางในการซื้อขายหุ้นรายใหม่ ชูจุดเด่นด้วยการประกาศไม่เก็บค่านายหน้าซื้อขายหุ้น หรือค่าคอมมิชชัน 0% โดยไม่มีเงื่อนไข
โดย Liberator มีความหมายว่า “ผู้ปลดปล่อย” นับว่าจะมาปลดปล่อยพันธนาการในตลาดทุนที่ทำให้ผู้ลงทุนบาดเจ็บมานักต่อนักนั่นเอง เปิดตัวในช่วงต้นปี 2566 คาบเกี่ยวกับช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง 14 พ.ค.66
ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ Liberator มี “มาดามเดียร์” เป็นหนึ่งในพรีเซนเตอร์ ร่วมกับบรรดาผู้ประกาศข่าวจากช่องเนชั่น ป้ายโฆษณาที่ติดทั่วเมือง รวมไปถึงในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ
การวาง “มาดามเดียร์” เป็นพรีเซนเตอร์นั้น ไม่เพียงแต่มีเป้าหมายในแง่การตลาดเท่านั้น ยังเป็นการย้ำภาพจำ “มาดามเดียร์” กับคำว่า Liberate ที่แปลว่าการปลดปล่อยนั้นก็เป็นหนึ่งในศัพท์ฮิตที่นักการเมืองยุคนี้หยิบมาด้วย
ก็น่าสนใจว่า “หัวหน้าเดียร์” จะสามารถปลดปล่อย “พรรคประชาธิปัตย์” จากภาวะวิกฤตในยามนี้ได้หรือไม่
หากว่า “มาดามเดียร์” ได้ขึ้นนำพรรคประชาธิปัตย์ก็ดูจะเป็นการย้ำเทรนด์ “คนรุ่นใหม่” ในการเมืองไทย เพราะในขั้วตรงข้ามเอง ก็เพิ่งส่ง “อุ๊งอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ที่เป็นผู้หญิงอายุน้อย ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเหมือนกัน
แม้สภาพในวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะไม่ใช่คู่ต่อกรกับพรรคเพื่อไทยก็ตาม แต่อย่างน้อยการต่อสู้เชือดเฉือนกัน ก็ดูสมน้ำสมเนื้อระหว่าง “พี่เดียร์-น้องอิ๊งค์” มากกว่า จะปล่อยให้ “ลุงชวน-อามาร์ค” ต้องมาตวัดมีดโกนใส่ “หลานอิ๊งค์”
การเชิด “มาดามเดียร์” ที่ชูจุดเด่นเรื่องการปลดปล่อย Liberator ขึ้นเป็นผู้นำค่ายสะตอ ก็เหมือนให้มาชนกับ “กัปตัน Soft Power” อย่าง “อุ๊งอิ๊งค์” ที่วันนี้พยายามสลัดภาพ “ลูกนายใหญ่” เดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนัก จนกล่าวได้ว่าเป็น “วาระของอิ๊งค์” เลยก็คงไม่ผิดไปจากความเป็นจริงเท่าใดนัก หลังจากได้รับการแต่งตั้งจาก “เศรษฐา ทวีสิน” ให้ดำรงตำแหน่ง “รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” ที่มี “นายกฯ นิด” นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง และกินตำแหน่ง “ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” อีกชุด
ความโดดเด่นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นอกเหนือจากตัว “รองประธานอิ๊งค์” แล้ว องค์ประกอบของคณะกรรมการคนอื่นๆ ก็โดดเด้งไม่น้อย ด้วยเห็นได้ชัดเจนว่า ล้วนแล้วแต่เป็น “สายตรงชินวัตร” ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น “หูกระต่าย-นายพันศักดิ์ วิญญูรัตน์” ที่เข้ามารั้งตำแหน่งปรึกษา หรือ “หมอเลี้ยบ” นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ “หมอมิ้ง” นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ
เรียกว่า เป็นคณะกรรมการชุดปั้น “หัวหน้าอิ๊งค์” ให้เป็น “นายกฯ อิ๊งค์” ก็คงจะว่าได้ จนสังคมมีการตั้งข้อสังเกตถึงขนาดว่า เธอจะใช้ซอฟต์พาวเวอร์ในการกรุยทางสำหรับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้ากันเลยทีเดียว
ขณะที่ “แพทองธาร” ได้บารมีพ่อรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ติดอยู่ที่เครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ว่า “มาดามเดียร์” จะได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่อย่างที่คาดกันหรือเปล่า
เพราะขึ้นชื่อว่า “ค่ายแมลงสาบ” มักมีเซอร์ไพร์สทำให้ “คนหลังหัก” ในนาทีสุดท้ายเสมอ.