xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝันเฟื่องแก้ “หนี้นอกระบบ”!? แก๊งมาเฟียเงินกู้-คนมีสี ไม่สะดุ้ง ระวัง NPL “ออมสิน-ธ.ก.ส.” เบ่งบาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  นอกจากวาทะสวยหรูดูเห็นอกเห็นใจลูกหนี้นอกระบบเป็นอย่างยิ่งแล้ว ประกาศวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ” ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่มีอะไรใหม่พอจะเป็นความหวังสู่หนทางแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง 

“หนี้นอกระบบเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานของประเทศต้องเจอกับความเปราะบางของหนี้สินที่ใช้เท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด พวกเขาไม่สามารถแม้แต่ฝัน หรือทำตาม passion ได้ ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่เอฟเฟ็กต์ไปทุก ๆ ภาคส่วน สำหรับผมหนี้นอกระบบเป็นการค้าทาสในยุคใหม่ ที่ได้พรากอิสรภาพความฝันไปจากผู้คนในยุคสมัยนี้” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าววาทะอันน่าจับใจ แต่รูปธรรมที่จะพาให้ลูกหนี้หนีไปจากการค้าทาสยุคใหม่นั้น ยังเป็นความฝันอันไกลโพ้น

ตามกระบวนการแก้หนี้นอกระบบนั้น นายกรัฐมนตรีอธิบายว่า ในขั้นตอนการไกล่เกลี่ย รัฐบาลบูรณาการหลายภาคส่วนเข้ามา ทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกระทรวงการคลัง รับบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการไกล่เกลี่ยพร้อมกันทั้งหมด ดูแลทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้อย่างเป็นธรรมตั้งแต่ต้นกระบวนการไปจนถึงปิดหนี้ การทำสัญญาที่หลายครั้งไม่เป็นธรรมตามกฎหมาย มีดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม และกระบวนการทวงหนี้ที่ใช้ความรุนแรง ต้องจัดให้ทำสัญญาที่เป็นธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย โดยนายกรัฐมนตรี สั่งการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทยไปทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณาการให้ดีกว่าอดีตที่แยกกันทำ และมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ประชาชนกลับเข้าสู่วงจรหนี้นอกระบบอีก

หลังจากขั้นตอนการไกล่เกลี่ยแล้ว รัฐบาลจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ โดยกระทรวงการคลัง จะเข้ามาช่วยในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งวันที่ 12 ธันวาคม 2566 จะแถลงภาพรวมของหนี้แบบครบวงจรครอบคลุมทั้งหนี้ในระบบและนอกระบบอีกครั้งหนึ่ง และจะทำให้โครงการนี้ช่วยปลดปล่อยพี่น้องประชาชนจากการเป็นทาสหนี้นอกระบบ ลืมชีวิตที่เคยลำบาก มีกำลัง มีแรงใจ ที่จะทำตามความฝัน นับจากนี้เป็นต้นไป ส่วนดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดห้ามคิดเกินร้อยละ 15 ต่อปี และต้องดูว่าตั้งแต่เป็นหนี้ไปแล้วจ่ายเงินไปแล้วเท่าไหร่ หากจ่ายเกินไปแล้วก็ต้องยกเลิกต่อกัน

สำหรับรายละเอียดการปรับโครงสร้างหนี้และไกล่เกลี่ยหนี้สิน ที่กระทรวงการคลังจะเข้ามาดูแลนั้น ธนาคารออมสิน จะดูแลประชาชนที่กู้หนี้นอกระบบ โดยให้กู้ต่อรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี ส่วนสินเชื่อสำหรับอาชีพอิสระเพื่อรายย่อยกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลา 8 ปี ดอกเบี้ยตามความสามารถของลูกหนี้

ส่วนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ช่วยเหลือเกษตรกรซึ่งนำที่ดินทำกินไปจำนองหรือขายฝาก เมื่อไกล่เกลี่ยและปรับปรุงโครงสร้างหนี้นอกระบบแล้ว จะให้สินเชื่อสำหรับให้แก้ไขปัญหาสูงสุดต่อราย 2.5 ล้านบาท

ทางด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งถูกดึงให้เข้าร่วมกระบวนการแก้หนี้นอกระบบด้วยนั้น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะร่วมมือกันโดยนายอำเภอ และผู้กำกับสถานีตำรวจ ช่วยเหลือลูกหนี้ไกล่เกลี่ย ประนีประนอมข้อพิพาท รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด โดยลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางจังหวัดทุกแห่ง และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอทุกแห่ง ส่วน กทม.สามารถลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง

สำหรับระยะเวลาดำเนินโครงการ แบ่งเป็น ช่วงที่ 1.เปิดรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566-29 กุมภาพันธ์ 2567 2.รวบรวมข้อมูลลูกหนี้ แยกแต่ละประเภทในเดือนมีนาคม 2567 3.ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ลงทะเบียนในเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2567 4.ประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายในเดือนกันยายน 2567

เพจของพรรคเพื่อไทย เผยแพร่วาระแห่งชาติการแก้หนี้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

สรุปมาตรการ “แก้หนี้นอกระบบ” โดยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

28 พ.ย. 66 เศรษฐา ทวีสิน @Thavisin นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงข่าวประกาศให้การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ คืนศักดิ์ศรี คืนความหวัง และสร้างความมั่นคงให้คนไทย

ขั้นตอน : ไกล่เกลี่ย ก.มหาดไทย มีกลไกการทำงานในแต่ละพื้นที่ที่มีความเข้มแข็ง ใกล้ชิดกับประชาชน ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ ตั้งแต่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ถึงผู้ใหญ่บ้าน

-ประชาชนที่ประสบปัญหาหรือต้องการเปลี่ยนหนี้นอกระบบเป็นในระบบ เพื่อจะได้มีภาระในการผ่อนชำระน้อยลง สามารถลงทะเบียนที่ ศูนย์ดำรงธรรม ณ ศาลากลางและที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทุกแห่ง

-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายในการสืบสวน จับกุม และดำเนินคดีกับผู้กระทำความคิดผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ

-กำหนดแผนปฏิบัติตั้งแต่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ เพื่อค้นหาเป้าหมาย โดยสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธร 1-9 เอกซเรย์พื้นที่และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้

-ตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี สายด่วน 1599 เป็นหมายเลขรับแจ้งเหตุ

ขั้นตอน : ปรับโครงสร้างหนี้ ก.คลังในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางการเงินจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งระยะเวลา เงื่อนไข และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนชดใช้หนี้ได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยจะระมัดระวังไม่สร้างภาวะอันตรายทางศีลธรรม (moral hazard) และมีมาตรการต่าง ๆ รองรับเพิ่มเติม ได้แก่

-ธ.ออมสิน มีโครงการให้กู้ต่อรายไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี และโครงการสินเชื่อ สำหรับอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อการส่งเสริมอาชีพ ให้กู้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย ระยะเวลาสูงสุด 8 ปี อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามความสามารถของลูกหนี้แต่ละราย

-ธ.ก.ส.มีโครงการรองรับที่ดินติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบ โดยมีวงเงินสำหรับเกษตรกรต่อรายไม่เกิน 2.5 ล้านบาท

-ผู้ประกอบการให้กู้ยืมเงินที่สนใจจะดำเนินการให้ถูกกฎหมาย สามารถขออนุญาตตั้งพิโกไฟแนนซ์ ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท

 ถอดเนื้อหาสาระใจความสำคัญของการแก้หนี้นอกระบบคราวนี้ อยู่ที่จะให้นายอำเภอกับผู้กำกับไปทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้เจ้าหนี้กับลูกหนี้ตกลงกันให้ได้ ส่วนที่ว่านายอำเภอและผู้กำกับจะอาศัยอำนาจข้อไหนไปไกล่เกลี่ยหนี้ และถ้าไกล่เกลี่ยแล้วตกลงกันไม่ได้จะทำอย่างไรกันต่อก็ไม่ชัดเจน เอาง่ายๆ เพียงว่า ห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี นี่ก็ผิดความเป็นจริงไปไกล เพราะดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่คิดกันแบบว่าเจ้าหนี้เอื้ออาทรต่อลูกหนี้ที่สุดแล้วนี่อยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อเดือน ย้ำว่า “ต่อเดือน” กันเลยทีเดียว 

ยังไม่นับว่าเจ้าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ทำตัวเป็น “มาเฟียเงินกู้” มีคนมีสี และเจ้าหน้าที่รัฐ มีเอี่ยวอยู่ด้วยไม่มากก็น้อย

ด้วยเหตุฉะนี้ หากลูกหนี้ไปขึ้นทะเบียนแจ้งศูนย์ดำรงธรรม ซึ่งต้องระบุถึงชื่อเจ้าหนี้ด้วย จะมีหลักประกันให้ลูกหนี้เชื่อมั่นได้อย่างไรว่าจะยังอยู่รอดปลอดภัย

ส่วนการดึงธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มาปล่อยกู้ให้ก้อนใหม่เป็นการรีไฟแนนซ์นั้น ลูกหนี้ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และแบงก์ต้องตรวสอบคุณสมบัติของผู้ขอกู้ว่าเป็นไปตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดหรือไม่ ซึ่งกว่าจะผ่านการพิจารณาไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เช่นนั้นลูกหนี้เหล่านี้คงไม่ไปขอกู้เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ หรือหากว่าไกล่เกลี่ยหนี้กันสำเร็จ กระทั่งเข้าโครงการรีไฟแนนซ์เรียบร้อย ก็ยังต้องติดตามว่าจะเป็นการสร้างวงจรหนี้ใหม่ กลายเป็นหนี้เสียในระบบแบงก์พาณิชย์ อีกหรือไม่
อย่างที่รู้กันดีว่า หนี้นอกระบบ หรือการปล่อยกู้นอกระบบนั้น เกิดขึ้นโดยในฝั่งของ “ลูกหนี้” ที่มีความจำเป็นใช้เงินทั้งจากปัญหาความเดือดร้อน การจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน การใช้จ่ายเกินตัว หรือหนี้จากการซื้อทรัพย์สิน เช่น หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ซึ่งช่วงก่อหนี้อาจไม่มีปัญหา แต่ต่อมาอาจตกงาน โดยเฉพาะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ธุรกิจปิดตัวเลิกกิจการ มีการเลิกจ้าง เศรษฐกิจโดยภาพรวมถดถอย มีปัญหาการว่างงาน คนส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาจะหันไปกู้กับธนาคารก็ยากที่จะผ่านการพิจารณาอนุมัติ จำเป็นต้องหันพึ่งเงินกู้นอกระบบ

 ขณะเดียวกัน ฝั่งของผู้ปล่อยกู้ หรือ “เจ้าหนี้นอกระบบ” ก็มีสารพัดสารพันกลยุทธ์ดึงดูดให้ลูกค้ามากู้ โดยเฉพาะในเวลานี้มี “แอปฯเงินกู้ด่วน” เกลื่อนออนไลน์ โดยมีรายงานผ่านสื่อว่าแอปพลิเคชั่น “สินเชื่อเงินด่วนออนไลน์” เป็นหนี้นอกระบบแบบใหม่ ผุดเต็มแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้ง Facebook และระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยโฆษณาล่อลวงลูกค้า สามารถกู้ง่ายเพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพียงสมัครตามลิงก์ที่แนบ ซึ่งจำนวนเงินที่ได้รับจากการปล่อยกู้จะได้ไม่เต็มจำนวน กู้ 3,000 บาท อาจได้จริงเพียง 1,800 บาท ที่เหลือถูกหักเป็นค่าบริหารจัดการ ส่วนการทวงคืนหนี้กำหนดภายใน 7 วัน โดยใช้วิธีการข่มขู่ด้วยถ้อยคำรุนแรง เป็นภัยไซเบอร์ที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (สกมช.) ยอมรับว่ามีการแพร่ระบาดอย่างมาก 

หนี้ที่เบ่งบานไม่หยุด สะท้อนผ่านตัวเลขหนี้ครัวเรือนล่าสุด ตามที่  นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.6% คงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน มาจากหนี้เพื่ออสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก ขณะที่คุณภาพสินเชื่อภาพรวมปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.71% ต่อสินเชื่อรวม จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.68%

ทั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ความเสี่ยงในการติดกับดักหนี้ของเกษตรกรไทยจากมาตรการพักหนี้ จากผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า มาตรการไม่สามารถลดหนี้ของเกษตรกรได้มากนัก เพราะเกษตรกรที่เข้าร่วมมักมีการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากรายได้จากการทำการเกษตรยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นต้องมีการยกระดับรายได้ควบคู่กับการดำเนินมาตรการ และ 2) การเร่งดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าหนี้และบัญชีที่เป็นหนี้เสีย

ทางด้าน  นายสุรพล โอภาสเสถียร  ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร เปิดเผยสถานการณ์ข้อมูลหนี้สินภาคครัวเรือนจากฐานข้อมูลเครดิตบูโร ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 (30 กันยายน 2566) พบว่า มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 13.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.8% โดยยอดสินเชื่อนำโด่ง 3 อันดับแรก มีดังนี้ สินเชื่อบ้าน มียอดคงค้าง 4.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.5 ล้านบัญชี, สินเชื่อรถ มียอดคงค้าง 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5 ล้านบัญชี และสินเชื่อส่วนบุคคล มียอดคงค้าง 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 31.7 ล้านบัญชี

ส่วนหนี้ภาคครัวเรือนในไตรมาส 3/2566 พบว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) หรือหนี้ที่ขาดชำระเกิน 90 วัน มียอดสะสมอยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 10.04 ล้านบัญชี ลดลงทั้งในแง่มูลค่าและจำนวนบัญชี 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อแยกจำนวนหนี้ภาคครัวเรือน และหนี้เสียที่เกิดขึ้นแบ่งตามกลุ่มช่วงวัย พบว่า คนเจน Y (อายุ 25-43 ปี) มีหนี้ครัวเรือนมากที่สุด และมีหนี้เสียมากที่สุด เมื่อเทียบกับคนวัยอื่น ๆ โดยเรียงลำดับตามมูลค่าหนี้ครัวเรือนคงค้างและมูลค่าหนี้เสีย ดังนี้ Gen Y (อายุ 25-43 ปี) มีหนี้ครัวเรือน 5.9 ล้านล้านบาท และมีหนี้เสีย 3.9 แสนล้านบาท, Gen X (อายุ 44-58 ปี) มีหนี้ครัวเรือน 4.1 ล้านล้านบาท และมีหนี้เสีย 2.8 แสนล้านบาท, Gen Z (อายุ 20-24 ปี) มีหนี้ครัวเรือน 2.5 แสนล้านบาท และมีหนี้เสีย 1.8 หมื่นล้านบาท ส่วนรุ่น Baby Boomer (อายุ 58-77 ปี) มีหนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้านบาท และมีหนี้เสีย 8.6 หมื่นล้านบาท และ Silent (อายุ 78 ปีขึ้นไป) มีหนี้ครัวเรือน 3.7 หมื่นล้านบาท และมีหนี้เสีย 3.8 พันล้านบาท

 ฐานข้อมูลเครดิต บูโร ยังบ่งชี้ว่า อายุ 31 ปี เป็นช่วงมีคนมีหนี้รถมากที่สุด คิดเป็นมูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 196,280 บาท อายุ 32 ปี เป็นช่วงมีคนเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 472,443 บาท อายุ 41 ปี เป็นช่วงที่มีคนมีหนี้บ้านมากที่สุด มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 108,217 บาท อายุ 43 ปี เป็นช่วงมีคนมีหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 242,069 บาท อายุ 55 ปี เป็นช่วงมีคนมีเพื่อการเกษตรมากที่สุด มูลหนี้เฉลี่ยต่อราย 118,733 บาท 

ส่วนหนี้สงสัยจะสูญ หรือ Special Mentioned (SM) ซึ่งหมายถึงสินเชื่อที่ค้างชำระตั้งแต่ 31-90 วัน ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 5 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 21.4% หรือมีจำนวนบัญชีเป็น SM 1.95 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.8% ทั้งนี้ สินเชื่อสงสัยจะสูญก้อนใหญ่ คือ สินเชื่อรถ 2.13 แสนล้านบาท และสินเชื่อบ้าน 1.36 แสนล้านบาท ในสินเชื่อบ้านจำนวนนี้ 68% เป็นหนี้ที่อยู่กับสถาบันการเงินของรัฐ อีกทั้งยังพบว่า SM 5 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 กระจุกตัวในกลุ่มลูกหนี้ GEN Y

ขณะที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบกันเกือบถ้วนหน้า มีรายงานจากธนาคารโลกว่า ประเทศไทย มีปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พูดง่ายๆ คือ คนรวยหยิบมือรวยล้นฟ้า ขณะที่ประชาชนเกือบทั้งแผ่นดินมีรายได้ไม่พอยาไส้

 ดร.นาเดีย เบลฮาจ ฮาสซีน  เศรษฐกรอาวุโสด้านความยากจน ธนาคารโลก เปิดเผยรายงานการลดช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำ และการจ้างงานในประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความคืบหน้าในการลดช่องว่างระหว่างคนที่ร่ำรวยที่สุดและยากจนที่สุดเป็นอย่างมาก แต่ความคืบหน้าดังกล่าวได้ชะลอตัวลงนับตั้งแต่ปี 2556 ในปี 2564 ประเทศไทยมีสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาคด้านรายได้ อยู่ที่ 43.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของความไม่เสมอภาคของรายได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก การกระจุกตัวของรายได้ในครัวเรือนที่ร่ำรวยที่สุดนั้น พบว่ามีสัดส่วนที่สูงเป็นพิเศษ โดยในปี 2564 พบข้อมูลว่า กลุ่มคนแค่ 10% ของคนไทยที่ร่ำรวยที่สุด ถือครองรายได้ และความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ

เศรษฐกรอาวุโสของเวิร์ลแบงก์ ชี้ว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายเรื่องของประเทศไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำอยู่ ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำในระดับอาชีพและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น

ขณะที่ปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทในปัจจุบันก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในอัตราสูง โดยข้อมูลในปี 2563 ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประชากรในกรุงเทพฯ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 6.5 เท่า ซึ่งมีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศ

 การแก้ปัญหาหนี้จึงต้องมองลึกให้ถึงแก่นแท้ของต้นสายปลายเหตุ และต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หาใช่การให้นายอำเภอและผู้กำกับไปเอ็กซเรย์พื้นที่รับหน้าเสื่อช่วยไกล่เกลี่ย ซึ่งเป็นการแก้ปลายเหตุแบบลูบหน้าปะจมูก 


กำลังโหลดความคิดเห็น