xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

คนไทยรั้งท้าย! สกิลพูดอังกฤษ ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน ที่กระทรวงศึกษาฯ หรือเปล่า?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นวาระร้อนระดับชาติ เมื่อผลสำรวจเผย “ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ในอันดับ 101 จาก 113 ประเทศทั่วโลก” ทำให้ “นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน” มีข้อสั่งการเร่งด่วนถึง “กระทรวงศึกษาธิการ (ศก.)” ออกแนวทางยกระดับทักษะภาษาอังกฤษเด็กไทยแบบด่วนๆ ผ่านที่ประชุม ครม. เมื่อช่วงสิ้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา 

อ้างอิงรายงาน “ดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index)” ประจำปี 2023 โดยโรงเรียนสอนภาษาอีเอฟ (EF) หรือ Education First องค์กรนานาชาติที่เชี่ยวชาญเรื่องการฝึกอบรมด้านภาษาและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เปิดเผยดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ จากการทดสอบตัวอย่าง 2.2 ล้านคน ใน 113 ประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

ผลการทดสอบพบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศ และรั้งอันดับสุดท้ายจาก 8 ประเทศอาเซียน (การสำรวจครั้งนี้ไม่มีผลสำรวจของบรูไนและลาว) โดยคะแนนค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 416 คะแนน ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 502 และลดลงจากอันดับ 97 จาก 111 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

สำหรับประเทศที่มีระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษสูงมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ในปี 2566 คือ เนเธอร์แลนด์ ได้คะแนนทั้งหมด 647 คะแนน ตามด้วย สิงค์โปร์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน เป็นอัน 2 - 5 ตามลำดับ

 ทั้งนี้ ตัวเลขคะแนนดังกล่าวบ่งชี้ประเทศไทยตกอยู่ในประเทศ ที่มีระดับความเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษต่ำมาก (Very Low Proficincy) หรือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดจากทั้งหมด 5 ระดับ เรียกว่าสกิลภาษาอังกฤษของคนไทยจัดอยู่ในเกณฑ์ “ต่ำมาก” และหากถ้าพิจารณาจากที่มีการสำรวจมาตั้งแต่ปี 2011 จะเห็นว่า “ค่าเฉลี่ยของไทยไม่เพิ่มขึ้นเลย” อาจจะมีในช่วงปี 2017 ที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 

ข้อมูลจากรายงานดังกล่าว เปิดเผยให้เห็นรายละเอียดเจาะลึกลงไประดับจังหวัดของไทย โดยพบ 3 จังหวัดมีคะแนนค่อนข้างดี คือ จ.เชียงใหม่ ที่ได้ 464 คะแนน, กรุงเทพฯ 457 คะแนน และ จ.ภูเก็ต 456 คะแนน แต่สุดท้ายคะแนนก็ยังจัดอยู่ในต่ำมากกว่ามาตรฐาน

สำหรับการทดสอบดังกล่าวเป็นแบบทดสอบทักษะการอ่านและการฟังภาษาอังกฤษแบบออนไลน์ เป็นการทดสอบที่ได้มาตรฐานและให้คะแนนอย่างเป็นกลาง ซึ่งออกแบบมาเพื่อจัดประเภทความสามารถทางภาษาของผู้สอบในการยกระดับ

ประเด็นร้อน  “ทักษะภาษาอังกฤษของคนไทย อยู่ในอันดับ 101 จาก 113 ประเทศทั่วโลก”  เป็นที่วิพากษ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะระบบการศึกษาการเรียนภาษาอังกฤษที่เน้นให้ท่องจำ ทำข้อสอบ ไม่ได้เน้นทักษะการสื่อสารใช้จริงในชีวิตประจำวัน และหากต้องการคล่องภาษาอังกฤษอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายพิเศษเสริมทักษะภาษาเพิ่มเติม กลายเป็นประเด็นเผือกร้อนเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ คงต้องกลับมาพิจารณาหลักสูตรภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาว่าออกแบบการเรียนการสอนผิดพลาดตรงไหนหรือไม่

ต้องยอมรับ นโยบายการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยมุ่งเน้น  “ทักษะภาษาอังกฤษ” ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในกลุ่มเป้าหมาย “นักเรียน-นักศึกษา” ให้มีความรู้และสามารถใช้ในการสื่อสาร แต่ในทางปฏิบัติเด็กไทยรวมทั้งคนไทยจำนวนมากสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้

กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคการศึกษาต้องกลับมาทบทวน โดย นายชัย วัชรงค์  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฝากให้ทางกระทรวงศึกษาธิการ  ตอบสนอง ต่อกรณีที่มีการเปิดเผยการจัดอันดับดังกล่าว โดยไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร ก็ขอให้ออกมาอย่างเร่งด่วน


แน่นอนว่า การที่ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีทักษะระดับต่ำมาก (Very low) อย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของไทยไม่สอดคล้องกับการใช้งานจริง การมุ่งเน้นไปที่ไวยากรณ์-โครงสร้างประโยคอาจยังไม่ถูกที่ถูกทาง

 รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายว่าการเสริมทักษะและสร้างความเข้มแข็งด้านภาษาของคนไทย จำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองในรูปแบบนอกห้องเรียนมากขึ้น ตลอดจนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยเน้นให้เห็นความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมากกว่าเป็นวิชาที่ต้องสอบให้ผ่าน

ในประเด็นเดียวกัน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เสนอนโยบายปฏิรูประบบการศึกษา 5 ด้าน สำหรับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของนักเรียนและเยาวชนทั่วประเทศทันที ดังนี้

1. ออกแบบหลักสูตร การสอน การประเมินวิชาภาษาอังกฤษใหม่ เช่น ปรับหลักสูตรวิชาภาษาอังกฤษ ให้เน้นด้านทักษะการสื่อสารหรือการ “ใช้” ภาษาเป็นหลัก มากกว่าเน้นแค่เพียงหลักภาษาและไวยากรณ์ ทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ที่ช่วยให้ผู้เรียนกล้าลองผิดลองถูกในการใช้ภาษา และเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เพิ่มสัดส่วนวิชาและกิจกรรมในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ดำเนินการพร้อมกับการออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ด้านภาษาอังกฤษ ที่เน้นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะ มากกว่าเพียงการอัดฉีดเนื้อหา

2. ยกระดับการอบรมทักษะภาษาอังกฤษของครูไทย เช่น เพิ่มความเข้มข้นในการอบรมครูไทยด้านภาษาอังกฤษทั้งในระดับสถาบันผลิตครู และการพัฒนาทักษะในงาน เน้นการกระจายงบอบรมครูที่ปัจจุบันกระจุกอยู่กับส่วนกลางทั้งหมด ไปเป็นการให้งบตรงไปที่โรงเรียนและครูแต่ละคนในการซื้อคอร์สพัฒนาทักษะที่ตอบโจทย์ด้านที่ตนเองต้องการพัฒนา

3. ทำ MOU กับประเทศหรือเมืองอื่นๆ เพื่อให้มีโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างครูสอนภาษาอังกฤษในต่างประเทศและครูไทยที่สอนภาษาอังกฤษ เช่น เพิ่มสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไทยได้ฝึกสื่อสารภาษาอังกฤษกับครูต่างชาติที่มาสอนในประเทศไทย ยกระดับทักษะครูไทยที่จะมีประสบการณ์ไปสอนในโรงเรียนที่ต่างประเทศ

4. ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนอกห้องเรียน เช่น พิจารณาจัดสรร “คูปองเปิดโลกเรียนรู้” สำหรับเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งอาจรวมถึงคอร์สหรือกิจกรรมที่มีการใช้ภาษาอังกฤษ จัดทำแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่รวบรวมคอร์สพัฒนาทักษะ เช่น คอร์สภาษาอังกฤษ จากผู้ผลิตเนื้อหาในภาคเอกชนและภาควิชาการ โดยเปิดให้ประชาชนทุกคนเรียนได้ฟรีไม่จำกัด เพิ่มจุดที่ประชาชนได้สัมผัสกับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มบทบรรยายภาษาอังกฤษใต้ภาพ สำหรับข่าวสาร ละคร รายการในโทรทัศน์

และ 5. รณรงค์ให้สังคมไม่มีค่านิยมที่ให้ความสำคัญมากเกินไปกับเรื่องสำเนียง จนทำให้เด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ไม่กล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ เช่น สร้างความเข้าใจว่าการออกเสียง ให้ชัดถ้อยชัดคำเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการให้คู่สนทนาเข้าใจสิ่งที่เรากำลังสื่อสาร แต่สำเนียง ไม่ควรถูกมองว่าเป็นสาระสำคัญ เนื่องจาก “สำเนียงที่ถูกต้อง” แม้ในเชิงทฤษฎี ก็อาจไม่มีอยู่จริง ในเมื่อภาษาอังกฤษได้กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้กันโดยคนในหลายประเทศทั่วโลกด้วยสำเนียงที่หลากหลาย หรือแม้แต่คนในประเทศสหราชอาณาจักรเอง ที่ถูกมองว่าเป็นต้นตำรับภาษาอังกฤษ ก็ยังมีหลายสำเนียงที่แตกต่างออกไปในแต่ละภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร  หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ออกมาวิพากษ์การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยของไทย ซึ่งถูกประเทศเพื่อนบ้านประเทศเวียดนามแซงหน้าไปแล้ว โดยฝากถึงกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ พิจารณา โดยข้อมูลการจัดอันดับ 10 อันดับมหาวิทยาลัยตัวท็อปในอาเซียน 2022-2023 U.S. News Best Global Universities

 สุดท้ายกับโจทย์ข้อใหญ่ว่าด้วยการ “อัพสกิลภาษาอังกฤษของคนไทย” ที่ “นายกฯ เศรษฐา” สั่งการเร่งด่วนไปยังกระทรวงศึกษาธิการ คงต้องติดตามว่า “พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะรับลูกประเด็นเผือกร้อนออกมาอย่างไร?  



กำลังโหลดความคิดเห็น