xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขยายผลล้างบาง “หมูเถื่อน” แสนล้าน ต้องเชือด “ปศุสัตว์ ศุลกากร ประมง” ขุดรากถอนโคน โค่น “มาเฟียใหญ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การโยกย้าย  พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พ้นหน้าที่ไปก็ดีแล้วถ้าหากมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากการทำงานที่อืดอาดล่าช้า จนทำให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่พอใจในผลงานทั้งคดีหมูเถื่อน คดีโกงหุ้นสตาร์คและมอร์ และหากการเด้งฟ้าผ่าครั้งนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และเป็นไปตามที่  “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม” ย้ำว่าย้าย พ.ต.ต.สุริยา มาเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เพราะงานขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงในภาพรวมมีความสำคัญ “จริง” สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปก็คือการขยายผลล้างบาง “ขบวนการหมูเถื่อนแสนล้าน” นี้ อย่างไม่ยอมหักยอมงอ

ทั้งนี้ คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมนายกรัฐมนตรี ถึงเป็นฟืนเป็นไฟใส่อารมณ์ไม่แฮปปี้กับอธิบดีดีเอสไอเท่านั้น แล้วอธิบดีอีก 3 กรม คือ  “กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร และกรมประมง”  ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาหมูเถื่อน ทำไมถึงไม่ถูกโยกย้ายและให้คนมีฝีมือเข้ามาทำงานแทน เพราะต้องไม่ลืมว่าอธิบดีทั้งสามกรมดังกล่าวก็ไม่มีผลงานเข้าตา ทำให้การสะสางปัญหาหมูเถื่อนวนอยู่ในอ่าง อืดอาดล่าช้า ไม่ไปไหนมาไหนด้วยเช่นกัน

ต้องย้ำอีกครั้งว่าการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนเป็นปัญหาลากยาวมาตั้งแต่ปี 2564 หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ  โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) จนทำให้หมูขาดแคลน ราคาแพงขึ้น จนมีการลักลอบนำหมูเถื่อนราคาถูกเข้ามาตีตลาด และเรื่องที่เป็นเรื่องกันอยู่ในตอนนี้ก็สืบเนื่องมาจากการขยายผลตรวจสอบการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน 161 ตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นคดีค้างคามาแรมปี ถ้านายกรัฐมนตรี จะฟาดงวงฟาดงาก็ต้องลากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมรับผิดชอบกันถ้วนหน้า โทษฐานปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบนำเข้าและกระจายหมูเถื่อนสู่ผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี แม้การทำงานของดีเอสไอจะไม่เข้าตานายกรัฐมนตรี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลที่ดีเอสไอขยายผลสอบทำเอาสั่นสะเทือนทั้งวงการ เนื่องจากการนำเข้าหมูเถื่อนที่สังคมรับรู้กันว่ามี 161 ตู้คอนเทนเนอร์นั้นแค่จิ๊บ ๆ เพราะของจริงที่ดีเอสไอคะเนว่ามีการสำแดงเท็จซึ่งกำลังตรวจสอบอยู่นั้นมีจำนวนสองพันกว่าตู้คอนเทนเนอร์ ประมาณห้าหมื่นกว่าตัน พร้อมทั้งกางบัญชี เส้นทางเงิน เส้นทางการกระจายสินค้า ทำเอาขาเล็กขาใหญ่ที่เกี่ยวข้องใน  “ขบวนการบูรณาโกง”  ขาสั่นกันถ้วนหน้า

ถ้อยแถลงของ พ.ต.ท.จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน และ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 เกี่ยวกับความคืบหน้าของคดีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (คดีพิเศษที่ 59/2566) จำนวน 161 ตู้ ปริมาณ 4,025 ตัน ซึ่งดำเนินการสอบสวนมาร่วม 5 เดือนนั้น ดีเอสไอ ได้สรุปสำนวนส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยระบุว่ามีอดีตข้าราชการ และข้าราชการการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ประมาณ 10 ราย

นอกจากนี้ ยังแยกสำนวนดำเนินคดีกับบริษัทชิปปิ้ง 9 บริษัท 3 กลุ่ม ประกอบด้วย คดีพิเศษที่ 101/2566 บริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิฟเม้นท์ จำกัด , คดีพิเศษที่ 102/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช , คดีพิเศษที่ 103/2566 บริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด , คดีพิเศษที่ 104/2566 บริษัท อาร์.ที.เอ็นโอเวอร์ซี จำกัด , คดีพิเศษที่ 105/2566 บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด , คดีพิเศษที่ 106/2566 ห้างหุ้นส่วนจำกัด สหัสวรรษ ฟูดส์ , คดีพิเศษที่ 107/2566 บริษัท ซี เวิร์ล โฟรเซ่น ฟูด จำกัด , คดีพิเศษที่ 108/2566 (สงวนการเปิดเผยชื่อ) และ คดีพิเศษที่ 109/2566 (สงวนการเปิดเผยชื่อ)

ส่วนกรณี “นายสมนึก กยาวัฒนกิจ” กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม บริษัท เรนโบว์ กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ต้องหากลุ่มนายทุนหรือผู้จ้างวานบริษัทชิปปิ้งนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน (คดีพิเศษที่ 59/2566) และยังเป็นผู้ต้องหาคดีหุ้น MORE มูลค่าความเสียหาย 4 พันกว่าล้านบาท เข้าพบพนักงานสอบสวนแล้ว และอยู่ระหว่างทำสำนวนคดีเพื่อแจ้งข้อหาร่วมกันโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 และมาตรา 244 โดยเจ้าตัวเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทฯ นำเข้าหมู เมื่อช่วงปลายปี 2565 เกี่ยวข้องกับจำนวนตู้คอนเทเนอร์ 1 ตู้ (จาก 161 ตู้) และก่อนหน้านี้มีการนำเข้าประมาณ 40 ตู้ ในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งคณะพนักงานสอบสวน กำลังตรวจสอบว่านายสมนึกเข้าไปเกี่ยวข้องในช่วงใดบ้าง

หลังจากนั้น อีก 3 วันถัดมา พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ, พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ก็นำทีมบุกสำนักงานใหญ่ สยามแมคโคร ถนนพัฒนาการ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 โดยเข้าพบนางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) หลังหารือกันทั้งสองฝ่ายร่วมแถลงรายละเอียด

พ.ต.ต.สุริยา เผยว่าจากการดำเนินคดีบริษัทเว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด (WEALTHY & HEALTHY FOODS CO., LTD) และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด (THE GOOD SHOP CO., LTD) โดยจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย หรือ “กลุ่มนายทุนสองพ่อลูก” พบพยานหลักฐานการจำหน่ายสินค้าให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ารายการสินค้าต่างๆ ของผู้ต้องหานำส่งที่ไหนบ้าง โดยมีหลักฐานระบุว่ามีการส่งสินค้าตับหมูมายังแมคโคร จึงขอหมายศาลมาขอเอกสาร เบื้องต้นยังไม่ชี้ชัดว่าการรับซื้อของแมคโครและบริษัทผู้ต้องหาเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร ทางแมคโครให้ความร่วมมือจะจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมภายในหนึ่งเดือน พร้อมให้ไปสำรวจคลังสินค้าสองแห่งที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนการตรวจสอบเอกสารซื้อขายที่ผ่านมาก่อนหยุดการสั่งซื้อ ดีเอสไอพบมูลค่าที่แมคโครเป็นคู่ค้ากับบริษัทสองพ่อลูก สั่งเนื้อหมูแช่แข็งและตับหมูแช่แข็ง มูลค่ารวม 390 ล้านบาท

ทางด้านนางศิริพร ยืนยันว่าเอกสารการรับซื้อสินค้าเนื้อหมู ตับหมู มีแหล่งที่มาตรวจสอบย้อนหลังได้หมด และยอมรับว่าสั่งซื้อเครื่องในหมูจากผู้ค้าที่ปรากฏเป็นข่าวจริง โดยตอนรับซื้อมีการตรวจสอบทุกล็อต มีเอกสารครบถ้วน ทั้งเอกสารนำเข้า ใบเคลื่อนย้าย ซึ่งจะเตรียมเอกสารทั้งหมดที่รับซื้อให้ดีเอสไอ โดยแมคโครหยุดซื้อเนื้อหมูแช่แข็งจากบริษัทดังกล่าวเมื่อกลางปี 2565 ส่วนเครื่องในหมูแช่แข็งหยุดซื้อช่วงต้นปี 2566 เพราะมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า จุดยืนของแมคโครไม่สนับสนุนการนำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย อยากให้ดีเอสไอตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเอกสารที่บริษัทคู่ค้าส่งมาให้แมคโครถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ถือว่าแมคโครเป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว

นางศิริพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทดังกล่าวเป็นคู่ค้ากับแมคโครมาหลายปี มีสินค้านำเข้าแช่แข็งหลายรายการที่แมคโครรับซื้อ เช่น ปลา อาหารทะเล โดยมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย ในช่วงที่มีปัญหาเครื่องในหมู เขามานำเสนอและมีใบนำเข้าที่ชัดเจน ซึ่งแมคโครมีคู่ค้าอาหารจำนวน 2,000 กว่าราย เพื่อให้สินค้ามีความหลากหลายและเป็นการลดความเสี่ยง

ทั้งนี้ การขยายผลตรวจสอบการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนของดีเอสไอ นอกจากที่แจ้งดำเนินคดีไปแล้ว ยังจะลูกตามอีกหลายระลอก ตามที่ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษฐธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อน ดีเอสไอ แถลงเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ว่าดีเอสไอยังอยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนสอบสวนไปยังการนำเข้าซากสุกรอีก จำนวน 2,385 ตู้ ปริมาณ 59,625 ตัน ที่สำแดงเท็จเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อปลาและโพลีเมอร์ นำเข้ามาช่วงระหว่างปี 2564-65 คาดว่าของกลางถูกส่งต่อไปหมดแล้วแต่จะรวบรวมพยานหลักฐาน

โดยเบื้องต้น หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีหมูเถื่อนชี้ว่า น่าเชื่อว่าเป็นการกระทำความผิดในลักษณะเป็นขบวนการองค์กรอาชญากรรม ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของเกษตร ประกอบด้วย 3 กลุ่ม นายทุน ข้าราชการการเมือง และอดีตข้าราชการ โดยรัฐบาลเร่งรัดให้ดีเอสไอดำเนินการปราบปรามขบวนการนี้ให้หมดไป และทำให้มีความชัดเจนภายใน 3 เดือน

ปฏิบัติการลุยล้างหมูเถื่อนรอบนี้  “ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศชัดเจนว่า จะเร่งดำเนินการส set zero ห้องเย็นทั้งหมดตามคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี รวมถึงห้องเย็นรถบรรทุกด้วยว่าต้องมาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นี้ หากไม่มาขึ้นทะเบียนจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ และมีคำสั่งตั้งคณะทำงานชุดพิเศษเข้ามาดูแลโดยตรง ส่วนกลุ่มผู้กระทำความผิดที่ได้ออกหมายจับและหมายค้นไปแล้ว ปปง.ทำการยึดทรัพย์แล้ว 53 ล้านบาท ดำเนินคดีกับ 8 คน 6 บริษัท

ร.อ.ธรรมนัส เผยว่า มีผู้ต้องหาเข้ามอบตัวได้ซัดทอดไปถึงกลุ่มนักการเมืองใหญ่แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยไม่ขอตอบชื่อ  “รัฐมนตรีอักษรย่อ ป.” ว่าเป็นใคร

 แม้ “ผู้กองธรรมนัส” จะไม่อธิบายขยายความว่า “อดีตรัฐมนตรีอักษรย่อ ป.” นั้น มีชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไรออกมาตรงๆ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจาก “แหล่งข่าวระดับสูงวงใน” ก็พอจะเป็นที่รับรู้กันว่า “เขาคือใคร” ด้วยไม่มีแค่เรื่องหมูเถื่อนเท่านั้น หากยังเกี่ยวข้องกับ “การนำเข้าวัคซีน” อีกด้วย เพียงแต่ ณ เวลานี้ ยังไม่ชัดแจ้งว่า ถึงที่สุดแล้วจะมีหลักฐานแน่นหนาแค่ไหน 

ส่วน พ.ต.ต.สุริยา ซึ่งถูกเด้งพ้นเก้าอี้อธิบดีดีเอสไอ ดูเหมือนจะรู้ชะตากรรมของตัวเองล่วงหน้าว่าจบไม่สวยแน่ ก็ได้เปิดเผยความรู้สึกผ่านเพจ DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ ประกอบภาพของตนเอง พร้อมข้อความว่า “ทำใจอยู่ตลอดเวลา นับแต่มานั่งเป็นผู้บริหารสูงสุดที่นี่แล้วครับ ว่าต้องถึงวันนี้ แต่ผมเลือกทางเดินและวิถีผมเองตั้งแต่ต้น ไม่เสียใจครับ เพราะทำเต็มที่แล้ว เป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับทุกท่านครับ”

ทางด้าน “นายจตุพร พรหมพันธุ์”  วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ ตั้งข้อสังเกตและคำถามที่น่าสนใจว่า ทำไมคณะรัฐมนตรีจึงไม่ย้ายอธิบดี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง ซึ่งล้วนสุขสบายถ้วนหน้า แต่กลับย้ายอธิบดีดีเอสไอที่เป็นฝ่ายทำคดีเพียงหน่วยงานเดียว


นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของ  “นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์” ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ร้องทุกข์กล่าวโทษกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน เพื่อให้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้เกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูเถื่อนหลายคดี ได้แก่ อดีตหัวหน้าด่านกักสัตว์ชลบุรี ข้อหาเรียกรับสินบน, อดีตอธิบดีกรมประมง ข้อหาจัดทำเอกสารราชการเท็จ และอดีตนายด่านกักสัตว์ชลบุรีที่ไม่ทำลายตับหมู แต่ปล่อยให้นำไปขายต่อให้ห้างค้าปลีกค้าส่ง

อย่างไรก็ดี “นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ” 
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ระบุว่า การโยกย้าย พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะไม่กระทบต่อการทำคดีหมูเถื่อนซึ่งขณะนี้กำลังงวดเข้ามาทุกที เพราะเป็นคดีที่นายกรัฐมนตรีกำชับให้เร่งดำเนินการด้วยตัวเอง

กล่าวสำหรับเส้นทางหมูเถื่อนหรือหมูกล่องที่มีการบูรณาโกงของ 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ และกรมประมงนั้น ต้นทางนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น บราซิล รัสเซีย สเปน เนเธอร์แลนด์ กลุ่มนำเข้าเป็นนักการเมืองใหญ่ ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น พ่อค้านายทุน ฟาร์มหมู ผ่านท่าเรือแหลมฉบัง-เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร รับสินบนตู้ละ 2-3 หมื่นบาท บริษัทชิปปิ้งวิ่งเคลียร์ จ่ายส่วยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ห้องเย็นรับฝากเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รับสินบนปลอมแปลงเอกสารสำหรับเคลื่อนย้ายส่งศูนย์กระจายสินค้าไปตามช่องทางต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ส่งตรงถึงผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการแปรรูปอาหาร ห้างค้าปลีก ร้านอาหาร-ร้านหมูกระทะ

ต้นทุนนำเข้าหมูเถื่อนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 50-70 บาท ขายราคาต่ำถูกราคาตลาดที่อยู่ประมาณ 120-140 บาท ทำกำไรเท่าตัว มูลค่าการนำเข้าและลักลอบจำหน่ายแต่ละปีตกประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่ถ้าหากประเมินความเสียหายจากการเสียโอกาสของผู้เลี้ยงสุกร และห่วงโซ่การเลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชอาหารสัตว์ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

 การนำเข้าหมูเถื่อนซึ่งเถื่อนทั้งกระบวนการทุกขั้นตอนนั้น กรมศุลกากรกับกรมประมง เป็นสองหน่วยงานแรก ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกันทุจริตกับขบวนการหมูเถื่อน กล่าวคือ เมื่อเนื้อหมูในตู้คอนเทนเนอร์ ถึงท่าเรือแหลมฉบัง ในความดูแลของกรมศุลกากร จะถูกแจ้งสำแดงว่าเป็น “เนื้อปลา” ส่วนใหญ่เป็นหัวปลาแซลมอนแช่แข็ง หรืออาหารแช่เย็นแช่แข็ง จุดนี้กรมประมงมีบทบาทในการเข้ามาเสก “เนื้อหมู” นับร้อย ๆ ตู้คอนเทนเนอร์ ให้กลายเป็น “หัวปลาแซลมอน” โดยเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร ถือเป็นหน่วยงานหลัก ฟันส่วนแบ่งไปถึง 60%

ต่อมาผู้บริหาร - เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ได้กลิ่นตุ ๆ ก็โดดขอเอี่ยวด้วย เพราะถ้าไม่จ่ายกรมปศุสัตว์ จะเข้าตรวจสอบ การสำแดงเท็จทั้งหลายจะถูกเปิดโปงไม่สามารถส่งหมูเถื่อนผ่านไปสู่ตลาดได้ ด้วยเหตุนี้จึงกลายเป็น “บูรณาการบูรณาโกง” 3 หน่วยงานร่วมเปิดไฟเขียวผ่านตลอดให้กับหมูเถื่อน คาดว่าสัดส่วนการแบ่งเค้กอยู่ที่ 60-20-20 ในหมู่กรมศุลกากร-กรมประมง-กรมปศุสัตว์ ว่ากันว่าเงินส่วยหมูเถื่อนเข้ามือเจ้าหน้าที่กรมศุลฯ หน่วยงานเดียวปาเข้าไปปีละกว่า 2,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ขณะที่ “เส้นทางหมูเถื่อน” ออกจากด่านเข้ามาเมือง จะถูกนำไปพักที่ห้องเย็นก่อนที่จะกระจายส่งขายไปในตลาด โดยห้องเย็นขนาดใหญ่ที่รับหมูเถื่อนอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งอำนาจการตรวจสอบตามกฎหมายอยู่ที่กรมปศุสัตว์ แต่เพียงเจ้าเดียว แต่ลำพังข้าราชการจะลักลอบทำกันเอง โดยไม่มีนักการเมืองรู้เห็น ย่อมเป็นไปไม่ได้ งานนี้จึงมีคนระดับรัฐมนตรี ร่วมในขบวนการหมูเถื่อนอย่างที่พูดกันอื้ออึงในเวลานี้ 


ผลประโยชน์มหาศาลในขบวนการบูรณาโกงลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน ส่งผลกระทบต่อทั้งผู้บริโภคที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยเพราะหมูที่นำเข้าไม่ผ่านระบบตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย อาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค ฯลฯ

ข้อมูลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ปี 2563-2564 มีผู้ประกอบการเลี้ยงหมูรวม 190,000 ราย ผลิตหมูประมาณ 20 ล้านตัวต่อปี โดยผู้ประกอบการรายกลางและใหญ่ ประมาณ 10,000 ราย มีจำนวนหมูรวมกันมากกว่า 10 ล้านตัว ส่วนผู้ประกอบการอีก 180,000 ราย เป็นรายเล็กรายย่อย ผลิตหมูรวมกันกว่า 10 ล้านตัว ส่วนบริษัทผู้ผลิตหมูรายใหญ่ 3 อันดับแรก ประกอบด้วยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ครองส่วนแบ่งตลาดการเลี้ยงหมู 28 เปอร์เซ็นต์ บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดการเลี้ยงหมู 15 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครองส่วนแบ่งตลาดการเลี้ยงหมู 5 เปอร์เซ็นต์ โดยทั้ง 3 บริษัท ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 48%

 เมื่อการบูรณาโกงนำเข้าหมูเถื่อนเริงร่า หมูเถื่อนราคาถูกตีตลาดกระเจิง จนทำให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในประเทศไทยล้มหายตายจาก ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตหมูในอนาคตรวมศูนย์อยู่ในมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ไม่กี่รายและเป็นผู้กำหนดราคาหมูในตลาด สุดท้ายผู้บริโภคก็ต้องรับกรรมแบกรับราคาหมูที่แพงขึ้น 



กำลังโหลดความคิดเห็น