xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ใต้เงาจีน (25)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 หอฟ้าหรือเทียนถัน
คอลัมน์...ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 เด็กฉี่กลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน 


นอกจากแหล่งโบราณสถานอย่างวังต้องห้ามและกำแพงเมืองจีนแล้ว สถานที่อื่นที่เราได้ไปเยือนอีก 2-3 ที่คือ หอฟ้าหรือเทียนถันและจัตุรัสเทียนอันเหมิน

 หอฟ้าหรือเทียนถันนี้สร้างโดยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ครองราชย์ 1402-1424) ในสมัยราชวงศ์หมิง (1368-1644) ใช้เวลาก่อสร้างระหว่างปี 1406-1420 หรือนาน 14 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยสร้างตามคติความเชื่อที่ว่า จักรพรรดิเป็นโอรสแห่งสวรรค์ ผู้เป็นโอรสก็ย่อมต้องบูชาฟ้าหรือสวรรค์อันเป็นแหล่งกำเนิดของตน กล่าวอีกอย่าง ฟ้าหรือสวรรค์ได้ส่งตนให้จุติมายังโลกเพื่อปกครองมนุษย์ ตนก็ย่อมมีหน้าที่บูชาฟ้าไปด้วย 

ความเชื่อดังกล่าวมีมาตั้งแต่ยุคต้นประวัติศาสตร์แล้ว แต่ละยุคต่างทำพิธีผ่านหอฟ้า เพียงแต่ไม่หลงเหลือหลักฐานของตัวหอให้เห็นแล้วเท่านั้น

การบูชาฟ้าถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่งของจักรพรรดิจีน โดยในหนึ่งปีจะมีราชพิธีบูชาฟ้าอยู่สองครั้ง ทุกครั้งที่มีราชพิธีนี้จักรพรรดิจักทรงงดเสวยเนื้อสัตว์ และทรงเสื้อคลุมที่ใช้สำหรับราชพิธีนี้เป็นการเฉพาะ ส่วนการประกอบราชพิธีนี้จะมีองค์จักรพรรดิและพระบรมวงศานุวงศ์เข้าร่วม ห้ามมิให้ราษฎรเข้าร่วมโดยเด็ดขาด

สาระของราชพิธีนี้จะอยู่ตรงการขอพรจากสวรรค์ให้การปกครองของจักรพรรดิเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล ราชพิธีนี้จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ และจักรพรรดิจักต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จะหลีกหนีไม่ปฏิบัติไม่ได้ หาไม่แล้วจะไม่เป็นมงคลต่อตัวจักรพรรดิเองและต่อบ้านเมือง

ส่วนหอฟ้าที่สร้างโดยหย่งเล่อนี้ถือเป็นหอฟ้าที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี จนสามารถตั้งอยู่อย่างสง่างามมาจนทุกวันนี้ แต่ระหว่างนั้นก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยไม่เหมือนกัน เช่น ช่วงที่กองทัพของพันธมิตรแปดชาติบุกโจมตีจีนในสมัยปลายราชวงศ์ชิงในปี 1900 นั้น ที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการชั่วคราวของกองทัพแปดชาติ เป็นต้น

หลังจากที่ราชวงศ์ชิงล่มสลายแล้ว หอฟ้าก็ขาดการดูแลจนทรุดโทรมลง จนพรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองจีนได้ในปี 1949 แล้ว หอฟ้าจึงได้รับการบูรณะจนมีสภาพสมบูรณ์สง่างามมาจนทุกวันนี้ หอฟ้านี้ตั้งอยู่ทางใต้ของวังต้องห้าม โดยรอบนอกหอฟ้าระยะหนึ่งยังเป็นที่ตั้งของ  หอสุริยัน (ญื่อถัน) หอจันทรา (เยี่ว์ยถัน) และหอโลกา (ตี้ถัน)  ซึ่งสร้างในสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (ครองราชย์ 1521-1567) แห่งราชวงศ์หมิง หอทั้งสามนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือตามลำดับ

ความเชื่อที่ยึดถือกันมาแต่โบราณนี้จะจริงหรือไม่จริงก็ตามที แต่คนโบราณก็ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง จะว่าไปแล้วก็ออกจะเป็นเรื่องที่มีปัญหาอยู่เหมือนกัน อย่างเช่นกรณีที่จักรพรรดิเจียจิ้งทรงให้สร้างหอเพิ่มอีกสามหอที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เอาเข้าจริงแล้วพระองค์กลับเป็นจักรพรรดิทรราชที่ชอบแต่จะใช้อำนาจอย่างโหดเหี้ยม

 หอฟ้าหรือเทียนถัน
เช่น ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงมีดำริที่จะเสด็จไปยังที่ราบลุ่มแม่น้ำหยังจื่อ (แยงซี) เพื่อคัดเลือกสาวงามมาเป็นนางสนม แต่ถูกเหล่าขุนนางทักท้วงว่ามิบังควร พระองค์ก็ทรงกริ้วแล้วให้ลงโทษโบยขุนนางที่ทักท้วงที่มีอยู่ 134 คนทันที ในจำนวนนี้มีที่ถูกโบยจนตายไป 17 คน เป็นต้น

กล่าวกันว่า การปกครองเยี่ยงทรราชของเจียจิ้งนั้น ได้กลายเป็นหลักหมายสำคัญที่นำพาจีนไปสู่ความเสื่อมในกาลต่อมา

ส่วนการไปเยือนจัตุรัสเทียนอันเหมินนั้น ทางเจ้าภาพจะปล่อยให้เราได้เดินเที่ยวและถ่ายรูปตามอัธยาศัย ส่วนผมซึ่งติดกล้องถ่ายวีดีโอไปด้วยก็เพลินกับการเล่นกล้อง ผมเริ่มถ่ายที่อนุสาวรีย์วีรชนที่อยู่ใจกลางจัตุรัสก่อนอย่างพิถีพิถัน โดยกะว่าถัดไปก็จะเป็นพลับพลาเทียนอันเหมินที่ผมเฝ้ารอมานาน ด้วยมีภาพเขียนสีขนาดใหญ่ของเหมาเจ๋อตงติดตั้งอยู่

ผมเพลินกับการถ่ายอนุสาวรีย์วีรชนและบริเวณโดยรอบ ซึ่งมีมหาศาลาประชาชนที่เป็นที่ประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสภาผู้แทนประชาชนจีน พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ และสุสานเหมาเจ๋อตง โดยไม่ได้เข้าไปเยือนสถานที่นั้นๆ แต่อย่างไร

 ระหว่างนั้นเอง ผมก็เห็นคุณแม่คนหนึ่งกำลังจัดการให้ลูกน้อยวัย 2-3 ขวบของเธอนั่งฉี่ที่ใจกลางจัตุรัส ผมพบว่า ตรงเป้ากางเกงของเด็กจะถูกเจาะให้เปิดอยู่ตลอดเวลาจนเรียกได้ว่า ไม่ว่าจะปวดหนักหรือปวดเบาก็สามารถนั่งลงจะขับถ่ายได้ทันที

อีกหลายปีต่อมาผมก็พบว่า เป้ากางเกงของเด็กจีนในวัยนี้จะถูกเจาะทุกคนทั้งชายและหญิง คิดไปแล้วก็เห็นว่า สะดวกดี เพราะหากไม่ทำเช่นนี้อาจจะไม่ทันกาลเวลาที่เด็กเกิดปวดถ่ายขึ้นมากะทันหัน 

แต่กับภาพที่ผมเห็นที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งเป็นโบราณสถานนี้น่าจะผิดกฎหมาย แต่รัฐก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะบริเวณจัตุรัสที่กว้างใหญ่นี้อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ ต่อให้ผู้ใหญ่ถ้าหากอยากจะขับถ่ายขึ้นมาก็ไม่อาจไปห้องน้ำได้ทันกาล ด้วยว่าห้องน้ำอยู่ไกลมาก ยิ่งตอนที่ผมเล่าอยู่นี้ ทางการจีนยังไม่ทำห้องน้ำให้ด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ ฉะนั้น หากใครจะไปเที่ยวจัตุรัสเทียนอันเหมินก็ควรจัดการกับการขับถ่ายของตนให้เรียบร้อยก่อน

หาไม่แล้วท่านอาจจะเจอกับผลลัพธ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้
อย่างไรก็ตาม ผมเพลินกับการถ่ายวีดีโอจนล่ามมาแจ้งว่า หมดเวลาแล้วก็ทำเอาผมตกใจ เพราะผมยังไม่ได้ถ่ายพลับพลาเทียนอันเหมินเลย แต่ก็ต้องปฏิบัติตามที่ล่ามแจ้งมาแต่โดยดี กว่าผมจะได้ไปยืนถ่ายรูปที่พลับพลานี้โดยมีภาพประธานเหมาเป็นหลังฉากเวลาก็ผ่านไปอีกนับสิบปี

ตลอดเวลาที่อยู่ปักกิ่งนี้ หากไม่นับเรื่องที่เราไปทัศนศึกษายังที่ต่างๆ แล้ว มีเรื่องหนึ่งที่ผมควรบอกเล่าด้วยคือ มีอยู่คืนหนึ่งล่ามได้แจ้งเราว่า จะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งมาขอพบกับคณะของเราด้วย อาจารย์ที่มาพบนี้เป็นอาจารย์ชาวจีนที่สอนภาษาไทย ซึ่งเราก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง

อาจารย์ท่านที่ว่ามาพบคณะเราที่โรงแรมที่เราพัก ท่านพูดภาษาไทยได้ชัดเจนมาก สมกับที่สอนภาษาไทย หลังจากแนะนำตัวกันแล้วท่านก็ว่า ท่านดีใจมากที่รู้ว่ามีนักวิชาการจากไทยมาที่ปักกิ่ง แล้วก็แจ้งเหตุผลที่ขอพบว่า ท่านอยากจะรู้ว่า ตอนนี้ที่ไทยมีนิยายเรื่องใดที่กล่าวถึงคนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนบ้าง ท่านว่า ท่านจะได้แปลนิยายเรื่องนั้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทยในชั้นเรียน

พวกเราต่างก็ช่วยกันนึกแล้วก็แนะนำกันไป แต่ให้บังเอิญว่า ช่วงนั้นที่ละครไทยเรื่อง  กนกลายโบตั๋น (2533) ของศรีฟ้า ลดาวัลย์  เพิ่งแพร่ภาพจบไปไม่นานและได้รับความนิยมมาก ผมก็เลยแนะนำนิยายเรื่องนี้ไป ท่านก็จดชื่อนิยายเรื่องนี้เอาไว้

การได้พบกับอาจารย์ท่านนั้นทำให้ผมรู้สึกว่า ท่านสมกับที่เป็นอาจารย์จริงๆ คือเอาใจใส่กับการสอนภาษาไทยอย่างมาก เวลานั้นเครื่องมือสื่อสารไม่ได้ดีเท่าปัจจุบัน การได้พบกับนักวิชาการไทยเพื่อขอข้อมูลเช่นนั้นสะท้อนถึงการเป็นครูที่ดีของท่าน เพราะท่านสู้อุตส่าห์ดั้นด้นมาหาพวกเราแม้ในยามค่ำมืด เพียงเพื่อจะถามว่ามีนิยายเรื่องใดที่ต้องตรงความต้องการของท่าน ทั้งนี้ยังไม่นับที่ท่านบอกอีกว่าได้แปลนิยายไทยเรื่องใดไปแล้วบ้าง

อีกนับสิบปีต่อมาหลังจากที่เครื่องมือสื่อสารดีขึ้นมากแล้วผมก็พบว่า มีนักเรียนจีนสนใจเรียนภาษาไทยมากขึ้น หลายคนที่ผมรู้จักในเวลาต่อมาใช้ภาษาไทยได้ดีมาก บางคนถึงกับ “อิน” ความเป็นไทยเอามากๆ

 เมื่อคิดถึงอาจารย์ท่านนั้นแล้วผมก็ไม่แปลกใจว่า เหตุใดนักเรียนจีนจึงใช้ภาษาไทยได้ดีเช่นนั้น 


กำลังโหลดความคิดเห็น