คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร
รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ทั้งรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดตั้งต้นให้เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความแตกต่างจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตยของตัวเองมาก่อน ส่วนเบลเยี่ยมนั้นก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคยเป็นอิสระและมีสถาบันกษัตริย์ของตัวเองมาก่อน แต่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาโดยตลอด
ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองที่น่าสนใจมาก เพราะก่อนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนเธอร์แลนด์ผ่านการปกครองแบบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐและสาธารณรัฐ และกลับมาเป็นเป็นราชาธิปไตย แต่ปกครองโดยชาวฝรั่งเศส และจากราชาอาณาจักรได้กลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียน และเปลี่ยนมาเป็นราชอาณาจักรและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังจากที่นโปเลียนแพ้ “สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก” (the Sixth Coalition War)
สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในหลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์
เมื่อเนเธอร์แลนด์ต้องปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บรรดาชนชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเตรียมการที่ว่านี้คือ
หนึ่ง สรรหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐหรือการสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้น
สอง การเตรียมร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
หลังจากที่กองทัพสหพันธมิตรครั้งที่หกได้ปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์จากฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลรักษาการของเนเธอร์แลนด์ได้อัญเชิญ วิลเลียม เฟรดริค (Willem Frederik) บุตรของวิลเลียมที่ห้าขึ้นเป็นกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ วิลเลียม เฟรดริคได้วางเงื่อนไขว่า พระองค์จะยอมรับเป็นกษัตริย์เนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อ เนเธอร์แลนด์จะต้องมี “รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution)
หลังจากที่ประชุมสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 มีนาคม หนึ่งวันต่อมา วิลเลียม เฟรดริคยอมรับที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ อันหมายความว่า พระองค์ทรงเห็นว่า รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นรัฐธรรมนูญ “ที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution)
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญานี้เป็นอย่างไร ?
เริ่มจากมาตรา 1 ที่เป็นมาตราที่ว่าด้วยอำนาจสูงสุด หรืออำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของเนเธอร์แลนด์ รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเนเธอร์แลนด์ได้กำหนดให้อำนาจอธิปไตยของเนเธอร์แลนด์เป็นของวิลเลม เฟรดริค และผู้สืบเชื้อสายของพระองค์
หากเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 อันเป็นธรรมนูญการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับแรกของไทย และเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทย จะพบว่า ในส่วนอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย ธรรมนูญการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับแรกของไทยกำหนดไว้ในมาตรา 1 ให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 กำหนดไว้ในมาตรา 2 ว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยทั้งสองฉบับในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) จะให้อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย “เป็นของ” และ “มาจาก” ประชาชน ในขณะที่รัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเนเธอร์แลนด์ในปี พ.ศ. 2357 (ค.ศ. 1814) กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ โดยฉบับแปลจากภาษาดัตช์เป็นภาษาอังกฤษ จะใช้คำว่า “ Sovereignty... belongs to Willem Frederik...”
และถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญนอร์เวย์ ค.ศ. 1814 อันเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของนอร์เวย์ จะไม่พบการกล่าวให้อำนาจสูงสุด “เป็นของ” หรือ “มาจาก” ประชาชนอย่างของไทย แต่จะกล่าวในมาตรา 3 ว่า ให้ “อำนาจบริหารเป็นของกษัตริย์” (The executive power shall be vested in the King.
หรือถ้าเทียบกับรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 (พ.ศ. 2352) ซึ่งได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์สวีเดน ก็มิได้กำหนดให้อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเชื่อมโยงกับประชาชน แต่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ว่า “พระมหากษัตริย์เท่านั้นที่จะปกครองราชอาณาจักรตามกฎของตราสารปกครองนี้ ยกเว้นในกรณีที่ได้บัญญัติไว้...”
หรือถ้าใครจะนึกถึงรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่หนึ่ง (ค.ศ. 1791) ฉบับที่สอง (ค.ศ. 1814) และฉบับที่สาม (1830) ของฝรั่งเศส ว่าอาจจะมีข้อความในรัฐธรรมนูญที่กล่าวว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หรือ “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
แต่เมื่อค้นดูรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสทั้งสามฉบับแล้ว พบว่า มีฉบับเดียวเท่านั้น คือ ฉบับ ค.ศ. 1791 ที่มีการใช้คำว่า อำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตย (sovereignty) และไม่ได้กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากปวงชน แต่อำนาจอธิปไตยเป็นของชาติ (appertains to the nation ดูมาตรา 1) และกล่าวว่า ชาติเท่านั้น คือแหล่งที่มาของอำนาจทั้งหลาย และชาติใช้อำนาจทั้งหลายนี้โดยตัวแทน (delegation) และกำหนดให้การปกครองเป็นการปกครองแบบตัวแทน และตัวแทนที่ว่านี้คือ สถาบันนิติบัญญัติและพระมหากษัตริย์ (ดูมาตรา 2)
ส่วนฉบับที่สอง (ค.ศ. 1814) แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำว่าอำนาจอธิปไตย (sovereignty) แต่มีการใช้คำว่า supreme authority (อำนาจสูงสุดอันชอบธรรมตามกฎหมาย) ในคำนำของรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อมโยงกับพระปรีชาของกษัตริย์ที่สอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชนอันจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มั่นคงสถาพร และกล่าวว่า อำนาจบริหารอยู่ที่กษัตริย์เท่านั้น (มาตรา 13) และกษัตริย์คือประมุขสูงสุดของรัฐ (มาตรา 14)ส่วนฉบับที่สาม (ค.ศ. 1830) ตัดข้อความ “supreme authority (อำนาจสูงสุดอันชอบธรรมตามกฎหมาย) ในคำนำของรัฐธรรมนูญ โดยเชื่อมโยงกับ พระปรีชาของกษัตริย์ที่สอดคล้องกับความปรารถนาของประชาชนอันจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มั่นคงสถาพร” ออกไป แต่ยังคงข้อความ “อำนาจบริหารอยู่ที่กษัตริย์เท่านั้น และกษัตริย์คือประมุขสูงสุดของรัฐ” แต่ขยับเป็นมาตรา 12 และ 13 แทน
ดังนั้น หากเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยทั้งสองฉบับในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) กับของฝรั่งเศส (ค.ศ. 1791), สวีเดน (ค.ศ. 1809), เนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1814), นอร์เวย์ (ค.ศ. 1814), ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1830) จะพบว่า รัฐธรรมนูญระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยมีความเป็น “ประชาธิปไตย” มากกว่าทั้งสี่ประเทศในยุโรปที่กล่าวไป หากข้อความของไทยที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” หรือ “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” บ่งบอกถึงความเป็นประชาธิปไตย
ถ้าการเขียนข้อความดังกล่าวในรัฐธรรมนูญบ่งบอกถึง “ความก้าวหน้า” ก็สามารถกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยฉบับแรกมี “ความก้าวหน้า” กว่ารัฐธรรมนูญพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศในยุโรปทั้งสี่ประเทศที่กล่าวไป
และข้อที่น่าสังเกตคือ ทั้งที่เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสได้เข้าสู่ความเป็นสาธารณรัฐมาก่อนหน้านั้น โดยเนเธอร์แลนด์เป็นสาธารณรัฐมาแล้วเป็นเวลาถึง 227 ปี (ค.ศ. 1579-1806) และแม้ว่าฝรั่งเศสจะเป็นสาธารณรัฐน้อยกว่าเนเธอร์แลนด์มาก แต่ก็เป็นช่วงเวลาของการปฏิวัติที่เข้มข้น แต่กระนั้น รัฐธรรมนูญของทั้งสองประเทศก็ยังไม่ “ก้าวหน้า” เท่ากับของไทยในปี พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) ที่ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของหรือมาจากปวงชน ทั้งๆ ที่เงื่อนไขสถานการณ์ความตื่นตัวของประชาชนไม่สามารถเทียบเท่าเงื่อนไขความตื่นตัวของประชาชนของเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสอีกทั้งสถาบันกษัตริย์ของไทยก็มิได้ถูกยกเลิกไปเหมือนของทั้งสองประเทศที่ต้องกลับมารื้อฟื้นขึ้นมาใหม่
ในการรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์ของฝรั่งเศสกลับคืนขึ้นมาใหม่ในปี ค.ศ. 1814 รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1814 ได้อธิบายว่า การรื้อฟื้นสถาบันกษัตริย์เป็นไปตามพระประสงค์และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า(Louis, by the grace of God, King of France and Navarre, to all those to whom these presents come, greeting. Divine Providence, in recalling us to our estates after a long absence, has laid upon us great obligations.)
ในกรณีของเนเธอร์แลนด์ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 ได้กำหนดให้ อำนาจอธิปไตยเป็นของ วิลเลม เฟรดริค “Sovereignty... belongs to Willem Frederik...” อันมีผลทำให้ เจ้าชายวิลเลม เฟรดริค ขึ้นเป็นพระเจ้าวิลเลม ที่หนึ่ง (William I of the Netherlands) กษัตริย์พระองค์แรกในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์
คำถามคือ ใครเป็นผู้มอบอำนาจและสถาปนาให้วิลเลม เฟรดริคเป็นกษัตริย์