นับเป็นเวลาถึง 45 ปีพอดี ที่ได้มีความพยายาม โดยอดีตปธน.จิมมี คาร์เตอร์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 1978 ในการเชิญประชุมชนิดปิดประตูห้ามสื่อมวลชนรบกวนการเจรจาตึงเครียดที่กินเวลา 13 วันระหว่างผู้นำ 3 คนคือ ปธน.คาร์เตอร์, ปธน.อันวาร์ ซาดัด แห่งอียิปต์ และนายกฯ เมนาเฮม เบกิน แห่งอิสราเอล จนสามารถจัดทำข้อตกลงแคมป์เดวิดเพื่อลดความรุนแรงที่เกิดการใช้กำลังอาวุธระหว่างอิสราเอล และเหล่าประเทศอาหรับที่ล้อมรอบอียิปต์ ตั้งแต่ 1948 ซึ่งเป็นปีที่มติ (อัปยศ) ขององค์การสหประชาชาติ เจ้ากี้เจ้าการยกดินแดนส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์ให้เป็นรัฐเอกราชใหม่ชื่อว่า “อิสราเอล” โดยการผลักดันใหญ่ของอังกฤษและสหรัฐฯ
มตินี้ได้รับการคัดค้านจากเหล่าประเทศอาหรับ จนมีการต่อสู้กันรอบใหญ่จากอียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย แต่ด้านกองกำลังและอาวุธสนับสนุนจากอังกฤษและสหรัฐฯ ทำให้เหล่าประเทศอาหรับต้องพ่ายแพ้ และชาวปาเลสไตน์ถึง 7 แสน 5 หมื่นคนต้องถูกบังคับไล่ยิงเพื่อขับไล่เจ้าของพื้นที่เดิม ให้พลัดพรากจากบ้านช่องเรือกนาไร่สวนของตน ให้กลายเป็นชาวปาเลสไตน์ผู้เร่ร่อน จำใจจากบ้านช่องของตนท่ามกลางการสูญเสียชีวิต และทรัพย์สินมหาศาลที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่า การสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งที่ 1 (หรือนักบาร์ 1) แล้วเมื่อเป็นผู้เร่ร่อน (homeless) ก็ต้องไปพักอาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพ (อย่างสิ้นเนื้อประดาตัว) ที่สหประชาชาติได้จัดตั้งขึ้นหลายแห่ง ทั้งในกาซาและรามาลาห์ (ฝั่งตะวันตกแม่น้ำจอร์แดน)
และเมื่อชาติอาหรับนำโดยอียิปต์, จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อขับไล่ยึดพื้นที่ปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอลในสงคราม 6 วัน ในปี 1967 ประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่ออังกฤษ, สหรัฐฯ ส่งทั้งเงิน, ทั้งกองกำลังและอาวุธเพียบมาช่วยอิสราเอล จนทำให้ชาวอาหรับพ่ายแพ้อีกครั้ง และเกิดการบังคับยึดพื้นที่ (forced evacuation) จากชาวอิสราเอล จนชาวปาเลสไตน์ต้องถูกยึดบ้านเรือนและสมบัติพัสถานที่ชาวปาเลสไตน์ถึง 3 แสนกว่าคน ต้องกลายเป็นผู้เร่ร่อนถูกบังคับให้ทิ้งบ้านเรือสมบัติของตน ที่เรียกว่านักบาร์ 2 (หรือการสูญเสียใหญ่ที่ 2) ต้องจำใจไปอยู่ค่ายผู้อพยพของยูเอ็นที่ขยายมาอยู่ในอียิปต์ และจอร์แดนเป็นล้านคนทีเดียว
ข้อตกลงแคมป์เดวิด จึงนับเป็นความพยายามอย่างจริงจังของปธน.สหรัฐฯ ครั้งแรกที่พยายามเป็นคนกลางในการหาทางสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
ซึ่งจบลงด้วยผู้นำอิสราเอล (นายกฯ เบกิน) ถูกนักศึกษาเคร่งศาสนาของอิสราเอลยิงทิ้งเพื่อแสดงการคัดค้านที่นายกฯ เบกินไปยอมลงนามในข้อตกลงร่วมกับผู้นำอียิปต์
ในวันนั้น นายกฯ เนทันยาฮูเป็นหนึ่งในผู้นำที่อยู่ตรงข้ามกับนายกฯ เบกิน และได้ทำการปลุกปั่นให้ลงโทษเบกินให้จงได้ ซึ่งการยุยงปลุกปั่นของเขาทำให้นายกฯ เบกินถูกยิงตาย
ส่วนอันวาร์ ซาดัด ก็ถูกลอบวางระเบิดเสียชีวิตกลางพิธีสวนสนามของกองทัพ ซึ่งน่าจะเป็นจากฝ่ายอาหรับที่ไม่พอใจที่เขาไปลงนามร่วมกับนายกฯ อิสราเอลเช่นกัน
การใช้กำลังปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ยังเกิดอีกหลายครั้ง ซึ่งเกิดการสูญเสียชีวิตทั้งสองฝ่ายตลอดมา
การเกิดขบวนการฮามาสในปี 1987 ที่ก่อรูปร่างเป็นกองกำลังติดอาวุธ ซึ่งต่อมามีนายHahya Sinwar ได้เป็นผู้ฝักใฝ่เข้าขบวนการจนถูกจับจากอิสราเอล; ติดคุกอยู่ 23 ปี และได้รับปล่อยตัวออกมาจากการแลกเปลี่ยนนักโทษเมื่อปี 2011 นี้เอง…และปฏิบัติการ 7 ตุลาคม (ปฏิบัติการน้ำท่วมไหลบ่าจากมัสยิดอัลอักซอ) เป็นแผนการอันแยบยลจากเขาที่วางแผนรุกอย่างหนัก ระดมขีปนาวุธและเครื่องร่อนเป็นหมื่นนัดเข้าใส่อิสราเอลพร้อมจับคนอิสราเอลมาเป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองให้อิสราเอลปล่อยชาวปาเลสไตน์ในคุกของอิสราเอลที่มีอยู่เกือบ 1 หมื่นคนในปัจจุบัน (ส่วนใหญ่เป็นผู้เยาว์ที่ถูกจับเมื่ออายุ 14-15 ปี และใช้ “ก้อนอิฐ” เป็นอาวุธเพื่อทำร้ายทหารอิสราเอล)
ความพยายามของอดีตปธน.คลินตัน ที่จัดประชุมเพื่อสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและเหล่าประเทศอาหรับ (รวมถึงปาเลสไตน์) ในปี 1993 (ครบรอบ 30 ปีพอดี) ก็เป็นความพยายามจัดให้มี 2 รัฐอยู่คู่กัน...เพราะจนถึงขณะนี้ก็มีเพียงรัฐเดียวคือ อิสราเอล ที่ได้รับการอุ้มชูจากสหรัฐฯ, อังกฤษ รวมทั้งหลายประเทศในสหภาพยุโรปด้วย...ก็ไม่สามารถทำให้ปรากฏมีรัฐปาเลสไตน์เกิดขึ้นได้
มีแต่คำพูดเหมือนแผ่นเสียงตกร่องว่า ทางออกคือ “2 รัฐ” ตั้งอยู่เคียงข้างกัน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น
แน่นอนว่า ตราบเท่าที่ฝ่ายบริหาร (รัฐบาลของนายกฯ ขวาจัดแบบเนทันยาฮูยังปกครอง) เขาได้ประกาศว่า ดินแดนจากแม่น้ำจอร์แดนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต้องอยู่ใต้ปกครองของ “ยิว” แต่เพียงชาติเดียว จนขณะนี้มีความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปาเลสไตน์ให้สิ้นชาติพันธุ์กันไปเลย จนขนาดอดีตรมต.ต่างประเทศสหรัฐฯ นางฮิลลารี คลินตัน เพิ่งออกมาแสดงความเห็นว่า “ทางออก 2 รัฐ” จะเกิดขึ้นไม่ได้ ตราบเท่าที่นายกฯ เนทันยาฮูยังเป็นนายกฯ และฝ่ายฮามาสยังปกครองกาซาอยู่)
ขณะที่นายโจเซฟ บอร์เรลล์ (ผู้ดูแลกิจการต่างประเทศของสหภาพยุโรปขณะนี้) ได้ออกมาแถลงอย่างเข้มแข็งว่า จะต้องทำให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ให้ได้พร้อมอาณาเขตแจ่มชัด เพื่อเกิดสันติภาพในดินแดนปาเลสไตน์
ขณะที่จีนและรัสเซียก็กำลังผลักดันไปสู่แผนครั้งนี้ รวมทั้งปธน.ไบเดนเอง ที่ปล่อยเวลามาถึง 40 กว่าปี (ตลอดช่วงเป็น สว.) ก็ดูจะไม่สามารถต้านมติชาวโลก ที่ต้องการให้เกิดรัฐปาเลสไตน์อย่างจริงจังขึ้นให้ได้
วิกฤตย่อมสร้างโอกาส และการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์ครั้งนี้ถึงเกือบ 15,000 คน ทั้งสูญหายและพิการอีกหลายหมื่นคน (รวมทั้งชาวยิวที่ตายไป 1,200 คนในเช้าวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม) อาจทำให้เกิดความพยายามจากหลายๆ ฝ่ายให้เกิดรัฐปาเลสไตน์ขึ้นเสียที
แม้จะยากเย็นเท่าใด แต่ก็ไม่เคยมีมติจากชาวโลกเด่นชัดเช่นในครั้งนี้ รวมทั้งจากชาวอิสราเอลที่ไม่เห็นด้วยกับการฆ่าแกงชาวปาเลสไตน์แบบที่เนทันยาฮูกำลังทำอยู่