โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน
ชูชูกิและซูมิโอะ ฟูกามิ (Sumio Fukami 深見純生) สันนิษฐานว่าประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ซัน-โฝ-ฉี (สัม-พุท-เชย) ย้ายศูนย์กลางไปอยู่ที่เคดาห์บนแหลมมลายูเนื่องจากจารึกหลายแผ่นของโจฬะระบุว่ามหาราชาไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์
มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะ (พ.ศ.1531-1547) พงศาวดารซ่งสือ (宋史) เรียกว่าพระองค์ว่า ซิ-เถี่ย-จิ่ว-ลา-มยู-เนย์-พุท-แม-เตว-แฮว (思离咮囉无尼佛麻调华ซื่อ-หลี-จู่-หลัว-อู๋-หนี่-โฝ-หม่า-เตี้ยว-หัว) และพระนามพระองค์ปรากฏในจารึกพระเจ้าราชราชาโจฬะที่ 1 ในเทวาลัยพฤหัตเทศวรที่ธันจาวูร์ พ.ศ.1587 พระองค์ขึ้นครองราชย์ที่จัมบิเป็นมหาราชาแห่งสมาพันธรัฐศรีวิชัยตามจารึกแผ่นทองแดงที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆนี้บริเวณมัวร่าจัมบิ พระองค์มีพระปรีชาสามารถทั้งด้านการทหารและการทูตจนมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือเนื่องจากพระนามของพระองค์ถูกบันทึกในพงศาวดารจีน จารึกโจฬะที่อินเดียใต้ และหนังสือของทิเบต แต่พระองค์ต้องเผชิญการรุกรานจากพระเจ้าธรรมวงศ์แห่งอาณาจักรเมดังในเกาะชวา
หลังจากที่พระองค์ขึ้นครองราชย์พระองค์ได้ส่งราชทูตไปที่เปี้ยนจิงหรือไคฟงในสมัยจักรพรรดิซ่งไท่จงถึง 3 ครั้งระหว่างปี พ.ศ.1531-1533 เพื่อตอบแทนจีนที่ส่งทูตมาเมื่อปี พ.ศ.1530 ในปีพ.ศ.1533 พระเจ้าธรรมวงศ์ได้ส่งกองทัพเรือเข้ามารุกรานและพยายามโจมตีเมืองปาเล็มบังและจัมบิตลอดเวลาจนพระองค์ต้องย้ายไปประทับที่เคดาห์ในช่วงปีท้ายๆของการครองราชย์เพราะจารึกทองแดงเลย์เดนแผ่นใหญ่ระบุว่าราชวงศ์ไศเลนทร์อยู่ที่เคดาห์ ซึ่งราชสำนักซ่งได้บันทึกเหตุการณ์นี้เอาไว้ว่าราชทูตปู่-อิก-ตา (蒲抑陀ผู่-หยี่-ถัว) ที่มาในปีพ.ศ.1533 เดินทางกลับประเทศไม่ได้เพราะสมาพันธรัฐศรีวิชัยถูกเจีย-บัว (闍婆เฉ-โผหรือตู่-โผ) คือชวาหรือเมดังโจมตีต้องกลับมาที่จีนในปีพ.ศ.1536 ในปีพ.ศ.1535 ราชทูตจากเจีย-บัวของพระเจ้าธรรมวงศ์แห่งเมดังเดินทางมายังจีนเพื่ออธิบายต่อจักรพรรดิซ่งไท่จงว่าเจีย-บัว กำลังทำสงครามกับสัม-พุท-เชย (三佛齐ซัน-โฝ-ฉี) โดยส่งบรรณาการมาคืองาช้าง ไข่มุก หวาย นกกระตั้ว ผ้าฝ้าย กระดองเต่า กานพลูและอื่นๆ ในปีพ.ศ.1542 ราชทูตจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยพยายามเดินทางกลับบ้านเกิดแต่เมื่อเดินเรือถึงอาณาจักรจามปาก็ไม่ได้รับข่าวจากบ้านเกิดจึงเดินทางกลับจีนกราบทูลขอร้องให้จักรพรรดิซ่งเจิ้นจง (พ.ศ.1540-1565) ช่วยปกป้องสมาพันธรัฐศรีวิชัยจากการรุกรานของชวาด้วย ทำให้ทูตจากเมดังไม่ได้เข้าเฝ้าจักรพรรดิจีนจนถึงปีพ.ศ.1652 ซึ่งแสดงว่าจีนให้ความสำคัญกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยมาก
ในปี พ.ศ.1544 พงศาวดารซ่งสือ(宋史) บันทึกว่าทา-ซิ๊ว-กี่ (多須机ตั้ว-ซื่อ-จี๊) แห่งเมืองตามพรลิงค์ในชื่อทัน-มีย์-ลิว (丹眉流ตั๊น-เหม่ย-หลิว) ส่งราชทูตอิสระ 9 คนไปจีนในสมัยจักรพรรดิซ่งเสิ่นจงพร้อมด้วยไม้จันทน์หอม 10,000 ท่อน พงศาวดารซ่งสือระบุชื่อทูตคือแทง-กยิต-แม (打吉马ท่า-จี่-หม่า) แทง-ลับ (打腊ท้า-หล่า) และบเจ-เน่ย (皮泥ผี-นี่) แต่พงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่า (宋会要) เรียกว่าว่าทัน-มีย์-ลิว (丹流眉ตั๊น-หลิว-เหมย) ตามที่เคยเรียกในปีพ.ศ.1514 และระบุชื่อทูตคือแทง-คู-แม (打古马ท่า-กู่-หม่า) และชัท-บเจ-เน่ย (刹皮泥ฉา-ผี-นี่) เนื่องจากอาณาจักรในเกาะชวารุกรานศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง พงศาวดารซ่งสือบันทึกว่าในปีพ.ศ.1546 มหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะทรงส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิซ่งเจิ้นจงเพื่อขอความคุ้มครองจากจีนเนื่องจากถูกอาณาจักรในเกาะชวารุกราน ทรงให้ราชทูตกราบทูลจักรพรรดิซ่งเจิ้นจงว่า สมาพันธรัฐศรีวิชัยกำลังสร้างวัดใหม่ในนครหลวงเพื่อถวายพระพรให้จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงมีพระชนม์มายุยิ่งยืนนาน ขอให้จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงทรงพระราชทานนามวัดและพระราชทานระฆังประจำวัดด้วย จักรพรรดิซ่งเจิ้นจงทรงโสมนัสแล้วจึงทรงพระราชทานนามวัดว่า เฉิงเทียนว่านโช้ว (承天万寿) แปลว่า “วัดสวรรค์ประทานหนึ่งหมื่นปี” และพระราชทานระฆังที่มีอักษรจีนเขียนสลักอยู่ในเนื้อเหล็กแก่วัดด้วย บูคารี สลาเม็ต มูลยานาและโมฮาหมัด ยามินเชื่อว่าระฆังนี้แขวนอยู่ที่วัดในมัวร่า ตากุส เพื่อหลบหลีกการรุกรานบ่อยครั้งของเมดังพระองค์ย้ายไปประทับที่เคดาห์ตามจารึกโจฬะที่ระบุว่ามหาราชาแห่งไศเลนทร์ประทับอยู่ที่เคดาห์ (คฑารัมหรือคะฑะหะ) ดังนั้นระฆังนี้น่าจะอยู่ที่เคดาห์
ในที่สุดมหาราชาศรีจุฑามณีวรมะเทวะสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.1548 หลังจากที่ต้องกรำศึกกับพระเจ้าธรรมวงศ์แห่งอาณาจักรเมดังมาตลอดรัชสมัยพระองค์มีชื่ออยู่หนังสือบุซนภาษาทิเบตด้วย ในยุคนี้พระองค์จึงย้ายจากปาเล็มบังไปประทับที่เคดาห์บนแหลมสมุทรมลายูเพื่อหลบการโจมตีของอาณาจักรเมดังเพราะในจารึกโจฬะหลายแผ่นระบุว่ามหาราชาแห่งศรีวิชัยอยู่ที่คฑารัมหรือคฑะหะซึ่งก็คือเคดาห์นั่นเอง ในช่วงนี้นักเดินเรือศรีวิชัยได้เดินทางไปแสวงหาโลหะคุณภาพดีที่โซฟาลาที่ประเทศโมซัมบิกในปัจจุบัน และเกาะมายอตในหมู่เกาะโคโมโร่ส์นอกชายฝั่งระหว่างโมซัมบิกกับเกาะมาดากัสการ์ เครือข่ายทางการค้ายังเจริญรุ่งเรือง
เอกสารอ้างอิง
Duarte, Ricardo Teixeira. 2012. "Maritime History in Mozambique and East Africa: The Urgent Need for the Proper Study and Preservation of Endangered Underwater Cultural Heritage." Journal of Maritime Acheology 7: 63-86.
Fukami Sumio 深见纯生. 1987. "Reexamination of San-fo-ch'i: Change of Perspective of the Study on Early History of the Western Part of Insular Southeast Asia." Japanese Journal of Southeast Asian Studies 25 (2): 205-232.
Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.
Kumar, Ann. 2011. "The Single Most Astonishing Fact of Human Geography: Indonesia's Far West Colony." Indonesia 92: 59-95.
Kumar, Ann. 2012. "Dominion over Palm and Pine; Early Indonesia's Maritime Reach." In Anthony Reid and the Study of the Southeast Asian Part, by Geoff Wade and Tina Li, 101-112. Singapore: ISEAS.
Ninny Susanti Tejowasono, Ni Ketut Puji Astiti Laksmi, Wahyu Rizky Andhifani, Hedwi Prihatmoko, Lisda Meyanti, Chumatin Nasoichah, Dodi Chandra and Dara Minanda. 2019. Prasasti Timah di Indonesia: Katalog Prasasti Timah di Sumatra.Jakarta: Pusat Penelitian Arkeologi Nasional
Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.
Tulku, Ringu, and Ann Helm. 2006. The Ri-Me Philosophy of Jamgon Kongtrul the Great: A Study of the Buddhist Lineages of Tibet. Boston, MA: Shambala Publications.
Wolters, Oliver Williams. 2002. "Tambralinga." In Classical civilization of Southeast Asia, by Vladimir Braginsky. London: RoutledgeCurzon.