ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แรงสั่นสะเทือนจากการเปิดปฏิบัติการ 1027 หรือ Operation 1027 ของ “กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง” ซึ่งมี “จีนแดง” หนุนหลังเพื่อให้ช่วยล้าง “ทุนจีนสีเทา” ในเขตรัฐฉานตอนเหนือติดชายแดนจีน ทำเอาแผ่นดินเมียนมาเวลานี้แตกเป็นเสี่ยงสู่ยุคสามก๊ก คือ กองทัพของรัฐบาลทหาร กองทัพชาติพันธุ์ซึ่งมีอยู่หลายกลุ่ม และอีกหนึ่งคือกองกำลังพิทักษ์ประชาชน
อาชญากรรมและการสู้รบในฝั่งเมียนมาร้อนระอุที่อยู่ทางโน้น แต่หนาวสะท้านมายังฝั่งไทยที่อยู่ทางนี้ เพราะไม่เพียงคนไทยที่ถูกล่อลวงไปทำงานให้กับกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ “จีนเทา” เท่านั้นที่หนีตายกันออกมาจ้าละหวั่นพร้อมกับคนต่างชาติอื่น ๆ แต่การทำธุรกิจผิดกฎหมายตามแนวตะเข็บชายแดนจีน-พม่า และพม่า-ไทย พลอยฟ้าพลอยฝนทำให้ภาพพจน์ประเทศไทยเสียหาย กลายเป็น “ไทยแลนด์ แดนแห่งสแกมเมอร์” ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนหนึ่งงดเดินทางมาเที่ยวไทยเพราะห่วงความปลอดภัยเกรงถูกล่อลวง กระทั่งประเทศไทยหลุดอันดับประเทศจุดหมายปลายทางยอดนิยมในปีนี้
ตามรายงานผลสำรวจมุมมองการเดินทางของชาวจีน ของ “ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์” ซึ่งเป็นบริษัทด้านการตลาดในจีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่าไทยและญี่ปุ่นซึ่งเคยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับต้น ๆ ของนักเดินทางชาวจีนเมื่อช่วงต้นปีนี้ ได้หล่นชั้นลงมาในไตรมาส 3/2566 โดยไทยร่วงสู่อันดับ 6 ญี่ปุ่นร่วงสู่อันดับ 8 ตามหลังเกาหลีใต้ มาเลเซีย ออสเตรเลีย โดยสิงคโปร์ขยับขึ้นรั้งอันดับ 1 หลังถูกยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักเดินทางประจำปี 2566
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประเมินว่า มีการหลอกลวงคนนับแสนเข้าไปทำงานเกี่ยวกับ “แก๊งสแกมเมอร์” เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณพรมแดนนอกประเทศไทย ทั้งในกัมพูชา ลาว และเมียนมา พื้นที่เหล่านี้มีทั้งปัญหาสแกมเมอร์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ โดยเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน ไต้หวัน และละตินอเมริกา
กล่าวได้ว่า ขบวนการอาชญกรรมข้ามชาติทุนจีนสีเทา สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับรัฐบาลกรุงปักกิ่งอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนพม่า-จีน ซึ่งก่อนหน้านี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน นายฉิน กัง ที่มาเยือนเนปิดอร์ เมืองหลวงของเมียนมาร์ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 เอ่ยปากขอให้รัฐบาลทหารพม่าปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มจีนเทาที่อยู่ตามแนวชายแดน แต่รัฐบาลทหารพม่า ก็ไม่สามารถจัดการปัญหาได้ เพราะส่วนหนึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ของกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่าหรือที่รู้จักกันดีในชื่อภาษาพม่าว่า ตัดมาดอว์ (Tatmadaw)
เมื่อตัดมาดอว์เพิกเฉยต่อคำร้องขอ ทางปักกิ่งจึงหนุนหลัง “กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง” (Brotherhood Alliance) ซึ่งประกอบด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army - MNDAA) หรือกองทัพโกกั้ง กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army - TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army - AA เปิดฉากสงครามในรัฐฉานเหนือสู้รบกับกองกำลังทหารเมียนมา
เพียงชั่วระยะเวลาเพียง 3 สัปดาห์หลังจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง เปิดปฏิบัติการ 1027 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 เพื่อโจมตีฐานที่มั่นของตัดมาดอว์ในพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และบางส่วนของภาคสะกายและมัณฑะเลย์ มีรายงานว่า กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง สามารถยึดเมืองสำคัญที่กองทัพพม่าเคยปกครองมาหลายทศวรรษได้ถึง 9 เมือง พร้อมด้วยฐานที่มั่นของตัดมาดอว์อีกมากกว่า 100 ฐาน
มีรายงานว่า นักรบของกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์และฝ่ายต่อต้านที่เข้าทำสงครามคราวนี้น่าจะมากถึง 20,000 คน โดยพันธมิตรพี่น้องที่ร่วมปฏิบัติการครั้งนี้ ประกอบด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่า (Myanmar National Democratic Alliance Army) กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) และ กองทัพอาระกัน (Arakan Army) เป็นหัวหอกในการวางแผน ประสานงานและปฏิบัติการโจมตีในคราวนี้
นอกจากนั้น ยังมีกองกำลังของชนชาติพม่า เช่น กองทัพปลดปล่อยชาวพม่า (Bama Peoples Liberation Army) กองทัพปลดปล่อยของชาวคอมมิวนิสต์ (Communist People’s Liberation Army) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนมัณฑะเลย์ กองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (People's Defence Forces : PDFs) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยนักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นหลังจากเหตุการณ์การปราบปรามการประท้วงอย่างสันติเมื่อปี 2021 พร้อมด้วยกองกำลังของกองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independent Army) ก็เข้าร่วมปฏิบัติการ 1027 ด้วย
สำนักข่าว อิรวะดี รายงานว่า ผลของการปฏิบัติการในระยะ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านสามารถบุกยึดเมืองสำคัญได้หลายเมือง เช่น ชินฉ่วยห่อ ปองไส โมนีโกเอ น้ำคำ ขุนลอง กอลิง คำพัต และ รีกอดา ซึ่งเคยอยู่ในการปกครองของตัดมาดอร์มานาน เช่น ขุนลอง เป็นเมืองที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอล่าเซี่ยว รัฐบาลทหารพม่าใช้เมืองนี้เป็นประตูผ่านไปสู่เขตปกครองพิเศษโกกั้งมาตั้งแต่พม่าได้เอกราชเมื่อปี 194
ทั้งนี้ เมืองน้ำคำ เป็นเมืองสำคัญของการค้าชายแดนระหว่างจีนและพม่าที่อยู่ในเขตมูเซที่ตัดมาดอว์เคยปกครองมาอย่างยาวนานเช่นกัน สำหรับปองไสและโมนีโกเอ เคยอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์มาก่อน แต่ตัดมาดอว์ ยึดได้และปกครองมาตั้งแต่สมัยตันฉ่วย
นอกจากนี้ กองกำลังของฝ่ายต่อต้านยังสามารถยึดบางส่วนของเกียวกก อีกทั้งยังสามารถควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างจีนและพม่าคือเส้นทางระหว่างล่าเซี่ยว-มูเซ และ ล่าเซี่ยว-ชินฉ่วยห่อ ส่วนเป้าหมายต่อไปคือการยึดเมืองเล้าก่าย ซึ่งเป็นศูนย์กลางอาชญากรรมและคอลเซ็นเตอร์ของกลุ่มทุนจีนสีเทาทั้งหลายที่มีชาวต่างชาติรวมทั้งคนไทยถูกล่อลวงไปทำงานเป็นจำนวนมาก
รัฐบาลทหารพม่าโต้ตอบปฏิบัติการครั้งนี้ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ในเมืองสำคัญ 8 แห่งได้แก่ กุตก่าย ขุนลอง น้ำคำ มูเซ ล่าเซี่ยว แสนหวี กงยานและ เล้าก่าย โดยมอบอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมสถานการณ์ให้กับแม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับพื้นที่รัฐฉานเหนือ เป็นเขตที่อยู่ติดกับชายแดนจีน และเป็นเขตปกครองพิเศษของกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาจีนอย่างโกกั้ง หรือเรียกสั้นๆ ว่าเขตปกครองตนเองโกกั้ง มีเมืองเล้าก่าย เป็นเมืองเอก ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของธุรกิจจีนเทานั้น พื้นที่ดังกล่าว ทาง MNDAA เคยยึดครองมาก่อน แต่ถูกคนในกลุ่มร่วมมือกับกองทัพเมียนมายึดอำนาจและขับไล่ให้ไปอยู่ในเขตจีน ต่อเมื่อทางการจีนปราบปรามแก๊งอาชญากรรม เพราะส่งผลกระทบต่อชาวจีนและชนชาติอื่น ๆ MNDAA จึงขันอาสานำกำลังเข้าปราบปราม นัยหนึ่งเป็นการถือโอกาสยึดพื้นที่กลับคืนมา และกดดันให้มีการจับกุมแกนนำโกกั้งที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่จีนที่แฝงตัวเข้าไปปราบทุนจีนเทา
มีเรื่องเล่าจาก “จินนี่” ยูทูบเบอร์ลูกหลานอดีตทหารจีนก๊กมินตั๋ง (กองพล 93 ซึ่งเกิดและทำงานในไทยแต่ย้ายไปอยู่กับสามีที่สหรัฐอเมริกา ถึงเบื้องหลังศึก 4 ตระกูลแห่งรัฐฉานเหนือ ผ่าน “ชีวิตในอเมริกา By J Channel” อธิบายถึงสาเหตุที่กองกำลังพันธมิตรได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับทหารรัฐบาลเมียนมา โดยเธอบอกว่าสื่อจีนรายงานว่า สาเหตุของการสู้รบเกิดจากคนใน 4 ตระกูลดัง คือ ตระกูลไป๋ ตระกูลหลิว ตระกูลเว่ย และตระกูลหลิว (ชื่อซ้ำกัน) ได้ยึดอำนาจการปกครองไปจากผู้ปกครองเดิม คือ นายเผิง จา เชิง ซึ่งได้เสียชีวิตเมื่อปี 2565 และส่งต่ออำนาจให้กับบุตรชายคือ นาย เผิง เต๋อ เหยิน หรือ เผิง หย่ง เซิ่น
เรื่องของเรื่องคือ นายเผิง จา เชิง ต้องการเปลี่ยนพื้นที่โกกั้งให้เป็นธุรกิจสีขาวและส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงทำให้คนใน 4 ตระกูลดัง ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าของนายเผิง จา เชิง หันไปร่วมมือกับทหารเมียนมา บุกเข้ายึดอำนาจได้ในที่สุด ซึ่งคนใน 4 ตระกูลดังกล่าวยังเป็นพันธมิตรกับคนในตระกูลหมิง ที่ประกอบธุรกิจสีเทาในเขตโกกั้งด้วย เมื่อ 4 ตระกูลดังร่วมกับทหารพม่าร่วมกันยึดอำนาจได้ทำให้นายเผิง จาเชิง และ นายหง เต๋อ เหยิน พากองกำลังไปตั้งฐานอยู่ในป่าเขาแทน
ต่อมา ทางการจีนได้ขอความร่วมมือมายังประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพราะส่งผลกระทบต่อชาวจีนที่ถูกหลอกไปทำงาน ทางรัฐบาลทหารเมียนมา ให้ความร่วมมือกับทางการจีนกวาดกล้างอาชญากรรม คอลเซ็นเตอร์ ธุรกิจผิดกฎหมาย ในพื้นที่ท่าขี้เหล็กและเมียวดี ซึ่งเป็นแหล่งใหญ่สามารถช่วยชาวจีนที่ถูกหลอกกลับประเทศได้ถึง 3,000-4,000 คน แต่ปรากฏว่าในเขตปกครองตนเองโกกั้งที่ปกครองโดย 4 ตระกูลดังและมีความสัมพันธ์กับคนในตระกูลหมิง ไม่ให้ความร่วมมือ ทางการจีนจึงส่งสายลับตำรวจเข้าไปในเขตดังกล่าว 4 คน และเมื่อพบการเคลื่อนย้ายเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สายลับที่แฝงตัวในกลุ่มเหยื่อจึงแสดงตัวว่ามาจากทางการจีนและขอให้ยุติการเคลื่อนย้าย สุดท้ายสายลับทั้ง 4 คน กลับถูกฆ่าฝังทั้งเป็น
ข่าวสารจากประเทศจีน ยังระบุอีกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นาย หง เต๋อ เหยิน ขันอาสานำกำลังเข้าไปปราบปรามแก๊งอาชญากรรมให้กับทางการจีน และขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ โดยนำกำลังบุกเข้าไปในเขตปกครองตนเองโกกั้ง ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน เพื่อหวังชิงอำนาจคืน ขณะเดียวกันทางการจีน ยังประกาศให้รางวัลหมายจับผู้นำของตระกูลหมิงและครอบครัว เป็นเงินจำนวน 100,000-500,000 หยวน อีกด้วย
ชัยชนะ (ชั่วคราว) ของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง และกองกำลังพิทักษ์ประชาชนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ จุดประกายความหวังและจินตนาการไปไกลว่าการลุกฮือปฏิวัติจะสามารถล้มล้างระบอบทหารของมิน อ่อง หล่าย ให้ถึงกาลล่มสลายได้ในไม่ช้า แต่ความจริงอีกด้านที่ว่ากองกำลังเหล่านี้หาได้มีเอกภาพเป็นเนื้อเดียวกัน ขณะที่การนำของรัฐบาลทหารของมิน อ่อง หล่าย ยังเข้มแข็งอยู่มาก สามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ เมืองหลวง เนปิดอว์ และย่างกุ้ง ศูนย์กลางธุรกิจเอาไว้ได้ ศึกสงครามครั้งนี้อาจทำให้กลุ่มชาติพันธุ์พันธมิตรพี่น้อง ควบคุมพื้นที่ในเขตรัฐฉานตอนเหนือได้มากยิ่งขึ้น แต่จะไปถึงโค่นล้มระบอบทหารของมิน อ่อง หล่าย คงอีกยาวไกล
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม สงครามในฝั่งเมียนมา พาให้ชะตาชีวิตคนไทยที่ถูกล่อลวงและเข้าไปทำงานในเขตพื้นที่ที่เกิดการสู้รบต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตาย โดยคนไทยที่ไปทำงานในเมืองหนานเติ้งและเมืองเล้าก่าย เขตปกครองตนเองโกกั้ง ที่ต้องหนีตายจากภัยสงคราม ทางกองทัพบก มูลนิธิอิมมานูเอล (IMF Thailand) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานกับทางการเมียนมาให้การช่วยเหลือคนไทยกลับประเทศผ่านมาทางอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เมื่อคืนวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 41 คน และพาข้ามแดนเข้าจีนเพื่อขึ้นเครื่องบินจากเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน มายังท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา อีก 266 คน ส่วนอีก 24 คน ได้รับการช่วยเหลือออกจากเมืองปางซาง เขตปกครองพิเศษที่ 2 (สหรัฐว้า) และส่งให้กับทหารเมียนมาที่จังหวัดเชียงตุง ในค่ำวันที่ 22 พฤศจิกายน เพื่อนำกลับประเทศไทยผ่านจุดผ่านแดนถาวร จังหวัดท่าขี้เหล็ก ติดกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
สำหรับคนไทยจำนวน 41 คนที่ถูกส่งกลับมาก่อนหน้านี้ ได้รับการตรวจสอบและคัดกรองบุคคลจากเจ้าหน้าที่ โดยได้แบ่งเป็นกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายและถูกหลอกให้ไปทำงาน จำนวน 20 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 9 คน ส่วนกลุ่มผู้กระทำความผิด 19 คน เป็นชาย 11 คน และหญิง 8 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปเปรียบเทียบปรับที่ สภ.เมืองเชียงราย ขณะที่กลุ่มที่มีหมายจับได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุตามกฎหมายต่อไป
สงครามการสู้รบในเมียนมาที่สื่อท้องถิ่น ทั้ง The Kokung, Tachileik News Agency ฯลฯ รวมทั้งสื่อต่างประเทศ นำเสนอข่าวและภาพการยึดพื้นที่ ยึดอาวุธ และการอพยพหนีตายของผู้คนอย่างต่อเนื่องติดต่อกันมานับเดือน สร้างความหวาดหวั่นให้กับนักท่องเทียวชาวจีนที่คำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่ง ทำให้การเดินทางมาเยือนไทยของนักท่องเที่ยวจีนอาจหลุดเป้าหมายในปีนี้ที่ตั้งไว้ 5 ล้านคน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยกว่า 2.2 ล้านคนเท่านั้น จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวไทยตั้งแต่ต้นปีรวม 17.8 ล้านคน
ถือเป็นโจทย์ใหญ่ข้ามปีที่รัฐบาลต้องคิดหนักและต้องเร่งหาทางแก้ไขเพื่อฟื้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจีนกลับคืนมา เช่นเดียวกันกับชะตาชีวิตคนไทยที่ถูกล่อลวงไปทำงานให้กับขบวนการอาชญากรรมจีนเทา ซึ่งยังไม่รู้ว่ามีอีกกี่มากน้อย ก็เป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องเร่งมือช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วน