ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นปัญหาเรื้อรังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย สำหรับกรณีความขัดแย้งระหว่างสถาบันของกลุ่มนักศึกษาอาชีวะ เปิดศึกแห่งศักดิ์ศรีสู่เหตุการณ์นองเลือด “จ่อยิงคู่อริ” โดยกระทำการอุกอาจกลางเมือง เป็นเหตุให้คนบริสุทธิ์ถูกลูกหลงล้มตาย และที่ต้องจับตารูปแบบการก่อเหตุยุคนี้ไม่ใช่เหตุนักศึกอาชีวะไล่ตีไล่ยิงกันธรรมดาๆ แต่เป็นการวางแผนก่อเหตุเจตนาจงใจฆ่า!
เหตุจ่อยิงนักศึกษาอาชีวะใจกลางเมืองครั้งล่าสุด เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. 2566 เป็นเหตุให้ครูสาวโรงเรียนพระหฤทัย คอนแวนต์ ถูกลูกหลงเสียชีวิต นับเป็นเหตุการณ์สะเทือนใจผู้คนสังคม ทำให้หันมาตระหนักถึงเหตุขัดแย้งระหว่างสถาบันอาชีวะที่เป็นอาชญกรรมรุนแรงเป็นภัยใกล้ตัวคนในสังคม อีกทั้งประเด็นการครอบครองอาวุธของกลุ่มคนร้ายผู้ก่อเหตุ ยังสะท้อนความล้มเหลวการทำงานของรัฐไทย
เหตุการณ์แรก เกิดเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 กับเหตุจ่อยิงนักศึกษาอุเทนถวาย ย่านคลองเตย ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัสก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้มี “ครูเจี๊ยบ” ศิรดา สินประเสริฐ ครูโรงเรียนพระหฤทัย คอนแวนต์ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกลูกหลงโดนกระสุนเจาะเข้าบริเวณสำคัญและเสียชีวิต
มีการสันนิฐานมูลเหตุจูงใจอาจเป็นเรื่องศักดิ์ศรีระหว่างสถาบัน แต่อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เรื่องการสร้างสถานการณ์จากผู้ไม่ประสงค์ดี เนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรืออุเทนถวาย เกิดข้อพิพาทเรื่องย้ายออกจากพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเป็นประเด็นร้อนอยู่ในห้วงเวลาที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการให้ใช้มาตรการเด็ดขาด เร่งรัดการสืบสวนและจับกุมคนร้ายโดยเร็ว เนื่องจากเป็นคดีอุกฉกรรจ์เป็นที่สนใจของประชาชน อีกทั้งคนร้ายมีจิตใจโหดเหี้ยมลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมแบบมือปืน โดยหลังจากเปิดปฏิบัติการปิดเมืองล่ามือยิงครูเจี๊ยบล่วงเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ ชุดสอบสวนเผยคนร้ายทิ้งจุดหลอกล่อให้เข้าใจผิดหรือหลงประเด็น และเปลี่ยนสีรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของคนร้ายทั้งหมด และมีคนร้ายอีกหลายคนให้การช่วยเหลือก่อเหตุดังกล่าว
ต่อมา ทางทีมวิเคราะห์เส้นทางหลบหนี เปรียบเทียบข้อมูลแผนประทุษกรรมกลุ่มบุคคลในเครือข่ายก่อนหน้าเพื่อเชื่อมโยง พบมีลักษณะก่อเหตุของคนร้ายคล้ายคลึงกัน คนร้ายแบ่งขั้นตอนวางแผนดูเส้นทางเข้าที่เกิดเหตุ เส้นทางหลบหนี ที่พักคอย จุดเปลี่ยน และตระเตรียมจุดที่ลงมือ พบพยานหลักฐานยืนยันกลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มคู่อริมีผู้ร่วมขบวนการไม่ต่ำกว่า 5 คน สืบทราบแหล่งเซฟเฮาส์อีก 4 แห่ง วงศ์สว่าง 19 เป็นเซฟเฮาส์ทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด 8 ราย พร้อมของกลางจำนวนมาก
ผู้ต้องหาในคดีนี้ มีทั้งอดีตศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบันสถาบันคู่อริ มีความเชื่อมโยงกับคดีเก่าเมื่อช่วงต้นปี 2566 ที่ยิงปืนใส่นักเรียนต่างสถาบัน โดยมีแกนนำสร้างกลุ่มตามความเชื่อขึ้นมา และเช่าที่พักอาศัยร่วมกัน พร้อมหาแนวร่วมนักศึกษาสถาบันต่างๆ ออกมาอยู่ในโลกเสมือนไม่ได้อยู่ในโลกความเป็นจริง เป็นการสร้างเป็นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา มีการสร้างแรงฮึกเหิมปลุกใจในกลุ่ม ด้วยการนำรูปผู้เสียชีวิตต่างสถาบันมาติดไว้ในที่ซ่องสุมของกลุ่ม และจะถอดรูปแบบการก่อเหตุในแต่ละครั้ง เพื่อพัฒนาการลงมือและการหลบหนี ที่ผ่านมายังได้สร้างสถานการณ์เพื่ออำพรางคดี
ต่อมา เหตุการณ์ที่ 2 ห่างกันเพียง 9 วัน ช่วงเช้าของวันที่ 20 พ.ย. 2566 เกิดเหตุก่อเหตุจ่อยิงนักศึกษาอาชีวะ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ระหว่างเดินทางไปเรียน เสียชีวิตทันที โดยเจ้าหน้าที่ตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดยเจ้าตัวให้การว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างสถาบัน ปัจจุบันทำงานส่งของ ซึ่งลงมือก่อเหตุ ดื่มน้ำกระท่อม เจอผู้ตายเดินอยู่ริมถนน มีการพูดแซวยั่วยุ จนเกิดเหตุชุลมุน และก่อเหตุยิงดังกล่าว ซึ่งทางเจ้าหน้าอยู่ระหว่างตวจสอบข้อเท็จจริง เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย
สำหรับความรุนแรงระหว่างสถาบันในกลุ่มเด็กอาชีวะดำเนินมาอย่างยาวนาน 7 - 8 ทศวรรษ ซึ่งชนวนเหตุนำสู่ความขัดแย้งระหว่างสถาบันอาชีวะ เกิดจากความเชื่อผิดเพี้ยนในเรื่องเกียรติยศศักดิ์ศรีสถาบัน ที่ถูกฝังหัวสืบทอดมายาวนานจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวาย สะท้อนว่าการตีกันของเด็กอาชีวะในยุคก่อนแค่ให้บาดเจ็บไม่ถึงตาย ต่างจากยุคนี้มีการวางแผนถึงขั้นฆ่าคู่อริ จะเห็นว่ากรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผู้ก่อเหตุมีการวางแผนฆ่าไว้ล่วงหน้ามีพฤติกรรมลอบสังหาร โดยเล็งเป้าเอาชีวิตเด็กในสถาบันคู่อริ ซึ่งสันนิษฐานว่าผู้ก่อเหตุอาจเป็นคู่อริต่างสถาบันกัน
งานวิจัยเรื่อง “มาตรการควบคุมการก่อความรุนแรงในสถาบันอาชีวศึกษา” โดย “พล.ต.ต.พงษ์สันต์ คงศรีแก้ว” อาจารย์พิเศษคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ วิเคราะห์ถึงต้นตอของปัญหานักศึกษาในสถาบันอาชีวะก่อเหตุวิวาทว่า สาเหตุหลักๆ มาจากองค์กรศิษย์เก่าบงการเบื้องหลัง มีการคัดเลือกรุ่นน้องเข้ามาบ่มเพาะความเกลียดชัง นำสู่การล้างแค้นต่างสถาบันอย่างไม่จบไม่สิ้น
“รูปแบบสงครามตัวแทนโดยมีคนอยู่เบื้องหลัง เป็นลักษณะกลุ่มก้อนหรือการจัดองค์กรของสถาบัน กลุ่มก้อนนี้คือศิษย์เก่าที่เกเร ซึ่งไม่ใช่ศิษย์เก่าทุกคน แต่เป็นคนจำนวนหนึ่งที่ต้องการคงวัฒนธรรมการต่อสู้ไว้ โดยสร้างวัฒนธรรมเพื่อหล่อหลอมเด็กรุ่นใหม่ที่เข้าสู่สถาบัน เมื่อเด็กใหม่ๆ เข้ามาก็จะถูกหล่อหลอมตลอด 4 ปีนี้ กลายเป็นกองกำลังส่วนตัวที่จะต้องรบกันหรือต่อสู้แก้แค้น เหมือนกับสงครามชนเผ่า” พล.ต.ต.พงษ์สันต์อธิบาย
ประเด็นที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดำเนินการจัดการ คือการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของนักศึกษาอาชีวะให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง โดยงานวิจัยอธิบายสมมติเป็นบันได 3 ขั้น ขั้นที่ 1 นักศึกษาที่เข้าไปใหม่ๆ จะถูกปลูกฝังให้รักสถาบัน สอนให้เป็นพี่น้องกันต้องเกื้อกูลกัน ขั้นที่ 2 วัฒนธรรมเริ่มเบี่ยงเบน เช่นเจอศัตรูต้องเล่นงานก่อน ไม่อย่างนั้นจะถูกเล่น หรือต้องพกอาวุธป้องกันตัว และขั้นที่ 3 หากคนในสถาบันถูกกระทำ ต้องไปล้างแค้นกับใครก็ได้ เช่น ไปยิงเด็กผู้หญิงที่ป้ายรถเมล์ ถ้ายิงโดนแล้วตายจนทำให้ฝ่ายตรงข้ามเจ็บใจ ก็ถือว่าฝ่ายเราชนะ
วิธีคิดบันได ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 2 ผิดเพี้ยนหลุดโลกควบคุมไม่ได้ จากการสร้างกองกำลังกลายเป็นการฆ่าคน ซึ่งมีทั้งการวางแผนและวิธีสะกดรอยแบบนักฆ่ากลายเป็นอาชญากร โดยมีรุ่นพี่ที่เกเรปลูกฝังความเชื่อผิดๆ
ปัญหาดังกล่าวมองในมุมของ ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน สะท้อนว่าเป็นผลกระทบมาจากความไม่เท่าเทียมทางสังคมและการถูกแบ่งแยก สังคมและรัฐทอดทิ้งพวกเขา พวกเขาถูกดูถูกดูแคลน
อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความพยายามแก้ปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เกิดความร่วมมือสถาบันต่างๆ จับมือยุติปัญหาความขัดแย้ง หารือแนวทางเพื่อหามาตรการในการแก้ปัญหานักเรียนอาชีวะทำร้ายกัน เช่น มีระบบติดตามดูแลความประพฤติ ระดมความร่วมมือกับศิษย์เก่า ผู้ปกครอง และนักศึกษาปัจจุบัน เพื่อปรับเปลี่ยนระบบโซตัส หรือการรับน้อง เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ร่วมมือแก่ตำรวจในการเข้าไปตรวจเยี่ยม พฤติกรรมของนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย มีแนวทางให้ทุกสถาบันทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างความสามัคคี ละลายพฤติกรรมความขัดแย้ง เป็นต้น
น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) กล่าวถึแนวทางกำกับดูแลว่า ที่ผ่านมาได้ออกระเบียบกฎเกณฑ์ทุกปีเพื่อมาบังคับใช้กับสถาบันการศึกษา อย่างไรก็ดี สถานการณ์ความขัดแย่งระหว่างสถาบันจะคลี่คลายลง ต้องรับความร่วมมือจากสถาบันมีความเข้มงวดกวดขัด ตลอดจนฝ่ายปกครองและตำรวจเข้ามาดูแลบังคับใช้กฎหมาย
แต่ที่น่ากังวลสถานการณ์ขยายลุกลามมากกว่าเรื่องระหว่างสถาบันแล้ว เพราะมีผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บ ดังนั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันดูแล โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องดูแลตั้งแต่ขั้นแรก
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการจ่อยิงนักศึกษาอาชีวะทำให้สังคมตั้งคำถามถึงมาตรการครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทย แม้มีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด แต่ดูเหมือนใครๆ ก็สามารถถือครองปืนได้อย่างง่ายดาย
ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และอดีตสารวัตรกองกำกับการตำรวจนครบาล 6 เปิดเผยถึงปืนผิดกฎหมายที่ขายในระบบออนไลน์จะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ
1. สิ่งเทียมอาวุธที่สามารถนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้ โดยที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ แบลงค์กัน (ปืนปลอมที่นิยมใช้ในการแสดง ไม่สามารถใช้กระสุนจริงได้) และบีบีกัน (ปืนอัดลมเบา ออกแบบมาเพื่อยิงลูกกระสุนโลหะทรงกลม เพื่อใช้เล่นเป็นเกมกีฬา) ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มคนที่นำปืนทั้ง 2 ชนิดมาดัดแปลงเพื่อให้สามารถใช้กับกระสุนจริงได้ แต่ที่นิยมกันมากคือแบลงค์กัน เนื่องจากมีลักษณะใกล้เคียงกับปืนจริงมากกว่าและสามารถดัดแปลงได้ง่ายกว่า
2. ปืนไทยประดิษฐ์ คือ อาวุธที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาให้ทำงานในลักษณะเดียวกับปืน โดยจะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนปืนหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเหตุที่ได้ชื่อว่าปืนไทยประดิษฐ์ เพราะเป็นปืนที่ผลิตแบบผิดกฎหมายของประเทศไทย โดยกลุ่มที่ทำปืนไทยประดิษฐ์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นเด็กช่างกล ซึ่งมีทั้งที่ทำใช้เอง และทำขาย
และ 3.ปืนเถื่อน คือปืนที่ผลิตโดยโรงงานผลิตปืนทั่วไป แต่ไม่มีทะเบียน และนำเข้าแบบผิดหมาย หรือถูกนำมาใช้โดยมิชอบ เช่น ขโมยมาแล้วลบทะเบียน ซึ่งยุคที่มีการนำปืนเถื่อนเข้ามามากคือช่วง พ.ศ.2530 หลังการสู้รบระหว่างเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเรียกกันว่าปืนดาวแดง นอกจากนั้น ยังมีปืนอาก้า ที่ทหารยึดมาจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ แล้วนำมาใช้ส่วนตัว เมื่อปลดประจำการนำปืนออกมาขาย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปืนเถื่อนที่ตกทอดจากยุคนั้นเหลืออยู่ไม่มากเนื่องจากหากระสุนใช้ยาก เพราะเป็นรุ่นที่ไม่มีการผลิตเพิ่ม
“ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้คือแบลงค์กันที่ถูกดัดแปลงเป็นอาวุธปืน เพราะคนที่ผลิตสามารถหาซื้อแบลงค์กันที่ใช้เข้าฉากได้ง่ายมาก ซื้อผ่านออนไลน์แบบถูกฎหมาย แล้วนำมาดัดแปลงเป็นอาวุธปืน ซื้อมา 7,000-8,000 บาก บวกค่าดัดแปลง 5,000 โพสต์ขายกระบอกละ 12,000-13,000 บาท ราคานี้เด็กวัยรุ่นวัยเรียนก็เก็บเงินซื้อได้
“ส่วนปืนไทยประดิษฐ์มีมาตั้งแต่สมัย 2499 อันธพาลครองเมือง คือมันทำง่าย เด็กช่างส่วนใหญ่ทำกันได้ทุกคน ที่พบบ่อยก็ปืนปากกา ยิงทีละนัด หรือบางทีเอาเหล็กมากลึงเป็นลำกล้อง ทำเข็มแทนชนวนใช้เป็นปืนได้ บางทีลำกล้องทำจากไฟเบอร์ ปืนปากกาบางคนขายกันราคาไม่ถึง 1,000 บาท ปืนไทยประดิษฐ์ที่หน้าตาเหมือนปืนจะมีตั้งแต่ 2,000 ต้นๆ ไปจนถึง 7,000-8,000 บาท ส่วนปืนเถื่อนเริ่มจาก 5,000 ไปจนถึงหลักหมื่น เหตุที่เยาวชนรวมถึงคนทั่วไปเข้าถึงปืนพวกนี้ได้ง่าย เพราะราคามันถูกกว่าปืนที่มีทะเบียนตามกฎหมายหลายเท่า มีเงินแค่หลักพันไปจนถึงหมื่นนิดๆ ก็ซื้อได้แล้ว” ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผย
แน่นอนว่า การกวาดล้างจับกุมปืนเถื่อนในช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมาก แต่สามารถสร้างกลไกลดการเข้าถึงปืนของประชาชน เช่น การสร้าง AI ในการตรวจจับและบล็อกผู้ที่โพสต์ขายปืนออนไลน์เพื่อให้คนเหล่านี้ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ขณะเดียวกัน รัฐต้องกวาดล้างจับกุมให้สิ้นซาก
ความขัดแย้งระหว่างสถาบันอาชีวะเป็นประเด็นใหญ่นับเป็นอาชญกรรมรุนแรงกระทบมิติทางสังคม การแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นับโจทย์ข้อใหญ่ที่ต้องระดมความคิด โดยเฉพาะการปรับจูนทัศคติว่าด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสถาบัน