ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เศรษฐกิจไทยโตต่ำเป้า เข้าทางรัฐบาลหาข้ออ้างมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องกู้มาทำโครงการแจกดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นการบริโภคตามความมุ่งหมายที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ให้คำสัญญาว่าจะยกระดับความอยู่ดีกินดี พลิกฟื้นเศรษฐกิจไต่ระดับสู่เป้าหมายการเติบโตที่ปีละ 5%
“ทุกอย่างเลวร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะ”นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงตัวเลขเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพี ไตรมาส 3/2566 ที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาที่ 1.5% ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ 2% โดยยอมรับว่าน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเป็นจริงต้องเห็นเลขที่ 2% แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่ทำให้จีดีพีลดลง ทั้งการใช้จ่ายและการลงทุน แต่ไตรมาสที่ 4 ยังเหลืออีกครึ่งทาง ต้องพยายามทำให้ตัวเลขดีขึ้น
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีย้ำจุดยืนที่ชัดเจนอีกครั้งในการผลักดันโครงการแจกดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหนึ่งหมื่นบาทว่า “วิกฤต และจำเป็นเร่งด่วน”
นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำมาตลอดว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในสภาพ “วิกฤตและมีความจำเป็น”ที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น และพรรคเพื่อไทยเตรียมแผนสำรองหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อมาดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ผ่านการตีความจากคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อฝั่งรัฐบาลอ้างวิกฤตเศรษฐกิจและจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกู้เพื่อมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ฟากพรรคก้าวไกล ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายตรวจสอบก็ออกมาตั้งคำถามว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “วิกฤต” จริงหรือไม่ เพราะการจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาทนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องพิสูจน์ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อแก้วิกฤตอย่างต่อเนื่องและตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ทันจริง ๆ
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุลสส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ตั้งข้อสังเกตถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/2566 ที่สภาพัฒน์บอกว่าโตขึ้น 1.5% โดยสรุปว่าปัญหาของเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว
พร้อมอธิบายว่าตัวเลข GDP นั้น วัดได้จากทั้งฝั่งรายจ่ายและฝั่งการผลิต ซึ่งฝั่งการผลิตคือภาคอุตสาหกรรม (เป็น sector ที่ใหญ่ที่สุด) เกิดหดตัวลง -4% เลยดึงใน GDP ของไทยโตต่ำ ที่ติดลบหนักที่สุดคืออุตสาหกรรม “เพื่อการส่งออก” โดยเฉพาะ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนภาคบริการขยายตัวได้ดีมาก ในด้านเกี่ยวกับการท่องเที่ยว โรงแรม และร้านอาหาร โตขึ้นถึง 14.9% การค้าปลีกและค้าส่ง ขยายตัว 3.3% ขนส่งโต 6.8%
ส่วนฝั่งรายจ่ายที่เราคุ้นเคย คำนวณได้ตามสูตร C+I+G+X-M (การบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนภาคเอกชน + การใช้จ่ายภาครัฐ + การส่งออก - การนำเข้า) จากตัวเลขวันนี้ เราจะเห็นว่าตัวเลขภาคเอกชนโตขึ้นถึง 8.1% การลงทุนภาคเอกชนโต 3.1% แต่ stock สินค้าก็ลดลงมาก แสดงว่ายังไม่ได้มีการผลิตเพิ่ม ซึ่งสอดคล้องกับฝั่งการผลิตที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัว ภาครัฐหดตัวลงทั้งการบริโภค -4.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน (จากการที่ปีก่อนมีการเบิกค่ารักษาโควิด แต่ปีนี้ไม่มี จึงหดตัว) การลงทุนภาครัฐก็หดตัว -2.6% และถึงแม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวตามคาดที่ -3.1% แต่การส่งออกภาคบริการกลับโตถึง 23% ส่วนการนำเข้าก็หดตัวแรงที่ -10.2%
“คำถามคือเมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภคโตกว่า 8%” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งคำถาม
เช่นเดียวกัน นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความเห็นผ่านสำนักข่าว ThaiPublica ว่า ตอนนี้เศรษฐกิจไทยยังไม่มีปัญหาวิกฤต และไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องออกกฎหมายพิเศษมากู้เงินเป็นจำนวนมาก สามารถใช้ช่องทางของงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ ทั้งงบฯ ปี 2567 และปี 2568 ก็ยังอยู่ระหว่างการจัดทำ หากคิดว่าประเทศจะเกิดวิกฤตก็เพิ่มวงเงินงบประมาณเข้าไป
“ไม่ใช่ผมมองแบบนี้คนเดียว ยังมีนักเศรษฐศาสตร์อีกหลายท่านก็มองเหมือนกับผม ปัญหาของเศรษฐกิจไทยตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ได้รับผลกระทบมาจากเศรษฐกิจที่ซบเซา หรือโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งต้องใช้เวลาแก้ไขอีกนาน....” อดีตขุนคลัง ให้ความเห็น และเสนอแนะให้ไปเร่งกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงินเกือบ 3.5 ล้านล้านบาท ให้เร็วขึ้น โดยหาวิธีปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือระเบียบข้อกฎหมายที่ร่นเวลาในการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี เดิมกำหนด 4 เดือน อาจลดเหลือ 2 เดือนครึ่งได้หรือไม่ เพื่อให้เม็ดเงินที่ควรจะออกตามช่องทางที่ถูกต้องทำได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรทำแต่ไม่ทำ กลับไปเร่งออกกฎหมายกู้เงิน โดยอ้างว่าถ้าไม่ทำแล้วประเทศอาจเกิดวิกฤต
“ไม่เห็นมีใครพูดถึงหรือออกมาผลักดัน ดังนั้น งบฯ ก้อนใหญ่เกือบ 3.5 ล้านล้านบาท ก็เลยถูกแช่แข็ง หรือถูกลากออกไป กว่างบฯ ปี 2567 มีผลใช้บังคับคาดว่าจะประมาณเดือนพฤษภาคม 2567 เหลือเวลาใช้จ่ายเงินอีก 5 เดือน ก็ปิดงบฯ เริ่มใช้งบฯ ปี 2568 กันต่อไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเห็นว่าประเทศยังไม่มีวิกฤต แต่การบริหารนโยบายการคลังวิปริตมากกว่า” นายสมหมาย ชี้ประเด็น
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวได้เพียง 1.5% จากที่ประเมินไว้ที่ระดับ 2.0 -2.2% โดยเป็นการขยายตัวชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาส 2/2566
นายดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒน์ อธิบายถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีดีพีไตรมาส 3/2566 ขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายว่า เป็นผลจากการมีตัวเลขติดลบหลายดัชนี ทั้งการส่งออกสินค้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับจากไตรมาส 4 ของปี 2565 จนติดลบที่ -3.1% เช่นเดียวกับการอุปโภคภาครัฐบาล -4.9% และการลงทุนภาครัฐ -2.6% เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินออกล่าช้า ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุน เมื่อรวมจีดีพี 9 เดือนแรกของปีนี้ จึงเติบโตที่ 1.9% ส่วนประมาณการจีดีพีของปี 2566 สภาพัฒน์ ได้ปรับลดตัวเลขเหลือ 2.5% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 เลขาธิการสภาพัฒน์ คาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ 3.5% ซึ่งยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ตหนึ่งหมื่นบาท เนื่องจากต้องรอคำวินิจฉัยจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนว่าการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลจะมีแหล่งเงินจากที่ใด และต้องรอดูความชัดเจนในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น รูปแบบการใช้จ่าย
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปีหน้า 2567 มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ แรงขับเคลื่อนด้านการคลังที่ล่าช้า กว่างบฯปี 2567 จะออกได้ประมาณเดือนเมษายน 2567 ดังนั้นหน่วยงานต่าง ๆ ต้องเตรียมการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้ล่วงหน้า ขณะเดียวกันการหารายได้ของรัฐบาลต้องพิจารณาปรับโครงสร้างภาษี หรือค่าลดหย่อนต่าง ๆ กันอย่างจริงจัง เพื่อทำให้ภาครัฐสามารถมีฐานะด้านการคลังดีขึ้นสำหรับรองรับความเสี่ยงในปีหน้า
ส่วนหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ระดับสูงถึง 90.7% ของจีดีพี ยังเป็นตัวฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ ขณะที่หนี้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์เข้ามาดูแล ปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง ทั้งในส่วนธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยเฉพาะจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจำเป็นต้องมีช่องว่างทางด้านการคลังที่เพียงพอเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น
นายดนุชา ตอบคำถามเศรษฐกิจไทยถึงขั้นวิกฤตหรือไม่ว่าตั้งแต่หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจไทยมีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คาด ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะที่เศรษฐกิจภายในของไทยในภาพรวมยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคหรือการท่องเที่ยว แต่หากจะให้ดีกว่านี้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคใหญ่และมีความเกี่ยวข้องกับการส่งออก การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันให้เกิดการลงทุนมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน
“ถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อ”
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว
ส่วนเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% นั้น เป็นตัวเลขเพดานบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล การจะทำให้เศรษฐกิจไทยไปถึงระดับนั้นได้ ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งด้านการส่งออกและการลงทุนเป็นสำคัญ โดยเร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อเป็นแกนกลางในการสร้างเสถียรภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ตลอดจนมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำให้เป็นการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพเพื่อสามารถเพิ่มยอดใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นและใช้เวลาอยู่ในไทยนานขึ้น
ด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ถือได้ว่ายังแข็งแกร่ง เนื่องจากอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 0.99% ต่ำสุดรอบ 15 ไตรมาส เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 62.12% ยังคงต่ำกว่าระดับวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 70%
ก่อนหน้านี้ เพดานหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี ก่อนขยายเป็น 70% ต่อจีดีพี หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับยอดหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 อยู่ที่ 11.13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 62.12% ของจีดีพี
หลังจากสภาพัฒน์ ปรับลดเป้าจีดีปี 2566 ลดลง ทาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า(YoY) ลดลงจากที่ประมาณการไว้ก่อนหน้าที่ 3.0% จากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.5% YoY ส่งผลให้รวม 9 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9% YoY
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 คาดว่าจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากฤดูกาลท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่มาตรการบรรเทาค่าครองชีพจากทางภาครัฐคงจะช่วยหนุนการบริโภคในประเทศให้ยังขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวเป็นบวกตามฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า แม้จะยังเผชิญปัจจัยท้าทายจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากปี 2566 โดยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ แม้แรงส่งจะลดลงในปีหน้า นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ในแดนบวก อีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 คงจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคภายในประเทศให้ยังขยายตัวได้
ด้าน ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ระบุเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัว 1.5%YoY เติบโตชะลอลงจากไตรมาสที่ 2/2566 ที่ขยายตัว 1.8% และเมื่อเทียบรายไตรมาสขยายตัว 0.8%QoQSA โดยเศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายภาครัฐที่หดตัวทั้งการอุปโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ อีกทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงหดตัว
อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน รวมถึงการส่งออกบริการที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยว โดยสภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เติบโตเพียง 2.5% แตะขอบล่างของกรอบประมาณการเดิมที่ 2.5-3.0%
ส่วนปี 2567 สภาพัฒน์คาดเศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นในกรอบ 2.7-3.7% สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจีดีพีปีหน้าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคการส่งออกที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวในปีหน้า ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวตามการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2567 จะแตะราว 35 ล้านคน สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์
ทางด้าน วิจัยกรุงศรี เตรียมปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.8% ปัจจัยลบจาก GDP ไตรมาส 3 เติบโตต่ำกว่าคาด รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยอาจต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 28.5 ล้านคน ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 22.2 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่ายังมีแนวโน้มเติบโตเร่งขึ้น ผลบวกจากฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนแล้ว แรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพทั้งค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการเดินทาง รวมถึงมาตรการพักหนี้เกษตรกร การกระเตื้องขึ้นของภาคส่งออกในช่วงปลายปี และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว
ไม่เพียงแต่จีดีพีเติบโตต่ำกว่าเป้าที่นายเศรษฐา ทวีสิน แสดงอาการเป็นห่วง แต่ยังมีปัญหา “หนี้สิน” ที่ท่วมหัวคนไทยและประเทศไทย ที่ยังแก้ไขไม่ได้และสถานการณ์เลวร้ายลงตามลำดับ โดยผู้นำรัฐบาลแบ่งปัญหาหนี้ออกเป็น 2 ส่วน คือ หนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ
สำหรับแนวทางการแก้เรื่องหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ นายกรัฐมนตรี แถลงในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สำหรับหนี้ในระบบ ไม่ได้มีเพียงหนี้ข้าราชการ หนี้ครู หนี้ตำรวจ แต่ยังหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม หนี้ กยศ. และหนี้อื่นๆ ที่ประสบปัญหา ซึ่งรัฐบาลนัดแถลงครบทั้งแพจเกจ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566
นายกรัฐมนตรี ซึ่งฟัง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย เล่าถึงปัญหาหนี้นอกระบบว่าเป็นก้อนใหญ่และมีความสลับซับซ้อนกันอยู่มาก นายครูมานิตย์ เสนอแนะให้พูดคุยกันระหว่างนายอำเภอ ผู้กำกับ ฝ่ายปกครอง รวมถึงเจ้าหนี้และลูกหนี้ มาพูดคุยแก้ปัญหา และฝาก สส.ให้ลงไปช่วยกันดูแลแก้ปัญหาเพื่อให้ปัญหาทุเลาลงเร็วที่สุด
ส่วนหนี้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี นั้น นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อประสานกับธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐที่จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เอสเอ็มอีจากที่เคยเป็นลูกหนี้ชั้นดีแต่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 จนมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือลูกหนี้ที่ได้รับรหัสสถานะบัญชี 21 ซึ่งเป็นสมาชิกของ ส.อ.ท.อยู่ประมาณ 12,898 บริษัท รวมยอดหนี้ 61,000 ล้านบาท เนื่องจากมีแนวโน้มว่าหลายกิจการกำลังเข้าสู่การเป็นหนี้เสีย (NPL) หากปล่อยไว้จะเกิดปัญหาทยอยปิดกิจการในสิ้นปีนี้ กระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
“เอสเอ็มอีรหัส 21 รวม 61,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ 36,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้กับสถาบันการเงินของภาครัฐ แต่หากรวมกับกิจการที่ไม่ใช่สมาชิก ส.อ.ท.ตามข้อมูลลูกหนี้เอสเอ็มอี ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีทั้งหมด 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ราว 3 แสนล้านบาท” นายอภิชิต กล่าว
เขายังชี้ปัญหาว่ามาตรการพักหนี้เอสเอ็มอี เป็นแค่พักชำระดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง ต้องคิดหามาตรการให้การชำระหนี้คืนแล้วเงินต้นลดลงไปด้วย ซึ่งปัจจุบันเอสเอ็มอีในภาพรวมมีต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่กำลังซื้อของคนไทยก็เปราะบาง การส่งออกชะลอตัว ทำให้เอสเอ็มอีบางส่วนขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้
ตัวเลขหนี้สินครูและบุคลากรด้านการศึกษา มีมูลหนี้รวม 1.4 ล้านล้านบาท เป็นโจทย์ใหญ่ที่รอแก้ไข โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่า “หนี้ครูก็กำลังคิดหาวิธีจัดการอยู่”
สำหรับหนี้กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการแก้ปัญหานั้น นายกิตติรัตน์ จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายกองทุน กยศ.ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และคำนวณภาระหนี้สินย้อนหลังด้วย คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้หลายคนหมดหนี้ หรือแม้แต่คนที่ชำระไปแล้วบางคนอาจจะได้เงินคืนด้วย
ขณะที่หนี้เกษตรกร รัฐบาลกำลังพิจารณาจะขยายให้กับเกษตรกรที่มีหนี้เกิน 3 แสนบาทเพิ่มเติมด้วย
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนปัญหาเรื่องหนี้ในงานจัดทริปสื่อมวลชนสัญจร ประจำปี 2566 ว่า ต้องระมัดระวังปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงถึง 90.7% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แม้จะลดจากช่วงที่สูงที่สุดคือ 94% แต่ก็ยังสูง และอยากให้กลับลดลงมาอยู่ในระดับเกณฑ์ที่สากล 80% รวมทั้งหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับ 61.7% ต่อจีดีพีที่ถือว่าสูงเช่นกัน
ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะของประเทศไทย จึงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ขณะที่แผนการกู้เงินมาแจกในรูปดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่แน่ว่าการกระตุ้นการบริโภคด้วยการ “แจกเงิน” จะทำให้เกิดการใช้จ่าย “เกินตัว” จนมีภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นไปอีกหรือไม่
รัฐบาลเพื่อไทย อย่าเอาแต่ฝันหวาน ฝันเฟื่อง ว่าแจกเงินดิจิทัลจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ 3.33 รอบ ทำให้จีดีพีโตได้ 1-1.5% หรือคิดเป็นมูลค่าราว 1.7 ล้านล้านบาท แต่เพียงด้านเดียว