xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขอบเขตพระราชอำนาจและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เบลเยี่ยม (ตอนที่ ๕๙)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คนแคระบนบ่ายักษ์
ไชยันต์ ไชยพร

รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่มีอิทธิพลต่อรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 ทั้งรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 และรัฐธรรมนูญเบลเยี่ยม ค.ศ. 1831 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นจุดตั้งต้นให้เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ความแตกต่างจะอยู่ที่เนเธอร์แลนด์เคยมีการปกครองแบบราชาธิปไตยของตัวเองมาก่อน ส่วนเบลเยี่ยมนั้นก้าวเข้าสู่การปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคยเป็นอิสระและมีสถาบันกษัตริย์ของตัวเองมาก่อน แต่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอื่นมาโดยตลอด

ขณะที่เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ระบอบการปกครองที่น่าสนใจมาก เพราะก่อนที่จะเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เนเธอร์แลนด์ผ่านการปกครองแบบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐและสาธารณรัฐ และกลับมาเป็นเป็นราชาธิปไตย แต่ปกครองโดยชาวฝรั่งเศส และจากราชาอาณาจักรได้กลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิของจักรพรรดินโปเลียน และเปลี่ยนมาเป็นราชอาณาจักรและปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหลังจากที่นโปเลียนแพ้  “สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หก” (the Sixth Coalition War) 

สงครามสหพันธมิตรครั้งที่หกส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในหลายประเทศในยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์

เมื่อเนเธอร์แลนด์ต้องปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ บรรดาชนชั้นนำในเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งรัฐบาลรักษาการเพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเตรียมการที่ว่านี้คือ
หนึ่ง สรรหาตัวผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐหรือการสถาปนาสถาบันกษัตริย์ขึ้น
สอง การเตรียมร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดหลักการการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
 
หลังจากที่กองทัพสหพันธมิตรครั้งที่หกได้ปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์จากฝรั่งเศสแล้ว รัฐบาลรักษาการของเนเธอร์แลนด์ได้อัญเชิญ  วิลเลียม เฟรดริค (Willem Frederik) บุตรของวิลเลียมที่ห้าขึ้นเป็นกษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ วิลเลียม เฟรดริคได้วางเงื่อนไขว่า พระองค์จะยอมรับเป็นกษัตริย์เนเธอร์แลนด์อย่างเป็นทางการก็ต่อเมื่อ เนเธอร์แลนด์จะต้องมี “รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution) 

รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 ได้ถูกออกแบบให้พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐมีความเข้มแข็งเด่นชัด การให้พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์มีอำนาจการปกครองที่เข้มแข็งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านเสรีภาพของผู้คน แต่เป็นเรื่องของการให้อำนาจส่วนกลางมีอำนาจมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับอำนาจในเขตพื้นที่ต่างๆที่เคยเป็นรัฐในระบบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ ที่ประมุขของรัฐมีสถานะเพียงข้าราชการที่คอยรับคำสั่งเท่านั้น ส่วนการสร้างสมดุลระหว่างพื้นที่ต่างๆในประเทศ คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 110 โดยแบ่งให้มีตัวแทนจากพื้นที่ทางเหนือและทางใต้ของประเทศมีจำนวนเท่ากัน ทั้งที่จำนวนประชากรทางใต้จะมีมากกว่าทางเหนือ ทำให้คนทางใต้ไม่พอใจกับการจัดสรรปันส่วนดังกล่าว ด้วยเชื่อว่าคนทางเหนือมีอำนาจอิทธิพลครอบงำรัฐบาล และคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1814 กำหนดให้กษัตริย์มีอำนาจมากกว่ากษัตริย์เนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมในปัจจุบัน อีกทั้งยังกำหนดให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อพระองค์เพียงผู้เดียว ซึ่งต่างจากการรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา ที่รัฐมนตรีจะต้องลาออกหากเสียง ส.ส. เกินครึ่งสภาผู้แทนราษฎรไว้วางใจ

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มี  นายกิสเบิร์ต คาเรล ฟาน โฮเคนดอร์ป (Gijsbert Karel van Hogendorp)  เป็นประธานใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณสามเดือนจึงแล้วเสร็จในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1814 หลังจากนั้น เพียงหนึ่งวัน ได้มีการตั้งที่ประชุมสภาขึ้นเพื่อลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว โดยแต่งตั้งประชาชนที่มีความโดดเด่นเป็นจำนวน 600 คน โดย 474 คนมาจากการแต่งตั้งโดยวิลเลียม เฟรดริค และมี นายคอร์นีสิล ฟีลิกส์ ฟาน มาเน่น (Cornelis Felix van Maanen) เป็นตัวแทนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในการอภิปรายถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อที่ประชุม

ในขณะนั้น ฟาน มาเน่นดำรงตำแหน่งประธานศาลสูงสุดและเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
เขามาจากครอบครัวปัญญาชนนักกฎหมาย ปู่ของเขาเป็นทนายและอัยการที่มีชื่อเสียง ส่วนบิดาของเขาก็เป็นนักกฎหมายเช่นกัน บิดาของเขาจบการศึกษาปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยไลเดน (Leiden) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่ฟาน โฮเคนดอร์ปจบปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์ ตัวเขาเองก็จบปริญญาเอกด้านตินิติศาสตร์ และเจริญรอยตามปู่และบิดาของเขาโดยทำงานเป็นนักกฎหมายที่กรุงเฮก (Hague) และต่อมาได้เป็นอัยการแห่งศาลของสามรัฐ นั่นคือ ฮอลแลนด์, ซีแลนด์และฟรีสแลนด์ตะวันตก ส่วนน้องชายของเขาเรียนแพทย์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์เดอร์วิก (Harderwijk) และมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม

 ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้การปกครองระบอบสมาพันธรัฐ-สาธารณรัฐ ทั้งบิดาของเขา ตัวเขาและน้องชายของเขาได้เข้าร่วมกับกลุ่มปิตุภูมิ (Dutch Patriots) ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มนิยมราชวงศ์โอรัน (Orangists) ที่เป็นกลุ่มของฟาน โฮเคนดอร์ป ฟาน มาเน่นเริ่มต้นอาชีพโดยเข้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงที่เนเธอร์แลนด์ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบสมาพันธรัฐมาเป็นสาธารณรัฐหรือเป็นที่รู้จักกันในนามของสาธารณรัฐบาตาเวีย (Batavian Republic) และต่อมาในช่วงที่เปลี่ยนจากสาธารณรัฐเป็นส่วนหนึ่ของจักรวรรดิฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียน เขาได้ขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมและตำรวจ ในปี ค.ศ. 1809 เขาเป็นผู้นำคนสำคัญในการประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา โดยในส่วนของประมวลกฎหมายแพ่งเขาได้อิงกับกฎหมายแพ่งของฝรั่งเศส 

เขาเป็นรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่ถึงปี เขาก็ลาออกเนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือในการจัดตั้งตำรวจลับขึ้น แต่ต่อมาเขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลยุติธรรมแห่งจักรวรรดิ
หลังจากกองทัพสหพันธมิตรครั้งที่หกได้ปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์จากฝรั่งเศสแล้ว กษัตริย์วิลเลียม เฟรดริคได้แต่งตั้งให้เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และในการประชุมตัวแทนประชาชนเพื่อลงมติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ น้องชายของเขาที่เป็นศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ก็ได้เป็นตัวแทนจากซุยเดอร์ซี (Zuiderzee) ที่เคยเป็นพื้นที่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศส

หลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้น ในวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1814 (พ.ศ. 2357 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) มีตัวแทนประชาชนจำนวนเพียง 26 คนเท่านั้นที่ลงมติไม่รับร่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกคาทอลิก

แม้ว่าเนเธอร์แลนด์จะเคยมีการทำประชามติมาก่อน แต่ในการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลรักษาการและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เห็นควรให้ทำประชามติ เพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ดีจากการทำประชามติในช่วงที่มีความขัดแย้งในช่วงสาธารณรัฐบาตาเวีย

 ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ความสำเร็จราบรื่นในสถาปนารัฐธรรมนูญ รื้อฟื้นสถาบันพระมหากษัตริย์ของเนเธอร์แลน์ในปี ค.ศ. 1814 เกิดขึ้นได้จากการเห็นพ้องต้องกันในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วยชนชั้นนำสองกลุ่มที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน นั่นคือ กลุ่มปิติภูมิที่ฟาน มาเน่นเคยสังกัด และกลุ่มนิยมราชวงศ์โอรัน (Orangists) ของฟาน โฮเคนดอร์ป การตกลงกันได้ก็คือ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญสามารถสนองความต้องการของทั้งฝ่ายนิยมราชวงศ์และฝ่ายนิยมสาธารณรัฐ โดยสามารถออกแบบรัฐธรรมนูญที่สมดุลอำนาจกัน 

หลังจากที่ประชุมสภาลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 29 มีนาคม หนึ่งวันต่อมา วิลเลียม เฟรดริคย่อมรับที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการ อันหมายความว่า พระองค์ทรงเห็นว่า รัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ ค.ศ. 1814 เป็นรัฐธรรมนูญ “ที่ร่างขึ้นด้วยภูมิปัญญา” (a wise constitution)
 
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญานี้เป็นอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น