xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่จัมบิ (ประมาณ พ.ศ.1395-1533) (ตอนจบ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

มหาราชาศรีอุทัยอาทิตยวรมัน (ประมาณพ.ศ.1503 หรือ 1505-1531) พงศาวดารซ่งฮุ่ยเย่า (宋会要) เรียกพระองค์ซึ่งเป็นกษัตริย์สัม-พุท-เชยหรือซัน-โฝ-ฉีว่าเซียก-ลี่-ฮุ-ต๊า-ฮา-ลี่-ตัน (釈利胡大霞里檀ซี่-ลี่-หู-ต้า-เซี่ย-ลี่-ถัน) พระองค์แต่งราชทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิซ่งไท่จู่ ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ.1503-1519) และต่อมาส่งไปอีกครั้งในปีพ.ศ.1504 ซึ่งในปีเดียวกันศรีวิชัยหรือซยิต-ลี่-อัว-เจีย (室利乌耶ซื่อ-ลี่-อู๊-เย่) และ ลี่-เสย-หลิ่ม-นัม-เหม่ย-หยิต-ไล้ (李犀林男迷日来หลี่-ซี-หลิน-หนาน-หมี-รื่อ-หลาย) ส่งราชทูตไปถวายเครื่องราชบรรณาการแก่จักรพรรดิซ่งไท่จู่อีก ในปีพ.ศ.1504 ทั้งซื่อ-ลี่-อู๊-เย่และซัน-โฝ-ฉีก็ส่งราชทูตไปจีนในปีเดียวกันในเดือนมีนาคมและธันวาคม การส่งทูตจากศรีวิชัยในนามของกษัตริย์หลายองค์แสดงถึงการแข่งขันระหว่างเมืองต่างๆในสมาพันธรัฐ “ศรีวิชัย” ไม่ใช่พระนามส่วนพระองค์แต่เป็นตัวแทนของสมาพันธ์ (ดูในตารางที่1)


ส่วนคณะทูตจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยในปีพ.ศ.1514-1515 และพ.ศ.1517-1518 ที่ส่งไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิซ่งไท่จู่ไม่ได้ระบุพระนามมหาราชาศรีวิชัย จากนั้นในรัชกาลจักรพรรดิซ่งไท่จง (พ.ศ.1519-1540) กษัตริย์ศรีวิชัยองค์ใหม่พระนามว่าแฮ-เตรีย (夏池เซี่ย-ฉือ) ส่งทูตมาในปีพ.ศ.1523 พ.ศ.1526 และพ.ศ.1528 มาจุมดาร์กล่าวว่าน่าจะเป็นคำว่า ฮาจิ ที่เป็นภาษามลายูโบราณแปลว่า กษัตริย์ บางครั้งสมาพันธรัฐไม่ใช้พระนามส่วนพระองค์ในพระราชสาส์น จึงกล่าวได้ว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยมีหลายเมืองปกครองด้วยกษัตริย์หลายองค์ และการแข่งขันกันระหว่างเมืองเป็นเรื่องปกติ ทูตเหล่านี้จะได้หางของจามรี เครื่องถ้วยชามกระเบื้องดินขาว เครื่องเงิน เส้นไหมและชุดอานม้าพร้อมบังเหียนกลับไปเป็นของกำนัล


ในยุคของมหาราชาองค์นี้มีพระภิกษุชาวจีนชื่อ ฝาหยู่ กลับจากอินเดียหลังจากไปสืบต่อคัมภีร์พุทธศาสนาและพบกับพระวิมลศรีชาวอินเดียที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยซึ่งน่าจะเป็นที่จัมบิ เมืองท่าเหล่านี้น่าจะเป็นจัมบิ ปาเล็มบังและเคดาห์ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า ในปี พ.ศ.1530 จักรพรรดิซ่งไท่จงส่งทูตมาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหาบรรณาการและอาจแวะที่สมาพันธรัฐศรีวิชัย ในสมัยราชวงศ์ซ่งมีการแยกคณะราชทูต (Diplomatic mission) กับคณะพ่อค้า (Trade mission) ออกจากกัน พงศาวดารราชวงศ์ซ่งจะไม่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับคณะพ่อค้าแต่หอจดหมายเหตุเมืองกว่างโจวจะเป็นผู้บันทึก ราชสำนักซ่งให้ความสำคัญกับทูตศรีวิชัยมากมีการพาราชทูตศรีวิชัยเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆในจีนอยู่เสมอ ดังนั้นในยุคนี้ไม่มีตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวจากสมาพันธรัฐศรีวิชัย

เอกสารอ้างอิง

ศ.มจ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พ.ศ.2535. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ถึง พ.ศ.2000. กรุงเทพฯ: สมาคมประวัติศาสตร์.

Fukami Sumio 深见纯生. 1987. "Reexamination of San-fo-ch'i: Change of Perspective of the Study on Early History of the Western Part of Insular Southeast Asia." Japanese Journal of Southeast Asian Studies 25 (2): 205-232.

Fukami Sumio 深见纯生. 1999. "San-Fo-Qi, Srivijaya and the Historiography of Insular Southeast Asia." In Commerce et Navigation en Asie du Sud-Est (XIVe-XIXe siècle)/Trade and Navigation in Southeast Asia, by Nguýên Thê Anh and Y. Ishigawa, 31-45. Paris and Tokyo: L'Harmattan and Sophia University.

Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.
Lombard-Salmon, Claudine. 2002. "Srivijaya, la Chine et les Marchands chinois (Xe-XIIe s.). Quelques Réflexion sur la Société de l’Empire sumatranais." Archipel 63: 67-78.

Suzuki Takashi 铃木峻. 2012. The History of Srivijaya under the Tributary Trade System of China. Tokyo: Mekong.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.



กำลังโหลดความคิดเห็น