xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน ราชวงศ์ไศเลนทร์ที่จัมบิ (ประมาณ พ.ศ.1395-1533)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในปี พ.ศ.1403-1409 เกิดกบฏในกว่างซีและตังเกี๋ย อาณาจักรน่านเจ้าของชนชาติไป๋ที่มีบรรพบุรุษไทยร่วมด้วยจากยูนนานโจมตีเจียวจื่อใกล้ฮานอยซึ่งเป็นเมืองท่าของจีน ทำให้ราชวงศ์ถังต้องทิ้งเมืองนี้ ดังนั้นการค้ากับจีนจึงย้ายไปฉวนโจวและกว่างโจว เมืองจัมบิเมืองจัมบิส่งทูตไปจีน พ.ศ.1395 และ 1414 ซึ่งเป็นช่วงที่มหาราชาพาลบุตรประสบปัญหาทางการเมืองจึงไม่มีทูตจากสมาพันธรัฐศรีวิชัยที่ปาเล็มบังในนามสัม-พุท-เชยไปจีน มิคซิคเชื่อว่ามหาราชาพาลบุตรอาจจะเสด็จหนีไปจัมบิมากกว่าปาเล็มบังตามที่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เข้าใจจากบรรณาการไปจีนตามเอกสารจีน ไท่ผิงหวนหยู่จี๊ (太平寰宇記) เล่มที่ 176-179 ก็กล่าวถึงจัมบิไม่ใช่ปาเล็มบัง ในปี พ.ศ.1406 เกิดกบฏในจีนทำให้มีการสังหารหมู่พ่อค้าต่างชาติในกว่างโจว ในปี พ.ศ.1416 ได้เกิดกบฏหวงเฉาขึ้นในจีนมีการสังหารหมู่ชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากที่เมืองกว่างโจวและในปี พ.ศ.1421 แถวเซี่ยงไฮ้มีการก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ถังฆ่าพ่อค้าต่างชาติทำให้ไม่มีนักเดินทางจากตะวันออกกลางเดินทางผ่านสมาพันธรัฐศรีวิชัยไปค้าขายกับจีนอีกและในปี พ.ศ.1427 ขุนพลจีนก่อกบฏทำลายกว่างโจวทำให้พ่อค้าหนีไปสมาพันธรัฐศรีวิชัยทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยกลายเป็นจุดนัดพบระหว่างเรืออาหรับและเรือจีนเพื่อทำการขนถ่ายสินค้าทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยร่ำรวยยิ่งขึ้นจากเก็บค่าขนถ่ายสินค้าระหว่างเรือมีการค้นพบเหรียญอาหรับลงปี พ.ศ.1425 ที่แสดงว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยยังค้าขายกับอาหรับอยู่จารึกการิลุงกัน (พ.ศ.1376) เป็นเอกสารแรกที่กล่าวว่าชาวอินเดียเหนือ ทมิฬ สิงหล จาม เขมรและรามัญ (มอญ) เป็นชาวต่างชาติที่มาค้าขายกับชวา อัล-มาเซาดีบอกว่ามาเซาดีบอกว่าเคดาห์เป็นเมืองท่าสำคัญในการถ่ายสินค้าจากตะวันออกกลางสู่จีน อาณาจักรบูตวนในฟิลิปปินส์ (พ.ศ.14?-2063) โดยราชาบายัน ได้สลักจารึกบนผ่านทองแดงลากูน่าในปีพ.ศ.1443 มีการก่อตั้งอาณาจักรหม่าอี้ (พ.ศ.1514-1882) มีความสัมพันธ์กับเมดัง ศรีวิชัยและทอนโด

ในปี พ.ศ.1445 สมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ส่งราชทูตไปราชสำนักถังที่กำลังล่มสลายในสมัยจักรพรรดิถังจ้าวจง (พ.ศ.1447-1450) และพระองค์ก็มอบตำแหน่งให้กับทูตในปีพ.ศ.๑๔๔๗ ตามพงศาวดารถังฮุ่ยเย่า (唐会要) โดยที่ทูตคนนี้ยังคงพำนักอยู่ในจีนหลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายไปในปีเดียวกัน ต่อมาอาณาจักรหนานฮั่นแต่งตั้งทูตผู้นี้ดูแลเมืองท่าของจีน เนื่องจากมีชาวมลายูจากศรีวิชัยอาศัยอยู่ในกว่างโจวเป็นจำนวนมากในช่วงปลายราชวงศ์ถังเพื่อหาข่าว ทูตผู้นี้จึงกลายเป็นผู้นำชุมชนมลายูในกว่างโจวและข้าราชการที่ดูแลการค้าระหว่างศรีวิชัยกับหนานฮั่นในเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะไม่มีบันทึกเกี่ยวกับศรีวิชัยในเอกสารจีนแต่สมาพันธรัฐศรีวิชัยจึงค้าขายกับอาณาจักรหมิ่นในฝูเจี้ยนและอาณาจักรหนานฮั่นในกว่างตงในช่วงนี้ จากจารึกในระฆังจีน (พ.ศ.1449) ที่ค้นพบที่เพคาลองกันจีนยังคงค้าขายกับชวา สมาพันธรัฐศรีวิชัยอาจจะค้าขายกับเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและกัมพูชานอกจากนี้ตำนานจามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลินีและมูลศาสนากล่าวว่าเมืองตามพรลิงค์ในสมาพันธรัฐศรีวิชัยส่งกองทัพเรือบุกอาณาจักรละโว้ในปีพ.ศ.1446 หรือปีพ.ศ.1467-1470 เมื่อละโว้ทำสงครามกับหริภุญชัยแล้วตั้งราชบุตรปกครองละโว้ จารึกกลาดี (พ.ศ.1452) ระบุว่าชาวสิงหล อินเดียใต้และมอญยังค้าขายกับชวา และชาวอินเดียยังคงค้าขายจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 อาบู ซัยยัด อัล-ซิราฟี บันทึกว่ามหาราชาแห่งซาบากอยู่วังคล้ายเมืองบาสรา และสรุปได้ว่าซาบากคือศรีวิชัยหรือศรีบูซ่าในปีพ.ศ.1459 ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยที่ปาเล็มบัง จัมบิและเคดาห์ สมาชิกราชวงศ์และพระอยู่บนบกแต่ชาวบ้านอาศัยอยู่ในเรือนแพแถวโบราณสถานการัมบังใกล้บูกิตเซกุนตัง

ในเวลาต่อมาสมาพันธรัฐศรีวิชัยก็ต้องสู้รบกับอาณาจักรบนเกาะชวาอีกหลายครั้งเนื่องจากว่าสมาพันธรัฐศรีวิชัยต้องการชิงดินแดนบ้านเกิดของราชวงศ์ไศเลนทร์คืนหรืออาณาจักรมะธะรัมต้องการแย่งชิงความเป็นเจ้าทะเลกับสมาพันธรัฐศรีวิชัยเพื่อควบคุมช่องแคบซุนดา จากจารึกทุรยัน (พ.ศ.1472) ฮาร์มาดีสันนิษฐานว่ากองทัพศรีวิชัยจากจัมบิบุกเข้าโจมตีมะธะรัม และสังหารพระเจ้าศรีวิชัยะ นะโมทตุงคะจนสิ้นพระชนม์ในปีพ.ศ.1472 ทำให้มปู สินฑก (ศรีอิสยานะ วิกรมธรรมะตุงคะเทวะ) ซึ่งเป็นข้าราชการที่มีตำแหน่งสูงสุดในขณะนั้นจึงหนีไปสร้างป้อมปราการที่โลเซเรท (Loceret) และไปก่อตั้งอาณาจักรเมดังที่เมเบลังแถวจอมบังในชวาตะวันออกตามจารึกทุรยัน ไม่ได้ย้ายหนีภูเขาไฟระเบิดตามที่ฟาน เบมเมเลนนักธรณีวิทยาชาวดัชต์เสนอ เพราะจากการศึกษาของ ศรี มูลยังนิงซิห์ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาภูเขาไฟของอินโดนีเซียบอกว่าภูเขาไฟเมราปิไม่ระเบิดในปีพ.ศ.๑๔๗๒ สงครามระหว่างศรีวิชัยกับเมดังอาจยืดเยื้อหลายปี แต่ในที่สุดชาวบ้านจากหมู่บ้านอันจุกลาดังมาช่วยทหารของมปู สินฑกขับไล่กองทัพศรีวิชัยให้พ้นไปจากเกาะชวา และมีการจารึกเหตุการณ์ครั้งนี้ในจารึกอันจุกลาดัง (พ.ศ.1480) สร้างอนุสาวรีย์ชัยสดมภ์และวัดศรีชัยเมรตาหรือวัดหล่อร์ที่จันฑิเรโจ (Candirejo) ที่โลเซเรท บริเวณเพื่อเป็นที่ระลึกในชัยชนะครั้งนี้ จารึกเกบอน โกปิที่ 2 (Kebon Kopi II) ที่หายสาบสูญในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงปีพ.ศ.1475 โดยจารึกเป็นภาษามลายูโบราณซึ่ง บอส นักโบราณคดีชาวดัชต์อ่านได้ว่า กษัตริย์ซุนดาได้คืนสู่บัลลังก์น่าจะเป็นปีเดียวกับที่สลักจารึกซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่สมาพันธรัฐศรีวิชัยบุกเกาะชวา แล้วแต่งตั้งกษัตริย์ซุนดาขึ้นสู่บัลลังก์ การทำสงครามระหว่างศรีวิชัยกับเกาะชวานี้ข้อความใน จารึกทุรยัน จารึกเกบอน โกปิที่ 2 และจารึกอันจุกลาดังซึ่งสลักในเวลาไล่เลี่ยกันได้ยืนยันสอดคล้องกันและมีชาวทมิฬอาศัยอยู่ในตะกั่วป่า แต่จารึกชวาในพุทธศตวรรษที่ 15-16 ไม่กล่าวถึงว่ามีชาวจีนมาที่ชวา

บูซูร์ก อิบึน ชาห์ริยา (Buzurg Ibn Shahriya) หรือ อัล-รามฮอร์มูซี (Al-Ramhormuzi) ชาวเปอร์เซียเมื่อปีพ.ศ.1496 ได้เขียนหนังสืออจายิป อัล-ฮินด์ (Ajaib al-Hind) หรือมหัศจรรย์แห่งอินเดียเป็นภาษาอาหรับ กล่าวว่าในปีพ.ศ.1488-1489 พวกวัค-วัคส่งกองทัพเรือ 1,000 ลำไปยังชายฝั่งแทนซาเนียและโมซัมบิกบุกเมืองควานบาลูของพวกสวาฮิลีในแอฟริกาตะวันออกบนเกาะเพมบาประเทศแทนซาเนียในปัจจุบัน แต่เนื่องจากเมืองนี้มีป้อมปราการแข็งแรงมากกองทัพศรีวิชัยจึงตีไม่ได้พ่ายแพ้กลับไป

 รูป 1. ศิลาจารึกอันจุก ลาดัง แหล่งที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Anjuk_Ladang_inscription #/media/File:Anjuk_Ladang_Inscription.jpg
พวกวัค-วัคน่าจะเป็นสมาพันธรัฐศรีวิชัยเพราะในยุคนั้นไม่มีอาณาจักรใดสามารถรวบรวมเรือได้นับพันลำเหมือนศรีวิชัย กองทัพเรือนี้อาจแวะพักที่เกาะมาดากัสการ์และหมู่เกาะโคโมโรส์ที่มีชาวศรีวิชัยอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณ 100 ปีก่อนหน้านี้น่าจะเป็นการบุกเพื่อหาสินค้า เช่น งาช้าง หนังเสือดาวขายจีน และจับชาวบันตูมาเป็นทาส หลักฐานศิลาจารึกในเกาะชวา เช่นจารึกวาฮารุที่ 4 (พ.ศ.1474) สมัยอาณาจักรเมดังและจารึกการามัน (พ.ศ.1596) สมัยอาณาจักรคะหุริปันกล่าวว่าเมื่อเกาะชวามีความเจริญรุ่งเรือง ขยายการเพาะปลูกทางการเกษตร จึงมีการจับทาสผิวดำมาจากเจงจิ (เกาะแซนซิบาร์) ปูจุต (ออสเตรเลีย) และบันดัน (เกาะปาปัว) มาใช้งานเกษตรกรรม บรรจุสินค้าเพื่อส่งไปท่าเรือ เจงจิในภาษาชวาอาจหมายถึงซันจ์แถวชายฝั่งตะวันออกของแอฟริกาที่พวกบันตูอาศัยอยู่ จึงสันนิษฐานว่าชาวชวาหรือชาวศรีวิชัยจับพวกบันตูเหล่านี้มาขายเป็นทาสที่เกาะชวา ซึ่งจะต้องใช้การตรวจดีเอ็นเอของประชากรในเกาะชวาว่ายังมีลูกหลานของทาสเหล่านี้หลงเหลือมาถึงปัจจุบันหรือไม่ มหาราชาที่ยกทัพเรือบุกชวาและแอฟริกาน่าจะเป็นองค์เดียวกันเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้กันมาก และในหนังสือเล่มนี้เขายังกล่าวว่าเมืองมลายูใหญ่และชาวบ้านย้ายบ้านได้ตามประสงค์และในเมืองที่มหาราชแห่งซาบากประทับอยู่ ข้าพเจ้าได้พบถนนหลายสายจนนับไม่ถ้วนที่เต็มไปด้วยพ่อค้าโดยเฉพาะถนนที่มีร้านแลกเงินเพียงสายเดียวข้าพเจ้าก็นับร้านแลกเงินได้ถึง 800 ร้านนอกเหนือจากร้านแลกเงินอื่นๆที่ตั้งกระจัดกระจายอยู่บนถนนสายต่างๆ ในช่วงนี้จึงไม่สามารถทราบได้ว่าใครครองราชย์เป็นมหาราชาศรีวิชัยในช่วงนี้กันบ้าง จนกระทั่งมีการส่งทูตไปจีนอีกครั้งเมื่อมีการก่อตั้งราชวงศ์ซ่งเพื่อรื้อฟื้นระบบบรรณาการและสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า เส้นทางการค้าของศรีวิชัยในยุคนี้ยังคงครอบคลุมทะเลใต้ อันได้แก่มหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้


รูป 2. การขุดค้นทางโบราณคดีบนหมู่เกาะโคโมโรส์ ที่พ่อค้าและผู้อพยพจากศรีวิชัยเคยมาตั้งถิ่นฐาน อนุเคราะห์ภาพถ่ายจาก ศาสตราจารย์ สเตฟาน ปราดีน แห่งมหาวิทยาลัยอากาข่าน วิทยาเขตลอนดอน สหราชอาณาจักร
เอกสารอ้างอิง
ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์. พ.ศ.2523. ศิลปะทักษิณก่อนพุทธศตวรรษที่ 19. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร.

Cœdès, Georges.1968. The Indianized States of Southeast Asia. Edited by Walter F. Vella. Translated by Susan Brown Cowing. Honolulu, Hawaii: University of Hawaii Press.

Duarte, Ricardo Teixeira. 2012. "Maritime History in Mozambique and East Africa: The Urgent Need for the Proper Study and Preservation of Endangered Underwater Cultural Heritage." Journal of Maritime Acheology 7: 63-86.

Heng, Derek Thiam Soon. 2009. Sino-Malay Trade and Diplomacy: From Tenth through the Fourteenth Century. Singapore: ISEAS.
Jocano, Felipe Landa. 1998. Filipino Prehistory: Rediscovering Precolonial Heritage. Quezon City: Panlad Research House.

Kulke, Hermann. 2016. "Srivijaya Revisited: Reflection on State Formation of Southeast Asian Thalassocracy." Bulletin de l'École française d'Extrême-Orient 102: 45-95.

Kumar, Ann. 2011. "The Single Most Astonishing Fact of Human Geography: Indonesia's Far West Colony." Indonesia 92: 59-95.

Kumar, Ann. 2012. "Dominion over Palm and Pine; Early Indonesia's Maritime Reach." In Anthony Reid and the Study of the Southeast Asian Part, by Geoff Wade and Tina Li, 101-112. Singapore: ISEAS.

Miksic, John Norman. 2013. Singapore and the Silk Road of the Sea 1300-1800. Singapore: NUS Press.

Miksic, John Norman. 2015. "Kerinci and the Ancient History of Jambi." In A 14th Century Malay Code of Laws: The Nitisarasmuccaya, by Uli Kozok, 17-49. Singapore: ISEAS.

Miksic, John Norman, and Geok Yian Goh. 2017. Ancient Southeast Asia. London: Routledge World Archeology.

Munoz, Paul Michel. 2006. Early Kingdoms of the Indonesian Archipelago and the Malay Peninsula. Singapore: Editions Didier Millet.

Nastiti. 2007. "Perdagangan Internasional pada Masa Jawa Kuno." In Tunjauan Terhadap Data Tertulis Abad X-XII, by A Triastanti. Yogyakarta: Faculty of Cultural Studies, Gadjah Mada University.

Patanñe, E. P. 1996. The Philippines in the 6th to the 16th Century. Manila: LSA Press.

Sri Mulyaningsih 2006. Geologi Lingkunggan di Daerah Lereng Selatan Gunung Api Merapi, Pada Wakti Sejarah. Dissertation, Departmen Teknik Geologi, Sekilah Tinggi Pascasarjana.

Wang Gongwu (Wang Gengwu 王賡武). 1998. The Nanhai Trade: The Early History of Chinese Trade in South China Ocean. Singapore: Time Academic Research.



กำลังโหลดความคิดเห็น