ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เสียงเรียกร้องของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ขอให้ระงับการทำ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขาย และการยกเลิกโปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT จนบัดนี้ยังไม่มีเสียงตอบรับใด ๆ จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เมื่อบวกกับความไม่พอใจที่ ตลท. - ก.ล.ต. ไม่มีความชัดเจนในการเยียวยานักลงทุนที่เจ๊งระนาวจากคดีปั่นหุ้นมอร์และหุ้นสตาร์ค บรรดานักลงทุนรายย่อยจึงงัดมาตรการ “นัดหยุดเทรด” ทำเอานายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกอาการเหวี่ยงแรง อารมณ์บ่จอยเป็นอย่างยิ่ง
มีรายงานข่าวคราวข้ามโลกจากนครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความกังวลต่อกระแสข่าวนักลงทุนรายย่อยนัดหยุดเทรดในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เป็นเรื่องที่ต้องมีการสอบถามและพยายามทำให้หลาย ๆ อย่างดีขึ้น แต่จะดีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรู้สึกของนักลงทุน โดยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ได้ให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปหารือกับ ตลท. ก.ล.ต. จึงไม่ทราบว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนนัดหยุดเทรดหรือไม่
นายกรัฐมนตรียังตอบคำถามกรณี Short Sell ที่เชื่อว่าจะมีการเมืองมาแทรกแซงในตลาดหุ้นนั้น ว่า ก.ล.ต.ตรวจสอบแล้วไม่มี และอยากถามกลับว่าเขาจะให้ทำอะไร คุยกับใคร ซึ่งการที่ให้นายกิตติรัตน์ไปหารือกับ ก.ล.ต. มีแต่สถานการณ์ดีขึ้น แต่ดีมากหรือดีน้อย ไม่ทราบ อยากจะให้ตนเองทำอะไร ขอให้บอก ไม่ใช่ไม่อยากทำ เพราะการพูดคุยกับนักลงทุนรายย่อย ซึ่งมีเป็นแสนคนจะให้ไปคุยกับใครบ้าง ภาษีจากธุรกรรมการขายก็ไม่ได้เก็บ ภาษีจากกำไรการขายหุ้นก็ไม่ได้เก็บ นโยบายการลงทุน กองทุนแอลทีเอฟก็ออกมาให้ตามที่ต้องการ หากจะต้องการอะไรบอกมา ไม่ได้ประชด หรือว่าอารมณ์เสีย แต่อยากรู้ความต้องการ เพื่อจะได้จัดให้และมีอะไรใหม่ที่อยากได้
“ผมไม่ได้อะไรเลยเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ ผมไม่ได้ยุ่งอะไรเลย ไม่ได้รบกวน ไม่ได้ไปทำให้ใครมีปัญหา ซึ่งวันนั้นผมก็อารมณ์เสียใส่ดีเอสไอไปเรื่องหุ้นมอร์ และหุ้นสตาร์ค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ความไว้วางใจในตลาดมีน้อย เรื่องเกิดมานานเท่าไหร่ ยังไม่จบเสียที ติดอยู่ที่ดีเอสไอ ไม่ใช่เรื่องหมูอย่างเดียว” นายกรัฐมนนตรีกล่าว
ความพยายามที่อยากให้ตลาดหุ้นดีขึ้นของนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น หลายสำนักข่าวรายงานตรงกันว่า ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่เรียกประชุมกรรมการและผู้จัดการ ตลท. เลขาธิการ ก.ล.ต. และปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ผลประชุมไม่ได้มีมาตรการพิเศษใด ๆ ที่จะหยุดความผันผวนของตลาดหุ้นไทย โดยอ้างสาเหตุหุ้นตกมาจากฐานปีก่อนสูง ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ข้อกังวลของผู้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และกระแสข่าวลือในตลาดหุ้นเรื่องการทำ Naked Short Sell หรือการขายหุ้นออกไปโดยนักลงทุนรายนั้นไม่ได้ถือหุ้นอยู่จริง
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยังเชื่อตาม ตลท. ก.ล.ต. และคลัง ว่ามาตรการต่างๆ ที่ปฏิบัตินั้นดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะข้อกังวลว่ามีการทำ Naked Short Sell ทุบหุ้นไทย ยืนยันว่าไม่มี แต่ ตลท. และ ก.ล.ต.พร้อมจะยกระดับมาตรการควบคุม Naked Short Sell ให้มีความเข้มงวดมากขึ้นอีก
นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. ย้ำเช่นเดิมว่า สถานการณ์ของตลาดหุ้นตกซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย แต่มีความมั่นใจว่าการทำชอร์ตเซลหรือโปรแกรมเทรดดิ้ง ไม่ได้เป็นตัวก่อให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรม หรือการทำผิดกฎหมายอย่างการทำ Naked short sell สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการสอบทานและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา และหากเจอเคสขอยืนยันว่าสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ ซึ่งปกติการสอบทานเป็นไปตามความเสี่ยง ถ้าเสี่ยงมากการสอบทานจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ
นับเป็นการประชุมหารือและแถลงยืนยันแบบยืนกระต่ายขาเดียวอีกครั้งว่าการทำ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขาย และการใช้โปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT ไม่ใช่ตัวการถล่มหุ้นไทยแต่อย่างใด ทั้งที่ตลาดหุ้นไทยซวนเซ ผันผวนหนัก มาตลอดในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และนักลงทุนกังขาว่ามีต้นสายปลายเหตุมาจาก ROBOT และ Short Sell
ท่าทีของหน่วยงานกำกับตลาดหุ้น ทั้ง ตลท. ก.ล.ต. ไม่ต่างไปจากการออกมาแถลงก่อนหน้านี้ โดยเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เลขาธิการ ก.ล.ต. ยืนยันไม่พบความผิดปกติจากการ Short Sell หุ้นเช่นกัน และไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการห้าม Short Sell เพราะมองไม่เห็นว่าการห้ามธุรกรรมดังกล่าวจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นไทย โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2566 สัดส่วนการทำ Short Sell จนถึงปัจจุบันมีสัดส่วนแค่เพียง 5.6% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด ไม่มีความแตกต่างจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่เปิดให้ทำ Short Sell แบบมีเงื่อนไขโดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ทำในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายล่าสุด และห้ามการทำ Naked Short Sell ไม่ว่าจะโปรแกรมเทรดดิ้งหรือซื้อขายปกติ คือต้องมีหุ้นก่อนหรือยืมหุ้นมาก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการผิดนัดส่งมอบ ดังนั้น ด้วยกลไกที่มีอยู่ทำให้มั่นใจว่าสามารถห้ามได้และเอาผิดได้ Naked Short Sell ได้
เช่นเดียวกัน โปรแกรมเทรดดิ้ง (Algorithm Trading) ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นนั้น นางพรอนงค์ มองว่าเป็นไปตามทิศทางการเติบโต ไม่เพียงแต่นักลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมซื้อขายได้ บริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ก็ให้บริการแก่นักลงทุนรายย่อยด้วยเช่นกัน ถือเป็นการส่งผลดีต่อตลาดหุ้น ช่วยเสริมสภาพคล่องในการซื้อขาย
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากระดับสูงสุดที่ดัชนีหลักทรัพย์ ทำสถิติไว้ในปี 2566 อยู่ที่ระดับ 1,691.41 จุด เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566 จะพบว่าดัชนีปรับตัวลดลงประมาณ 301 จุด หรือ 21.72% มาอยู่ที่ระดับ 1,389.57 จุด ของวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2566 ขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยรวมมูลค่าซื้อขายลดลงไปกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 6.81 หมื่นล้านบาท ขณะที่เดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 4.55 หมื่นล้านบาท และเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 อยู่ที่ระดับ 5.09 หมื่นล้านบาท
เมื่อดูวอลุ่มการซื้อขายและดัชนีหุ้นที่ไหลรูดไม่หยุดหย่อน ทำให้นักลงทุนทำใจเชื่อได้ยากตามเหตุและผลที่ ก.ล.ต. และ ตลท. ออกมายืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ROBOT กับ Short Sell ไม่ได้มีผลใด ๆ ต่อตลาดหุ้น ยิ่งเมื่อมองย้อนกลับไป ตลาดหุ้นที่ฟุบหนักมายาวนาน 5 ปี โดยเฉพาะปี 2566 ที่ดัชนีหุ้นทรุดลงอย่างหนัก ทำสถิติแชมป์ตลาดหุ้นยอดแย่ที่สุดในโลกประจำปี นอกจากนักลงทุนจะไม่เชื่อมั่นใน “ระบบตรวจสอบ” ของ ตลท. และ ก.ล.ต. แล้ว กระแสยังลุกลามขยายวงไม่พอใจผู้บริหารของสองหน่วยงานดังกล่าวกระหน่ำซ้ำเติมเพิ่มขึ้นไปอีก
นักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนทั่วไปพวกเขารู้แหละว่าการลงทุนในตลาดหุ้นมีคนได้และเสีย แต่ทว่าในรอบ 5 ปีนี้นับจาก ROBOT เข้ามามีบทบาทนักลงทุนรายย่อยนับล้านเสียกันหมด แล้วใครคือคนที่ได้ คำตอบอยู่ที่การประมวลผลกำไรหรือขาดทุนของ ROBOT ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเครื่องมือตรวจสอบอยู่แล้ว และตัวเลขผลกำไรจากการซื้อขายหุ้นด้วย ROBOT จะตอบโจทย์ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับจะทำหรือไม่ จะเปิดเผยข้อมูลเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับคืนมาหรือไม่
เมื่อ ตลท. และ ก.ล.ต.ยังยืนกราน เปิดให้ Short Sell ปล่อยให้ ROBOT เป็นเครื่องจักรสังหารต่อไป ขณะที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเอาแต่ปล่อยผ่านเลยไปและเชื่อในถ้อยแถลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าของผู้บริหาร ตลท. และก.ล.ต. โดยไม่มีการโชว์ตัวเลขเป็นประจักษ์พยานหลักฐานเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ทางเลือกของนักลงทุนรายย่อยคงต้องขายหุ้นทิ้งเพื่อตัดขาดทุนเพียงเท่านี้แล้วเลิกเล่นหุ้น และอีกหนทางคือส่งเสียงเรียกร้องให้ดังยิ่งขึ้นเพื่อให้ระงับ Short Sell ไว้ชั่วคราวในภาวะตลาดที่ไม่ปกติเหมือนประเทศเกาหลีใต้
นั่นจึงเป็นที่มาของความเคลื่อนไหวก่อหวอดเรียกร้องแสดงพลังต่อต้าน ROBOT และ Short Sell โดยนักลงทุนรายย่อย นัดหยุดซื้อขายหุ้นพร้อมกันวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566
กล่าวสำหรับกรณีเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นโมเดลที่ตลาดหุ้นไทยควรเก็บรับบทเรียนเพื่อพลิกฟื้นตลาดหุ้นไทยตามเสียงเรียกร้องของนักลงทุนรายย่อยนั้น คณะกรรมการด้านบริการการเงินของเกาหลีใต้ (FSC) ออกมาประกาศสั่งห้ามลงทุนใน Short Sell หุ้นในบริษัทต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในดัชนี KOSPI 200 Index และดัชนี KOSDAQ 150 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2566 ถึงเดือนมิถุนายน 2567 และกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงมากขึ้น พร้อมต่อเฟสสองขยายเวลาห้าม SHORT SELL ไปถึงปี 2568 ปรากฏว่าหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวออกมา ดัชนี KOSPI 200 Index ของตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปรับตัวบวกแรงสุด รอบเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2563 มาอยู่ที่ระดับ 2,500 จุด และยังมีวอลุ่มการซื้อขายหนาแน่น เช่นเดียวกับดัชนี KOSDAQ 150 Index ซึ่งเป็นหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็กก็ปรับตัวพุ่งขึ้นเช่นกัน โดยการสั่งห้าม Short Sell เกาหลีใต้นำมาใช้หลายครั้งแล้ว เช่น วิกฤตซับไพรม์ ปี2008 , วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ปี 2010 และวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เมื่อปี 2020
นักลงทุนรายย่อย คาดหวังว่าหากตลาดหุ้นไทยสั่งห้าม Short Sell ดัชนีหุ้นก็จะมีโอกาสฟื้นตัว ถือเป็นเครื่องมือของหลายตลาดหุ้นในเวลาที่ดัชนีฯปรับตัวลดลงหนัก และต้องการจะหยุดแรงขายที่เกิดขึ้นโดยผู้ควบคุมตลาดเห็นถึงสัญญาณการขาย Short Sell ที่มีผลต่อราคาหุ้น และมีผลลบต่อตลาดที่อาจแย่ลงตามไปด้วย โดยเฉพาะสัญญาณจากปริมาณ Short Sell ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
พอกระแสกดดันร้อนแรงขึ้น นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาแถลงเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชี้แจงประเด็นร้อนการตรวจสอบ “ชอร์ตเซล-naked short-โปรแกรมเทรด ในท่วงทำนองที่คล้ายแผ่นเสียงตกร่อง ไม่แตกต่างไปจากที่ผ่านมาอีกครั้งว่าความกังวลในเรื่องธุรกรรมชอร์ตเซล naked short การส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นผ่านโปรแกรมเทรด (ประเภท HFT) ที่ส่งผลให้เกิดความเสียหายหรือเสียเปรียบต่อนักลงทุนรายย่อยนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยืนยันได้ตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวในทุกทรานเซกชันแบบเรียลไทม์ และไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด
นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากให้นักลงทุนมั่นใจว่าตลาดหุ้นมีระบบการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นรายวัน และดำเนินการแบบเรียลไทม์ตลอดจนขั้นตอนในการตรวจสอบที่เข้มข้น เช่น การยืมหุ้นมาชอร์ต หรือ SBL นั้นตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์ที่นักลงทุนรายยืมหุ้นเพื่อมาชอร์ต ว่าได้ยืมถูกต้องหรือไม่ และให้ส่งเอกสารมาก่อนที่จะมีการขายหุ้น เพราะตลาดหลักทรัพย์จะเห็นออเดอร์ว่าเป็นการซื้อขายหุ้นปกติ หรือเป็นคำสั่งขายลักษณะการยืมหุ้นมาขายชอร์ต
นายภากร กล่าวอีกว่า มาตรการที่นักลงทุนสงสัย ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีการตรวจสอบแล้ว หากมีความผิดปกติ จะดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดจากเดิมใช้เวลานานจะยกระดับการลงโทษให้มีความรวดเร็วขึ้น ส่วนนักลงทุนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบมีการกระทำที่ผิดปกติหรืออยากรู้ข้อมูลใด ๆ สามารถสอบถามเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ตรวจสอบ และชี้แจงข้อมูลดังกล่าวผ่านคอลเซ็นเตอร์ของตลาดหลักทรัพย์ฯหรือผ่านสื่อมวลชน
ขณะเดียวกัน กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ยังชี้แจงประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ธรรมาภิบาลโครงสร้างของคณะกรรมการ ตลท. ว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) กำหนดให้มาจาก 2 กลุ่ม คือ บคคลที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. แต่งตั้งจำนวน 6 คน และบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิก 4 คน (แก้ไขให้ลดจาก 5 คน ตามกฎหมายกำหนดในปี 2562)
ในการทำงานของ ตลท.ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์ และนโยบายการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณกลุ่ม ตลท. โดยกรรมการผู้ใดมีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องที่พิจารณาจะต้องแจ้งการมีส่วนได้เสีย และไม่เข้าร่วมการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ และคณะกรรมการเป็นเพียงผู้กำหนดแนวทางนโยบายและส่งต่อมายังฝ่ายจัดการ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นประเด็นเรื่องการดำเนินนโยบายแบบไม่เสมอภาคจากกรรมการท่านใดท่านหนึ่งนั้นไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
สำหรับกรณีมีข่าวลือว่าเกิดการทำ Naked Short (การยืมหุ้นมาขายโดยไม่ได้มีหุ้นอยู่ในมือหรือเป็นการทุบหุ้น) ตามรายการซื้อขายตามข่าวเกิดขึ้นช่วงวันที่ 12 กรกฎาคม 2566 โดยใช้เวลาประมาณ 2 นาที รวมทั้งหมด 6 ออร์เดอร์ มีจำนวนคำสั่งขายประมาณ 30 ล้านหุ้น นายภากร กล่าวว่า จากการตรวจสอบล่าสุด “ไม่พบความผิดปกติ“ โดยตลาดหลักทรัพย์ฯมีมาตรการควบคุมและขั้นตอนดูแลอย่างรัดกุมในการตรวจจับ Naked Short ไม่อยากให้นักลงทุนเป็นกังวล
ส่วนกระแสข่าวที่ว่านายกรัฐมนตรี กังวลต่อสภาพตลาดหุ้น ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ ตลท.นั้น นายภากร กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความเห็น และปฏิเสธที่จะเปิดเผยว่าในระหว่างการหารือกับนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือในประเด็นนี้หรือไม่ และนายกรัฐมนตรี จะเชิญไปคุยหลังกลับมาจากประชุมเอเปกหรือไม่
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่ามีใบสั่งปรับระบบทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และปรับโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ออกมาแล้วจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่าอีกไม่นานเกินรอจะเกิดการเปลี่ยนครั้งใหญ่ 2 องค์กรที่กำกับดูแลตลาดหุ้นตามเสียงเรียกร้องของประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งดังขึ้นหลังความพินาศของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ซึ่ง ก.ล.ต.ถูกตั้งคำถามในการทำหน้าที่ปกป้องผู้ลงทุน เพราะปล่อยให้นักลงทุนต้องเสียหายย่อยยับ จากกรณีบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE และบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ
อย่างไรก็ดี นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง บลน.ฟินโนมินา สะท้อนมุมองผ่านการให้สัมภาษณ์สื่อถึงปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากที่สุดในโลกรองจากตลาดหุ้นของจีนว่า เศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนซึ่งยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกได้รับผลกระทบ การท่องเที่ยวไม่สดใสดังคาด ส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายไทยกับสหรัฐฯ ห่างกันมาก ไทยอยู่ที่ 2.5% สหรัฐฯ อยู่ที่ 5.25 ทำให้เงินฝากไหลเข้าสหรัฐฯ ขณะที่ค่าบาทไทยอ่อนลงมากที่สุดในเอเชีย ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทยที่ปรับลดการเติบโตลง โดยแบงก์ชาติประมาณการปีนี้ที่ 2.8% และคาดการณ์ปีหน้า 3.4% ความกังวลเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนต่างชาติดึงเงินออกจากไทย โดยขายหุ้นไปแล้วกว่า 1.8 แสนล้านบาทในปีนี้ ขณะที่การแถลงข่าวเมื่อตลาดหุ้นร่วงหนักโดยไม่มีการแจ้งสาเหตุที่ชัดจน จับผิดใครไม่ได้ การแถลงหวังสร้างความเชื่อมั่นกลับเพิ่มความตระหนกเหมือนมีอะไรปิดบัง ซ้ำเติมความไม่มั่นใจมากขึ้นไปอีก ส่วนกองทุน TESG ที่กำลังจัดตั้งอาจจะไม่ใช่กองทุนที่ออกมาเพื่อพยุงตลาดหุ้น เพราะเงินอาจจะไหลเข้าตลาดบอนด์มากกว่า
สำหรับการจัดตั้ง กองทุน TESG Fund เน้นการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม หลังจากกระทรวงการคลังหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เรื่องรายละเอียดหลักเกณฑ์การลดหย่อนภาษี ได้ข้อสรุปว่าหลักเกณฑ์มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง “กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน” หรือ Thailand ESG Fund (TESG) กำหนดระยะเวลาลงทุน 8 ปีเต็ม วงเงินลงทุนไม่เกิน 100,000 บาท/ราย คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท
กระทรวงการคลัง เสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จากนั้นเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อออกเป็นประกาศกระทรวง และ ก.ล.ต.ออกหลักเกณฑ์ของกองทุน โดยเสนอขายให้กับผู้ลงทุนได้ภายในต้นเดือนธันวาคม 2566 ผู้ลงทุนสามารถซื้อหน่วยลงทุน TESG และนำมาลดหย่อนภาษีงวดปี 2566 ได้ โดยกระทรวงการคลัง ประเมินว่า การให้สิทธิลดหย่อนภาษีกองทุน TESG จะทำให้คลังสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีเฉลี่ยหมื่นล้านบาทต่อปีใกล้เคียงกับกองทุน LTF
การจัดตั้งกองทุน TESG เป็นแต่เพียงยาหอมบรรเทาอาการ ส่วนจะหยุดความพังพินาศของนักลงทุนทั่วไปที่ลงทุนในตลาดหุ้น รัฐบาลคงต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดและฟังเสียงเรียกร้องนั่นคือ ระงับการทำ Short Sell หรือการยืมหุ้นมาขาย และยกเลิกโปรแกรมการซื้อขายหรือ ROBOT เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยจะดีขึ้นตามความเชื่อว่าโมเดลของเกาหลีใต้เอาอยู่