xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นึกว่า “ส้ม” ที่แท้ก็ “เผือก” ป่วนแปรอักษร “บอลจตุรมิตร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวียนมาบรรจบอีกครั้ง ฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี หรือที่คุ้นหูกันว่า “บอลจตุรมิตร” ที่เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีกระชับความสัมพันธ์ของ 4 โรงเรียนชายล้วนชื่อดัง ได้แก่ “ชมพู-ฟ้า” โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, “ลูกแม่รำเพย” โรงเรียนเทพศิรินทร์, “อินทรีแดง” โรงเรียนอัสสัมชัญ และ “ชงโคสีม่วง” โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

โดย “บอลจตุรมิตร” เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2507 มีสังเวียนดวลแข้งกันที่ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ โดยช่วงแรกจัดแข่งขันกันเป็นประจำทุกปี แต่ว่างเว้นไปบ้างตามสถานการณ์ ทั้งสนามไม่ว่าง สภาพเศรษฐกิจไม่เอื้อ หรือเหตุการณ์การเมืองร้อนแรง เป็นต้น ก่อนที่ยุคหลังจะกำหนดจัดแข่งขันเป็นประจำทุกๆ 2 ปี

สำหรับปีนี้ ถือเป็นฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีครั้งที่ 30 หลังพักการแข่งขันไปร่วม 4 ปีเต็มจากวิกฤติโควิด-19 โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 - 18 พ.ย.2566

ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ถือว่ามีมนตร์ขลังในตัวเอง จากเกมฟาดแข้งที่ดุเดือดเข้มข้น นักฟุตบอลฝีเท้าเบอร์ต้นๆ ของประเทศในระดับเยาวชน และในอดีตหลายคนที่ผ่านสังเวียนนี้ก็ไต่เต้าไปถึงระดับซูเปอร์สตาร์ทีมชาติหลายต่อหลายคน

นอกเหนือจากเกมในสนามแล้ว เสน่ห์ของฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคียังอยู่ที่บรรยากาศการเชียร์ของบรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน และที่ขาดไม่ได้คือ “การแปรอักษร” ที่ถือเป็นไฮไลท์สำคัญ ที่ทั้ง 4 สถาบันขนทีเด็ดมาประชันกันแบบไม่มีใครยอมใคร นอกจากโชว์ความสวยงามและความพร้อมเพรียงแล้ว ยังมีการตอบโต้จิกกัดระหว่างโรงเรียนสร้างสีสันระหว่างการชมฟุตบอลไปด้วย

ทว่า มาปีนี้ ก็เกิด “ดรามา” ขึ้น เมื่อวันแรกของการแข่งขันได้มีการติดป้ายกระดาษขนาด A4 ระบุข้อความ “เลิกบังคับแปรอักษร” ตามจุดต่างๆ ตั้งแต่บริเวณหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ที่เป็นเจ้าภาพในปีนี้ ไปจนถึงโดยรอบสนามศุภชลาศัย สถานที่จัดการแข่งขัน รวมทั้งการห้อยป้ายผ้าบริเวณสะพานลอยข้ามแยกต่างๆ มีข้อความว่า “จตุรมิตรต้องยกเลิกบังคับแปรอักษร” และ “เด็กขึ้นสแตนด์ต้องตากแดด บางคนต้องฉี่ใส่ขวด” นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักกิจกรรมแจกคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน และคู่มือเอาตัวรอดจากการบังคับแปรอักษร ให้กับเด็กนักเรียนด้วย

โดยผู้ที่ติดป้ายดังกล่าวอ้างว่า เป็นกลุ่มศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ และกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ที่ต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่า การแปรอักษรเป็นกิจกรรมที่ “ละเมิดสิทธิ” และเป็นอันตรายต่อเด็กนักเรียนที่ขึ้นแสตนด์เชียร์ ทั้งต้องตากแดด ตากฝน และอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนเป็นเวลาหลายชั่วโมง ถูกบังคับไม่ให้ไปปัสสาวะ เป็นต้น

รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่การขึ้นแปรอักษรถูกนำไปใช้เป็น “คะแนนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน” ที่จะมีผลต่อการศึกษาของนักเรียนคนนั้นๆ ทั้งที่เวลาซ้อมนั้นไปเบียดบังเวลาเรียนของเด็กนักเรียนมากกว่า

ทั้งนี้ กลุ่มที่อ้างตัวเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้เรียกร้องไปถึงผู้บริหารโรงเรียนในเครือจตุรมิตรให้ปรับปรุงการจัดงานฟุตบอลประเพณี อาทิ เสนอให้เปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ เพิ่มเวลาพักสำหรับผู้ขึ้นแปรอักษร มีเวลารับประทานอาหาร-พักเข้าห้องน้ำ มีมาตรการควบคุมพื้นที่เข้าออกทั้งขณะปกติและเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมทั้งจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น ครีมกันแดดสำหรับใบหน้าและร่างกาย หรือให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วม หรือเปลี่ยนไปเป็นการใช้เทคโนโลยีในการแปรอักษรแทนการใช้เด็กนักเรียน

โดยมีการตั้งแฮชแทก #เลิกบังคับแปรอักษร ในสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นแตกต่างหลากหลายในหมู่ศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจุบันของ 4 สถาบัน และขยายวงกว้างไปถึง “ชาวเน็ต” ภายนอก และลุกลามไปถึงขั้นเสนอให้ยกเลิกการจัดแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคีเลยทีเดียว

ภายหลังกลายเป็นประเด็นดรามา ก็มีการเผยแพร่ภาพกลุ่มบุคคลที่จัดกิจกรรม #เลิกบังคับแปรอักษร ก็ปรากฎภาพ “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” แกนนำกลุ่ม 24มิถุนา ประชาธิปไตย และอดีตผู้ต้องโทษคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ร่วมมือกับ “น.ส.อันนา อันนานนท์” แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งทั้งคู่เป็นแนวร่วม “ม็อบ 3 นิ้ว” ที่มีจุดยืนไม่สนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ยังมีการเปิดเผยภาพการแปรอักษรของ 4 สถาบันในปีนี้ที่มีการร่วมกันแปรอักษรเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสวยงามออกมา

ทำให้มีการคาดการณ์กันว่าเหตุที่ “สมยศ-นักเรียนเลว” ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ก็เพื่อแสดงการต่อต้านแปรอักษรเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบรมวงศานุวงศ์ ตามจุดยืนของตัวเอง เหนือกว่าการต่อต้านกฏระเบียบและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ที่เครือจตุรมิตรปฏิบัติสืบทอดกันมา และเหนือกว่าสวัสดิภาพของเด็กนักเรียนตามคำกล่าวอ้างด้วย

หลังมีการเผยแพร่ภาพป้ายข้อความ #เลิกบังคับแปรอักษร ในโลกโซเชียล ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น พูดคุย ถกเถียง และแลกเปลี่ยนกันมากมาย ฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวดังกล่าว ระบุเป็นเรื่องที่ทำกันมาจนเป็นประเพณี ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันควรมีความภูมิใจ พร้อมโจมตีกลุ่มศิษย์เก่าฯ และนักกิจกรรมว่าเอาเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง

เรื่องราวยังไม่จบแค่นั้น หลังเกิดดรามา “ค่ายส้ม” พรรคก้าวไกล กระโดดลงมารับลูกราวกับนัดหมายกันไว้ โดย “ปารเมศ วิทยารักษ์สวรรค์” สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่อ้างว่า ตัวเองเป็น สส.ในเขตพื้นที่ที่ 4 โรงเรียนเครือจตุรมิตรตั้งอยู่ ได้โพสต์ว่า มีความกังวลใจ รวมถึงข้อเสนอต่างๆ ในทำนองเดียวกับ “สมยศ-นักเรียนเลว” ราวกับลอกกันมา

ต่อมา “แก้วตา” ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่เป็น สส.พื้นที่ติดกับ “ปารเมศ” ก็ได้แชร์โพสต์ของเพื่อ สส.พรรคเดียวกัน และโพสต์ข้อความอีกว่า “ไม่บังคับขึ้นสแตนด์ ≠ ยกเลิกกิจกรรม” รวมทั้งระบุว่า “วันนี้จะมีศิษย์จากโรงเรียนจตุรมิตรจะไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับกมธ.การศึกษาที่รัฐสภาเรื่องการบังคับขึ้นสแตนด์แปรอักษรโดยไม่สมัครใจ”

นอกจากนี้ “ธิษะณา” ยังระบุด้วยว่า “มีคนมาโทรมาข่มขู่ว่าหากต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของนักเรียนใน #การแปรอักษร ต่อไป จะรวบรวมคนในจตุรมิตร (แบบศิษย์เก่า) คนที่โทรมาขู่อายุ 50 ปี ว่าจะให้งานจตุรมิตรขึ้นแปรอักษรบนสแตนด์ #ต่อต้านก้าวไกล ที่ออกมาแสดงจุดยืนต่อต่านการทรมานเด็กที่ต้องถูกบังคับมาแปรอักษร”

น่าสนใจไม่น้อยว่า ในโพสต์ของทั้ง “ปารเมศ” และ “ธิษะณา” มีผู้นำไปแชร์ต่อ และแสดงความเห็นหลากหลาย แต่ในต้นโพสต์ของทั้งคู่ “ส่วนใหญ่” แสดงความไม่พอใจที่ “ปารเมศ-ธิษะณา” มาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ โดยระบุในทำนองเดียวกันว่า “ไม่มีใครต้องการให้เข้ามายุ่งเรื่องของพวกเรา” และตั้งข้อสงสัยด้วยว่า “แปรอักษรอยู่สนามศุภฯ แต่ไปหนักหัวใครที่ไหน”

เหมือนเรียกทัวร์มาถล่มตัวเอง “คาบ้าน” ก็ว่าได้

ซึ่งคำว่า “พวกเรา” ในที่นี้ก็คงหมายถึงการที่ “ปารเมศ-ธิษะณา” ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับ 4 สถาบันเครือจตุรมิตร แต่กลับมาเป็นเดือดเป็นร้อนแทน ทั้งที่ “พวกเรา” ภาคภูมิใจกับวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบกันมา

หลายเสียงยังไล่ให้ “ท่าน สส.” ไปทำหน้าที่อื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่าการไปชี้นำหรือไปยุ่งกับกิจกรรมของเด็กนักเรียน เช่นการไปสอดส่องดูแลพฤติกรรม สส.ในพรรคตัวเองไม่ให้ไปคุกคาม หรือล่วงละเมิดทางเพศใครอีกดีกว่า

รวมทั้งยังตะเพิดให้ “ปารเมศ-ธิษะณา” ไปถาม “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ศิษย์เก่าจากรั้ว “ชงโคม่วง” กรุงเทพคริสเตียน หรือ “จารย์ป๊อก” ปิยะบุตร แสงกนกนกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นศิษย์เก่า “อินทรีแดง” อัสสัมชัญ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ด้วย

หรือกระทั่งมีการขุดภาพ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ควง “เสี่ยทิม-จารย์ป๊อก” ไปดูฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งถือว่ามีการแปรอักษรที่จัดเต็มกว่าฟุตบอลจตุรมิตรเสียอีก

แถมยังมี “พี่ดู๋” สัญญา คุณากร นักแสดง-พิธีกรชื่อดัง ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ ที่โดยปกติจะไม่เคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ ที่อดไม่ได้ต้องโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sanya Kunakorn ว่า

“ผมเป็นคนไม่ชอบมีเรื่องกับใคร แต่ทำไมผมมีความรู้สึกว่า ประโยคที่ได้ยินจากเรื่องนี้ มันตรงกับที่รู้สึกว่า คุณอย่า(มาหาเรื่อง) กับโรงเรียนของ(ผม)เลย คุณไม่เคยรับรู้ถึงเกียรติภูมิของโรงเรียน ความอดทน ความเสียสละ การภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนที่จะสร้างเยาวชน ที่มีเกียรติ มีรากเหง้า มีกำลังสติปัญญา และมีความเป็นมนุษย์ … ทั้งหมดต้องถูกหล่อหลอมโดยหลายช่องทาง หลายกิจกรรม มีทั้งยากและง่าย ทั้งเหน็ดเหนื่อยและลำบาก โปรดรับรู้ว่า นักเรียนสวนกุหลาบ จะรักษาความถูกต้องจากการแอบแฝงผลใดๆ และจะรักษาเกียรติของโรงเรียนเสมอไป”

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า 4 สถาบันเครือจตุรมิตร มีความแน่นแฟ้น และมีภูมิต้านทาน “ไวรัสส้ม” ที่สูงพอตัว ทำให้ไม่หลงประเด็นไปกับ “แก๊งส้ม” ในครั้งนี้ กลับกันยังจับได้ไล่ทันด้วยว่า “แก๊งส้ม” มีวาระ “แอบแฝง” ในเรื่องนี้ และอาจเป็นวาระแอบแฝงเดียวกับ “สมยศ-นักเรียนเลว” ที่ใช้ความห่วงใยสวัสดิภาพของน้องๆ นักเรียนเป็นข้ออ้าง กระทบกระเทียบไปถึงการแปรอักษรเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่า

อย่าลืมว่า เมื่อคุณพะยี่ห้อ “ก้าวไกล” คนทั่วไปก็มองว่า เป็นภัยคุกคามต่อ “สถาบันเบื้องสูง” อยู่แล้ว ยิ่งมารับส่งลูกกับ “สมยศ-นักเรียนเลว” ก็อาจถูกมองเป็นพวกเดียวกันแบบดิ้นไม่หลุด

โถเป็น “ส้ม” อยู่ดีๆ ดันอยากเป็น “เผือก” ไปยุ่งเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ก็สภาพแบบนี้แหละ


กำลังโหลดความคิดเห็น