“สอดแนมการเมือง”
“ชัชวาลย์ ชาติสุทธิชัย”
ช่วงปี ค.ศ.1724 - ค.ศ.1804 ได้เกิด “นักปรัชญายุคใหม่” ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของยุโรป..
“เอมมานูเอล คานท์” เป็น “นักปรัชญา” คนสำคัญที่ปฏิวัติโลกของปรัชญา ด้วยการ “วิจารณ์ด้วยเหตุผลที่บริสุทธิ์” ไม่ต่างไปจากการปฏิวัติวงการเพลงของ “เดอะ บีเทิลส์” จากเมืองผู้ดีอังกฤษ ซึ่งลือลั่นโด่งดังไปทั่วโลก เป็นอมตะจนทุกวันนี้..
หากมองอย่างผิวเผิน.. “คานท์” ไม่น่าจะเหมาะกับการเป็น “นักปรัชญา” เขามาจากครอบครัวชนชั้นล่าง คนธรรมด๊าธรรมดา ในเมืองโคนิงสเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
หลังจบการศึกษาจากโรงเรียน “นิกายลูเธอแรน” ที่ยึดระเบียบอย่างเคร่งครัด “คานท์” เข้าเรียนต่อที่ “มหาวิทยาลัยโคนิงสเบิร์ก” ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้เป็น “ศาสตราจารย์” ในเวลาต่อมา..
“คานท์” ไม่ชอบท่องเที่ยว ซึ่งแตกต่างจากนักปรัชญาคนอื่นๆที่ได้เอ่ยถึงมาก่อน แปลกประหลาดไหม? “คานท์” ไม่เคยออกไปไกลเกินเขตเมือง ที่เป็นบ้านเกิดแม้แต่ครั้งเดียว!
“คานท์” เริ่มงานเขียนด้านปรัชญา เมื่อเขามีอายุเกือบ 60 ปี! ชีวิตส่วนตัวส่วนใหญ่สงบไร้ปัญหา หรืออาจจะจำเจซ้ำซากน่าเบื่อด้วยซ้ำไป งานเขียนด้านปรัชญาของ“คานท์” สร้างสรรค์ขึ้นที่ข้างหน้าต่าง และใช้ “โบสถ์” ที่แลเห็นอยู่ภายนอกเป็นแรงบันดาลใจ..
ทุกเช้า.. “คานท์” จะตื่นตรงเวลาเสมอ และเดินออกกำลังกายเป็นปกติ เรามาตามดูชีวิตจำเจซ้ำซากสงบไร้ปัญหาของ“คานท์”กันดีกว่า..
แม้เขาจะไม่ใช่คนที่คุยสนุกตื่นเต้น แต่ “คานท์” กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ ที่ “นักปรัชญา” ต่างยอมรับว่า “คานท์” คือ “ผู้ปฏิวัติปรัชญา”!
ความคิดสำคัญของ “คานท์”-เวลาและสถานที่! ตามความคิด “คานท์” มีสองสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มันเป็นสิ่งที่มาก่อนความรู้สึก นั่นคือ แนวคิดของเรื่อง“เวลา”และ “สถานที่” สมองของเราคือตัวสั่งการ ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา ตรงไปสู่เวลาและสถานที่ “เวลา”และ“สถานที่”คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน..
“คานท์” เชื่อว่า “เหตุ” และ “สาร” ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสมอง ที่เกิดขึ้นก่อนประสบการณ์ “ประสบการณ์ของเรา” จำต้องถูกสั่งการโดยเวลาและสถานที่ ซึ่ง “คานท์” เรียกทั้งสองสิ่งนี้ว่า “โครงสร้างสากล”
ว่าแล้ว “คานท์” ก็ยกเรื่อง “แม่วัวเบสซี่” ขึ้นมา! โดยเขามองเช่นเดียวกับ “ฮูม” ว่า เราไม่มีวันที่จะรู้ได้เลยว่า ธรรมชาติของ “แม่วัวเบสซี” เป็นอย่างไร? นอกเหนือจากประสบการณ์ของเราที่รู้กันอยู่แล้ว
และในทางตรงกันข้าม หากเราเอ า“สีเหลือง” และ “สีน้ำเงิน” ไปทาตัวมัน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงก็เฉพาะในส่วนของสีของตัวมันเท่านั้น (ซึ่งนั่นคืออารมณ์หรือความรู้สึกเท่านั้น) ความจริงก็คือ เราได้เห็นว่าของสิ่งนั้น(คือแม่วัว)เปลี่ยนแปลงไป
ข้อเท็จจริงคือ ประสบการณ์ของเรานั้นเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดสืบเนื่องมา คือ แม่วัว “สีเหลือง” และ “สีน้ำเงิน”!
มันชี้ให้เราได้เห็น “เหตุ” ของการเปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ที่เชื่อว่า ความรู้นั้นเกิดจากประสบการณ์ที่มาจากความรู้สึก เช่นที่ “ล็อค” และ “ฮูม” บอกว่า ความรู้อันเป็นสากล (Universal Knowledge) เกี่ยวกับโลกเรานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ “คานท์” กล่าวว่า เราสามารถมีความรู้อันเป็นสากลที่ไม่อยู่บนพื้นฐาน!
เรื่องของ “แม่วัวเบสซี” นั้น “นักปรัชญา” มักจะอ้างถึงอยู่เสมอ และ “เอมมานูเอล คานท์” ก็เช่นกัน..
แม้เราจะถูกจำกัดไว้ให้รู้แต่สิ่งที่เราประสบมาก่อนเท่านั้น (ซึ่งแปลว่าเราไม่อาจพูดคุยเกี่ยวกับพระเจ้าหรือสสารได้เช่นที่ “สปิโนชา” ทำ) แต่เราก็ยังสามารถรู้เกี่ยวกับโลกได้ โดยไม่ต้องพึ่งแต่ประสบการณ์เท่านั้น และเพื่อให้ชัดเจน “ล็อค-ฮูม-ฮ็อบส์” กับนักปรัชญา “แนวประสบการณ์นิยม” ทั้งหลาย กล่าวถึงความรู้ในสองประเด็นนี้ว่า..
ข้อแรกคือ-ความรู้ของมนุษย์ถูกจำกัดไว้ด้วยประสบการณ์ ซึ่งหมายความว่า เราไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมชาติของ “โต๊ะ” หรือ “เก้าอี้” มากไปกว่าประสบการณ์ที่เรามีต่อมัน ซึ่งเป็นกรณีที่ฟังเหมือนเรื่องของสัญชาตญาณมากหน่อย รวมทั้งแตกต่างไปจากความคิดของนักปรัชญา อย่าง“เพลโต” หรือ “อริสโตเติล”!
ข้อสองคือ-ความรู้เป็นสิ่งที่ได้มาจากประสบการณ์ ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ “คานท์” คัดค้าน โดยเขาได้บอกว่า มันเป็นความเข้าใจผิดพลาดเสียด้วย
“คานท์”เห็นว่า ประสบการณ์ของเรานั้น ประกอบขึ้นด้วย “โครงสร้างสากล”ที่ จำเป็น โดยสมองของเราคือส่วนที่สร้าง “โครงสร้าง” นี้ขึ้นมา และทำให้ประสบการณ์(หรือสิ่งที่เราพบเห็น)กลายเป็นที่เข้าใจได้
ฉะนั้น.. หากประสบการณ์เป็นสิ่งที่ถูกสั่งการโดย “โครงสร้างสากล” เช่น เวลาและสถานที่ นั่นแปลว่า “โครงสร้าง” นี้ย่อมต้องพบกับประสบการณ์นั้นๆก่อน
ดังนั้น หากใช้เหตุผล เราย่อมจะได้ความรู้โดยที่ต้องพึ่งประสบการณ์
ด้วยเหตุนี้.. กฎแห่งธรรมชาติ จึงถือเป็นวัตถุแห่งความรู้ และเป็นสิ่งที่แสดงให้เราเห็นอย่างเป็นเหตุเป็นผล
ทั้งนี้ “คานท์” กล่าวว่า กฎแห่งธรรมชาติ ไม่ได้อธิบายให้เรารู้ถึงวิถีแห่งโลกอย่างชัดเจน แต่เป็นเพียงหลักการสากล ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่า โลกดำเนินไปได้อย่างไร
สิ่งที่สำคัญคือ “คานท์” มองว่า จิตหรือสมองของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่มีบทบาทที่แข็งขัน เช่นเดียวกับที่คนสมัยโบราณ มองมนุษย์ไม่ใช่แผ่นกระดานชนวนที่ว่างเปล่า และมีความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ต่างๆ เช่นที่ นักคิดแนว “ล็อค”มอง แต่แท้จริง ตัวเราหรือสมองเรานั่นเอง ที่เป็นตัวสร้างสภาวการณ์ และโครงสร้าง(หรือกลไก) ที่ช่วยให้ประสบการณ์ต่าง ๆเกิดขึ้นได้
เมื่อกล่าวถึงศีลธรรม “คานท์”กล่าวว่า เราจะต้องทำตัวให้หลักในการดำรงชีวิตของเรา เป็นเสมือน “กฎสากล”
แนวคิดนี้คือสิ่งที่ “คานท์” เรียกว่า Categorical Imperative อันหมายถึง “พันธะทางศีลธรรมที่ผูกพันทุกสถานการณ์อย่างไม่มีเงื่อนไข” มันเป็นพันธะที่ไม่ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ หรือความต้องการของผู้ใดเป็นการเฉพาะ แนวคิดนี้ของ “คานท์” ถูกใช้เป็นแนวทางในการประเมินมูลเหตุจูงใจในพฤติกรรมของมนุษย์
“คานท์” กล่าวว่า หลักการในการดำรงชีวิตที่ไร้ศีลธรรมนั้น ย่อมมีลักษณะที่ขัดแย้งกับหลักการข้างต้นสำหรับหลักคิดที่ว่า “คำมั่นสัญญาควรถูกละเมิดเสมอ” เมื่อเอามาเปรียบเทียบกับ Categorical Imperative ก็จะเห็นว่า หลักคิด “คำมั่นสัญญาควรถูกละเมิดเสมอ” นั้น เป็นความขัดแย้งทางตรรกะ และมีคุณลักษณะที่ไร้ศีลธรรม!
สาเหตุที่หลักการนี้ไม่อาจเป็นหลักศีลธรรมสากลได้ เพราะคำว่า “คำมั่นสัญญา ”จะทำให้คำอื่นทุกคำหมดความหมายไปสิ้น
นั่นหมายถึงว่า หากมีคำว่า “คำมั่นสัญญา” คำว่า “รักษาคำมั่นสัญญา” รวมถึงคำว่า “คำมั่นสัญญาควรถูกละเมิด” ทั้งสามคำนี้ ต่างแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางตรรกะ
โดยพื้นฐาน คำทั้งสามนี้เหมือนกับประโยคที่กล่าวว่า “เราจะเรียกความตกลงทั้งหมดนี้ว่า คำมั่นสัญญา และเราจะผิดสัญญานี้เสมอ”
ดังนั้น เราจะมีคำพวกนี้ไปทำไม?!
แนวคิดเรื่อง Categorical Imperative ของ “คานท์” จึงเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ “ทดสอบ” ตรรกะต่างๆ และใช้แยกแยะหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง ออกจากสิ่งที่ไม่มีลักษณะทางศีลธรรมที่ถูกต้อง
ทฤษฎีเกี่ยวกับศีลธรรม และการศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ของ “คานท์” นี้ เป็นที่น่าทึ่ง เท่าๆกับที่มันแปลกและเข้าใจยาก
เรารู้ถึงประสบการณ์(หรือสิ่งที่เราเห็นอยู่) เพราะมันถูกสั่งการด้วยความจำเป็นจาก “เวลาและสถานที่” นี่คือความคิดที่ถูกค้นพบโดยเด็กจากเมืองเล็กๆ คนหนึ่ง ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวฐานะกลางๆ อีกทั้งไม่สนใจที่จะออกจากเมืองเกิดของตนเองเลย
อ่านเรื่องราวประวัติชีวิต และความคิดเบื้องต้นของนักปรัชญานามระบือ “เอมมานูเอล คานท์” ซึ่งไม่มีอะไรหวือหวาพิสดารเลย ไม่ไปท่องเที่ยว ไม่แม้กระทั่งออกจากบ้านเกิดด้วยซ้ำ ทว่า..ไหง “คานท์” จึงได้เป็น “นักปรัชญายุคใหม่” ที่มีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของยุโรปหว่า..?
ก็เพราะ..“คานท์” เป็นผู้สร้างพื้นฐานสำหรับความรู้ใหม่ของ “มนุษย์” ซึ่งยืนยันถึงพื้นฐานใหม่ของพฤติกรรม “เชิงศีลธรรม”..?!
อืม.. ศีลธรรม ศีลธรรม และศีลธรรม.. สิ่งที่ค้นหาได้ยากมากกกกกกกก..จาก “นักการเมือง”..!!!