xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (9): คาร์ล มาร์กซ์ – อำนาจเศรษฐกิจ อุดมการณ์ การต่อสู้ทางชนชั้น และการจุดจบของอำนาจ / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คาร์ล มาร์กซ์(ภาพ : วิกิพีเดีย)
"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

 คาร์ล มาร์กซ์ (ค.ศ. 1818 – 1883) นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์ นักสังคมวิทยา และนักปฏิวัติที่มีชื่อเสียงแห่งศตวรรษที่ 19 และ 20 เป็นที่รู้จักกันดีจากการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์วิจารณ์อำนาจในสังคม ในงานเขียนของเขา มาร์กซ์กำหนดแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจว่า เป็นพลังที่แผ่ซ่านกระจายไปทั่วสังคมซึ่งมีอิทธิพลต่อพลวัตของความสัมพันธ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ การอธิบายเรื่องอำนาจของเขาหยั่งรากลึกในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและอำนาจที่โดยธรรมชาติแล้วมักจะสร้างความไม่สมดุลในสังคม


แนวคิดเรื่องอำนาจของมาร์กซ์มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางชนชั้นและการกระจายความมั่งคั่งในสังคมทุนนิยม เขาให้เหตุผลว่า อำนาจมีการเชื่อมโยงโดยพื้นฐานกับการเป็นเจ้าของและการควบคุมปัจจัยการผลิต ในระบบทุนนิยม ชนชั้นกระฎุมพีซึ่งเป็นเจ้าของและควบคุมปัจจัยการผลิตจะใช้อำนาจเหนือชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งถูกบังคับให้ขายกำลังแรงงานของตนเพื่อความอยู่รอด การกระจายอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันนี้นำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และการกดขี่ชนชั้นแรงงาน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถควบคุมแรงงานของตนเอง และตกอยู่ภายใต้เจตนารมณ์ของชนชั้นปกครอง

อำนาจในสังคมจึงมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ อันได้แก่ รูปแบบการผลิตทางเศรษฐกิจ (วิธีการผลิตสินค้า ใครเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต และวิธีการจัดการแรงงาน) เป็นตัวกำหนดการกระจายอำนาจระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ชนชั้นจึงดำรงอยู่ในฐานะแหล่งที่มาของอำนาจ โดยพื้นฐานแล้วอำนาจถูกยึดครองโดยผู้ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต นั่นคือ ชนชั้นนายทุน (ชนชั้นกระฎุมพี) และอำนาจทางเศรษฐกิจนี้จะแปลสภาพเป็นอำนาจทางการเมืองและอุดมการณ์

 มาร์กซ์ใช้แนวคิดวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ในการอธิบายพัฒนาการของสังคม ซึ่งมีหลักคิดที่สำคัญคือ ฐานเศรษฐกิจของสังคม (พลังและความสัมพันธ์ของการผลิต) เป็นตัวกำหนดโครงสร้างส่วนบน ซึ่งประกอบด้วยระบบการเมือง กฎหมาย ปรัชญา ศาสนา วัฒนธรรม โครงสร้างครอบครัว และสื่อ พลวัตของอำนาจจึงถูกมองว่า เป็นภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเชิงวัตถุ ในสังคมทุนนิยมชนชั้นกระฎุมพีมีอำนาจโดยการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ชนชั้นนี้กำหนดเงื่อนไขของแรงงานและแสวงหาผลประโยชน์จากชนชั้นแรงงาน (ชนชั้นกรรมาชีพ) โดยการจัดสรรมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากแรงงานของพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรม

รัฐและสถาบันต่าง ๆ ของรัฐในสังคมทุนนิยมเป็นกลไกสำคัญ ที่ชนชั้นกระฎุมพีใช้เพื่อรักษาอำนาจของตน รัฐทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสำหรับชนชั้นปกครองในการปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม รัฐทำหน้าที่สร้างความชอบธรรมและประมวลความสัมพันธ์ทางอำนาจที่มีอยู่ ซึ่งจะทำให้การครอบงำของชนชั้นนายทุนและการปราบปรามของชนชั้นกรรมาชีพสามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง มุมมองต่ออำนาจ ซึ่งฝังแน่นอยู่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ตอกย้ำคำวิจารณ์ของมาร์กซ์ต่อระบบทุนนิยมว่า มีเนื้อแท้ของความไม่ยุติธรรมและการแสวงหาผลประโยชน์อย่างป่าเถื่อนดำรงอยู่

กล่าวได้ว่า อำนาจทางการเมืองมีฐานะเป็นส่วนขยายของอำนาจทางเศรษฐกิจ เพราะชนชั้นปกครองใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตนในการมีอิทธิพลเหนือนโยบายและแนวปฏิบัติของรัฐ ส่งผลให้รัฐเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรัฐเป็นศูนย์กลางในการต่อสู้ทางชนชั้น เนื่องจากเป็นกลไกของการใช้อำนาจที่มีประสิทธิผล ดังนั้น รัฐจึงเป็นเป้าหมายของชนชั้นแรงงานที่ต้องการยึดครอง แต่การทำเช่นนั้นได้ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องโค่นล้มนายทุนที่ยึดครองอำนาจรัฐให้ได้เสียก่อน

การวิเคราะห์อำนาจของมาร์กซ์ยังขยายออกไปเกินกว่าขอบเขตทางเศรษฐกิจ โดยครอบคลุมขอบเขตทางสังคมและวัฒนธรรมที่กว้างขึ้น เขาให้เหตุผลว่า ชนชั้นปกครองใช้อำนาจไม่เพียงแต่โดยวิธีการทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังผ่านการผลิตและเผยแพร่อุดมการณ์และบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมด้วย ชนชั้นกระฎุมพีสามารถดำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์ของชนชั้นตนเองที่ทำหน้าที่รักษาโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ ผนึกรวมและทำให้อำนาจของชนชั้นปกครองแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งพิทักษ์สิทธิพิเศษของพวกเขาด้วยการควบคุมปัจจัยการผลิตทางการสื่อสารและวัฒนธรรม

การครอบงำทางอุดมการณ์เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะที่เป็นอยู่ ดำเนินการผ่านการกำหนดความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐาน ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิธีคิดที่แต่ละบุคคลรับรู้ถึงสถานภาพของตนในสังคม ความสัมพันธ์กับผู้อื่น และบั่นทอนศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม กลไกสำคัญในการผลิตและเผยแพร่อุดมการณ์ของชนชั้นนายทุนคือ สถาบันต่าง ๆ ของสังคม เช่น สื่อมวลชน การศึกษา และศาสนา เป็นต้น สถาบันเหล่านั้นจะผลิตอุดมการณ์ที่สนับสนุนและทำให้ระบบทุนนิยมและอำนาจของชนชั้นนายทุนถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้การกดขี่ขูดรีดกลายเป็นเรื่องปกติ หลีกเลี่ยงไม่ได้ และยุติธรรม ซึ่งจะปิดบังซ่อนเร้นการแสวงหาผลประโยชน์และการขูดรีดซึ่งเป็นแหล่งที่มาของความไม่เท่าเทียม และธรรมชาติที่แท้จริงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นรากฐานของสังคมในระบบทุนนิยมอย่างแยบยล

การตอกย้ำอุดมการณ์ของชนชั้นนายทุนที่ดำเนินไปอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องส่งผลให้ชนชั้นกรรมาชีพจำนวนมากเกิด “จิตสำนึกที่ผิดพลาด” ขึ้นมา จิตสำนึกที่ผิดพลาดเป็นภาวะทางจิตใจที่สมาชิกของชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุดมการณ์ของชนชั้นปกครองคืออุดมการณ์ของพวกตนเองด้วย ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานไม่ทราบและตระหนักถึงการแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมของชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสังคมทุนนิยม

จิตสำนึกผิดเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางไม่ให้ชนชั้นแรงงานรับรู้และปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่แท้จริงของพวกตน อย่างไรก็ตาม ชนชั้นกรรมาชีพสามารถสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นของตนเองขึ้นมาได้ด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น พวกเขาจะดำเนินการจัดตั้งองค์กรทางการเมืองในรูปแบบของสหภาพแรงงานและพรรคการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมพลังต่อต้านการกดขี่ ประสบการณ์การต่อสู้ทางชนชั้นและการพัฒนาอุดมการณ์สังคมนิยมที่สะท้อนผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างแท้จริงส่งผลให้ชนชั้นกรรมาชีพมีความแข็งแกร่งขึ้นและสามารถขยายแนวร่วมไปทั่วทั้งสังคม ม่านหมอกของมายาคติที่ปกปิดดวงตาของพวกเขาค่อย ๆ จางหายไป ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพส่วนใหญ่เกิดความตระหนักรู้ หรือ “ตาสว่าง” มองเห็นถึงความเลวร้ายของสังคมทุนนิยม และร่วมมือกันสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

กล่าวได้ว่า อุดมการณ์เป็นองค์ประกอบสำคัญของการต่อสู้ทางชนชั้น ดำรงอยู่ในฐานะสมรภูมิของการต่อสู้ที่เข้มข้นระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นที่ถูกปกครอง ชนชั้นปกครองพยายามสืบสานอุดมการณ์ที่พวกเขาใช้ในการครอบงำสังคม ในขณะเดียวกัน ชนชั้นแรงงานก็พัฒนาอุดมการณ์เพื่อท้าทายและต่อต้านระบบทุนนิยม อุดมการณ์ที่เป็นคู่แข่งของระบบทุนนิยมคืออุดมการณ์สังคมนิยม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างจิตสำนึกทางชนชั้นแก่ผู้ใช้แรงงาน เพราะเป็นอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับผลประโยชน์และประสบการณ์ของชนชั้นแรงงาน และสามารถช่วยระดมและทำให้ชนชั้นกรรมาชีพรวมตัวกันเป็นเอกภาพได้ จิตสำนึกในชนชั้นหรือการมีอุดมการณ์ที่ถูกต้องสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชนชั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจสังคมที่ดำรงอยู่ให้สำเร็จ

 มาร์กซ์เชื่อว่า พลวัตของอำนาจในสังคมทุนนิยมย่อมนำไปสู่การล่มสลายผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การปฏิวัติจะส่งผลให้เกิดการโค่นล้มชนชั้นกระฎุมพี มีการยึดปัจจัยการผลิตโดยชนชั้นกรรมาชีพ และมีการสถาปนาสังคมคอมมิวนิสต์ที่ไร้ชนชั้น ซึ่งมีการกระจายอำนาจตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา กล่าวได้ว่า เป้าหมายสูงสุดของการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมคือ “การสร้างสังคมไร้ชนชั้น” นี่ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของชนชั้นกระฎุมพีเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสิ้นสุดของความแตกต่างทางชนชั้นทั้งหมดอีกด้วย

 ในสังคมไร้ชนชั้นนี้ มาร์กซ์เรียกว่า “สังคมคอมมิวนิสต์” ซึ่งมีหลักการสำคัญที่เป็นหัวใจคือ “จากแต่ละคนตามความสามารถ ไปสู่แต่ละคนตามความต้องการ” หลักการนี้จะเป็นแนวทางในการกระจายทรัพยากรของสังคม และมาร์กซ์ทำนายว่า “รัฐ” ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้นจะค่อย ๆ เสื่อมสลายไปในสังคมคอมมิวนิสต์ เพราะหากปราศจากชนชั้นเสียแล้ว ก็ย่อมไม่มีความจำเป็นใดที่ต้องมีสถาบันเพื่อบังคับกรือกดขี่ชนชั้นใดเพื่อประโยชน์ของอีกชนชั้นหนึ่งต่อไป ดังนั้น “การเสื่อมสลายของรัฐ” จึงเกิดขึ้นในสังคมที่ปราศจากชนชั้นนั่นเอง

การยกเลิกโครงสร้างชนชั้นยังหมายถึง การสิ้นสุดของการเอารัดเอาเปรียบและการแปลกแยกของแรงงาน และนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรมและยุติธรรมมากขึ้น เป็นสังคมที่ผู้คนมีอิสระที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด กล่าวอีกนัยหนึ่ง การปราศจากรัฐและการยกเลิกโครงสร้างชนชั้นคือ  “การเสื่อมสลายของอำนาจที่กดขี่” หรือที่เรียกในทางวิชาการว่า “อำนาจเหนือ” (power over) และสังคมก็จะหลงเหลืออำนาจเพียงมิติเดียวคือ  “อำนาจแห่งความสร้างสรรค์ของมนุษย์” (power to) เท่านั้นเอง

ทฤษฎีของมาร์กซ์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการอภิปรายเกี่ยวกับอำนาจในปัจจุบัน โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม ด้วยความแพร่กระจายอย่างต่อเนื่องของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม การวิพากษ์วิจารณ์ของมาร์กซ์เกี่ยวกับรูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมและความไม่เท่าเทียมยังคงมีความสำคัญ การวิเคราะห์ของเขาเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์และการสะสมความมั่งคั่งของคนไม่กี่คนสะท้อนความกังวลร่วมสมัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ

ในยุคโลกาภิวัตน์ของมิติแรงงาน เราสามารถใช้แนวคิดของมาร์กซ์อธิบายปรากฎการณ์ของแรงงานผู้ยากจนอพยพข้ามพรมแดนไปยังประเทศที่มีค่าแรงสูงกว่า แม้ต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยในชีวิตมากเพียงไรก็ตาม แรงงานอพยพเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงการแสวงหาผลประโยชน์และสภาพที่ไม่มั่นคงที่คนงานต้องเผชิญในระบบเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ทำให้เกิดคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับการใช้แรงงาน การแสวงหาผลประโยชน์ และการกระจายความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นประเด็นที่มาร์กซ์ได้กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมของเขา

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ภาพของการขยายตัวของจิตสำนึกและการเคลื่อนไหวในชนชั้นในระดับโลกก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ดังเห็นได้จากการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในระดับโลก การเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนแล้วสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของมาร์กซ์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นและการกระจายอำนาจนั่นเอง และภายใต้การขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางของโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและสื่อสังคมออนไลน์ เราเห็นถึงการผลิตและเผยแพร่อุดมการณ์อย่างหลากหลาย ที่เป็นไปเพื่อค้ำยันหรือท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิม การวิเคราะห์อุดมการณ์ที่มีรากฐานจากความคิดของมาร์กซ์สามารถเผยให้เห็นถึงอิทธิพลและยุทธศาสตร์ของอุดมการณ์ในการกำหนดความเชื่อของสังคม คิดเห็นสาธารณะและวาทกรรมทางการเมืองในปัจจุบันที่ค้ำยันหรือท้าทายโครงสร้างอำนาจที่ดำรงอยู่อย่างชัดเจน

 โดยสรุป แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่สมัยของมาร์กซ์ แต่แนวคิดหลายประการของเขาเกี่ยวกับอำนาจ อุดมการณ์ การต่อสู้ทางชนชั้น และข้อบกพร่องของระบบทุนนิยมยังคงมีพลังในการอธิบายอยู่ค่อนข้างสูง ทฤษฎีของเขาเป็นกรอบในการวิเคราะห์ประเด็นร่วมสมัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ อำนาจรัฐ พลวัตทางชนชั้น การครอบงำทางอุดมการณ์ และผลกระทบของระบบทุนนิยมที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้ งานของมาร์กซ์จึงยังคงเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญในการอภิปรายร่วมสมัยเกี่ยวกับอำนาจและสังคมในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น