รัฐบาลเศรษฐาเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย แม้เรารู้ว่า ไม่มีประชาธิปไตยในพรรคเพื่อไทยทุกสิ่งในพรรคนี้ถูกกำกับด้วยทักษิณเพียงคนเดียว
แต่หัวใจสำคัญของรัฐบาลประชาธิปไตยก็คือ การเปิดให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพของสื่อที่เป็นกระบอกเสียงของสังคม แม้ว่าวันนี้สื่อมวลชนจะเลือกข้างกันเกือบหมด แต่การเปิดให้สื่อมีอิสระที่จะนำเสนอข่าวสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเสรีก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนสื่อมวลชนค่ายไหนมีจุดยืนทางการเมืองข้างไหนก็เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องตัดสินกันเอง
ผมยอมรับนะครับว่า วันนี้ประชาชนจำนวนมากมองสื่อด้วยสายตาที่ไม่ค่อยไว้วางใจ ซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากความแตกแยกทางการเมืองและสื่อเองก็ถูกมองจากประชาชนว่าฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อสื่อค่ายไหนไม่มีจุดยืนตรงกับจุดยืนของตัวเอง และนำเสนอข่าวสารที่ไม่ถูกใจตัวเองก็มักจะตั้งแง่และกล่าวหาว่าสื่อค่ายนั้นมีความเอนเอียง
แต่ต้องยอมรับว่า ในช่วง 9 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ที่มีส่วนหนึ่งเป็นยุคเผด็จการมาจนเป็นรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจนั้น สื่อมวลชนก็ยังมีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพอสมควร
เมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นสองเหตุการณ์ในเวลาใกล้เคียงกันคือ การที่นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ออกมาเปิดเผยว่า ผมได้ประชาสัมพันธ์ว่าจะออกอากาศในรายการ “คุยตามข่าว” เพราะได้รับแจ้งล่วงหน้าตั้งแต่วันไปอัดเทปรายการนี้เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2566 แต่ปรากฏว่าไม่มีการออกอากาศในประเด็น “ทักษิณ : ระเบิดเวลารัฐบาล?” และได้รับแจ้งเหตุผลว่าทางผู้บริหารช่อง อสมท พิจารณาแล้วสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้รัฐบาลไม่พึงพอใจจึงสั่งงดออกอากาศ
และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร ได้ออกเปิดเผยว่า “ช่วงบ่ายๆ มีโทรศัพท์มานัดหมายเย็นนี้หลัง 18.00 น. อยากขอสัมภาษณ์ผมเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลของรัฐบาลผ่านสื่อหนึ่งของ อสมท ผมตอบไปว่ายินดี”
“ประมาณบ่ายสี่มีโทรศัพท์มาขออภัยขอยกเลิกการสัมภาษณ์เพราะผู้ใหญ่ใน อสมท เห็นว่ารัฐบาลโดนวิจารณ์เรื่องนี้เยอะเกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนอีก ผมตอบไปว่าไม่เป็นไรเข้าใจผู้จัดเพราะ อสมท อยู่ใต้การกำกับของรัฐบาล”
“ทราบว่าวันก่อน ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ก็เล่าเรื่องไปออกรายการ อสมท พูดเรื่องคุณทักษิณเกือบครึ่งชม. แต่เทปถูกสั่งงดออกอากาศ”
“งานนี้ รมว.พวงเพ็ชรที่กำกับอาจจะไม่เกี่ยวไม่ได้สั่งการ แต่ภาพที่เกิดขึ้นต่อพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลที่ดูแล อสมท อาจจะแหลกละเอียดอีกรอบด้วยข้อหาปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนที่เห็นต่างหรือกล้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา”
“ขออภัยที่ต้องเล่าให้ฟังเผื่อท่านรัฐมนตรีและท่านนายกรัฐมนตรีจะได้ทราบถึงเรื่องที่เกิด”
แน่นอนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท ก็คือ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด จากพรรคเพื่อไทย
เราจะเข้าใจได้ว่า กรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท นั้นเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล เราไม่อาจเรียกพนักงานของสององค์กรที่ออกไปหาข่าวมานำเสนอว่า สื่อมวลชนได้เต็มปาก พวกเขาอาจจะเป็น “สื่อ” นะ แต่ไม่ใช่ “สื่อมวลชน” แน่ ทั้งสองหน่วยงานจึงมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์การทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก หรือจะนำเสนอข่าวสารอื่นข่าวสังคม บันเทิง อาชญากรรมก็ว่าไป แต่จะนำเสนอข่าววิจารณ์รัฐบาลในเชิงลบไม่ได้
ไม่มีทางหรอกที่รัฐบาลแม้จะเรียกตัวเองว่ารัฐบาลประชาธิปไตยจะให้เสรีภาพกรมประชาสัมพันธ์และ อสมท ทำหน้าที่สื่อที่สามารถสะท้อนความจริงต่อรัฐบาลทั้งในแง่ลบและแง่บวกได้ เพราะรัฐบาลถือว่าทั้งสองหน่วยงานนี้เป็นกระบอกเสียงของรัฐ คนที่อยู่ในองค์กรทั้งสองนี้ก็รู้ดี และคนในองค์กรทั้งสองต้องอยู่ให้เป็น
แล้วเราต้องไม่ลืมว่า รัฐบาลเศรษฐาแท้จริงแล้วเป็นเพียงนอมินีของทักษิณซึ่งเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริง และในอดีตรัฐบาลทักษิณก็ขึ้นชื่ออย่างมากในการคุกคามเสรีภาพของสื่อ ทั้งใช้อำนาจรัฐและฟ้องร้องดำเนินคดี ผมเองก็เคยถูกทักษิณแจ้งความดำเนินคดีที่กองปราบฯ แต่ต่อมาตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทักษิณยังเคยแจ้งความดำเนินคดีกับสื่อมวลชนคนอื่นที่วิจารณ์การทำงานของเขาอีกหลายคน ซึ่งการฟ้องร้องก็ยังเป็นเรื่องที่ดีที่ใช้กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินพิสูจน์ความผิดถูกกัน
แต่ทักษิณเคยกระทำยิ่งกว่านั้นก็คือ สั่งให้มีการตรวจสอบธุรกรรมการเงินของบุคคลที่มีอาชีพสื่อมวลชนและนิติบุคคลที่ทำธุรกิจสื่อสารมวลชน ทั้งนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ทำหนังสือถึงสถาบันการเงิน 17 แห่งเพื่อตรวจสอบข้อมูลทางการเงินตั้งแต่ปี 2544 โดยกลุ่มบริษัททำธุรกิจหนังสือพิมพ์และนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกตรวจสอบในขณะนั้นคือ
บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย พับลิชชิ่งกรุ๊ป จำกัด, บริษัท กิเลนการพิมพ์ จำกัด กลุ่มสยามสปอต บริษัท เอ็นเอ็มจี นิวส์ จำกัด (ในเครือเนชั่น), นายสุทธิชัย หยุ่น บก.อำนวยการเครือเนชั่น, นายเทพชัย หย่อง บก.เครือเนชั่น, นายโรจน์ งามแม้น ประธานที่ปรึกษาบริษัท ไทยเจอนัล กรุ๊ป (รวมทั้งครอบครัวของทั้ง 3 คน) บริษัท ไทยเจอนัล กรุ๊ป เจ้าของ นสพ.ไทยโพสต์, นายโสภณ องค์การณ์ บก.อาวุโสเดอะเนชั่น และนายอัมพร พิมพ์พิพัฒน์ บก.อาวุโสและคอลัมนิสต์ไทยโพสต์
นอกจากนั้นรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่วิจารณ์รัฐบาลทักษิณจะถูกสั่งให้ถอดรายการออกจากสถานีหมด หลายคนคงจะจำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ที่สนธิ ลิ้มทองกุล จัดรายการคู่กับสโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้ ตอนนั้นก็ถูกทักษิณสั่งถอดรายการเช่นเดียวกันจนสนธิและสโรชาต้องออกมาจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร จนกลายเป็นขบวนการขับไล่รัฐบาลทักษิณ และขยายตัวเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุด และต่อมามิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ อสมท ก็ได้ดิบได้ดีกลายมาเป็นนักการเมืองและรัฐมนตรีเพื่อปูนบำเหน็จ
ในสมัยของทักษิณนั้นนอกจากการใช้วิธีถอดรายการหรือบางสำนักข่าวที่ทำรายการวิทยุจะถูกยกเลิกสัญญาแล้ว ยังมีการบีบให้นายทุนสื่อปลดบรรณาธิการด้วยเช่นที่เกิดขึ้นที่บางกอกโพสต์ รวมถึงการปิดกั้นทางเศรษฐกิจไม่ใช่องค์กรภาครัฐและธุรกิจสนับสนุนด้านโฆษณาแก่สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นภาพสะท้อนความเป็นเผด็จการในรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ
ถ้าเราคิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาจารย์ธีรภัทร์และสมชัยที่กรมประชาสัมพันธ์และ อสมท เป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลก็ย่อมไม่ต้องการให้ใครไปใช้หน่วยงานทั้งสองเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เราก็พอจะทำใจยอมรับการกระทำดังกล่าวไปได้ แต่เราคงต้องดูต่อไปว่า รัฐบาลเศรษฐานั้นยังมีความอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์สื่อเหมือนกับทักษิณหรือไม่ และจะใช้วิธีการเดียวกับที่ทักษิณเคยกระทำหรือไม่
แต่ที่เราเห็นก็คือ เศรษฐาเป็นคนตอบโต้กับสื่อแบบหมัดต่อหมัด เมื่อถูกวิจารณ์ในโซเชียลมีเดียหลายครั้งที่เศรษฐาจะเข้าไปโพสต์ตอบโต้ทันที ซึ่งก็ยังดีกว่าการใช้อำนาจรัฐไปคุกคามอย่างที่เคยเกิดขึ้นในยุคของทักษิณ
ถึงตอนนี้รัฐบาลเศรษฐาเพิ่งจะมีอายุผ่านไป 2 เดือนเราคงต้องรอดูว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดนี้จะมีเนื้อแท้เป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan