xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ฝันหวาน ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าแรงขั้นต่ำ เอาเงินจากไหน ไหวไหม “นายกฯ นิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -   ยังอยู่ในโหมดเร่ขายฝัน จากเงินดิจิทัลมาถึงขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไม่ทิ้งสไตล์ “ไวไปนิด” ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจน เข้าทำนอง “ปากพาจน” อยู่เรื่อย 

“ผมไม่ได้บอกจะขึ้นเงินเดือน ผมให้มีการศึกษา ศึกษาไม่ได้หมายความว่าจะขึ้นทันทีหรือยังไงนะครับ” นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกตัว ในการให้สัมภาษณ์หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงกรณีมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จนสร้างกระแสฮือฮา

พอ “นายกฯนิด” บอกว่ายังอยู่ในขั้นตอนแค่ศึกษา บรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ล้างหูรอฟังข่าวดีก็มีเหวอ ทำให้  นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ไปศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ถึงแนวทาง กรอบเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องออกมาเคลียร์คัทเพื่อความชัดเจน

โดยนายปานปรีย์ ยืนยันว่านัดประชุมหารือ 4 หน่วยงาน ทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 และจะได้ข้อสรุปภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 นี้ ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป

 “การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการยังไงต้องปรับแน่นอน คาดเร็วสุดภายในปีนี้” นายปานปรีย์ กล่าวยืนยัน ส่วนจะมีการขยับขึ้นเหมือนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งปรับขั้นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท หรือไม่ จะดูจากฐานข้อมูลเดิมทั้งจำนวนและกลุ่มบัญชีที่ปรับขึ้น ซึ่งการปรับขึ้นเงินเดือนจะเป็นไปตามที่พรรคหาเสียงไว้ คือเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องใช้เวลาในการขยับขึ้น  

อย่างที่รู้กันดีว่าพรรคเพื่อไทย คุยโม้เรื่องปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเอาไว้อักโข และต้องเร่งมือให้เร็วขึ้นเพื่อกู้หน้า เพราะว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลดันติดหล่ม ถอยไม่ได้ไปไม่เป็น โดยก่อนหน้ามีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลถึงเรื่องที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือถึงหน่วยงานราชการ รับทราบข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา เรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีสาระสำคัญว่า ตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลมีนโยบายสร้างรายได้ สร้างชีวิตคนไทยให้มีเกียรติ มีเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี จึงขอมอบหมาย ให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสมและเป็นไปได้ในการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

พร้อมกับมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายปานปรีย์ พหิทธานุกร) ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการพลเรือนรับไปเร่งรัดให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้ แนวทาง กรอบระยะเวลา และผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ชัดเจน และรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบโดยเร็วภายในเดือนพฤศจิกายน 2566

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า มีข้อสั่งการตามหนังสือดังกล่าวข้างต้นจริง แต่ไม่ยืนยันว่าจะพิจารณาอย่างไร และเมื่อไหร่ ทันกรอบงบประมาณปี 2567 หรือไม่ ทั้งหมดต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี พอนายกฯ เปิดไฟเขียวปุ๊บ สำนักงบประมาณ ก็เด้งรับทันที โดย  นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เผยว่า เบื้องต้นได้หารือกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้ว ขณะนี้ ก.พ. อยู่หว่างการศึกษาแนวทางว่าจะเพิ่มเงินเดือนได้อย่างไร ต้องปรับบัญชีหรือไม่ และจะเพิ่มหน่วยงานใดบ้าง

ส่วนแหล่งเงินที่จะใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้ข้าราชการนั้น จะต้องดูว่าจะเริ่มจ่ายได้เมื่อใดและใช้เท่าใด หากจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ก็สามารถทำได้ แม้จะมีการยื่นคำของบฯ ของหน่วยงานเข้ามาแล้ว แต่ยังมีงบกลาง (เงินเลื่อนขั้นเงินเดือนเงินปรับวุฒิข้าราชการ) ที่สามารถนำมาใช้ได้หากหน่วยงานนั้นมีงบประมาณไม่เพียงพอ แต่ถ้าเริ่มปีงบฯ 2568 สามารถทำได้ไม่มีปัญหา เพราะปฏิทินปีงบฯ 2568 สำนักงบประมาณ จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ภายในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งยังมีเวลาในการจัดทำ

สำหรับการขึ้นเงินเดือนข้าราชการครั้งล่าสุด ปรับขึ้นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558, พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2558 สาระสำคัญคือให้ปรับเพิ่มเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของ ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภทตั้งแต่ระดับ 1-7 ในอัตราร้อยละ 4 ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ปัจจุบัน และยังปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการทุกประเภททุกระดับเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 10 โดยให้มีผลทันทีหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้มีผลบังคับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557

ทั้งนี้ มติครม. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 อนุมัติขึ้นเงินเดือนข้าราชการและพนักงานราชการทุกประเภท ตามที่ ก.พ. เสนอ รวมจำนวน 1.98 ล้านคน ใช้งบ 22,900 ล้านบาท ปรับเพิ่มให้ 3 ขั้น หรือประมาณ 10% สำหรับบัญชีเงินเดือนแบบช่วง มีข้าราชการอีก 6 ประเภท ได้ขึ้นเงินเดือนเพิ่มเติมอีก 1 ขั้น หรือ 4% ส่วนกลุ่มข้าราชการที่อัตราเงินเดือนเต็มเพดานแล้ว ให้นำค่าตอบแทนพิเศษมารวมเป็นเงินเดือนได้ โดยอัตราเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญปัจจุบัน มีดังนี้

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทบริหาร ขั้นต่ำชั่วคราว ระดับต้น 24,400 บาท ระดับสูง 29,980 บาท, ขั้นต่ำ ระดับต้น 51,140 บาท ระดับสูง 56,380 บาท, ขั้นสูง ระดับต้น 74,320 บาท ระดับสูง 76,800 บาท

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ ขั้นต่ำชั่วคราว ระดับต้น 19,860 บาท ระดับสูง 24,400 บาท, ขั้นต่ำ ระดับต้น 26,660 บาท ระดับสูง 32,850 บาท, ขั้นสูง ระดับต้น 59,500 บาท ระดับสูง 70,360 บาท

อัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทวิชาการ ขั้นต่ำชั่วคราว ระดับปฏิบัติการ 7,140 บาท ระดับชำนาญการ 13,160 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ 19,860 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 24,400 บาท, ระดับทรงคุณวุฒิ 29,980 บาท ขั้นต่ำ ระดับปฏิบัติการ 8,340 บาท, ระดับชำนาญการ 15,050 บาท, ระดับชำนาญการพิเศษ 22,140 บาทระดับเชี่ยวชาญ 31,400 บาท ระดับทรงคุณวุฒิ 43,810 บาท, ขั้นสูง ระดับปฏิบัติการ 26,900 บาท ระดับชำนาญการ 43,600 บาท ระดับชำนาญการพิเศษ 58,390 บาท ระดับเชี่ยวชาญ 69,040 บาท ระดับทรงคุณวุฒิ 76,800 บาท

ส่วนอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ-ขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งประเภททั่วไป ขั้นต่ำ ระดับปฏิบัติงาน 4,870 บาท ระดับชำนาญงาน 10,190 บาท ระดับอาวุโส 15,410 บาท ระดับทักษะพิเศษ 48,220 บาท, ขั้นสูง ระดับปฏิบัติงาน 21,010 บาท ระดับชำนาญงาน 38,750 บาท ระดับอาวุโส 54,820 บาท ระดับทักษะพิเศษ 69,040 บาท

แผนการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกได้ว่ามีความชัดเจนระดับหนึ่ง ส่วนที่ยังลุ้นกันอยู่ก็คือ ค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะปรับขึ้นเช่นกัน

เรื่องนี้ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ระบุว่า กระทรวงแรงงาน จะมีประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในเดือนธันวาคม 2566 นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับแรงงานทั่วประเทศไทย ส่วนอัตราขึ้นค่าแรงจะไม่เท่ากันทั่วประเทศโดยปรับสูงสุดคือหลักสิบ และคงไม่ถึงวันละ 400 บาท ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เคยประกาศไว้ ซึ่งการคำนวณค่าแรงอัตราใหม่ มีการนำเงินเฟ้อและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา พร้อมรับฟังความเห็นของนายจ้างและลูกจ้าง ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำงวดต่อไปช่วงสิ้นปี 2567 อาจจะปรับถึง 400 บาท แต่ก็เป็นการขึ้นเพียงบางจังหวัดเท่านั้น

ขณะนี้ กระทรวงฯ ได้สั่งการสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการจ้างงานในกิจการต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ และประชุมทบทวนความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแต่ละจังหวัดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยแต่ละจังหวัดจะพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เสร็จภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จากนั้นจะส่งผลประชุมมายังคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี ที่มีตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อสรุปข้อมูลอีกครั้งภายในปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 และจะพิจารณาร่วมกันช่วงต้นเดือนธันวาคม 2566 ก่อนเห็นชอบอัตราค่าจ้างรอบใหม่เสนอต่อที่ประชุม ครม. และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

 ทั้งนี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มล่าสุด มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคม 2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่ 1) ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต 2) ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร 3) ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา 4) ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

5) ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี 6) ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก 7) ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี 8) ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร 9) ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี 

 นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการรวมกว่า 3.2 ล้านราย จ้างงานรวมกว่า 18 ล้านราย พร้อมสนับสนุนนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ในความเห็นของนักวิชาการ  รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผอ.ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การปรับเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ระยะแรกต้องปรับให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยก่อน เนื่องจากเงินเดือนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ รวมทั้งพนักงานข้าราชการที่เป็นลูกจ้างจากนั้นจึงปรับขึ้นในส่วนข้าราชการระดับกลางหรือผู้บริหารระดับสูง ซึ่งการปรับเงินเดือนทั้งระบบควรปรับโครงสร้างราชการไปพร้อมกัน ต้องลดขนาดให้เล็กลงและมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถจ่ายค่าตอบแทนที่สูงขึ้นได้และลดการทุจริตลง

ส่วนการยืดอายุการเกษียณ ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการรับบำนาญยืดออกไปด้วยนั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่าไม่ค่อยเหมาะสม โดยเฉพาะข้าราชการกองทัพ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีนายพลมากที่สุดในโลก ขณะที่ข้าราชการในหลายกระทรวง ถ้าเทียบกับญี่ปุ่นจะต่างกันมาก ประเทศไทยมีข้าราชการเยอะมาก จึงทำให้เกิดประเด็นที่ต้องปรับโครงสร้างก่อนจะมีการปรับขึ้นเงินเดือนว่าแบบใดเหมาะสมกับประเทศ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปเป็นรัฐบาลดิจิทัลซึ่งจะลดการใช้คนลง และปรับเพิ่มบุคลากรในส่วนที่ยังขาดแคลน เช่น ครูคณิตศาสตร์ ฟิสิกซ์ ครูที่สอนการลงทุน ครูวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกันกับการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณ การลงทุน เพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์ให้มากขึ้น สอดรับกับการตั้งเป้าเป็นMedical Hub หรือศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

สำหรับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท นั้น รศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่า จะส่งผลบวกทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไป ระดับค่าแรง 400 บาท สามารถปรับได้ แต่ถ้าปรับขึ้นมากกว่านี้จะกระทบกับธุรกิจขนาดเล็ก SME ที่ใช้แรงงานเข้มข้น ตอนนี้ระดับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดคือ 354 บาท ที่ระยอง ภูเก็ต ชลบุรี ส่วนเป้าหมายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปถึงระดับ 600 บาท ในปี 2570 มีความเป็นไปได้มากหากรัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้เฉลี่ยปีละ 4-5%


มาดูเทรนด์เงินเดือนปีหน้าของ “มนุษย์เงินเดือน” กันว่าจะรุ่งหรือร่วง โดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (Personnel Management Association of Thailand) หรือ PMAT จัดทำสำรวจการขึ้นเงินเดือนและการให้โบนัส ประจำปี 2566-2567 จากบริษัท 125 บริษัท ใน 10 อุตสาหกรรม รวมพนักงาน 80,000 คน เป็นข้อมูลที่องค์กรต่าง ๆ จะใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงเทียบกับตลาดรวม

 นางสุดคนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคม PMAT ให้สัมภาษณ์สื่อโดยคาดการณ์ว่าการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปี 2567 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.64 ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 5.33, กลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ร้อยละ 5.17, และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ร้อยละ 4.83 ขณะที่การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 4.58 อุตสาหกรรมที่ขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยสูงสุด 3 อันดับแรก คือกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ร้อยละ 5.25, กลุ่มเทคโนโลยี ร้อยละ 5.05 และกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ร้อยละ 5.02  

สำหรับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา เกาหลี จะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยร้อยละ 4.6-5.00 ซึ่งใกล้เคียงกับผลสำรวจของ PMAT แต่ประเทศเหล่านั้นมีฐานค่าจ้างสูง การที่ไทยขึ้นเท่ากันถือว่าไม่ได้สูงเกินไป เนื่องจากแรงงานไทยมีฐานเงินเดือนที่ไม่สูง ดังนั้น PMAT อยากให้องค์กรในไทยพิจารณาการขึ้นเงินเดือนให้เกิดความยั่งยืน โดยอาจจะขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ยที่ PMAT สำรวจ เพราะองค์กรที่มีผลประกอบการดีย่อมดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้ดีไปด้วย หากองค์กรไม่พิจารณาปรับเงินเดือน หรือจ่ายโบนัสหลายปีติดต่อกัน จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพขององค์กรนั้น ๆ อย่างแน่นอน ทั้งเรื่องแรงจูงใจในการทำงาน อัตรา turnover ที่สูงขึ้น พนักงานจะย้ายไปอยู่กับองค์กรที่จ่ายได้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

ส่วนการจ่ายโบนัสรวม (โบนัสคงที่และโบนัสผันแปร) ปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.57 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ให้โบนัสรวมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ 4.45 เท่าของเงินเดือน, กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3.15 เท่าของเงินเดือน และกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2.59 เท่าของเงินเดือน

แต่เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสคงที่ปี 2566 สูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มยานยนต์ 2.41 เท่าของเงินเดือน กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.70 เท่าของเงินเดือน และกลุ่มเทคโนโลยี 1.50 เท่าของเงินเดือน ขณะที่โบนัสผันแปรปี 2566 อุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสผันแปรสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 4.12 เท่าของเงินเดือน, กลุ่มยานยนต์ 3.32 เท่าของเงินเดือน และกลุ่มเทคโนโลยี 2.64 เท่าของเงินเดือน

 PMAT คาดการณ์ปี 2567 การจ่ายโบนัสรวม (โบนัสคงที่และโบนัสผันแปร) เฉลี่ยอยู่ที่ 2.57 เท่าของเงินเดือน โดยอุตสาหกรรมที่ให้โบนัสรวมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ 4.29 เท่าของเงินเดือน, กลุ่มเทคโนโลยี 2.71 เท่าของเงินเดือน, และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.65 เท่าของเงินเดือน

เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสคงที่ปี 2567 สูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มยานยนต์ 2.58 เท่าของเงินเดือน, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.89 เท่าของเงินเดือน และเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 1.25 เท่าของเงินเดือน

ขณะที่โบนัสผันแปรผัน ปี 2567 อุตสาหกรรมที่จ่ายโบนัสผันแปรผันสูงสุด 3 อันดับแรกคือ กลุ่มยานยนต์ 2.82 เท่าของเงินเดือน และกลุ่มเทคโนโลยี 2.81 เท่าของเงินเดือน, และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.80 เท่าของเงินเดือน 


นายกสมาคม PMAT ยังสนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะปัจจุบันคนทำงานประสบปัญหาหนี้สิน เงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และค่ายารักษาโรค ยังไม่รวมที่ต้องเก็บออมเพื่ออนาคต ดังนั้น คณะกรรมการไตรภาคี ต้องคุยกันเพื่อดูอัตราที่เหมาะสมให้องค์กรและพนักงานอยู่รอด

 ความหวังการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้าง ที่เป็นแรงงานสร้างชาติ สร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจของประเทศ จะเป็นของขวัญปีใหม่ได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงฝันลมๆ เช่นเดียวกันกับการแจกเงินดิจิทัลที่ยังหาความชัดเจนไม่ได้  



กำลังโหลดความคิดเห็น