xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ย้อนรอย “ถนนยุบ - ดินทรุด” ทั่วกรุง! อาเพศ ภัยพิบัติ หรือ “ฝีมือมนุษย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



 ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -  ตลอดหลายปีที่ผ่านมาถนนหนทางในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมไปถึงทั่วประเทศ เกิดเหตุทรุดตัวให้เห็นกันเรื่อยๆ จนเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดถนนทรุดตัวสร้างความเสียหายแก่ผู้สัญจรไปมาอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีศักยภาพในการป้องกันได้หรือไม่ 

โดยเฉพาะกับสถานการณ์ล่าสุดที่เกิดเหตุถนนทรุดบริเวณหน้าซอยสุขุมวิท 64/1 หลังรถสิบล้อบรรทุกดินเต็มคันจากไซต์งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมตกลงไปในอุโมงค์ร้อยสายไฟและสายสัญญาณของการไฟฟ้านครหลวงที่มีแผ่นคอนกรีตปิดไว้ในตอนกลางวันเพื่อให้รถสัญจรไปมาได้ ส่วนกลางคืนหลังสี่ทุ่มจะเปิดให้คนงานลงไปปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ เนื่องจางานก่อสร้างบ่อร้อยสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวงนั้น ไม่ได้มีอยู่แค่แห่งสองแห่ง แต่มีอยู่ประมาณ 700 บ่อกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

สำหรับเบื้องต้นสันนิษฐานสาเหตุไว้ 2 ประเด็นคือ อาจเกิดจากรถบรรทุกดินน้ำหนักเกินกำหนด จากการคำนวณคาดว่ารถสิบล้อคันนี้ อาจบรรทุกดินเกินกำหนดมากกว่า 30 ตัน ซึ่งตามกฎหมายระบุว่าสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่เกิน 25 ตัน และอีกสาเหตุอาจเกิดจากการวางคานเหล็กด้านล่างแผ่นคอนกรีต 4 เส้นบนถนนไม่ได้มาตรฐาน เพราะจากการประเมินบ่อดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 7 เมตร ความลึกของบ่อ 15 เมตร แต่ตัวคานเหล็กที่รองรับระหว่างแผ่นคอนกรีตและปากบ่อ 1 เส้น คานเหล็กมีรอยเชื่อมต่อทำให้ยาวพอดีกับปากท่อ คาดว่าเป็นสาเหตุทำให้แผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ 4 จากแผ่นที่ปิดปากบ่อทรุดตัวลง

หรือพอจะสรุปรวมความได้ว่า เกิดจากคานเหล็กหักจากฝาบ่อปิดไม่เรียบ หากฝาบ่อปิดต่ำหรือสูงกว่าระดับถนนเพียงเล็กน้อย เมื่อมีรถขับทับบริเวณดังกล่าวบ่อยๆ จะทำให้เกิดแรงกระแทกลงน้ำหนักมาเรื่อยๆ ทำให้คานเหล็กหักและบ่อทรุดตัว ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงต้องรอคำตอบจากวิศวกรว่าเกิดจากอะไร รวมทั้งมีข้อสงสัยเรื่อง “สติ๊กเกอร์” ที่ติดอยู่หน้ารถบรรทุกคันดังกล่าวว่า มีเรื่องเชื่อมโยงกับ “ปัญหาส่วย” ด้วยหรือไม่ เพราะพบเจอสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความในลักษณะดังกล่าวติดอยู่ที่รถบรรทุกคันอื่นด้วย แต่ที่ผิดชัดๆ คือเรื่องบรรทุกน้ำหนักเกิน

 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าจุดเกิดเหตุกำกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องวางมาตรการความปลอดภัยบนถนนพื้นที่กรุงเทพฯ กันใหม่ โดยเฉพาะการบังคับใช้มาตรการให้เข้มงวด เช่น กำหนดเงื่อนไขการก่อสร้างกรณีพื้นที่มีรถแบกน้ำหนักเกินจนเกิดความเสียหายเช่นกรณีนี้ ไซต์งานก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับรถขนดินก็ต้องรับผิดชอบด้วย อาจเพิ่มหน้าที่ในการชั่งน้ำหนักรถสิบล้อให้จริงจังขึ้น ซึ่งต้องวางแผนกันต่อไป

ขณะที่   “บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล” รอง ผบ.ตร. เปิดเผยหลังการประชุมเหตุรถบรรทุกทำถนนทรุดและส่วยสติ๊กเกอร์ว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหากับคนขับรถ ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหาย เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ส่วนเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ในส่วนนี้จะแจ้งข้อกล่าวหาแน่นอน แต่จะต้องชั่งน้ำหนักก่อนน้ำหนักก่อน 


อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่า อุบัติเหตุ “ถนนทรุด - หลุมยุบ” ในพื้นที่ชุมชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันก็เกิดเหตุลักษณะคล้ายกันในพื้นที่เขตราชเทวี แยกมักกะสัน รถยนต์ฟอร์จูนเนอร์ตกลงไปในบ่อพักน้ำเพราะแผ่นคอนกรีตปิดบ่อทรุดตัวขณะขับตามหลังรถบรรทุก ก่อนหน้านี้เกิดเหตุลักษณะเดียวกันบริเวณบ่อร้อยสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง บริเวณปากซอยลาดพร้าว 67/2 เกิดเหตุดินทรุดตัวขณะมีการก่อสร้าง

หรือในช่วงต้นปี 2565 ก็เกิดเหตุถนนถนนอุดมสุข ระหว่างซอยอุดมสุข 51-53 ทรุดตัวลงเป็นทางยาวกว่า 50 เมตร ต่อมาปลายปี 2565 ถนนแจ้งวัฒนะ บริเวณปากซอยแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 23 ทรุดตัวเป็นโพรงลึกขนาดใหญ่ มีความกว้าง 1.5 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 2 เมตร

กล่าวสำหรับลักษณะการทรุดหรือยุบตัวของถนนในพื้นที่กรุงเทพฯ มีทั้งทรุดเป็นหลุมอยุบเป็นโพรงใต้ผิวจราจร ลักษณะเป็นโพรงเล็กๆ แต่ถนนยังไม่ยุบทรุดตัวลงมา จนกระทั่งโพรงใต้ดินขยายตัวจนมีขนาดใหญ่ขึ้น เมื่อรับแรงสั่นสะเทือนหรือน้ำหนักจากรถวิ่งบนพื้นผิวถนนที่กดทับไม่ไหว ก็ทำถนนยุบตัวลงเป็นหลุมในที่สุด

 ผศ.ดร.ณวัชร สุรินทร์กุล  หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าววิเคราะห์สาเหตุหลักๆ สถานการณ์ถนนยุบในประเทศไทยที่พบบ่อย ดังนี้ 1. ความบกพร่องในพื้นที่ขุดรื้อ ย้าย ซ่อม หรือก่อสร้างสาธารณูปโภคใต้ดินที่เกี่ยวของกับท่อระบายน้ำใต้ดิน 2. การทรุดตัวของพื้นดิน น้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างที่กดทับบนชั้นดิน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีชั้นดินอ่อน 3. ถนนหลายสายและระบบสาธารณูปโภคใช้งานมายาวนาน เกินอายุที่ออกแบบไว้ เมื่อมีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่วางทับซ้อนกัน และค้ำพื้นถนนไว้ จึงทำให้ทรุดตัวตามและทำให้เกิดโพรงใต้ถนน และ 4. การเคลื่อนตัวของดินในชั้นดิน ในกรณีที่มีการขุดในบริเวณใกล้เคียง สภาพของชั้นดินที่มีลักษณะเคลื่อนที่ได้เมื่อมีน้ำหนักกดทับ หรือการถูกน้ำทำให้เคลื่อนที่ไป รวมทั้งโครงสร้างทางธรณีวิทยาแบบหินปูนทำให้มีโอกาสเกิดหลุมยุบ

แน่นอนว่า ปัจจุบันสถานการณ์แผ่นดินทรุดหลุดยุบเป็นธรณีพิบัติภัยใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ใช้รถใช้ถนนกำลังเผชิญความเสี่ยงโดยไร้สัญญาณเตือนล่วงหน้า เป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบดี สำหรับสถานการณ์ถนนทรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการประชุมหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับ กรมทรัพยากรธรณี และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการดำเนินงานด้านการลดผลกระทบธรณีพิบัติภัยในพื้นที่ กทม.

 รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่ามีการวางกรอบแนวทางการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1.การบ่งชี้ภัยและประเมินความเสี่ยง ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงธรณีพิบัติภัยในระดับพื้นที่หรือย่านสำคัญในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ การกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่เขตบางขุนเทียน การทรุดตัวของแผ่นดินหรือหลุมยุบในย่านสำคัญ หรือพื้นที่ล่อแหลมต่อธรณีพิบัติภัย 2. การใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเสี่ยงและความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย ซึ่งจะมีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูล งานสำรวจ วิจัย สถิติ เพื่อจัดทำ Bangkok Risk Map ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นแนวทางแก้ปัญหาธรณีพิบัติภัย เพื่อลดความอันตราย

3. การสื่อสารความเสี่ยงอย่างมีส่วนร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยจัดกิจกรรมหรือเวทีวิชาการกันในการสื่อสารความเสี่ยง รวมไปถึงได้มีการหารือถึงแนวทางการอบรมให้ความรู้การเอาตัวรอดจากพิบัติภัยต่าง ๆ แก่นักเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และ 4. ความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบอื่นๆ ในอนาคต
 


 ดร.อรนุช หล่อเพ็ญศรี  อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า พื้นที่กรุงเทพฯฯ กำลังมีปัญหาทั้งแผ่นดินทรุดหลุมยุบตามแนวถนนต่างๆ ใน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องหาคำตอบว่าเกิดจากสาเหตุใดกัน เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงภัยหลุมยุบ ไม่มีชั้นหินที่ก่อให้เกิดหลุมยุบได้ ดังนั้น ต้องทำการสำรวจและศึกษาวิจัยจริงจัง เพื่อตอบคำถามกรณีหลุมยุบเกิดตามแนวถนนหนทางต่างๆ เกิดเป็นโพรงกว้างลึก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาดินทรุดในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดจากหลายสาเหตุทั้งการบดอัดตัวของชั้นดิน น้ำหนักของสิ่งปลูกสร้างที่กดทับบนชั้นดินทำให้มีการทรุดตัวของชั้นดิน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ที่มีชั้นดินอ่อน หากทรุดตัวต่อเนื่อง 10 - 20 ปี รวมทรุดตัวของชั้นดินหลายเซ็นฯ เมื่อน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นยังเกิดปัญหาการกัดเซาะแนวชายฝั่งกรุงเทพฯ

 สถานการณ์ “ถนนทรุด-หลุมยุบ” เป็นธรณีพิบัติภัยที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม โดยเฉพาะสาเหตุจากความสะเพร่าของมนุษย์ที่สามารถควบคุมได้เพื่อลดความเสียหายลง ซึ่งสุดท้ายคงต้องติดตามกันว่าภาครัฐจะทำคลอดแนวทางความปลอดภัยอย่างไร หรือเพียงแก้ปัญหาแบบวัวหายล้อมคอก 


กำลังโหลดความคิดเห็น