xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางศรีวิชัย : เครือข่ายทางการค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทะเลใต้ยุคโบราณ ตอน เส้นทางการค้าในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนกลาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดร.เกียรติกำจร มีขนอน


รูป 1. เส้นทางการค้าสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ตอนกลาง
โดย ดร.เกียรติกำจร มีขนอน

ในยุคนี้เป็นช่วงที่ราชวงศ์ถังเสื่อมลงมีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นมากมาย เหตุการณ์ในจีนในช่วงปลายราชวงศ์ถังทำให้สมาพันธรัฐศรีวิชัยได้ประโยชน์จากการที่เรือสินค้าจากตะวันออกกลางย้ายมาขนถ่ายสินค้ากับเรือจีนที่ศรีวิชัยโดยไม่ไปที่เมืองท่าของจีนโดยตรงอีกเพราะพ่อค้าตะวันออกกลางกลัวเรื่องความปลอดภัย ในปลายราชวงศ์ถังมีกบฏทำลายฮานอยและกว่างโจวทำให้ศรีวิชัยเปลี่ยนเป็นจุดขนถ่ายสินค้าระหว่างอาหรับกับจีน ปาเล็มบัง จัมบิและเคดาห์กลายเป็นเมืองท่าสำคัญ มีชุมชนมลายูในกว่างโจว แม้ว่าจีนจะแตกเป็นอาณาจักรเล็กๆ หลังจากการล่มสลายของราชวงศ์ถัง เช่นหนานฮั่น 南汉 หมิ่น 闽สมาพันธรัฐศรีวิชัยก็ยังส่งคนไปทำการค้าขายและตั้งถิ่นฐานในเมืองท่าของอาณาจักรเหล่านี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้นำชุมชนมลายูได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการของอาณาจักรหนานฮั่น มีการติดต่อค้าขายกับอาหรับและเปอร์เซีย และใช้เส้นทางอบเชยไปแวะที่เกาะมายอตในหมู่เกาะโคโมโรส์ก่อนไปโซฟาลาที่อยู่ทางชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก นอกจากนี้ซากเรือจมในอินโดนีเซียแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า

ในฟิลิปปินส์มีการก่อตั้งอาณาจักรบูตวนและมายิต (麻逸หม่า-อี้) และมีความสัมพันธ์กับอาณาจักรทอนโดที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งอาณาจักรเหล่านี้ค้าขายกับเมดังและศรีวิชัย จารึกคาลิรุงกัน (พ.ศ.1376) และจารึกกลาดี (พ.ศ.1452) กล่าวว่าชาวอินเดียเหนือ ทมิฬ สิงหล จาม เขมรและรามัญ (มอญ) เป็นชาวต่างชาติที่มาค้าขายในเกาะชวา ซึ่งแสดงถึงกิจกรรมการค้าตามปกติระหว่างอินเดียกับอุษาคเนย์ทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะในยุคนี้

ในปีพ.ศ.1459 อบู ซัยยัด อัล-ซิราฟี บอกว่าเคดาห์ขึ้นกับศรีวิชัย มีสงครามเพื่อขยายเส้นทางการค้าหลายครั้ง เช่น ตามพรลิงค์บุกละโว้ ศรีวิชัยยกกองทัพบุกเกาะชวาและบุกเกาะเพมบาที่แอฟริกาโดยแวะพักที่เกาะมาดากัสการ์ เริ่มมีการติดต่อกับราชวงศ์ซ่งที่เมืองไคฟง โดยแข่งขันกับชวา (เมดัง) และชวาโจมตีปาเล็มบังและจัมบิบ่อยครั้งจนราชวงศ์ต้องย้ายที่ประทับไปเคดาห์ เมื่อชาวทมิฬได้เทคโนโลยีการเดินทะเลจากนักเดินเรือชาวออสโตรเนเซียนจึงเริ่มควบคุมเส้นทางการค้าเครื่องเทศระหว่างอินเดียกับศรีลังกาซึ่งนำไปสู่ความรุ่งเรืองของจักรวรรดิ์โจฬะ ศรีวิชัยเริ่มค้าขายกับโจฬะที่นาคปฏินัม โจฬะค้าขายกับกัมพูชา เมืองหลายเมืองในศรีวิชัยแข่งกันส่งบรรณาการไปจีน ต่อมาศรีวิชัยทำลายอาณาจักรเมดังที่เป็นคู่แข่งสำคัญสำเร็จจึงขยายเครือข่ายการค้าไปเกาะชวา ในเวลาเดียวกันจารึกแผ่นทองแดงลากูน่า (พ.ศ.1443) ถูกค้นพบโดยคนงานในปีพ.ศ.2532 ใกล้ทางตอนเหนือของแม่น้ำลุมบุง ในวาวา ลุมบุง ลากูน่าประเทศฟิลิปปินส์ สลักโดยใช้อักษรกวิยุคแรกในภาษามลายูโบราณโดยมีบางคำราชาศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ชวาโบราณและตากาล็อกโบราณ อ่านโดยอันโตน โพสม่าและฮารุโนโอ กล่าวถึงอาณาจักรตากาล็อกทอนโด นอกจากนี้พงศาวดารซ่งสือ 宋史เล่มที่ 186 และ 489 กล่าวถึงอาณาจักรมายิต ในปีพ.ศ.1514 และ พ.ศ. 1525 และบูตวน พ.ศ.1544 และซ่งฮุ่ยเย่า 宋会要เล่มที่ 197 และ 322 กล่าวถึงบูตวนกับจามปาในปีพ.ศ.1547 และ พ.ศ. 1550 ว่าเป็นอาณาจักรในฟิลิปปินส์ที่ค้าขายกับจีนและอาณาจักรเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับจามปาและอาจจะศรีวิชัยและเมดังด้วย ซีเชื่อว่ามายิตคือชาวมินโดโรที่เรียกตัวเองว่ามาอิตคล้ายกับคำเรียกในภาษาจีนยุคกลาง

เมื่ออาณาจักรฟาติมิยะห์รุ่งเรืองขึ้นในอียิปต์ในปีพ.ศ.1508 เมืองท่าสำคัญๆในตะวันออกกลางได้ย้ายจากอ่าวเปอร์เซียไปทะเลแดง โดยเมืองท่าชั้นนำในอินเดียตะวันตกคือ ไดมูล (การาจี) ซึ่งค้าขายกับพวกอาหรับและเปอร์เซียแถบอ่าวเอเดน ทำให้เมืองท่ามะละบาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดียมีความสำคัญขึ้นมา ชายฝั่งตะวันออกของอินเดียมีอยู่ 3 เขตใหญ่ๆ คือจุฬะมณฑล (โคโรมันเดล) อันธระ-โอดิชชา (โอริสสา) และเบงกอล นาคปฏินัมเข้ามาแทนที่กเวริปัตตินัมที่หุบเขาและปากแม่น้ำกเวริ โจฬะจึงขยายอิทธิพลไปศรีลังกาและอ่าวเบงกอล เมื่อพวกซีเซี่ยมีอำนาจขึ้นทางตะวันตกของจีน ราชวงศ์ซ่งจึงขอให้พ่อค้าอาหรับและเปอร์เซียเปลี่ยนเส้นทางจากทางบกมาทางเรือที่ช่องแคบมะละกาแทน ในพุทธศตวรรษที่ 15 ราชวงศ์ซ่งได้เริ่มสร้างเรือสินค้าเพื่อการค้าขายทางทะเล พระอธิศาได้ร่วมเดินทางกับพ่อค้าชาวเนปาลจากอ่าวเบงกอลมายังเกาะสุมาตรา จารึกวาฮารุที่ 4 (พ.ศ.1474) และคาเน (พ.ศ.1564) กล่าวว่าชาวชวาค้าทาสจากแอฟริกาตะวันออกมาอุษาคเนย์ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับศรีวิชัย

เอกสารอ้างอิง
Acri, Andrea. 2019. "Navigating the "Southern Seas" Miraculously: Avoidance of Shipwreck in Buddhist Narratives of Maritime Crossing." In Moving Space: Creolization and Mobility in Africa, the Atlantic and Indian Ocean, by M. Berthet, F. Ross and S. Viljoen, 50-77. Leiden: E. J. Brill.

Chakravarti, R. 2019. "A Subcontinent in Enduring Ties with an Enclosed Ocean (c.1000-1500CE): South Asia's Maritime Profile before European Hegemony." Journal of Medieval World 1 (2): 27-56.

Clavé, Elsa, and Arlo Griffiths. 2022. "The Laguna Copperplate Inscription: Tenth Century Luzon, Java and the Malay World." Philippines Studies Historical and Ethnographic Viewpoints 70 (2): 167-242.

Nayenggita, A. 2012. Prasasti Kaladi 831 Saka. Jakarta: Perpustakaan Universitas Indonesia (Library of University of Indonesia).

See, Carmelea Ang. 2021. "Song, Ming and Other Chinese Sources on Philippines-China Relation." Chinese Studies Journal 14: 58-84.

Sen, Tansen. 2014. "Maritime Southeast Asia between South Asia and China to the Sixteenth Centuries." TRaNS -Regional and -National Studies of Southeast Asia 2: 31-59.



กำลังโหลดความคิดเห็น