ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - รู้หรือไม่? ประเทศไทยเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานไร้ทักษะ ต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
จากสถิติในไตรมาสที่ 1/2566 กระทรวงแรงงาน ระบุตัวเลขแรงงานต่างชาติในไทยมีจำนวน 2,743,673 คน แบ่งเป็น เมียนมา 1.86 ล้านคน, กัมพูชา 4.14 แสนคน, ลาว 2.10 แสนคน และเวียดนาม 2,230 คน และแรงงานสัญชาติอื่นๆ 3 แสนคน ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวในไทยคิดเป็น 6.92 % ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในไทย
ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย กระจายอยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคประมง ภาคธุรกิจก่อสร้าง ฯลฯ ในปัจจุบันประเทศเทศไทยประสบกับภาวะความต้องการพึ่งพาแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลไทยมีความจำเป็นที่ต้องรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นกำลังเสริมแรงงานภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งไทยเป็นปลายทางสำคัญในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานข้ามชาติในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว กัมพูชา โดยเฉพาะเมียนมาเป็นประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยมากที่สุด
ขณะที่หลังจากโควิด-19 คลี่คลาย นายจ้าง สถานประกอบการต่างๆ มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง มองหาจ้างงานคนต่างด้าว ซึ่งจำนวนมากครบวาระจ้างงาน ตาม MOU 4 ปี เกิดเป็นปัญหาจ้างคนเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้อง
ในประเด็นนี้ ล่าสุด 3 ต.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ 3 ประเด็น 1. ขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าวตามเกณฑ์ ประมาณ 1 ล้านคน อยู่ต่อและทำงานได้ถึงวันที่ 13 ก.พ. 2568 2. ขยายเวลาให้แรงงาน MOU ที่วาระจ้างงานครบ 4 ปี ทำงานได้ถึง 30 เม.ย. 67 และ 3. ลดค่าวีซ่า จาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศว่า มุ่งหวังให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดใหญ่ให้เป็นไปอย่างราบรื่น นายจ้างสถานประกอบการมีแรงงานต่างชาติเพียงพอกับความต้องการในการขับเคลื่อนกิจการ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากค่าธรรมเนียมต่างๆ และช่วยให้นายจ้างสามารถจ้างแรงงานคนเดิมที่มีประสบการณ์ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง คำนึงถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสม
นอกจากแรงงานข้ามชาติจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พวกเขานับเป็นกลุ่มแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย โดยเฉพาะ “แรงงานเมียนมา” ที่ครองสัดส่วนมากที่สุด มีตัวเลขเผยว่าเข้ามาทำงานในเมืองไทยกว่า 6.8 ล้านคน ซึ่งนับเป็นโอกาสของแบรนด์ไทยเจาะตลาดมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท
อ้างอิงรายงายวิจัยเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา ในหัวข้อ “ผ่าขุมทรัพย์แรงงานชาวเมียนมาในประเทศไทย” โดย MI GROUP หรือ บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด เปิดเผยว่ากลุ่มแรงงานชาวเมียนที่เข้ามาในเมืองไทยมีจำนวนมาก รวมแล้วมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลสูงถึง 8.2 แสนล้านบาทถึง 1.2 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนแรงงานที่เข้ามาอยู่ในไทยเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันคาดการณ์มีจำนวนแรงงานเมียนมาในไทยทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย 6.8 ล้านคน กระจายอยู่ตามชายแดนและพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจำนวนนี้ลงทะเบียนกว่า 1.85 ล้านคน คิดเป็น 67% ของจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียนทั้งหมดมีทั้งสิ้นกว่า 2.76 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับ Gen Z ของประชากรไทย สะท้อนโอกาสของภาคธุรกิจที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานนี้ อันได้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการด้านการเงิน
แรงงานชาวเมียนมากว่า 88% ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น มุ่งหารายได้เป็นสำคัญ และการเข้ามาทำงานในประเทศไทยสร้างรายได้ถึง 10,000 - 15,000 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่าแรงขั้นต่ำ 500 บาทต่อวัน คิดเป็น 3 - 15 เท่าของเงินเดือนตอนที่อยู่ประเทศเมียนมา
ส่วนใหญ่ตั้งเป้าทำงานในประเทศไทย 3 - 5 ปี โดย 5 อาชีพนิยมมากที่สุด คือ พนักงานโรงงาน 39% ภาคก่อสร้าง 18% พนักงานขาย 15% เกษตรกร 11% และรับจ้างทั่วไป 9% โดยจะทำงานล่วงเวลามากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันหรือมากกว่านั้นและอย่างน้อย 6 วันต่อสัปดาห์
โดยพฤติกรรมการใช้เวลาว่างยอดฮิตของกลุ่มแรงงาน มี 2 อย่าง คือ “จับจ่ายซื้อของ”และ “เล่นอินเทอร์เน็ต” ซึ่งพบว่า 74% ของคนเมียนมาในไทยมีการ “ช้อปออนไลน์” โดยช่องทางที่ใช้ช้อปมากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ Lazada, Facebook, Shopee, TikTok
และแม้ว่าจะมีคนเมียนมาในไทยเพียง 32% ที่มี Mobile Banking แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเรื่องการจับจ่าย เพราะแพลตฟอร์ช้อปปิ้งออนไลน์สามารถเลือกเก็บเงินปลายทางได้ หรือให้เพื่อน/นายจ้างที่มีแอปฯ ช่วยโอนเงินแทน
ที่น่าสนใจ แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ การออมเงินดังกล่าวนั้น ส่งกลับบ้านประมาณ 2 ใน 3 ซึ่งปัจจุบันนิยมให้นายหน้าผู้ดำเนินการโอนเงินให้ และเหลือเงินเก็บที่ตัวเองเพียง 1 ใน 3 ซึ่งสัดส่วนแรงงานที่เข้ามาเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง มีอายุเฉลี่ย 25-34 ปี มีเป้าหมายทำงานเก็บเงินกลับไปตั้งตัวและใช้ชีวิตที่ประเทศเมียนมา
โดยกลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการเข้าถึง Mobile Banking แรงงานชาวเมียนมาควบคุมรายจ่ายราว 56% จากรายได้ทั้งหมด โดยมีค่าใช้จ่ายสำคัญ คือ ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (37%) ค่าที่อยู่อาศัย (16%) ค่าโทรศัพท์ (3%)
อย่างไรก็ดี แรงงานกลุ่มนี้มีความต้องการใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกันดังนั้น ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสทำตลาดนี้ โดยต้องทำสินค้าราคาจับต้องได้ เข้าถึงได้ เข้าใจได้และเชื่อถือได้
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด กล่าวว่าข้อมูลผลวิจัยเจาะลึกข้อมูลกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา นับเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่สินค้าอุปโภคบริโภคและการบริการด้านการเงินของไทย เพื่อไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การตลาด หรือการพัฒนาสินค้าการให้บริการเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายแรงงานข้ามชาติ โดยผู้ประกอบการธุรกิจสามารถนำข้อมูลนำไปปรับใช้พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการและพฤติกรรมการจับจ่ายของกลุ่มแรงงานเมียนมาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
ทั้งนี้ แรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย แบ่งช่วงชีวิตออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ช่วง “ช่วงตั้งหลัก” ที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตในประเทศไทย “ช่วงตั้งตัว” ที่ทำงานและใช้ชีวิตได้ระยะหนึ่งแล้ว และกลุ่มสุดท้าย “ช่วงตั้งใจ” ที่เน้นการติดต่อครอบครัวและเตรียมตัวกลับประเทศเมียนมา แต่ละกลุ่มนี้จะใช้สินค้าและบริการที่แตกต่างกัน สนใจคอนเทนต์ไม่เหมือนกัน
ภาพรวมของธุรกิจที่เจาะตลาดแรงงานเมียนมามีเพียง “โทรคมนาคม” กับ “ธนาคาร” เพราะซิมการ์ด สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต กับบัญชีธนาคาร คือสิ่งจำเป็นมากของแรงงานข้ามชาติ จึงมีการแย่งชิงลูกค้าอย่างเข้มข้น
ส่วนธุรกิจที่กำลังเข้ามาจับตลาดคือ “ทองคำ” เพราะคนเมียนมาส่วนใหญ่นิยมซื้อทองมาก เนื่องจากเป็นสินทรัพย์มีมูลค่าสำหรับเก็บออม และยังเป็นเครื่องประดับได้ในตัว สามารถพกพาติดตัวง่าย เก็บซุกซ่อนง่าย แต่ขณะนี้ยังไม่มีแบรนด์ร้านทองหรือทองคำใดๆ ที่จับตลาดคนเมียนมาโดยเฉพาะ
กลยุทธ์เจาะตลาดแรงงานเมียนมา จุดสำคัญคือการทลายกำแพงภาษา เช่น แปลงโฆษณาเป็น “ภาษาเมียนมา” ซึ่งทำให้แบรนด์ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสูงแต่ได้ใจคนกลุ่มใหญ่ เนื่องจากแรงงานเมียนมาในไทยส่วนใหญ่จะเริ่มฟังพูดภาษาไทยได้คล่องหลังอยู่อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 3 ปี คนที่อ่านเขียนภาษาไทยได้ส่วนใหญ่จะอยู่มาแล้วมากกว่า 7 ปีและต้องขวนขวายที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้กำแพงภาษาคือเรื่องสำคัญในการสื่อสารไปให้ถึงคนเมียนมา
สุดท้าย หัวใจของการรุกตลาดแรงงานเมียนมา แบรนด์ไทยแสดงออกถึงความเข้าใจในชีวิตแรงงานเมียนมาที่เข้ามาเพื่อ “สู้ชีวิต” เป็นแบรนด์ที่ “เชื่อใจได้” ในการอยู่เคียงข้างการทำงานหนัก รวมถึง เป็นแบรนด์ราคาประหยัด “จับต้องได้ง่าย” ก็ครองใจพี่น้องเมียนมาที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยได้ไม่ยาก
ตลาดแรงงานเมียนมาในไทยเป็นตลาดที่น่าจับตา แรงงานชาวเมียนมาออมเงินได้ถึง 44% หรือเกือบครึ่งของรายรับ ซึ่งเงินออมสัดส่วน 2 ใน 3 ส่งกลับบ้านเกิด หากจูงใจเปลี่ยนเส้นทางการเงินให้มาใช้จ่ายหมุนเวียนในไทย จับจ่ายซื้อสินค้าไทยย่อมเป็นโอกาสของผู้ประกอบการชาวไทย