ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ตกอยู่ในวังวนพระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ไม่เพียงนโยบายเรือธงแจกดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่นที่ถอยไม่ได้ไปไม่เป็น จู่ๆ ก็มีระเบิดลูกใหม่จากการขึ้นราคาน้ำตาลตามราคาตลาดโลกเข้ามาซ้ำ จนรัฐบาลเพื่อไทยต้องดึงน้ำตาลกลับมาเป็นสินค้าควบคุมราคา กลายเป็นเปิดศึกกับชาวไร่อ้อย มิหนำซ้ำอาจลามไกลไปถึงเรื่องที่บราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO อีกต่างหาก
ต้องไม่ลืมว่าอ้อยและน้ำตาลเป็นสินค้าการเมือง หยิบจับเมื่อไหร่เป็นเรื่องขึ้นมาเมื่อนั้น เพราะฝั่งผู้ผลิตทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล กับฝั่งผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มล้วนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น จะออกซ้ายหรือออกขวา จะหยิกเล็บก็เจ็บเนื้อ เลี่ยงไม่พ้น
คราวนี้ก็เช่นกัน พอน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น ชาวไร่อ้อยก็ควรจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ จึงเป็นที่มาของการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร เพื่อใช้ประกอบในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ประจำฤดูการผลิตปี 2566/2567 ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงนามโดยนายฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และรักษาราชการแทนเลขาธิการ กอน.
ประกาศดังกล่าว ได้กำหนดราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานใหม่ จากเดิมน้ำตาลทรายขาวอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 19 บาท เป็นราคา กก.ละ 23 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์จากเดิม กก.ละ 20 เป็น กก.ละ 24 บาท ส่งผลให้ราคาจำหน่ายปลีกน้ำตาลทรายขาว เพิ่มจากกิโลกรัมละ 23 บาท เป็น 28 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ จากกิโลกรัมละ 24 บาท เป็น 29 บาท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2566
ตามไทม์ไลน์ หลังออกประกาศข้างต้น ทาง สอน.จะประกาศราคาน้ำตาลหน้าโรงงานตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงเพื่อนำมาคำนวณราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566/67 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อให้ประโยชน์ตกกับชาวไร่อ้อยในการได้รับราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นจากปริมาณน้ำตาลทรายจำหน่ายในประเทศที่จะมาคำนวณราคาขั้นต้น 25 ล้านกระสอบ โดยการปรับราคา 4 บาทต่อกิโลกรัม จะจัดสรรประโยชน์โดยแบ่ง 2 บาทต่อกิโลกรัม เข้าอุตสาหกรรมอ้อยแบ่งให้ชาวไร่และโรงงาน และอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม จะนำส่งเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสนับสนุนชาวไร่ที่ตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5
ทว่า ทันทีที่ สอน. ออกประกาศ ก็เป็นเรื่องขึ้นมาทันควัน เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตเครื่องดื่ม น้ำอัดลม ขนมหวาน ฯลฯ หากรัฐบาลเพื่อไทยปล่อยให้น้ำตาลขึ้นราคาแบบพุ่งพรวดจากเดิม 4-5 บาทต่อกิโลกรัม มีหวังคะแนนนิยมติดลบหนักขึ้นไปอีกจากที่ยังไม่มีผลงานอะไรซึ่งทำให้ประชาชนคนไทยเป็นปลื้มได้สักอย่าง
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รีบแก้เกมเป็นการด่วน โดยเรียกประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา และหลังประชุม กกร.มีมติกำหนดให้สินค้าน้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชน และทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ทั้งสินค้ากลุ่มอาหารกระป๋อง เครื่องดื่ม ขนมหวานที่อาจจะมีการปรับขึ้นราคา
เมื่อ กกร. ดึงน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมแล้ว ได้กำหนดมาตรการกำกับดูแล 2 มาตรการ คือ มาตรการแรก กำหนดราคาจำหน่ายหน้าโรงงานที่ กก.ละ 19 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก.ละ 20 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และควบคุมราคาจำหน่ายปลีก กก.ละ 24 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาว และ กก.ละ 25 บาท สำหรับน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ เท่ากับว่าน้ำตาลทรายจะยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะกำหนดราคาตามระยะทางและต้นทุนการขนส่งต่อไป
มาตรการที่สอง ควบคุมการส่งออกตั้งแต่ 1 ตัน หรือ 1,000 กก.ขึ้นไป ต้องขออนุญาตจากคณะอนุกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้น มีเลขาธิการ สอน. เป็นประธาน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน ตัวแทนจาก สอน.เป็นเลขานุการ และตัวแทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย
“การนำน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้ กระทรวงพาณิชย์มีความห่วงใยประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ปัจจุบันมีความยากลำบากอยู่แล้ว และยังกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตอีกเป็นจำนวนมาก จึงต้องเข้ามากำกับดูแล โดยราคาให้ยึดที่ กกร.ประกาศ ส่วนที่ สอน.ประกาศก็ไม่มีผล...” นายภูมิธรรม กล่าว และยืนยันว่าชาวไร่อ้อยจะไม่ได้รับผลกระทบ ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ตามเดิม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นผู้เข้าไปดูแล รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเต็มที่
ในวันถัดมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบให้เพิ่มน้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ตามมติ กกร. เพื่อป้องกันผลกระทบกับประชาชน และทุกภาคส่วนที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ
ทั้งนี้ สัดส่วนการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ระบุว่า ความต้องการของผู้บริโภคโดยตรง 57.7% ที่เหลืออีก 42.3% เป็นความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเครื่องดื่ม มีสัดส่วน 41.5% อาหาร 28.1% ผลิตภัณฑ์นมและอื่นๆ 11.6%
การดึงน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมราคาอีกครั้ง ทางด้าน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 10 สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม. ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะหามาตรการช่วยเหลือกลุ่มชาวไร่อ้อย และเห็นใจชาวไร่อ้อยที่ต้องเผชิญกับต้นทุนสูงขึ้น การที่กระทรวงพาณิชย์ ดึงน้ำตาลทรายกลับไปเป็นสินค้าควบคุม ไม่ได้เป็นการหักหน้ากระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องช่วยกันดูแลราคาสินค้าให้กับประชาชน
อ่านความระหว่างบรรทัดได้ว่า งานนี้ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาล หักพรรครวมไทยสร้างชาติ อย่างมิพักต้องสงสัย หลังสิ้นแล้วซึ่งบารมี “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในสมัยเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด และเวลานี้ “ลุงตู่” ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว
ชาวไร่อ้อยเดือด งัดมาตรการปิดโรงงานกดดัน
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐบาลจะรับปากว่าจะดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยเต็มที่ แต่สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย หาได้เชื่อถือในคำสัญญาของรัฐบาล พร้อมเตรียมการเคลื่อนไหวกดดัน
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เผยว่า ชาวไร่อ้อยกำลังอยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อขอเข้าพบนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ดึงเอาน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุม ถือเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ทั้งที่น้ำตาลทรายมีการลอยตัวราคาและเป็นระบบเสรีไปแล้ว โดยชาวไร่อ้อยเตรียมมาตรการตอบโต้ด้วยการปิดหน้าโรงงานน้ำตาล เพื่อห้ามขนย้ายน้ำตาลในส่วนของชาวไร่อ้อยสัดส่วน 70% ตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ไม่ให้ออกมาจำหน่าย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่ผ่านมา ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับอาชีพเกษตรกรพี่น้องประชาชนร่วม 2,000,000 คน ขณะที่ต้นทุนชาวไร่อ้อยช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากจากปุ๋ยที่แพงขึ้นสามเท่าตัว ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก น้ำมันก็อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และยังเผชิญกับภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตอ้อยที่เคยมี 120 ล้านตัน ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้อาจได้ไม่ถึง 75 ล้านตัน ชาวไร่ต้องเป็นหนี้เป็นสินธนาคารเพื่อการเกษตรฯ มากมาย ขณะที่นายทุนโรงงานเครื่องดื่ม โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ใช้น้ำตาลถูกมาตลอดและได้กำไรไปมหาศาลรวยเป็นมหาเศรษฐี ส่วนชาวไร่มีแต่ยากจนลง
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายลดลงแต่เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เคยลดราคาลงให้กับประชาชนเลย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาล ประชาชนคนไทยเราบริโภคน้ำตาลถูกที่สุดแล้ว ไม่มีประชาชนประเทศไหนบริโภคน้ำตาลทรายได้ถูกสุดเท่ากับคนไทย และในชีวิตประชาชนก็บริโภคน้ำตาลโดยตรงเดือนละไม่ถึง 1 กิโลกรัม ดังนั้นประชาชนจะไม่เดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคาครั้งนี้
สำหรับการปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานเพื่อใช้คำนวณราคาอ้อยฯ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งความเป็นจริงทุกวันนี้ราคาน้ำตาลในตลาดได้มีการจำหน่ายกันในราคาประมาณ 26 บาทต่อ กก.แล้ว แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นกันเลย ประโยชน์จากเงินที่เพิ่มขึ้นไปตกอยู่กับกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลกันหมด
คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จึงได้พิจารณาแล้วว่า เพื่อสอดคล้องกับต้นทุนของพี่น้องชาวไร่อ้อยที่เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการประกาศปรับราคาน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยเป็นไปตามข้อเท็จจริงของราคาที่มีการขายกันในตลาด เพื่อให้พี่น้องชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยฯ ได้รับเงินส่วนแบ่งจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลที่มีการขายกันอยู่ทุกวันนี้ พวกเราชาวไร่อ้อยจึงขอให้พี่น้องประชาชนและส่วนราชการเข้าใจถึงความเดือดร้อน การเสียเปรียบของพี่น้องชาวไร่อ้อยที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ด้วย
แต่คำร้องขอให้เข้าใจชาวไร่อ้อยตามที่ระบุในแถลงการณ์ไม่เป็นผล เพราะ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ให้คุมราคาน้ำตาลทรายตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอไปเป็นที่เรียบร้อย
“.... นี่คือการทำร้ายชาวไร่อ้อยแม้ว่ารัฐจะระบุว่าจะมีมาตรการมาดูแลก็ตามแต่มาตรการเหล่านี้ก็เป็นการดูแลชั่วคราวต้องออกมาเรียกร้องทุกปีหรือไม่” นายนราธิป กล่าว
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่าน นายมนตรี เลาหศักดิ์ประสิทธิ์ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 6 ออกมาแถลงว่าหากไม่ปรับราคาน้ำตาลทรายในประเทศขึ้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีราคาสูงกว่าจะส่งผลให้มีน้ำตาลทะลักออกสู่เพื่อนบ้านแบบผิดกฎหมายโดยกองทัพมดลักลอบขนส่งออกไป อนาคตน้ำตาลภายในประเทศจะขาดแคลน
ขณะเดียวกัน ชาวไร่อ้อย 4 องค์กรหลัก ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน สมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กำหนดมาตรการขั้นเด็ดขาดด้วยกันปิดโรงงานผลิตน้ำตาลทั่วประเทศ พร้อมกันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ไม่ยอมนำน้ำตาลในส่วนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ในสัดส่วน 70% ออกจากโรงงาน เพราะหากจำหน่ายไปแล้วก็จะขาดทุน ส่วนน้ำตาลที่เหลืออีก 30% ที่เป็นโควตาของโรงงานก็จะปล่อยเป็นเรื่องโรงงาน มาตรการดังกล่าวของชาวไร่อ้อย ก็เพื่อให้รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบมาให้ชัดถึงแนวทางช่วยเหลือชาวไร่อ้อย
ถอยหลังลงคลอง สุ่มเสี่ยงถูกฟ้องร้องต่อ WTO
อีกประเด็นสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือ ก่อนหน้านี้ บราซิล แจ้งข้อกล่าวหาไทยไปยังองค์การการค้าโลก หรือ WTO ว่า ไทยมีการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล จนนำมาสู่การเจรจาและปรับโครงสร้างต่าง ๆ พร้อมกับการการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในปี 2561
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายสาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นหลังที่ประชุม ครม. มีมติให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ถอยหลังเข้าคลอง เพราะนอกจากจะทำให้ชาวไร่อ้อยเสียประโยชน์ที่ควรได้แล้ว รัฐบาลต้องใช้เงินภาษีมายกระดับราคาอ้อยซึ่งมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดกติกา WTO ในขณะที่มีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนเพียงเล็กน้อย
นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ย้อนเรื่องบราซิลกล่าวหาว่าไทยอุดหนุนราคาน้ำตาลในประเทศ ทำให้ไทยสามารถไปดัมพ์ราคาส่งออกจึงแจ้ง WTO ว่าจะฟ้องไทยที่ทำผิดกติกาการค้าของ WTO ทำให้เกิดการเจรจาและนำมาสู่ข้อตกลงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เช่น เลิกคุมราคาน้ำตาล เลิกระบบโควต้า และมีการแก้ไข พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทราย ฯ ทำให้บราซิลชะลอหยุดฟ้องมาเฝ้าดูเราก่อน แต่เรากำลังจะกลับไปอยู่จุดเดิม จากที่รัฐประกาศควบคุมราคาและจะนำเงินงบประมาณมาอุดหนุนช่วยชาวไร่ ซึ่งก็เสี่ยงจะผิดกติกา WTO อีก ถึงแม้ว่าจะอ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม และถ้ารัฐบาลจะช่วยให้ชาวไร่ได้ราคาอ้อยในระดับเดียวกับที่จะได้จากการปรับราคาน้ำตาลทรายนั้น เงินช่วยเหลือก็จะต้องสูงกว่าที่จ่ายเป็นค่าตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในหลายปีนี้มาก และมีความเสี่ยงที่จะเกินวงเงินอุดหนุนเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของ WTO ที่เราเคยใช้อ้างในอดีต
ดร.วิโรจน์ มองว่า แม้ว่ารัฐจะคุมราคาน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานไว้เช่นเดิมที่ 19-20 บาทต่อกิโลกรัม ราคาขายปลีกจริงก็ไม่ได้เท่าเดิมแล้ว และแม้ว่า กกร. จะกำหนดให้การส่งออกน้ำตาลทรายเกิน 1 ตัน ต้องรายงานเพื่อป้องกันไม่ให้ส่งออกมากจนขาดแคลนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงที่ราคาน้ำตาลทรายในตลาดล่วงหน้าที่อังกฤษขึ้นไปถึง 27 บาทกว่าต่อกิโลกรัม ก็ทำให้ราคาขายหน้าโรงงานและราคาปลีกที่ถึงมือผู้บริโภค (ยกเว้นน้ำตาลถุง 1 กิโลกรัม ในโมเดิร์นเทรด) ได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า และการกลับไปควบคุมราคายังขัดกับนโยบายรัฐที่กำหนดภาษีความหวานเป็นขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพต่อประชาชน
จากรายงานผลการวิจัยโครงการติดตาม ประเมิน และเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหากรณีพิพาทเรื่องอ้อยและน้ำตาลกับบราซิลในองค์การการค้าโลก (WTO) และจัดทำแผนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลตามข้อผูกพันกับ WTO ที่ให้ลำดับความสำคัญกับการรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ปีที่สอง โดยคณะผู้วิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประกอบด้วย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง, ศ.ทัชมัย ฤกษะสุต และนายวุฒิพงษ์ ตุ้นยุทธ์ เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 นำเสนอข้อกังวลต่อแนวนโยบายของไทยที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อเสนอของบราซิลและข้อผูกพันกับ WTO โดยชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. ... ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.อ้อยฯฉบับเดิม ปี 2527 ยังสะท้อนให้เห็นถึงการอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล หากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานรัฐ ตามการตีความของ WTO มีการใช้มาตรการแทรกแซงราคาหรือให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในรูปแบบต่างๆ
คณะผู้วิจัย ยังชี้ว่า พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับแก้ไข ไม่ค่อยแตกต่างจากฉบับเดิม ซึ่งไม่ได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ ในรายละเอียดมากเท่ากับ คำสั่ง ประกาศ และระเบียบที่ออกโดยคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) หรือสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) และจากการวิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ประกาศ และระเบียบต่าง ๆ ที่ออกมาใช้ในปัจจุบันพบว่า ยังมีลักษณะเป็นกติกาที่เปลี่ยนชื่อและรูปแบบมากกว่าการปรับเปลี่ยนเนื้อหาอย่างเป็นระบบจริง ๆ โดยประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ พ.ร.บ.อ้อยฯ ฉบับแก้ไขและมาตรการต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้จะได้รับการยอมรับจากบราซิลจนนำไปสู่การถอนฟ้อง และเพียงพอที่จะทำให้ประเทศคู่แข่งอื่นไม่คิดจะฟ้องไทยหรือไม่
มองย้อนกลับไป อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา หลังจากบราซิล ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก ฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ว่าสินค้าน้ำตาลของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีการอุดหนุนการส่งออก โดยมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับชาวไร่ในบางปีผ่านกลไกกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ พ.ศ. 2559-2564 แทนโครงสร้างเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประเด็น เช่น การลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ เมื่อเดือนมกราคม 2561 จากเดิมที่น้ำตาลทรายกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์
นอกจากนั้น ยังมีการยกเลิกโควต้าจำหน่ายน้ำตาลในประเทศ จากอดีตที่มีการแบ่งน้ำตาลออกเป็น 3 ส่วน คือโควต้า ก สำหรับบริโภคในประเทศ โควต้า ข สำหรับจำหน่ายเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ในสัดส่วน 70:30 และ โควต้า ค สำหรับให้โรงงานน้ำตาลขายทำราคาส่งออกเอง
ในปัจจุบันที่มีการยกเลิกโควตา ก ทำให้ไม่มีการกำหนดปริมาณน้ำตาลที่จำหน่ายในประเทศ โดยในปี 2558 กำหนดโควตา ก จำนวน 26 ล้านกระสอบ หรือ 2.6 ล้านตัน รวมทั้งในปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล (สอน.) จะกำหนดปริมาณน้ำตาลที่แต่ละโรงงานต้องสำรองไว้ โดยในบัญชีผลิตน้ำตาลขั้นต้นปีการผลิต 2565/66 ผลิตน้ำตาลได้รวม 119 ล้านกระสอบ หรือ 11.9 ล้านตัน ในจำนวนดังกล่าวเป็นน้ำตาลสำรอง 2.03 ล้านกระสอบ หรือ 203,200 ตัน
ขณะเดียวกัน กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เลิกบทบาทในการแทรกแซงราคาอ้อย โดยจะทำหน้าที่ด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
ส่วนการกำหนดราคาหน้าโรงงานตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก ที่ผ่านมาจะใช้น้ำตาลโควต้า ข สำหรับจำหน่ายเพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณรายได้ที่จะนำมาแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ซึ่งระบบดังกล่าวทำให้ราคาหน้าโรงงานไม่มีการเปลี่ยนมาก และราคาขายปลีกถูกควบคุมโดยกระทรวงพาณิชย์ ส่วนปัจจุบันจะใช้ราคาหน้าโรงงานในการคำนวณรายได้ที่จะเข้าสู่ระบบแบ่งปันผลประโยชน์ โดยการปรับราคาหน้าโรงงานล่าสุดจะทำให้รายได้เข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เพราะปรับขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลในตลาดโลก
ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรงงาน โดยมีผู้ผลิตกลุ่มใหญ่ที่มีโรงงานหลายแห่ง เช่น กลุ่มมิตรผล กลุ่มไทยรุ่งเรือง กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น
การดึงน้ำตาลทรายกลับมาเป็นสินค้าควบคุมอีกครั้งโดยอ้างทำเพื่อผู้บริโภคแทนการลอยตัวราคาที่ปรับเปลี่ยนมา 5 ปีแล้ว จึงเป็นการถอยหลังเข้าคลองที่จะนำมาซึ่งปัญหา ไม่เพียงตัดโอกาสลืมตาอ้าปากของชาวไร่อ้อย แต่ยังจะกลายเป็นคดีพิพาทในองค์การการค้าโลกอีกด้วย