xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่องดรามา “เสียงไซเรน” รถกู้ชีพ เมื่อ “โรงแรม” เปิดวอร์แบบหนักๆ แต่ “มูลนิธิ” ตอบกลับแบบเบาๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังมีการแชร์ว่อนโซเชียลฯ สำหรับกรณี “โรงแรมย่านสีลม” ร่อนส่งจดหมายเปิดผนึกขอความร่วมมือไปยัง “มูลนิธิกู้ภัย” เพื่อขอให้ลดหรือปิดเสียงไซเรนรถพยาบาลในยามวิกาลที่ไม่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากเป็นเสียงรบกวนในการพักผ่อนของคนในโรงแรม ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ถกสนั่นเสียงแตกมีทั้ง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย”

ต่อมา ตัวแทนของมูลนิธิดังกล่าว เปิดเผยว่าได้รับจดหมายดังกล่าวจริงและไม่ได้รับเพียงแค่มูลนิธิเดียว โดยมีแนวทางกำชับทางเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อยู่เสมอ ยืนยันว่าเปิดเสียงไซเรนตามข้อปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และไม่ได้เปิดพร่ำเพรื่อ ไม่มีเจตนาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

เรียกว่าเป็นการชี้แจงอย่างสุภาพน้อมรับคำแนะนำแต่โดยดี และเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่อาสาถึงแนวทางปฏิบัติกันอย่างเข้มงวดเป็นสร้างบรรทัดฐานงานกู้ภัยต่อไป

ทางด้านหน่วยงานที่มีหน้ากำกับดูแลอย่าง “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)” ตั้งโต๊ะชี้แจ้งทำความเข้าใจ นำโดย นาวาเอก (พิเศษ) นพ.พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และโฆษก สพฉ. ชี้แจงถึงประเด็นรถพยาบาลฉุกเฉินซึ่งอยู่ในการกำกับดูแล สพฉ. รถฉุกเฉินทุกคันจะต้องได้รับอนุญาตในการติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉิน และเสียงไซเรน ตาม พ.ร.บ .จราจรทางบก พศ. 2522 โดยกำหนดสัญญาณไฟฉุกเฉิน ต้องเป็นสีแดงน้ำเงินส่วนการติดตั้งเสียงสัญญาณฉุกเฉินต้องไม่ต่ำกว่า 120 เดซิเบล

สำหรับขั้นตอนการออกปฏิบัติงานของรถฉุกเฉิน ทาง สพฉ. มีข้อกำหนดของพนักงานขับรถพยาบาลฉุกเฉินหากในกรณีออกปฏิบัติภารกิจเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน “เคสสีแดง” สามารถ “เปิดสัญญาณไฟ” และ “เปิดเสียงสัญญาณฉุกเฉิน” ได้ เพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกันผู้ป่วยอื่นๆ ผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินรุนแรง “เคสสีเขียว” มีแนวทางปฏิบัติให้ “เปิดเพียงสัญญาณไฟฉุกเฉิน” แต่ “ไม่ต้องเปิดเสียงไซเรน”

อย่างไรก็ดี การเปิดสัญญาณไฟและเสียงไซเรนแจ้งเตือนนั้น วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ขับขี่ในระหว่างการออกปฏิบัติภารกิจที่มีความเร่งด่วน พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการแจ้งเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนให้ทราบว่าบริเวณใกล้เคียงมีเหตุฉุกเฉิน เพื่อจะได้เพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรร่วม สร้างความปลอดภัยในการใช้ถนนใช้ถนนมากขึ้น

เกี่ยวกับประเด็นร้อน กรณีโรงแรมใจกลางเมือง ย่านสีลม ร่อนส่งจดหมายเปิดผนึกขอความร่วมมือไปยังมูลนิธิกู้ภัย เพื่อขอให้ลดหรือปิดเสียงไซเรนรถพยาบาลในยามวิกาลที่ไม่มีการจราจรติดขัด เนื่องจากเป็นเสียงรบกวนในการพักผ่อนของคนในโรงแรม ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ทาง สพฉ. รับทราบถึงผลกระทบเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและเห็นใจประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากเสียงสัญญาณฉุกเฉิน ที่ผ่านมาได้รับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนมาโดยตลอด และ สพฉ. ได้มีการกำชับให้ผู้ปฏิบัติงานพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการออกปฏิบัติภารกิจทุกครั้ง ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเปิดสัญญาณไฟและสัญญาณเสียงฉุกเฉิน ย้ำว่าการเปิดสัญญาณไฟและสัญญาณเสียงมีความจำเป็นในกรณีการช่วยเหลือเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับทุกฝ่ายในการออกปฏิบัติภารกิจ

สำหรับความเป็นไปได้ของแนวทางการออกปฏิบัติภารกิจในยามวิกาลที่ไม่ได้มีการจราจรพลุกพล่านเกี่ยวกับการปิดเสียงไซเรน รองเลขาธิการฯ สพฉ. อธิบายว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของภารกิจว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนหรือไม่ แต่หากผู้ปฏิบัติงานพิจารณาว่าพื้นที่และสถานการณ์มีความปลอดภัย อาจไม่จำเป็นต้องเปิดเสียงไซเรน หรืออาจปรับลดระดับเสียงแจ้งเตือนลงได้

โดย สพฉ. กำหนดแนวทางปฏิบัติประสามมูลนิธิต่างๆ พิจารณาดำเนินการหรือปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งในส่วนของการปฏิบัติงานกู้ชีพนั้นได้ดำเนินการอย่างมีมาตฐาน โดที่ผ่านมามีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับพื้นฐาน 8 มูลนิธิ ได้แก่ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, มูลนิธิร่วมกตัญญู, มูลนิธิร่มไทร, มูลนิธิจีเต็กลิ้ม ฮู้ก๊กตึ๊ง (พิรุณ), มูลนิธิอาสาหนองจอก (ราชพฤกษ์), มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์), กู้ชีพกูบแดง กู้ชีพหงส์แดงและศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์

สำหรับรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ รถกู้ชีพ ต้องขึ้นทะเบียนกับ สพฉ. โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาต แบ่งออกเป็น 2 ประเภท 1. ประเภทลำเลียงผู้ป่วย ซึ่งเป็นรถที่มีเตียงและมีพื้นที่ในการปฏิบัติการแพทย์สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ตามกำหนด และ 2. ประเภทไม่ลำเลียงผู้ป่วย ซึ่งเป็นรถที่ไม่มีเตียงสำหรับรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่สามารถปฏิบัติการแพทย์ และปฏิบัติการอำนวยการ หรือลำเลียงอวัยวะ ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องมื่อสื่อสาร หรือบุคลากร ทางการแพทย์ สำหรับให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งมีลักษณะ อุปกรณ์ และเครื่องมือ ตามที่กำหนด


กรณีเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประเภทลำเลียงผู้ป่วย ต้องจดทะเบียนเป็นรถพยาบาลตามกฎหมาย ว่าด้วยพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 การขอรับรองเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉินครั้งแรก รถต้องมีอายุไม่เกิน 7 ปี นับจากวันที่จดทะเบียน และให้มีประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ โดยมีความคุ้มครองตามกรมธรรม์รถยนต์

โดยรถที่ผ่านมารับรองมาตรฐาน และได้รับการอนุญาตเป็นรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีสิทธิใช้ไฟสัญญาณวับวาบ และเสียงสัญญาณไซเรนได้ตามกฎหมาย ว่าด้วยการจราจรทางบก โดยให้ติดตั้งไฟสัญญาณวับวาบ บนหลังคารถ โดยวางตำแหน่งไฟสัญญาณวับวาบแสดงแดง ไว้ที่ด้านขวาเหนือผู้ขับขี่ แสงน้ำเงินอยู่ฝั่งซ้าย เหนือสรีระของผู้ขับขี่

อนึ่ง การอนุญาตติดไซเรน หรือสัญญาณไฟวับวาบ เพื่อการปฏิบัติภารกิจเร่งด่วนต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ ใช้ในกรณีเกิดอุบัติภัยต่างๆ หรือในกิจการสาธารณประโยชน์ หรือกิจการสาธารณูปโภค อันเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน หรือการปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยของสาธารณชน อันเป็นกิจการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งการขออนุญาตติดตั้งและใช้สัญญาณไฟวับวาบหรือไฟไซเรน ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ทั้งนี้ หากไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 13 และมาตรา 132 โดยตามกฎหมายระบุความผิด การติดตั้งไฟไซเรน แต่ขณะจับกุม ไม่ได้ใช้ มีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ใช้ไฟไซเรน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ใช้เสียงไซเรน มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

ทั้งนี้ สพฉ. ดำเนินการพัฒนามาตรฐานของรถพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง จัดให้มีการขึ้นทะเบียนและตรวจมาตรฐานรถกู้ชีพและรถพยาบาลเป็นประจำทุกปี โดยรถที่จะผ่านการรับรองมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้น จะต้องเป็นรถตู้หรือรถกระบะบรรทุกที่มีทะเบียนยานพาหนะถาวร มีหลังคาสูงเพียงพอที่จะทำการฟื้นคืนชีพ (CPR) ได้สะดวก ห้องคนขับและห้องพยาบาลแยกออกจากกันแต่สามารถสื่อสารกันได้ มีแสงสว่างเพียงพอที่จะทำหัตถการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ตลอดจนมีที่ว่างสำหรับจัดวางเตียงพร้อมผู้ป่วยฉุกเฉินลักษณะนอนราบ และมีระบบระบายอากาศ และกระจกหลังต้องมีการติดข้อความชื่อหน่วยปฏิบัติการ

สำหรับอุปกรณ์ภายในรถติดตั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิตในขั้นต้น โดยอุปกรณ์จะต้องจัดอยู่ในสภาพเรียบร้อย สะอาด กรณีที่เป็นสิ่งปฏิกูลหรือสิ่งที่อาจทำให้ติดเชื้อ จะต้องมีการจัดแยกให้ถูกสุขลักษณะ รวมถึง จัดให้เป็นระเบียบ เพียงพอ พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา มีอุปกรณ์สื่อสารเพื่อใช้ในการติดต่อ มีระบบการรับสัญญาณเตือนภัย มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อาทิ เฝือกคอชนิดแข็ง (Hard collar) ไม่น้อยกว่า 3 ขนาดและสามารถปรับขนาดได้ มีเฝือกดามแขน ขา มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและทำแผลพื้นฐาน ถุงมือปราศจากเชื้อ สำลี ผ้าพันแผล น้ำเกลือ อุปกรณ์ล้างตา เครื่องดูดเสมหะชนิดบีบมือ ที่หนีบสายสะดือ เป็นต้น นอกจากนี้ ต้องมีอุปกรณ์กู้ภัยเบื้องต้น เช่น ขวานขนาดใหญ่ เชือกคล้องตัว อุปกรณ์ยึดเหนี่ยว กรรไกรตัดเหล็กขนาดใหญ่ อุปกรณ์ดับเพลิง เป็นต้น

ปัจจุบันจำนวนรถกู้ชีพหน่วยกู้ภัยต่างๆ ทั่วประเทศ ที่อยู่ในระบบของ สพฉ. มีจำนวนมากกว่า 10,000 คัน

ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง “เสียง” นั้นนับเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในความเป็นจริงทางหน่วยงานกู้ภัยมีแนวทางปฏิบัติเป็นบรรทัดฐานไม่ได้เปิดพร่ำเพรื่อ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง แต่สุดท้ายก็ยกให้เป็นดุจพินิจของผู้ปฏิบัติงานว่าจะดำเนินการอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น