ในความเป็นไป
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
วังต้องห้ามในบางแง่มุม
ว่าที่จริงแล้ว หากจะบรรยายเรื่องวังต้องห้ามกันอย่างจริงจังแล้ว เรื่องราวของวังนี้จะแบ่งได้เป็นหลายด้านด้วยกัน เช่น สถาปัตยกรรม ข้าวของเครื่องใช้ เครื่องประดับ สัญลักษณ์ อุดมการณ์ งานด้านหัตถกรรม เรื่องเล่าขาน เรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้องกับวัง ฯลฯ
เรียกได้ว่า แต่ละด้านคงเขียนเป็นหนังสือได้เป็นเล่มๆ ให้อ่านกันตามความสนใจ
แน่นอนว่า ความรู้อย่างผมคงเขียนเจาะอย่างนั้นไม่ได้แน่ๆ หรือถ้าจะทำให้ได้ก็คงใช้เวลาศึกษานานเป็นปีๆ กว่าที่จะเขียนได้ในด้านใดด้านหนึ่ง และก็ไม่แน่ว่าจะมีใครสนใจอ่านหรือไม่ จากเหตุนี้ ผมก็ขอเล่าอย่างกว้างๆ ว่าพอเข้าไปในวังต้องห้ามแล้วผมเห็นอะไรบ้าง
เริ่มจากด้านหน้าสุดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นบริเวณที่คนทั่วโลกรู้จักกันมากมายเพราะเป็นที่ที่จีนใช้ประกอบรัฐพิธีในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกำแพงสีแดงยาวไปสองข้างซ้ายขวาโดยตรงกลางคือพลับพลาใหญ่ และมีรูปเขียนสีของประธานเหมาอยู่ถัดลงมา พอถัดลงมาอีกก็จะเป็นประตูทางเข้าวังต้องห้าม
เส้นทางที่นำเราเดินเข้าไปนี้จะทอดยาวเหยียดเป็นเส้นตรงไปจนถึงกำแพงชั้นใน กำแพงนี้จะนำเราเข้าไปวังต้องห้ามจริงๆ ดังนั้น พอผ่านพ้นประตูนี้ไปแล้วเราก็จะเข้าไปอยู่ในวังต้องห้ามแล้ว โดยจะมีอาคารสูงที่ต้องเดินขึ้นไปกั้นสายตาเรา
พอขึ้นไปถึงชั้นบนแล้ว ภาพที่ปรากฏแก่สายตาของเราก็คือ พระที่นั่งขนาดใหญ่อันเป็นที่ออกว่าราชการของจักรพรรดิ โดยเบื้องหน้าจะเป็นลานกว้างที่ปูด้วยอิฐหินขนาดเขื่องแข็งแรง ภาพที่เห็นนี้จึงดูอลังการงานสร้างจริงๆ และชวนให้ตะลึงตะลานแก่สายตาของผู้ที่เห็นครั้งแรก
ทุกครั้งที่ผมไปถึงตรงจุดที่ว่านี้ คนที่มาด้วยจะร้องอุทานแตกต่างกันไป เช่น โอ้โห, ว้าว, โอ้พระเจ้า.... ฯลฯ
เมื่อเดินตรงไปยังพระที่นั่งองค์ดังกล่าวนั้น เราจะต้องข้ามสะพานหินอ่อนที่ถูกสลักเสลาเป็นลายต่างๆ อย่างสวยงาม ที่ขาดไม่ได้คือ ภาพสลักมังกรและหงส์ที่อยู่กลางสะพาน สะพานนี้เรียกว่า สะพานแม่น้ำทองคำ (Golden River Bridge)
พอข้ามสะพานแล้วใครจะเพ่งพินิจพิศดูรายละเอียดของสะพานอย่างไรก็ว่าไปตามแต่ละคน แต่ที่ผมชอบดูมากคือ สิงโตสัมฤทธิ์สองตัว ที่ตั้งอยู่ข้างหน้าประตูทางเข้าวัง สิงโตแบบนี้จะตั้งอยู่ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่อาคารสมัยใหม่บางหลังในปัจจุบัน นัยว่าให้คอยเฝ้ารักษาอาคารสถานที่ตามความเชื่อเดิม
ส่วนที่ว่าผมชอบดูนั้นก็เพราะนอกจากรูปร่างหน้าตาที่สง่างามน่าเกรงขามแล้ว ก็ยังชอบและชื่นชมความคิดของช่างจีนที่แยกให้สิงโตคู่นี้เป็นตัวผู้กับตัวเมีย คือ ถ้าเป็นตัวผู้, ใต้อุ้งเท้าข้างหนึ่งจะเหยียบลูกบอลเอาไว้ ลูกบอลนี้เป็นเหมือนของเล่นก็จริง แต่ถูกเปรียบให้เป็นเสมือนโลกที่อยู่ใต้อำนาจของสิงโต
ก็อย่างเรารู้กันนั่นแหละว่า สิงโตหรือพญาราชสีห์มักถูกเปรียบเป็นนักปกครอง ดังจะเห็นได้จากสัญลักษณ์ของกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
ส่วนสิงโตตัวเมียนั้น ใต้อุ้งเท้าข้างหนึ่งจะมีลูกสิงโตนอนหงายท้องอยู่ ซึ่งต้องการสื่อถึงการเป็นเพศแม่ที่กำลังเลี้ยงดูลูก ปกป้องลูก หรือกำลังเล่นกับลูกสิงโต
ทุกครั้งที่เห็นสิงโตคู่นี้ไม่ว่าจะที่ใดก็ตาม ผมอดคิดถึงครั้งแรกที่ได้รู้ว่าตัวไหนตัวผู้หรือตัวไหนตัวเมียไปไม่ได้ เพราะตอนที่รู้นั้นผมถึงกับยิ้มแก้มปริให้กับความคิดที่แยบยลของช่างศิลป์ที่สร้างสิงโตคู่นี้ขึ้นมา ว่าคิดได้ยังไงหรือใช้เวลานานไหมกว่าจะคิดออกมาให้ได้อย่างที่เห็น
โดยนับแต่นั้นมา หากผมได้บอกใครที่ได้เห็นสิงโตคู่นี้ครั้งแรกว่าตัวไหนตัวผู้และตัวไหนตัวเมียแล้ว แทบทุกคนจะมีอาการเหมือนผมตอนที่รู้ครั้งแรกเสมอ
แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมไปกับคณะที่มีอยู่นับสิบคน พอเดินมาเจอสิงโตคู่นี้แล้วไกด์ก็ถามว่า รู้ไหมว่าตัวไหนตัวผู้ ตัวไหนตัวเมีย ปรากฏว่า มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งก้มต่ำลงไปที่บริเวณเป้าของสิงโต ใช่แล้วครับ เธอกำลังมองหาอวัยวะเพศของสิงโตเพื่อจะตอบไกด์
แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอ....
ถัดจากสิงโตก็จะเป็น โอ่งสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ผมกะด้วยสายตาก็ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลางได้ราวเมตรเศษๆ โอ่งนี้จะว่าไปแล้วไม่ได้เข้ากันกับสถาปัตยกรรม สิ่งประดับ หรือสิ่งประดิษฐ์ใดๆ ของวังเลยก็ว่าได้ ถึงแม้จะเป็นโอ่งที่มีรูปทรงสวยงามมากก็ตาม
แต่โอ่งนี้ถูกสร้างด้วยความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นโอ่งที่ใช้บรรจุน้ำเอาไว้ใช้ดับเพลิงเวลาที่เกิดเพลิงไหม้วังขึ้นมา ซึ่งประวัติของวังนี้เคยถูกเพลิงไหม้มาก่อน และไหม้มากกว่าหนึ่งอีกด้วย บ้างครั้งไหม้โดยอุบัติเหตุ บ้างครั้งก็ไหม้โดยฝีมือคนด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง
ไหม้แต่ละครั้งโลกก็สูญเสียสิ่งอันประมาณค่าไม่ได้ไปครั้ง โดยเฉพาะหนังสือหรือตำราที่ให้ทั้งข้อมูลและความรู้ในยุคโบราณทั้งของจีนและของโลก จากเหตุนี้ น้ำในโอ่งนี้จึงต้องเต็มอยู่เสมอ และจะมีมากกว่าหนึ่งใบตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ ของวัง
แต่ว่ากันว่า ปริมาณน้ำในโอ่งนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่พอที่จะดับเพลิงที่เผาผลาญวังอยู่ดี เพราะตัวอาคารของวังสูงใหญ่เกินกว่าปริมาณน้ำในโอ่งจะดับได้ ทั้งนี้ยังไม่นับว่าเป็นการดับด้วยคน ไม่ใช่ด้วยรถดับเพลิงดังปัจจุบันอีกต่างหาก
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจและน่าดูเช่นกันก็คือ นาฬิกาแดดหินอ่อน นาฬิกานี้ตั้งอยู่บนฐานหินที่มีเสารองรับสี่เสา ตัวนาฬิกาเป็นแผ่นหินกลมตั้งเอียงรับแดดประมาณ 45 องศา ตรงกลางจะมีเข็มที่แทงทะลุ โดยเงาของเข็มจะเคลื่อนไปตามการเคลื่อนของดวงอาทิตย์
เคลื่อนไปถึงจุดไหนของแผ่นหินกลม จุดนั้นก็คือเวลา ณ ขณะนั้นๆ แต่เนื่องจากตัวนาฬิกาตั้งสูงกว่าความสูงของคนเพื่อให้รับแสงแดดได้เต็มที่โดยไม่มีอะไรมาบดบัง การดูเวลาก็คงต้อง “ปีน” ขึ้นไปดูจึงจะเห็น แต่จะ “ปีน” ด้วยกระได เก้าอี้ หรืออุปกรณ์อื่นใดนั้น ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน
พ้นไปจากสิ่งที่ผมกล่าวมาแล้ว ที่เหลือนอกนั้นก็คือ รายละเอียดของเส้นสีหลายหลากลวดลายที่ปรากฏอยู่ตามส่วนต่างๆ ของพระที่นั่งแต่ละองค์ ตั้งแต่ใต้หลังคาสีเหลืองลงมาจนถึงขื่อคาแต่ละช่วงแต่ละส่วนแต่ละตอน ตลอดจนสิ่งประดับและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ในพระที่นั่งแต่ละองค์
ที่งดงามยิ่งก็คือ เหล่าสิงสาราสัตว์ทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริงในโลกใบนี้
สัตว์ที่ขาดไม่ได้ก็คือ มังกร ซึ่งจะถูกวาดอยู่ตามจุดต่างๆ ถัดมาคือ หงส์ กิเลน นกกระเรียน เป็นต้น โดยบางที่หงส์จะปรากฏคู่กับมังกร แต่จะอยู่เหนือมังกรไม่ได้ เพราะมังกรคือ จักรพรรดิ
ส่วนกิเลนกับนกกระเรียนนั้น มีประเด็นที่พึงกล่าวด้วยว่า เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกฐานะของเสนามาตย์ด้วย โดยนกกระเรียนคือสัญลักษณ์ของขุนนางชั้นสูงสุดในฝ่ายพลเรือน ส่วนกิเลนเป็นสัญลักษณ์สูงสุดของขุนนางฝ่ายกลาโหม หรือขุนนางฝ่ายบุ๋น (เหวิน) และฝ่ายบู๊ (อู่) ตามลำดับนั้นเอง
สัญลักษณ์นี้จะปรากฏอยู่ในเครื่องแต่งกายของขุนนางทั้งสองฝ่ายในสมัยศักดินา