xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจในมุมมองนักปราชญ์ (7) : รูสโซ- อำนาจที่ชอบธรรม ต้องมาจากเจตจำนงทั่วไปของประชาชน / Phichai Ratnatilaka Na Bhuket

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

ฌ็อง-ฌัก รูสโซ (ค.ศ.1712 – 1778) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในนักปราชญ์หลายท่านแห่งยุคตื่นรู้ทางปัญญาในศตวรรษที่ 18 ที่สาดประกายแสงสว่างแห่งปัญญาขับไล่ความมืดมิดของความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าที่ผลิตโดยศาสนจักรเพื่อกดทับจิตใจผู้คนให้หม่นหมองและยอมจำนนอยู่ภายใต้มงกุฎของสันตะปาปา และนำอำนาจกลับคืนมาสู่โลกและมอบให้มนุษย์ทั้งมวลอีกครั้ง เพื่อให้พวกเขาสามารถกระทำตามเจตจำนงเสรีของตนเอง โดยไม่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมบงการของอำนาจเหนือธรรมชาติอีกต่อไป


ในหนังสือ “สัญญาประชาคม” และ “เอมิล” อันโด่งดังของเขา รูสโซวิพากษ์อำนาจของศาสนจักรไว้หลายประการ

ประการแรก ผู้มีอำนาจทางศาสนามักจะบิดเบือนข้อความดั้งเดิมของคัมภีร์ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การทุจริตและการแสวงประโยชน์จากผู้ศรัทธา

ประการที่สอง ศาสนาสามารถสร้างความแตกแยกและสร้างความขัดแย้งในสังคมได้ เขามองว่าความแตกต่างทางศาสนาเป็นสาเหตุของความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างกลุ่มศาสนาต่าง ๆ นำไปสู่ความไม่ลงรอยกันทางสังคมและบางครั้งก็ถึงขั้นความรุนแรงด้วยซ้ำ

ประการที่สาม หลักคำสอนและแนวปฏิบัติทางศาสนาบางอย่างจำกัดวิจารณญาณทางศีลธรรมของแต่ละบุคคล และขัดขวางการเติบโตและการค้นพบตนเองของบุคคล อีกทั้งยังถูกนำไปใช้โดยอำนาจการเมืองเพื่อจำกัดเสรีภาพของบุคคล

ประการที่สี่ การจัดการชีวิตโดยศาสนาอาจนำไปสู่การแยกตัวจากโลกธรรมชาติได้ คำสอนทางศาสนาบางข้อสนับสนุนการมุ่งเน้นไปที่ชีวิตหลังความตายและรางวัลจากสวรรค์โดยไม่ต้องซาบซึ้งกับโลกปัจจุบันและความงามตามธรรมชาติของโลก

ประการที่ห้า การใช้ความกลัวและการขู่ว่าจะลงโทษในวาทกรรมทางศาสนา ซึ่งผู้นำศาสนาบางคนใช้ความกลัวต่อผลกรรมจากสวรรค์เพื่อควบคุมและชักจูงบุคคลให้ปฏิบัติในสิ่งที่พวกเขาต้องการอันเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทางศีลธรรม อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาของรูสโซไม่ได้มุ่งหมายในการต่อต้านความเชื่อหรือความศรัทธาส่วนบุคคล หากแต่มุ่งเน้นการต่อต้านสถาบันและการจัดระเบียบขององค์กรศาสนาที่เขาเชื่อว่าส่งผลเสียต่อสังคมและปัจเจกบุคคล

เมื่อชี้ให้เห็นถึงความเลวร้ายของอำนาจความเชื่อของศาสนาและอำนาจรัฐที่ได้กับการเกื้อหนุนจากศาสนจักร ซึ่งได้สร้างพันธนาการและควบคุมมนุษย์ทุกหนทุกแห่ง ทั้งที่มนุษย์เกิดมาเสรี ดังในหนังสือสัญญาประชาคมที่ รูสโซ ตอกย้ำว่า  “มนุษย์เกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่งเต็มไปด้วยพันธนาการ” ถ้อยแถลงของรูสโซมีนัยอย่างชัดเจนว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับการมีอำนาจในตนเองที่สามารถเลือกทำหรือไม่สิ่งใดตามเจตจำนงเสรีของตนเองได้ ทว่า มนุษย์กลับถูกควบคุมด้วยพันธนาการของอำนาจต่าง ๆ ที่สังคมสร้างขึ้นมา ปมปัญหาคือ มนุษย์จะทำลายพันธนาการของอำนาจเหล่านั้นอย่างไร

เมื่อมนุษย์เกิดมาเสรี หมายความว่า มนุษย์ทุกคนมีอำนาจในตนเอง เพราะพวกเขาครอบครองเจตจำนงเสรีโดยธรรมชาติ อำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองจึงเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งทำให้มนุษย์ครอบครอง “เสรีภาพส่วนบุคคล” ที่ไม่มีใครสามารถพรากหรือช่วงชิงไปได้ ดังที่รูสโซได้เน้นย้ำถึง ความสำคัญของเสรีภาพส่วนบุคคลและเชื่อว่าบุคคลไม่ควรตกอยู่ใต้อำนาจตามอำเภอใจของผู้อื่น

ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ความจำเป็นของการสร้างสังคมการเมืองจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันในการใช้เสรีภาพของมนุษย์ รูสโซเสนอว่า บรรดาบุคคลในสังคมควรมีส่วนร่วมในการจัดทำ “เจตจำนงทั่วไป” (general will) เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้อำนาจทางการเมืองจะเคารพเสรีภาพและการปกครองตนเองของพวกตน
กล่าวได้ว่า “เจตจำนงทั่วไป” คือ การบุคคลต่าง ๆ สมัครใจมารวมตัวกันเพื่อก่อตั้งสังคมและจัดทำสัญญาประชาคม ซึ่งระบุถึงสิทธิและหน้าที่ของทั้งบุคคลและผู้มีอำนาจปกครอง

เจตจำนงทั่วไปได้สร้างอำนาจอธิปไตย (sovereign power) หรืออำนาจสูงสุดขึ้นมาในสังคม และเป็นอำนาจในการออกและบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เจตจำนงทั่วไปดังที่แสดงออกมาผ่านทางอำนาจอธิปไตยถือเป็นศูนย์รวมของเจตจำนงร่วมของประชาชน และเป็นอำนาจทางการเมืองที่มีความชอบธรรมเพียงแหล่งเดียว รัฐบาลที่มาจากความสามารถในการเป็นตัวแทนของเจตจำนงทั่วไปจึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และแสดงออกถึงการกระทำที่ยึดผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกันของสังคม

ในการสร้างอำนาจการเมืองที่ดีนั้น รุสโซเชื่อว่าบุคคลควรมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในกระบวนการทางการเมืองเพื่อช่วยกำหนดเจตจำนงทั่วไป ในสังคมอุดมคติของเขา แต่ละบุคคลจะมีสิทธิออกเสียงในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขา เพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจจะไม่รวมศูนย์อยู่ในมือของคนเพียงไม่กี่คน การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการประกันว่าอำนาจจะมีความเที่ยงธรรมและชอบธรรม

อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงนั้นจึงดำรงอยู่ในพลังทางศีลธรรมที่ได้มาจากความชอบธรรมและความยินยอมของผู้ที่อยู่ในการปกครอง อำนาจรูปแบบนี้มีรากฐานมาจากความเชื่อของประชาชนต่ออำนาจของรัฐบาลและการปฏิบัติตามการตัดสินใจของรัฐบาลโดยสมัครใจ มิใช่มาจากการถูกหลอกลวงโดยนักฉวยโอกาสทางการเมืองผู้ตระบัดสัตย์ หรือการใช้กำลังอาวุธบังคับของคณะรัฐประหาร หรือการหลอกลวงด้วยความเชื่อที่งมงายผ่านวาทกรรมทางศาสนา

การเน้นย้ำถึงพลังทางศีลธรรมของเขาทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับความชอบธรรมและความรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ ดังในในระบบประชาธิปไตย รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งได้รับมอบอำนาจจากความยินยอมของประชาชน และได้รับการคาดหวังให้ดำเนินการเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน แนวคิดของรุสโซเตือนเราให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการประเมินและตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาผู้มีอำนาจและการใช้อำนาจของพวกเขา เพื่อป้องกันการใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด

รุสโซยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความแตกต่างระหว่างอำนาจที่ชอบธรรมและอำนาจการควบคุมที่กดขี่ เขาให้เหตุผลว่าอำนาจที่ชอบธรรมเกิดจากเจตจำนงทั่วไปของประชาชนและอยู่บนพื้นฐานของประชาคม แต่การใช้อำนาจในทางที่ผิดเกิดขึ้นเมื่อองค์กรปกครอง อันได้แก่ รัฐบาลหรือชนชั้นสูง เมื่อรัฐบาลใช้อำนาจเบี่ยงเบนไปจากเจตจำนงทั่วไปและแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคลและพวกพ้องเท่ากับว่าเป็นการบ่อนทำลายหลักการของสังคมที่ยุติธรรมและนำไปสู่ระบอบการปกครองที่กดขี่

 ในทัศนะของรูสโซ การปกครองแบบเผด็จการเป็นรูปแบบของการใช้อำนาจในทางที่ผิดที่รุนแรงที่สุด โดยมีลักษณะของการไม่คำนึงถึงเจตจำนงทั่วไปโดยสิ้นเชิง และการยัดเยียดผลประโยชน์ของผู้ปกครองต่อประชาชน รุสโซให้เหตุผลว่าพวกเผด็จการชักจูงประชาชนด้วยความกลัวและการหลอกลวง นำไปสู่การสูญเสียอิสรภาพและเสรีภาพ เขาจึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้งระบบที่ป้องกันการรวมอำนาจไว้ในมือของคนเพียงไม่กี่คน และปกป้องสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทุกคน

นอกจากนี้ รุสโซยังเน้นย้ำถึงอันตรายของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจว่า เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจในทางที่ผิด เขาให้เหตุผลว่าการสะสมความมั่งคั่งและทรัพย์สินโดยคนเพียงไม่กี่คนทำให้เกิดความไม่สมดุลของอำนาจ เนื่องจากอิทธิพลทางเศรษฐกิจทำให้นายทุนสามารถควบคุมชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่นได้ การผูกขาดทางเศรษฐกิจเป็นรูปแบบการใช้อำนาจในทางที่ผิดที่ร้ายกาจมาก เพราะมันดำเนินการโดยแฝงตัวอย่างแนบเนียนอยู่ภายในระบบสังคม ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติ รุสโซเชื่อว่าการกระจายทรัพยากรและโอกาสอย่างเท่าเทียมกันเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันผลที่ตามมาจากการกดขี่ข่มเหงของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และเสนอให้สถาปนาสังคมที่ยุติธรรม โดยที่ความมั่งคั่งและอำนาจได้รับการแจกจ่ายอย่างยุติธรรมในหมู่สมาชิก

การใช้อำนาจในทางมิชอบที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตของการศึกษาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รูสโซให้ความสำคัญ เขาเน้นย้ำถึงศักยภาพของการใช้อำนาจในทางที่ผิด เมื่อการศึกษาถูกนำมาใช้เป็นวิธีการในการปลูกฝังหรือการควบคุมทางสังคม เขาตั้งข้อสังเกตว่าการศึกษาควรมุ่งเน้นไปที่การปลูกฝังคุณธรรมของความเป็นพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม มากกว่าการสานต่อโครงสร้างอำนาจที่มีอยู่ และแนะนำว่าการศึกษาควรเข้าถึงได้สำหรับทุกคน และมีเป้าหมายที่จะหล่อหลอมบุคคลที่มีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพบุคคลให้เป็นพลเมืองที่ได้รับความรู้ซึ่งสามารถท้าทายอำนาจและปกป้องหลักการแห่งความยุติธรรม

จะเห็นได้ว่าในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ รูสโซเจาะลึกเข้าไปในแง่มุมต่าง ๆ ของระบบการเมือง เศรษฐกิจ และระบบการศึกษา ผลงานของเขาเน้นย้ำถึงอันตรายที่เกิดจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด รวมถึงเผด็จการ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ และการศึกษาที่เป็นเครื่องมือของอำนาจอย่างชัดเจน

แนวคิดของรุสโซเป็นกรอบคิดที่สังคมสมัยใหม่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์พลวัตของอำนาจและการดำเนินงานของรัฐบาลและสถาบันทางสังคมเพื่อสร้างระบบที่ยุติธรรมและเสมอภาค เขาตอกย้ำอย่างหนักแน่นว่า อำนาจทางการเมืองจะมีความชอบธรรมและยุติธรรมต่อเมื่อมาจากเจตจำนงทั่วไป ซึ่งแสดงถึงผลประโยชน์และค่านิยมร่วมกันของประชาชน แทนที่จะใช้เพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คน

 ความคิดของรูสโซเตือนให้เราตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องคุ้มครองเจตจำนงทั่วไป การป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการรักษาหลักการแห่งความยุติธรรม ความเสมอภาค และเสรีภาพในสังคมอย่างต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น